"รำลึก 14 ตุลา" ในมุมมองของคนหลากรุ่น

มติชน 15 ตุลาคม 2555 >>>




กิจกรรมงานรำลึก 14 ตุลา ประจำปี 2555 มีการเสวนาในหัวข้อ 14 ตุลา ในมุมมองของคนหลากรุ่น? ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ศาสตราจารย์ภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ.

ผมมอง 14 ตุลา ในฐานะนักประวัติศาสตร์มากกว่าคนเดือนตุลาคม คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นไม่ใช่เจ้าของประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์เป็นเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่มาต่อกันจนเกิดเป็นประวัติศาสตร์
ไม่ได้พูดในแง่ของผู้ที่รู้เหตุการณ์ดีที่สุด แต่รู้เพียงบางส่วน ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ของใครคนหนึ่งแต่เป็นของทุกคน หากเป็นเรื่องของคนรุ่นเก่าก็เป็นแค่บางเหตุการณ์ แต่ประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้ การพูดถึงคนเดือนตุลาคมน่าจะหมดความหมายได้แล้ว อย่าไปโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคล แต่ละคนจะทำอะไรก็อย่าไปโยงถึงความเป็น 14 ตุลา เพราะนั่นเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
แง่ของการมอง 14 ตุลา ในแง่ประวัติศาสตร์ควรมองว่า เป็นประวัติศาสตร์ไทยอันแรกที่คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยสร้างขึ้นมาเกิดขึ้นในยุคที่การติดต่อสื่อสารกันนั้น เปิดขึ้นมาด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การพูดถึงประวัติศาสตร์ต้องพูดถึงภาพที่ใหญ่ ที่เด่นและสำคัญคือ เป็นประวัติศาสตร์อันแรกที่มีความเป็นจริงมากที่สุด เพราะไม่มีใครคนหนึ่งหรือรัฐบาลจะสามารถอ้างได้ว่าความจริงในเหตุการณ์คืออะไรหรือต้องการอะไร การใช้อ้างนั้นยากมากๆ จะเห็นได้ชัดในสมัยปี 2546
จะให้ 14 ตุลา เป็นวันประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นเพราะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวงกว้าง แล้วบอกว่าจะเอา 24 มิถุนายน ไปไว้ไหน แสดงว่า 14 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์เป็นจริงมากกว่าอันอื่น และสามารถพิสูจน์ได้มากกว่าอย่าง อื่นๆ ฉะนั้น หากประวัติศาสตร์แบบ 14 ตุลามีเยอะ รับรองว่าเขียนประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้เลย ทำให้ 14 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นปัญหามากที่สุดของประวัติศาสตร์ไทย
14 ตุลา เหมือนเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ สิ่งที่ 14 ตุลา ให้จริงๆ คือจิตใจที่มีเพื่อการต่อสู้ และเชื่อว่าการต่อสู้คัดค้านในเรื่องต่างๆ เป็นสิ่งที่คนทั่วประเทศสามารถทำได้ 14 ตุลา ให้ความชอบธรรมกับการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของประชาชน คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และปัจจุบันเราสามารถอ้างว่ารัฐธรรมนูญรองรับ
14 ตุลาทำให้มายาคติ ทำให้การใช้อำนาจความไม่เป็นธรรมของรัฐถูกบั่นทอนไป แต่ไม่ได้สร้างกระบวนการที่จะบรรลุเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย อยากให้มอง 14 ตุลา ที่การบรรลุกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากกว่าการย้อนรำลึกถึงจุดเริ่มต้นของ 14 ตุลา
ตอนนั้นเรานึกว่าเราชนะ นึกว่าประสบความสำเร็จแล้วในตอน 14 ตุลา บรรยากาศเปลี่ยนไปและทุกคนเชื่อว่าประชาธิปไตยน่าจะอยู่ไม่ไกล และคิดว่าข้อเขียนของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่บอกว่า 14 ตุลา เป็นเพียงก้าวแรกนั้นเป็นเพียงความเห็นของผู้สูงอายุที่ให้ความเห็นเท่านั้น
หลายปีหลังจากนั้นก็เกิด 6 ตุลา จากนั้นก็เกิดรัฐประหาร เกิดพฤษภาทมิฬ หลายคนคิดว่าเป็นการรื้อฟื้น 14 ตุลา แต่ความจริงไม่ใช่เรื่องเดียวกัน กระทั่งรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หากโยงกลับไปผมว่าข้อคิดของอาจารย์ปรีดี ที่ว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงก้าวแรกนั้นเป็นจริง เราได้สร้างแนวทางการสืบทอดประชาธิปไตยกันใหม่ หลังปี 2535 ได้สร้างพลังการเมืองที่สร้างชนชั้นที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจเอาไว้
การรวมกลุ่มของคนชั้นนำเก่าแล้วสร้างพรรคสร้างรัฐบาล ก็คือกลุ่มฐานเศรษฐกิจของสังคมไทยโดยตลอด และฐานนั้นนำมาสู่พลังการเมืองโค่นล้มฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และมีความคล้ายกันหากมองแล้วผมคิดว่า 14 ตุลา และ 24 มิถุนายนนั้นคล้ายกัน แต่ไม่สามารถรักษาผลพวงของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันได้
หากคนรุ่นต่อไปใช้การเริ่มต้นของ 14 ตุลา ได้ไปบรรลุเป้าหมายต่อไปก็เชื่อว่ามรดก 14 ตุลา ยังอยู่ และไม่ต้องเถียงกันว่าใครเป็นเจ้าของเพราะอนาคตอยู่กับคนรุ่นใหม่ทุกคน 

