"จาตุรนต์" วิพากษ์"คอป." แนะยึด 6 ตุลานิรโทษเว้นแกนนำ

มติชน 8 ตุลาคม 2555 >>>




นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงข่าว "จาก 6 ตุลา 19 ถึงรายงาน คอป." ที่โรงแรมอมารี เอเทรียม ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 มีความเหมือนกันคือ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชน รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
มีทั้งข้อดีและจุดบกพร่อง โดยรวมรายงานของ คอป. มีข้อดีอยู่ไม่น้อย มีหลักการในการทำงานพอสมควร มีข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์ แต่เมื่อศึกษารายงานของ คอป. แล้วมีข้อผิดพลาดและข้อจำกัดอยู่พอสมควร ข้อจำกัดนี้ไม่น่าจะนำพาประเทศไปสู่ความปรองดองได้ เพราะ คอป. ไม่ได้ศึกษารากเหง้าและปัญหาที่สำคัญ รวมถึงความขัดแย้งที่เป็นประเด็น รวมถึงประเด็นปัญหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่จำเป็นที่ทำให้เกิดวิกฤต ดังนั้น รายงานของ คอป. จึงไม่ใช่รายงานฉบับสุดท้ายที่สังคมสามารถฝากความหวังให้เกิดความปรองดองได้
ข้อจำกัดของรายงานที่เป็นปัญหา มีทั้งการสืบหาความจริง การสอบถามความเห็นที่ไม่ครอบคลุม ครบถ้วน ข้อเท็จจริงจำนวนมากไม่ได้นำมาเปิดเผย สังคมได้ข้อมูลเพียงบางส่วนที่ คอป. เลือกมาเปิดเผย ถ้าเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คอป. ได้งดเว้นในการค้นหาความจริงเหมือนกับกรณีเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เหมือนกับมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดไปหมดแล้ว ความจริงประเด็นสำคัญไม่ได้ค้นหาก็คือ ความรุนแรงเกิดขึ้นมาใครผิดมากผิดน้อย การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐเกินกว่าเหตุหรือไม่ รายงานนี้จึงไม่ได้ตอบสิ่งที่เรียกว่าประเด็นข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ เป็นเหตุให้ตั้ง คอป. ให้ไปค้นหาประเด็นข้อสงสัย แต่ คอป. ไปดำเนินการโดยน้อยกว่าที่ได้รับมอบหมายหรือวัตถุประสงค์
ในรายงาน คอป. กลับเน้นชายชุดดำโดยไม่ได้บอกว่าคือใครอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ที่ใช้ความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แต่การเสนอข้อมูลชายชุดดำให้น้ำหนักอย่างมาก เป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้กับรัฐในการจัดการชุมนุม ทั้งที่โดยหลักการแล้ว แม้ว่าจะมีชายชุดดำจริง เป็นใคร ทำอะไร ไม่ได้ค้นหาแต่เรื่องนี้ แม้มีชายชุดดำจริงรัฐก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงต่อประชาชนให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ชุดความจริงสาเหตุรากเหง้าความขัดแย้ง คอป. ใช้ประเด็นนำมาเรียงต่อกัน แล้วบอกว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระตุ้นซ้ำกัน
คอป. เน้นเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารอย่างหนักแน่น ใช้เนื้อหายาวมาก พอมาถึงรัฐประหาร คอป. พูดถึงเพียงไม่กี่คำสั้นๆ แล้วพูดถึงรัฐประหารว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน เพราะรัฐประหารเป็นกระบวนการที่ขัดขวางต่อการแก้ปัญหาประชาธิปไตย ข้อความนี้เบาอย่างมาก พอพูดถึงกระบวนการยุติธรรมเช่นพูด
