ข่าวสด 3 ตุลาคม 2555 >>>
ดีเอสไอคาดสิ้น ต.ค. นี้ ดำเนินคดี "คนสั่งการ" ถึงอัยการอีก 2 สำนวน กห. ให้สอบ ผบ. คุมกำลัง
ดีเอสไอถกอัยการ ตำรวจ เริ่มแล้วตั้งเป็นคดีฆาตกรรม "พัน คำกอง" มีผลต่อเนื่องจากคำสั่งศาล ระบุชัดเจนตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ตามคำสั่ง "ศอฉ." คาดสิ้นเดือน ต.ค. นี้ รู้ผลดำเนินคดี "คนสั่งการ" ขณะที่ บช.น. ส่งสำนวนชันสูตรศพอีก 2 สำนวนให้อัยการอีก เป็น 2 ผู้ชุมนุมเสื้อแดงถูกกระสุนปืนความเร็วสูงยิงเสียชีวิตเมื่อ 10 เม.ย. 53 หน้า ร.ร.สตรีวิทยา รวมทั้งรับอีก 6 สำนวนจากดีเอสไอมาสอบเพิ่ม ด้านโฆษกกลาโหมยันกองทัพพร้อมส่งนายทหารระดับ ผบ.คุมกำลัง ไปให้ปากคำ หากดีเอสไอประสานมา "แม่เกด"ยื่นหนังสือประธานสภา จี้สอบจริยธรรม "ศิริโชค" ส.ส.ปชป. หลังออกมาอ้าง 6 ศพวัดปทุมฯ ไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจ นครบาล พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ดูแลงานกฎหมายและสอบสวน ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน บช.น. สรุปสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ นายสยาม วัฒนนุกูล และนายจรูญ ฉายแม้น ที่เสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ไปยังอัยการพิเศษคดีอาญาใต้แล้ว ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งมาให้ชันสูตรพลิกศพ ส่วนสำนวนที่ค้างอยู่คือคดี พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่ต้องสอบสวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากคดียังไม่ชัดเจนว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือไม่
พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ดีเอสไอส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ นายพรสวรรค์ นาคะไชย และนายมานะ แสนประเสริฐศรี มาให้ บช.น. ชันสูตรพลิกศพ ล่าสุดส่งสำนวนมาให้อีก 6 ราย คือ นายปิยะพงษ์ กิตติวงศ์, นายประจวบ ศิลาพันธุ์, นายสมศักดิ์ ศิลารักษ์, นายนรินทร์ ศรีชุมภู, นายถวิล คำมูล, และชายไทยไม่ทราบชื่อ โดย 4 ศพแรกเสียชีวิตที่สวนลุมพินี ในเหตุการณ์เจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่เมื่อวันที่ 14-17 พ.ค. 2553 ส่วนอีก 2 รายหลัง เสียชีวิตที่บริเวณหน้าตึก สก. ร.พ.จุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553
ต่อข้อถามถึงกรณีที่นายคารม พลพรกลาง ทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นเรื่องให้ บช.น. สอบสวนเกี่ยวกับชายชุดดำ ตามรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวว่า มอบหมายให้ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รอง ผบก.น.6 ติดต่อนายคารม เพื่อตรวจสอบข้อมูล หากได้ข้อมูล และข้อสรุปต่างๆ ก็จะเสนอให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. พิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายสยาม วัฒนนุกูล ที่พนักงานสอบสวน บช.น. ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังอัยการนั้น จากข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า นายสยาม อายุ 52 ปี มีอาชีพเป็นช่างซ่อมรถโดยสารอยู่ในกรุงเทพฯ ถูกยิงเข้าข้างหลังด้วยกระสุนปืนสงคราม ขณะร่วมชุมนุมบริเวณถนดินสอ โรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ส่วนนายจรูญ ฉายแม้น อายุ 46 ปี มีอาชีพขับรถแท็กซี่ ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขณะร่วมชุมนุมที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 เช่นกัน