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย
ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์

เราต้องยอมรับความจริงว่าเป็นเวลา 26 ปีที่เราต้องอยู่ใต้รัฐประหาร กว่าจะถึง 14 ตุลาคม 2516 เราผ่านอะไรมามาก ดังนั้น การก้าวเข้าสู่วันที่ 14 ตุลานั้นเป็นการปลดปล่อยสังคมเข้าสู่สิ่งใหม่ๆ เข้าสู่การเริ่มต้นใหม่ เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลานั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นสายธารเดียวกันจนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และนำมาสู่เหตุการณ์ต่อไปที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเป็นสายธารของประชาธิปไตย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้การสนับสนุนประชาชนรวมทั้งคนต่างๆ ในการเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งมีการไฮด์ปาร์กที่ลานโพธิ์ คือ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นั่นคือเริ่มต้นที่จุดประกายไปทั่วแผ่นดินไทย และได้สั่นสะเทือนสังคมไทย เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2555 ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา เสนอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้วันที่ 14 ตุลา เป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย เพราะที่นี่เป็นที่เริ่มต้นในการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นมิติ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และในวันที่ 27 สิงหาคม 2555 ทาง มธ. ได้แจ้งกลับไปว่าได้ให้วันที่ 14 ตุลา เป็นวันสำคัญของทางมหาวิทยาลัย 

นภาวัลย์ สิทธิศักดิ์
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เมื่อก่อนยังไม่รู้จัก 14 ตุลา ว่าเป็นวันอะไร แต่เมื่อได้พูดคุยได้สัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นในโครงการปากคำประวัติศาสตร์ ทำให้รู้สึกว่าประวัติศาสตร์มีความสำคัญมาก แม้เราจะไม่ได้มีความรู้สึกร่วมเท่ากับคนในยุคนั้น แต่เราควรจะทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ รวมทั้งรู้สึกว่าในเรื่อง 14 ตุลานั้นมีความคลุมเครือ จากการสัมภาษณ์คนร่วมเหตุการณ์มีบางคนบอกว่าขอไม่บันทึกเสียงนะ เล่านอกรอบนะ
จากการเรียนในห้องเรียนกับการได้มาฟังคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงนั้นทำให้รู้สึกมีส่วนร่วมไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย และจากการเป็นผู้จัดนิทรรศการที่อนุสรณ์สถานนั้นจะเห็นได้มีคนให้ความสนใจเข้ามาดูเยอะ
ควรทำให้ 14 ตุลา มีชีวิตมากขึ้น หากอยากให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เพราะหากคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์จากไป เหตุการณ์ดังกล่าวก็จะเป็นแค่เหตุการณ์พื้นๆ เป็นแค่เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเท่านั้น นอกจากคนที่มีชื่อเสียงแล้วเราก็ควรจะฟังคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์คนอื่นๆ ด้วย ควรมีแก่นให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควรมีพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่องของ 14 ตุลา

