หนีทหาร-98 ศพ ในมุม "คำสั่งศาล" "มาร์ค" งานเข้า (อีกแล้ว)

มติชน 8 ตุลาคม 2555 >>>




กรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหาหลบเลี่ยงและจงใจหนีการเกณฑ์ทหาร
เมื่อศาลอาญาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ในคดีนายอภิสิทธิ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ในความผิดฐานหมิ่นประมาท 2 เรื่อง
เรื่องแรก นายจตุพรปราศรัยกล่าวหา "สั่งฆ่าประชาชน" เรื่องที่สอง นายจตุพรปราศรัยกล่าวหา "หลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร" ทั้ง 2 เรื่องเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2553
ห่างจากเหตุการณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ สั่งใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนมีคนตาย 98 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ประมาณ 2 เดือนเศษ
ดังนั้น การกล่าวหาสั่งฆ่าประชาชน นายจตุพรจึงหมายถึงเหตุการณ์ "สงกรานต์เลือด" ปี 2552 ไม่ใช่เหตุการณ์นองเลือดปี 2553
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นสั่งฆ่าประชาชนนี้ ศาลพิพากษาจำคุกนายจตุพร 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกล่าวโดยไม่มีมูลความจริง เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกล่าวหาใส่ร้าย เป็นการปราศรัยยั่วยุปลุกปั่น ปลุกระดม ก่อให้เกิดความเกลียดชัง
จากกรณีศาลมีคำพิพากษา นายจตุพรกล่าวว่า หลังจากนี้จะระวังถ้อยคำและการปราศรัยมากขึ้น ซึ่งเท่ากับการน้อมรับคำตัดสินของศาล
กระนั้นก็ตาม ถึงศาลจะสั่งลงโทษนายจตุพร กรณีกล่าวหาอดีตนายกฯ สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์สงกรานต์เลือดปี 2552
แต่กรณีกล่าวหาอดีตนายกฯ หลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารนั้น ศาลมีคำสั่งว่าไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตรงนี้เองที่นายอภิสิทธิ์งานเข้า
คําพิพากษาศาลสรุปดังนี้ นายอภิสิทธิ์ เป็นนักศึกษาในความดูแลของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการผ่อนผันให้นายอภิสิทธิ์ โดยมีแบบหนังสือผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร (สด.41) แต่นายอภิสิทธิ์ ไม่มีหนังสือผ่อนผันดังกล่าวมาแสดง
ส่วนที่เคยแสดงเอกสารเกี่ยวกับการผ่อนผัน เป็นบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ไปศึกษาต่างประเทศ ซึ่งได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน (สด.20) ต่อประธานรัฐสภา
พบชื่อนายอภิสิทธิ์อยู่ลำดับที่ 3 ระบุได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 เพื่อไปศึกษายังประเทศอังกฤษ ระหว่างปี 2530-2532 แต่เอกสารดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือผ่อนผันถูกต้องตามกฎหมาย
เพราะหนังสือผ่อนผันที่ถูกต้อง ต้องเป็น สด.41 ที่ลงนามโดย รมว.มหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้น ในส่วนที่ไม่ไปตรวจเลือกเข้ารับเกณฑ์ทหารโดยอ้างว่าได้รับการผ่อนผัน จึงยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยพอสมควร
ส่วนที่เบิกความว่า ไม่เคยใช้เอกสารเท็จสมัครเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. นั้น เป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีเอกสารพยานหลักฐานมาสนับสนุน
ขณะเกิดเหตุ นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติรวมถึงประวัติชีวิตความเป็นมาตามสมควร
