ธาริตเชิญชาวยุโรปให้การ ยัน 'ฮิโรยูกิ' ตายฝีมือ จนท.

มติชน 15 ตุลาคม 2555 >>>


'ดีเอสไอ' เดินหน้าหาหลักฐานเพิ่มในเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 เชิญชาวยุโรปที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 ให้ข้อมูล หลังนำภาพลงแพร่ยูทูบ 'ธาริต' ยันการเสียชีวิตของ 'ฮิโรยูกิ' เกี่ยวข้องกับการกระทำของ จนท. รัฐ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนดคีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตจากการเหตุการณ์ชุมนุมทางการ เมืองปี 2553 เปิดเผยความคืบหน้าของคดี ว่า พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรอคำสั่งการไต่ส่วนการเสียชีวิต ของนายพัน คำกอง รวมทั้งสำนวนการ สอบสวนอย่างละเอียด คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ขั้นตอนต่างๆ จะดำเนินการเสร็จ และดีเอสไอได้ทำหนังสือขอสำนวนการสอบสวนและคำสั่งไต่ส่วนไปยังศาลเพื่อขอราย ละเอียดอีกทาง หากพนักงานสอบสวนได้สำนวนการไต่ส่วน จะทำให้การดำเนินคดีต่างๆ มีความรวดเร็ว มากขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า พนักงานสอบสวนได้ ติดต่อไปยังชาวต่างประเทศเป็นชาวยุโรปรายหนึ่ง ที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ในขณะนั้นขอให้เดินทางมาให้ปากคำ เนื่องจากพบ ว่าเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ปรากฏภาพในคลิปเห็นในเว็บไซต์ ยูทูบ ลักษณะการรายงานข่าวในที่เกิดเหตุ เพื่อต้องการสอบถามรายละเอียดเหตุการณ์ในวันเวลาดังกล่าว ว่าพบเห็นคนหรือบุคคลใดทำ อะไรบ้าง
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ยืนยันว่าการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์ เป็นการเสียชีวิตที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพนักงานสอบสวนเรื่องดังกล่าวได้สอบปากคำพยานมากกว่า 5 ปาก เป็นพยานจากหลายส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุม สื่อมวลชน แพทย์ชันสูตร รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน คำให้การของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สรุปความเห็น และกรณีดังกล่าวพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง กับการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ ทางดีเอสไดต้องส่งสำนวนไปยังตำรวจนครบาลเพื่อทำสำนวนชันสูตร ยื่นไต่ส่วนต่อศาล ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150
นายธาริตกล่าวว่า กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาระบุว่า นายฮิโรยูกิไม่ได้เสียชีวิตจากกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเพียงข้อต่อสู้ทาง การเมือง และเพื่อทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของดีเอสไอ โดยหยิบรายงานบางส่วนของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ทางที่ดีควรยื่นพยานหลักฐานเข้าไปต่อสู้ในชั้นศาลจะมีประโยชน์มากกว่า
รายงาน ข่าวแจ้งว่า รายงานการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอคดีพิเศษที่ 61/2553 เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ ถูกส่งไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นว่า คดีนี้คณะพนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนมาแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เวลา 21.00 น. ขณะที่นายฮิโรยูกิ กำลังทำข่าวการปะทะกันของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งได้รับคำสั่งให้มาขอคืนพื้นที่การชุนนุมเพื่อเปิดเส้นทางการจราจร โดยเกิดเหตุชุลมุนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาด เจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากจากการใช้อาวุธรุนแรง ซึ่งนายฮิโรยูกิได้เข้าไปทำข่าวระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร จนถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงไม่ทราบขนาดเข้าหน้าอกซ้ายทะลุกล้ามเนื้อ ใต้รักแร้ ออกทางต้นแขนขวาด้านหลัง และมีผู้นำส่งโรงพยาบาลกลาง ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่ง ร.ต.ท.อริย์ธัช อธิสุรีย์มาศ พนักงานสอบสวนสน.พลับพลาไชย 1 ได้ร่วมกับแพทย์ชันสูตรพลิกศพ และส่งศพผ่าพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ปรากฏตามรายงานการตรวจศพของนายฮิโรยูกิ จากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ที่01519/2553 ลงวันที่ 12 เมษายน 2553
รายงาน ข่าวแจ้งอีกว่าจากการสืบสวน ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ปรากฏจากคำให้การของ ด.ต.ชาตรี อุตสาหรัมย์ พยาน ให้การยืนยันว่านายฮิโรยูกิ ผู้ตายยืนอยู่ห่างจากพยานประมาณ 1 เมตร ยืนยันว่าทิศทางกระสุนปืนที่ยิงถูกนายฮิโรยูกิไม่ได้มาจากกลุ่มผู้ชุมนุม และจากคำให้การของนายณัชพงษ์ หรือ ม่อน โพธิยะ พยานยืนยันว่าในขณะเกิดเหตุ เห็นนายฮิโรยูกิถูกยิงล้มลงโดยเห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนเจ้าหน้าที่ ประกอบกับเอกสารภาพวิดีโอจากกล้องของนายฮิโรยูกิ ถ่ายก่อนที่ จะถูกยิงเสียชีวิต คือ เวลา 20.57 น. ถ่ายภาพเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณเดียวกัน โดยถ่าย เห็นด้านข้าง ซึ่งจะต้องหันหน้าไปทางแนวเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม สอดคล้องกับบาดแผลของผู้ตายตามรายงานการตรวจศพ ของแพทย์ ทางคดีมีพยานหลักฐานและพฤติ การณ์แห่งคดีมีข้อเท็จจริงและเหตุผลพอสมควร เข้าข่ายน่าเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงเห็นสมควรส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้น อยู่ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้มีการไต่ส่วนของศาลต่อไป ทั้งนี้ นายธาริตได้ลงนามให้ความเห็น ดังกล่าวเพื่อส่งไปยัง บช.น. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ที่อาคารดีเอสไอ ชั้น 7 พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรอง ผบช.น. จะเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้ปากคำในฐานะที่เป็นหัวหน้าชุดเจรจาช่วงสลายการชุมนุมปี 2553 รวมทั้งสอบถามเหตุการณ์การปะทะในช่วงเวลาดังกล่าว