วัฒนชัย วินิจจะกูล
อดีตผู้จัดการอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

โครงการที่ได้ไปพูดคุยกับคนในเหตุการณ์ 14 ตุลา แล้วพบว่าหากจะทำให้ 14 ตุลาไม่ตาย ไม่ใช่เพียงการบอกเล่าให้คนทั่วไปฟัง ไม่ใช่เพียงการเขียนไว้ในหนังสือเรียนเท่านั้น สิ่งสำคัญคือกระบวนการที่ทำให้ข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่เรื่องของการท่องจำ แต่เป็นการเรียนรู้ ส่วนวิธีการก็เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่จะเลือกวิธีการว่าจะทำอย่างไร อย่าทำให้ 14 ตุลาตาย หรือเพียงแค่การให้คนรุ่นเก่าเล่าเป็นนกแก้ว
นกขุนทองให้คนรุ่นหลังฟังเท่านั้น แต่ให้เปิดมุมมองในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต กระบวนการเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าผลลัพธ์ แต่ภายใต้ความเชื่อและวิถีทางแบบประชาธิปไตย กระบวนการเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้ว่าอีก 10 ปี จะไม่เกิดแต่ขอให้มีกระบวนการที่ดี หากเราเชื่อว่ากระบวนการสำคัญกว่าผลลัพธ์ อย่างหากเราเชื่อว่าเราจะปราบยาเสพติดได้โดยไม่ต้องฆ่าคน หรือการไล่รัฐบาลเผด็จการรัฐสภาโดยไม่ต้องมองวิธีการ การที่ทำให้ระบอบเผด็จการ ถนอม-ประภาสโค่นไปได้คือเรื่องสำคัญ
เมื่อเราพูดถึง 14 ตุลา มักจะพูดว่ามรดกที่สำคัญคือการต่อสู้คัดค้านเผด็จการ หากเรายังยืนยันหลักการนั้นคือการต่อต้านเผด็จการ อาจไม่ใช่เผด็จการทหาร อาจเป็นเผด็จการนายทุนหรืออื่นๆ เราก็ควรจะต้องยืนยันว่าเราต่อต้านเผด็จการต่างๆ อีกอย่างหนึ่งที่จะไม่ทำให้ 14 ตุลา ตายก็คือ วิญญาณขบถของขบวนการ 14 ตุลา
วิญญาณขบถคือความสงสัยและการหาคำตอบให้ตัวเองในสิ่งที่สงสัย หากไม่มีคนที่สงสัย ไม่มีคนที่ตั้งคำถามกระบวนการ 14 ตุลา จะเกิดได้อย่างไร คิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ต่างกับปี 2475 หากไม่มีคนคิด ไม่มีคนถาม ไม่มีคนคิดว่าเรื่องที่จะเกิดนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่าเรื่องนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น เรื่องนี้คือเรื่องที่ทำให้ 14 ตุลา มีชีวิตต่อเนื่อง
อยากให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่ผ่านมาผ่านวิญญาณขบถของตัวเอง ทำอย่างไรให้สามารถตั้งคำถาม ทำอย่างไรให้เราสามารถตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรารักเราเทิดทูน โดยที่มองว่าไม่สามารถวิจารณ์ได้ การตั้งคำถามต่อสิ่งที่รักที่ชอบสถาบันบางสถาบัน หากเราไม่สามารถทำได้มรดก 14 ตุลา ก็คงจะอยู่เพียงในห้องเรียน อยู่เพียงแค่ในอนุสรณ์สถานเท่านั้น