ตุลาการภิวัฒน์บอกว่า ฝ่ายตุลาการเข้ามามีอำนาจมากขึ้นในการถ่วงดุลอำนาจ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ หมายความว่า คอป. ไม่เห็นปัญหา พูดถึงกระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐาน คนทั้งสังคมเห็นปัญหา แต่ คอป. บอกว่ามีการกล่าวอ้างมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และการทำหน้าที่องค์กรอิสระทำให้เคลือบแคลง เป็นการลดน้ำหนักเรื่องที่มีน้ำหนัก พอพูดถึงองค์กรอิสระ อธิบายปัญหาองค์กรอิสระ อ่านแล้วไม่ทราบหมายถึงช่วงไหนกันแน่ ทั้งที่องค์กรอิสระหลังการรัฐประหารอยู่ในลักษณะไม่เป็นอิสระเลย ตั้งโดยคณะรัฐประหารหลายคณะ แต่ คอป. พูดถึงการแทรกแซงองค์กรอิสระอย่างคลุมเครือ
ส่วนพอพูดถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 พบว่า คอป. ไม่เห็นรัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหา โดยบอกว่าประเด็นรัฐธรรมนูญ 2550 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคนบางกลุ่มยังให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากประชาชน จึงมีทัศนคติทางลบกับรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้วิเคราะห์ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหาอย่างไร การที่ คอป. มีความเห็นอย่างหนึ่งไม่ได้เห็นตรงกับที่ผมพูด ไม่ได้เป็นปัญหาเสียทีเดียว ผมเพียงแต่ว่า คอป. ได้ใช้วิธีไปเน้นให้น้ำหนักอย่างที่ตนต้องการ และไม่ได้กล่าวถึงความเห็นของฝ่ายต่างๆ
ถ้าจะบอกว่าเป็นกลางจริงๆ ก็ไม่ได้ยกความเห็นฝ่ายต่างๆ มานำเสนอ คอป. บอกว่าต้องเป็นกลางจึงไม่ได้นำเสนอ กลายเป็นคล้ายสรุปและทำให้อาจพูดได้ว่าเอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างมาก ทำให้สิ่งที่เรียกว่าชุดความจริงเกี่ยวกับสาเหตุรากเหง้าความขัดแย้ง ไม่ใช่ชุดความจริงร่วมกันอย่างที่ คอป. บอกว่าจะทำ คอป. บอกว่ามีชุดความจริงหลายชุด คอป. ต้องการชุดความจริงร่วมกัน แต่ปรากฏว่าชุดความจริงนี้ในที่สุดก็เป็นชุดความจริงที่สอดคล้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก และชุดความจริงนี้ใช้เรียกว่าชุดข้อมูลที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงและความเห็น ไม่เพียงพอให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคม
สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดในการนำเหตุการณ์ต่างๆ มาเรียงกัน การมองปัญหา คอป. ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ไม่เห็นความต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีปัญหาสามารถแก้ไขปัญหาในระบบตรวจสอบได้ กลับเห็นว่าการรัฐประหารและระบบที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหาร ขัดหลักประชาธิปไตย ขาดหลักนิติธรรม อย่างตรวจสอบไม่ได้ เมื่อไม่เห็นความแตกต่างนี้ทำให้เป็นปัญหาใหญ่สำคัญ
การไม่เห็นความแตกต่างนี้ก็สะท้อนถึงความเห็นของประธาน คอป. ที่ว่า "แม้ถึงว่าข้าพเจ้าจะไม่เห็นพ้องด้วยกับการยึดอำนาจรัฐไม่ว่าในครั้งใด แต่เผด็จการทางรัฐสภากับเผด็จการทหารดูจะไม่แตกต่างกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเผด็จการทั้งสองรูปแบบต่างทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยด้วยกันทั้งสิ้น" คอป. แบ่งความแตกต่างทางความเชื่อประชาธิปไตยเป็น 2 แบบ คือ บอกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งไม่ต้องตรวจสอบ กับแบบคนดีมีคุณธรรม ตรวจสอบได้