ที่ดีเอสไอ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและ เจ้าหน้าที่จากเหตุการณ์ชุมนุม ปี 2553 จำนวน 98 ศพ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมคณะทำงาน 3 ฝ่าย อัยการ ตำรวจ และดีเอสไอ ว่าเป็นการรายงานการทำงานความคืบหน้าของคดีในภาพรวมทั้งหมด ทั้งในส่วนของระดับนโยบายการสั่งต่างๆ ในช่วงเหตุการณ์ และระดับปฏิบัติงาน โดยทั้ง 2 ส่วนจะมีคณะทำงานควบคู่กันไป ในเบื้องต้นพนักงานสอบสวนจะนำข้อมูล พยานหลักฐานของแต่ละชุดมารวบรวมนำเสนอ ลักษณะแผนที่เกิดเหตุ ประกอบพยานหลักฐาน ข้อมูลการสอบปากคำพยาน และผู้เสียชีวิตในแต่ละจุด เพื่อตรวจสอบว่ายังขาดข้อมูลส่วนใดบ้าง และทำให้ง่ายต่อการเสนอรายงานในที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนชุดใหญ่ ที่จะต้องตัดสินใจดำเนินคดีในภาพร่วม ว่าเกี่ยวข้องกับผู้สั่งการอย่างไรบ้าง คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำและนำเสนอที่ประชุมภายในสิ้นเดือน ต.ค. นี้
"ในแผนที่ 3 มิติ ที่พนักงานสอบสวนจะนำเสนอนั้น จะทำให้มองภาพรวมของคดีง่ายขึ้น ไม่สับสน เช่น บริเวณบ่อนไก่ เกิดอะไรขึ้น ใครเสียชีวิตอยู่ตรงไหน เจ้าหน้าที่หน่วยใดปฏิบัติการตรงพิกัดใด มีพยานหลักฐานเป็นอะไรบ้าง เป็นวัตถุจำนวนเท่าไหร่ ข้อมูลการสอบปากคำเป็นอย่างไร เวลามองภาพรวมจะได้รู้ว่าขาดส่วนใด และเพียงพอต่อการแจ้งข้อกล่าวหา หรือดำเนินกับบุคคลใดบ้าง" พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว
รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนยังขาดข้อมูลในส่วนของผู้เกี่ยวข้องระดับปฏิบัติ ถือว่ามีความสำคัญอีกส่วนที่ต้องนำมาประกอบคดี เพื่อจะได้ทราบว่าช่วงเกิดเหตุนั้น ในระดับปฏิบัติการทำอย่างไร ทำตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อย่างไร แล้วเป็นเพราะเหตุใดที่มีผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังหารือเกี่ยวกับประเด็นชายชุดดำ ว่าให้พนักงานสอบสวนแต่ละชุดที่รับในแต่ละส่วน ระบุให้ชัดเจนเลยว่าส่วนที่รับผิดชอบมีชายชุดดำเข้าไปเกี่ยวข้องในจุดใดบ้าง และให้การอ้างถึงจุดใดบ้าง พนักงานสอบสวนจะได้รู้จุดชัดเจนว่า ชายชุดดำเข้าไปเกี่ยวข้องในพื้นที่ใดบ้าง และทำให้ใครเสียชีวิตบ้าง แยกเป็นแต่ละเหตุ แต่ละพื้นที่ ไม่รวมกัน และไม่มีผลเกี่ยวพันกัน
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายระบุว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่มี พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ความคุ้มครองนั้น หากเจ้าหน้าที่ยอมรับว่ายิงปืนระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แล้วทำให้เสียประชาชนเสียชีวิต อย่างนี้ถือว่าเข้าข่ายการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้าไม่ยอมรับว่ากระทำผิด คงไม่เข้าตามหลักเกณฑ์
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้อง และผู้สั่งการ อยู่ระหว่างการสอบปากคำการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ว่าวันเกิดเหตุได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไร จากใคร มีขั้นตอนปฏิบัติงานอย่างไร และทำไมถึงมีการเสียชีวิตของประชาชน แต่จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ผ่านมา ยังไม่มีใครให้การว่ายิงต่อสู้กับชายชุดดำแต่อย่างใด มีเพียงจุดเดียวที่คือบริเวณวัดปทุมฯ ระบุว่าเห็นชายชุดดำ จึงยิงปืนเข้าไป อีกทั้งบางพื้นที่ที่พบศพ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ก็ให้การว่าไม่พบชายชุดดำ
ผู้สื่อข่าวถามถึงคดีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากนั้นทางพนักงานสอบสวนจะดำเนินการอย่างไร พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอสำนวนการไต่สวนของศาล จากพนักงานอัยการ ต้องรอตรวจสอบในรายละเอียดในสำนวนอีกครั้งว่าระบุพยานหลักฐานอะไรบ้าง เมื่อถามย้ำว่าแล้วจะเป็นคดีฆาตกรรมหรือไม่ พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า หลังจากศาลมีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นคดีฆาตกรรมโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสำนวนคดี เพื่อตั้งเป็นคดีฆาตกรรม