ส่วนนายจตุพรเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน จึงเป็นปกติที่ต้องตรวจสอบเรื่องราวฝ่ายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี จึงมีสิทธิ์ตรวจสอบแสดงความเห็นโดยสุจริต
เพราะหากเป็นไปตามที่นายจตุพรปราศรัย ย่อมแสดงว่านายอภิสิทธิ์ จงใจประพฤติตนฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรีได้
คำพิพาษายังระบุ นายจตุพรตั้งคำถามเรื่องนี้ต่อนายอภิสิทธิ์ ก่อนที่นายอภิสิทธิ์จะรับตำแหน่งนายกฯ แต่นายอภิสิทธิ์กลับไม่ได้ชี้แจง
จึงแสดงให้เห็นเจตนาว่านายจตุพรจะตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แม้นายอภิสิทธิ์อาจได้รับการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร และไม่ได้ใช้เอกสารเท็จใดๆ สมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. แต่เอกสารที่เกี่ยวข้องมีพิรุธน่าสงสัยหลายประการ
นอกจากนี้ ระหว่างการเบิกความ นายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่า เอกสารที่นายจตุพรนำมาอ้างเป็นเอกสารปลอมหรือเท็จ จึงมีเหตุทำให้นายจตุพรมีความสงสัย และเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ตนเองปราศรัย การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
กรณีถูกกล่าวหาหนีทหาร นายอภิสิทธิ์ งานเข้ามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เมื่อครั้ง พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พร้อมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกลาโหม ร่วมกันแถลงยืนยันผลตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปว่า มีการเลี่ยงการเกณฑ์ทหารจริง
มีการใช้เอกสารที่ไม่มีอยู่ในระบบราชการสมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. กระทั่งได้ติดยศ "ร้อยตรี"
ทั้งที่ระหว่างรับราชการทหาร 1 ปี มีการลาไปต่างประเทศ ลากิจ ลาไปราชการ รวมแล้ว 221 วัน ทำงานจริงแค่ 35 วัน
แม้ พล.อ.อ.สุกำพล จะยืนยัน การตรวจสอบของกลาโหมเป็นไปตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องมา ไม่มีเจตนาทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ใครบางคนไม่เชื่อเช่นนั้น
   "ให้ฝ่ายกฎหมายติดตามอยู่ว่าจะฟ้องร้องอย่างไร ถ้าใช้หลักฐานเท็จก็ต้องเล่นงานกัน"
   "เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองชัดเจน เนื่องจากเรื่องนี้ผ่านมายี่สิบกว่าปี เคยมีการชี้แจงหลายครั้ง แต่ตอนนี้มีการเคลื่อนไหวในจังหวะนี้พอดี เพราะผมฟ้องร้องนายจตุพร จึงออกมาเพื่อเป็นตัวช่วยให้นายจตุพร"
หลังคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมาว่า นายจตุพรไม่มีความผิดกรณีกล่าวหาอดีตนายกฯ หลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร
เป็นจังหวะเดียวกับที่มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งผลการพิจารณาขั้นตอนดำเนินการตามข้อกฎหมาย กลับมายังกลาโหมแล้ว ตามที่กลาโหมทำเรื่องขอคำปรึกษาไป
โดยระบุเป็นอำนาจของ รมว.กลาโหม ดำเนินการ ทำให้ล่าสุด พล.อ.อ.สุกำพล มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการตามข้อกฎหมายอย่างไรต่อไป
การถอดยศ เรียกคืนเงินเดือน จึงต้องรอผลพิจารณาของคณะกรรมการ ที่แม้แต่ รมว.กลาโหม เองก็ยังให้คำตอบไม่ได้ในเวลานี้ว่า ผลสรุปจะไปถึงขั้นนั้นหรือไม่ รวมถึงการยื่นถอดถอนพ้นสภาพจากการเป็น ส.ส. ด้วยเช่นกัน
กรณีหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร จึงเป็น "วิบากกรรม" ของนายอภิสิทธิ์ เช่นเดียวกับกรณี 98 ศพเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่กำลังยกระดับขึ้นเป็นคดีฆาตกรรม เป็นวิบากกรรมจากแรงสะเทือนของ "คำสั่งศาล" ทั้ง 2 กรณี