เครือข่ายชาวนา บุกนิด้า ออกแถลงการณ์คัดค้านนักวิชาการยื่นศาล รธน. จำนำข้าวไม่ชอบ

มติชน 2 ตุลาคม 2555 >>>




จากกรณีที่ นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รวบรวมรายชื่อคณาจารย์สถาบันนิด้า ม.ธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษา จำนวน 146 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และ 81 (1) หรือไม่

วันนี้ (2 ต.ค.) เวลา 12.00 น. หน้าประตูสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีการจัดกิจกรรมคัดค้านนักวิชาการนิด้า โดยเครือข่ายชาวนา ร่วมกับกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ คณะสืบสานเจตนารมณ์คณะราษฎร์ เป็นต้นโดยได้มีการแสดงละครใบ้ และร่วมอ่านแถลงการณ์

แถลงการณ์มีเนื้อหาคัดค้าน ทั้งสิ้น 6 ข้อ 

1. เราขอคัดค้านท่าน ด้วยความเห็นใจจากชาวนาที่ไม่มีความสามารถ ที่จะจ้างนักวิชาการมาเคลื่อนไหวปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้เหนื่อยยากที่สุดในขบวนการผลิตข้าวมาเลี้ยงคนทั้งโลก โดยถูกวาทะกรรมยกย่องสวยหรูในประเทศนี้หลอกลวงมาตลอดว่า “เป็นกระดูกสันหลังของชาติ” แต่ความเป็นจริง เป็นกลุ่มอาชีพที่ยากจนที่สุด สิ้นเนื้อประดาตัว หรือมีหนี้สินมากที่สุด ตรงข้ามกับสมาคมผู้ค้าข้าว ที่มีกลุ่มตระกูลผู้ร่ำรวยมากที่สุดของประเทศอันดับต้น ๆ จำนวนมาก และเสียผลประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าวที่ท่านกำลังเคลื่อนไหวให้ยกเลิก
2. ท่านยอมรับว่า “ยังไม่ได้สอบถามเรื่องนี้จากตัวเกษตรกร” แสดงถึงการเป็นตัวแทนที่รับฟังเฉพาะฝ่ายหนึ่งเท่านั้น และเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาดค้าข้าว การเคลื่อนไหวครั้งนี้ในนามของนักวิชาการจึงไม่ชอบธรรมเพราะนักวิชาการต้องศึกษาถึงผลที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านโดยเฉพาะในระดับล้มล้างนโยบายสาธารณะที่กระทบต่อกลุ่มอาชีพที่ใหญ่ที่สุดและยากจนที่สุดของประเทศ
3. เกษตรกรในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีความแตกต่างทางรายได้น้อย เพราะรัฐบาลจะดูแลรายได้ของเกษตรกรเป็นอย่างดี เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศ ก็เดินมาในทิศทางนี้ ซึ่งพวกท่านเองก็รู้ดี แต่การกระทำของท่าน มีลักษณะ “ปากอย่างหนึ่ง แต่ใจอีกอย่างหนึ่ง” โดยใช้ความสามารถทางวิชาการอธิบายให้สลับซับซ้อน แต่ไม่ตรงไปตรงมากับหลักการทางวิชาการ “ไม่ยืนอยู่กับประชาชนฝ่ายข้างมากที่เสียเปรียบมาโดยตลอด” การเคลื่อนไหวของท่านครั้งนี้ เป็นการยืนอยู่กับฝ่ายที่ได้เปรียบจากธุรกิจค้าข้าวมาชั่วนาตาปี แต่ทำลายผลประโยชน์ของกลุ่มอาชีพที่ท่านลวงตาด้วยวาทะกรรม “กระดูกสันหลังของชาติ”
4. จากข่าวสารของสื่อมวลชนได้ไปสัมภาษณ์ชาวนา และเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คำตอบที่ได้รับคือการจำนำข้าวโดยรัฐบาลให้ประโยชน์ตกแก่ชาวนามากกว่าการรับประกันราคาข้าว การทุจริตทำได้น้อยกว่า แต่พ่อค้าข้าวและโรงสี เสียผลประโยชน์จากนโยบายนี้ ข้อเท็จจริงนี้ท่านได้ทำการศึกษาหรือไม่ ก่อนจะออกมาเคลื่อนไหว ? และทำไมสมาคมผู้ค้าข้าวจึงออกมาประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวของท่านทันที
5. เป็นคำถามต่อการเคลื่อนไหวล้มล้างนโยบายนี้ว่า ท่านมีพื้นฐานความคิดทางการเมืองเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลนี้ ที่ชนะการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ และท่านเป็นฐานสนับสนุนพรรคคู่แข่งของรัฐบาลนี้ใช่หรือไม่ ? เพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ซึ่งแพ้การเลือกตั้ง แต่จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารได้สำเร็จ ได้บริหารประเทศโดยมีแนวทางและนโยบายทีสร้างความเสียหายต่อสาธารณะ และการทุจริตที่เป็นคดีความมากมาย แต่ท่านไม่เคยมีปฏิกิริยาใด ๆ ทั้งสิ้น
6. เป็นคำถามต่อการเคลื่อนไหวล้มล้างนโยบายนี้ว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ “เป็นการเคลื่อนไหวเชิงอำนาจในรัฐธรรมนูญ” ที่จะสร้างบรรทัดฐานให้อำนาจตุลาการขยายเขตอำนาจมาควบคุมอำนาจบริหารมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้เทคนิคทางกฎหมาย ซึ่งมีผู้ได้ประโยชน์จากการได้ขยายเขตอำนาจตุลาการให้มากขึ้น ซึ่งมีการกระทำมาก่อนหน้านี้หลายครั้งและกระทำมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแนวทางการสถานปนา “ตุลาการภิวัฒน์” ใช่หรือไม่ ?
นายทรงชัย วิมลภัตรานนท์ ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ตอนนี้มีการใช้กลไกของกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อโค่นล้มความเป็นอยู่ของชาวนา การที่นักวิชาการออกกล่าวให้ยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะขัด มาตรา 84 วรรค 1 โดยอ้างว่ารัฐบาลกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาด เป็นผู้รับซื้อแต่เพียงผู้เดียว และราคาข้าวที่รัฐบาลจำนำยังสูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลกส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก แต่ยอมรับว่ายังไม่ได้สอบถามเรื่องนี้จากเกษตรกร
   “ถือเป็นความพยายามอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อขยายอำนาจรุกล้ำเขตอำนาจบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาโดยประชาชน และหากนโยบายของฝ่ายบริหารถ้าหากมีปัญหาก็ตองใช้สภาเป็นที่แก้ปัญหา เพื่อถอดถอนหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ” นายทรงชัย กล่าว