ส่วนนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน.ส.กมนเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม กล่าวว่า ในวันที่ 4 ต.ค. เวลา 11.00 น. จะไปยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่หน้ารัฐสภา เพื่อให้ตั้งกรรมการสอบจริยธรรม นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่วิพากษ์วิจารณ์การเสียชีวิตของประชาชนในเหตุการณ์ปี 2553 รวมทั้ง 6 ศพวัดปทุมฯ และน้องเกด โดยนายศิริโชคระบุว่าไม่ใช่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการสร้างสถานการณ์ของกองกำลังติดอาวุธ มีกลุ่มชายชุดดำวิ่งเข้าไปในวัด ก่อนจะมีผู้เสียชีวิต 6 ศพ รวมทั้งยังพูดถึงแนววิถีกระสุนที่ยิงน้องเกดด้วย ว่ากระสุนไม่ได้มาจากด้านบนรางรถไฟฟ้า บีทีเอส แต่วิถีกระสุนมาจากด้านล่างที่เสยขึ้นด้านบน หากเจ้าหน้าที่ยิงจากข้างบนจริง กระสุนที่ใช้ต้องยิ่งกว่าจรวดนำวิถี เพราะต้องไซด์โค้งขึ้นมา
"การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนายศิริโชค เป็นเพียงพูดเพื่อเอาใจ และช่วยหัวหน้าพรรคของตัวเอง คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงต้องออกมาตีรวนเพื่อให้สังคมเกิดความสับสน หลังจากยื่นหนังสือต่อประธานสภา แล้ว จะปราศรัยและเรียกร้องให้นายศิริโชคออกมาขอโทษญาติพี่น้องที่เสียชีวิตในวัด ปทุมฯ หากไม่ปฏิบัติก็จะไปแจ้งความเอาผิดกับนายศิริโชคด้วย" แม่น้องเกด กล่าว
ด้าน พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีดีเอสไอเตรียมเรียกสอบปากคำ ผบ.ร้อย ผบ.พัน และ ผบ.พล ผู้ควบคุมกำลังในเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ว่า หาก ดีเอสไอส่งเรื่องมา ทางทหารพร้อมและยินดีสนับสนุนข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส หากพนักงานสอบสวนดีเอสไอประสานงานมาแล้ว ก็จะสลับสับเปลี่ยนกันเข้าให้ข้อมูล ตรงนี้ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังปรับย้าย จึงยังไม่พร้อม หากมีความพร้อมก็จะเข้าให้ข้อมูลทันที เพราะกองทัพพร้อมให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายฉลอง นนทพายัพ แนวร่วมคนเสื้อแดง และตัวแทนกลุ่มผู้นำพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านรายงานฉบับสมบูรณ์ของคอป. โดยนายฉลองกล่าวว่า เนื่องจากทางกลุ่มได้จัดสัมมนาทางวิชาการ แลกเปลี่ยน รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงจากหลักฐานต่างๆ และพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ให้ได้ข้อเท็จจริง พบว่ารายงานของ คอป. สรุป มีประเด็นไม่ครบถ้วน ไม่เป็นธรรม และลำเอียง รวมทั้งเสนอคำแนะนำอันไม่เหมาะสม
ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญทั่วไป โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม แต่ก่อนเข้าสู่วาระ ได้เปิดให้สมาชิกหารือ โดย พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา หยิบยกถึงร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ ที่เสนอเข้ามาในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งขณะนี้ยังค้างอยู่ในระเบียบวาระ โดยอยากเรียกร้องให้หยิบยกเอาร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ ขึ้นมาพิจารณาด้วย เพราะเห็นได้จากการชุมนุมการเมืองล่าสุด ที่เกิดการปะทะกันระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ที่หน้ากองปราบปราม จึงต้องการทราบว่ารัฐบาลจะปล่อยให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ สร้างปัญหาให้ประเทศชาติ หรือใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายอีกนานเท่าใด