"ชูศักดิ์" ดักคอศาล รธน. "รัฐสภามีหน้าที่ตรวจสอบแนวนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่ศาล !"

GO6TV 9 ตุลาคม 2555 >>>





นายชูศักดิ์ ศิรินิล นักกฎหมายจากพรรคเพื่อไทย ได้แสดงความเห็นด้านกฏหมายในกรณีที่นักวิชาการจากนิด้า ได้ยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลผิดรัฐธรรมนูญนั้น  นายชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า โครงการรับจำนำนั้นเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งแถลงต่อสภา ดังนั้น คนที่จะรับผิดชอบดูแลตรวจสอบคือ “รัฐสภา” ไม่ใช่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”  ศาลฯไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณา

คำถาม : นักวิชาการอ้างว่ายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา นโยบายรับจำนำข้าว ตามมาตรา 43 และ 84 (1) ?

ชูศักดิ์ : มันไม่ใช่ คือถ้ายื่นเพราะนโยบาย มันก็คือเรื่องนี้มันเป็นแนวนโยบายของรัฐ อยู่ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งหลักของเรื่องนี้ก็คือ
รัฐบาลต้องแถลงต่อรัฐสภาว่าจะทำอะไร ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็แถลงว่าจะดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว เพื่อเข้าไปยกระดับราคาสินค้าข้าวและยกระดับรายได้ของเกษตรกร ซึ่งก็แถลงต่อรัฐสภา และรัฐบาลมีหน้าที่รายงานต่อรัฐสภาปีละครั้ง ซึ่งก็แปลว่า คนที่ต้องรับผิดชอบในการดูแลตรวจสอบ แนวนโยบายของรัฐบาลเหล่านี้ก็คือรัฐสภา ที่มีหน้าที่รายงานปีละครั้งว่านโยบายนี้ใช้เงินไปเท่าไร ในการรับจำนำข้าวและในท้ายที่สุด ก็ต้องรายงานว่าเป็นอย่างไร กำไรเท่าไรและอย่างไร ซึ่งต้องรายงานปีละครั้ง ซึ่งแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนี้รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นและไม่ได้เขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบเลย และคนที่จะตรวจสอบได้ก็เป็นอำนาจของรัฐสภา อันนี้ก็เป็นหลักการแบ่งแยกอำนาจธรรมดาๆ ที่เราเข้าใจโดยทั่วไป  ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็แถลงไว้ว่าจะทำนโยบาบรับจำนำและรัฐสภาก็ได้ถกเถียงกันเรื่องนี้มาพอสมควร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ทำหนังสือถึงรัฐบาล รัฐบาลก็ชี้แจงไป แล้วพอครบ 1 ปีก็แถลงว่าใช้เงินไปเท่าไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เกษรกตรได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไร
ดังนั้นคนที่รับผิดชอบในการตรวจสอบคือรัฐสภา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลได้ทุกเรื่อง ซึ่งผมเคยต่อสู้ไว้ในกรณีมาตรา 68 แล้วว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ต่อไปประเทศนี้รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร เพราะจะขึ้นอยู่กับคน 9 คน หรือแม้แต่รัฐสภา ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีผู้มาบอกว่าจะต้องไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ แม้กระทั่งองค์กรอิสระอื่นๆ หากมีผู้ไปร้องแล้วอ้างข้อกฎหมายผิดๆถูกๆ หากศาลรัฐธรรมนูญรับเอาไว้หมด มันจะเหมือนคำในทางรัฐศาสตร์ ที่เขาว่ากันเอาไว้ว่าก้าวล่วงอำนาจอื่นๆ ผมว่าเรื่องนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนก็เข้าใจอย่างนี้ ซึ่งผมอ่านจากคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีมาตรา 68 ที่วินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 นั้นชอบหรือไม่ชอบ โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ
   “สรุปแล้วคือต้องคิดให้ดีว่าหากมีการรับเรื่องนี้เอาไว้พิจารณา มันจะกลายเป็นว่าต่อไปนี้คน 9 คนจะเข้าไปตรวจสอบรัฐบาลก็ได้ ตรวจสอบรัฐสภาก็ได้ หรือตรวจสอบองค์กรอิสระอื่นๆก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจ แล้วยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูข้อกฎหมายเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ 4 ข้อก็จะเห็นได้ชัดเจนว่ามันไม่เข้าอะไรเลย และท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกรณีมาตรา 68 อีก”