ในการวิเคราะห์ทำให้ไม่เห็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่มีคนไม่เชื่อการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตยปกครองบ้านเมืองได้ และการใช้ความรุนแรงเข้ายึดอำนาจรัฐ ทำลายหลักนิติธรรม คือ ปัญหาใจกลางของวิกฤต ข้อเสนอของ คอป. เมื่อวิเคราะห์โดยเข้าใจไม่ตรงกับหลักการใจกลางของประเทศ ถึงแม้ข้อเสนอ คอป. จะมีข้อเสนอที่ดีหลายข้อ ก็ทำให้ข้อเสนอในส่วนที่สำคัญมากๆ ขาดน้ำหนักไม่ตรงความจริง คอป. เสนอได้ชัดเจนว่า จะต้องไม่มีการทำรัฐประหารอีก แต่ไม่ได้เน้นความเลวร้ายรัฐประหารแต่ต้น น้ำหนักข้อเสนอนี้ก็ลดน้อยลง แต่ คอป. เสนอว่าต้องไม่เร่งแก้รัฐธรรมนูญ และกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นมาตรการระยะยาว ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาใหญ่มาก คอป. เสนอให้ปรับกระบวนการยุติธรรม ก็พบว่าไม่ได้เน้นชัดเจน โดยเฉพาะที่พูดถึงตุลาการ ก็เป็นเพียงข้อเรียกร้องแต่ไปเรียกร้องกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารมากกว่า
เมื่อไม่เร่งแก้รัฐธรรมนูญ การปรับความยุติธรรมทั้งระบบก็ไม่คงเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้น ในการคืนความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบไม่เป็นตามหลักนิติธรรม แต่เมื่อพูดถึงบทสรุปข้อเสนอต่างๆ ไม่ปรากฏอีก แม้จะคืนความยุติธรรมจากผู้ได้รับ
ผลกระทบจากการกระทบที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่ คอป. เรียกร้องให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำที่ขาดหลักนิติธรรมเสียสละ เมื่อข้อเสนอ คอป. ไม่เพียงพอจะทำให้สังคมไทยพ้นวิกฤตหรือเกิดการปรองดองได้
ข้อเสนอผมคือ ผู้เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอ คอป. ทุกข้อ การปฏิบัติเพียงบางส่วนไม่ได้หมายความว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ข้อเสนอที่จะเป็นรูปธรรมขึ้น คือ
1. ขอเสนอว่าเมื่อรายงาน คอป. ยังค้นหาได้ไม่พอ ควรส่งเสริมให้ค้นคว้าหาความจริงเพิ่มเติมต่อไป ทั้งที่ในส่วนเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงและรากเหง้าของสาเหตุความขัดแย้งในสังคม การค้นหาความจริงอาจทำเหมือนที่ คอป. ทำ แต่ทำเพิ่มเติมข้อมูลข้อเท็จจริง หรือที่ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ทำก็ได้
นอกจากนั้น อาจส่งเสริมให้หลายฝ่ายที่ใส่ใจค้นหาความจริง ได้ทำมากขึ้นโดยฝ่ายรัฐจะส่งเสริมสนับสนุนให้ความร่วมมือ และนำข้อค้นพบรวบรวมและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ จะหวังจากรายงานไม่ได้ แล้วหาคนกลางที่ยอมรับจากสังคมคงยาก ดังนั้น ควรเปลี่ยนแนวให้หลายฝ่ายค้นหาความจริงแล้วให้สังคมศึกษาเรียนรู้ ถ้าเป็นเรื่องทางการเมืองให้ประชาชนใช้วิจารณญาณตัดสินใจ
2. ข้อเสนอใดเป็นประโยชน์ความเห็นแตกต่างน้อยก็ดำเนินการไปเลย บทเรียนจาก 6 ตุลา คือ การนิรโทษกรรม คิดว่า คอป.และหลายฝ่ายก็ยังไม่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรม ผู้ที่เป็นแกนนำตัวการสำคัญทั้งหลาย คงยังไม่เหมาะน่าจะยังไม่รีบดำเนิน แต่ 6 ตุลา แม้นิรโทษกรรมจะนิรโทษกรรมผู้มีอำนาจ แต่ผู้ได้รับอานิสงส์คือประชาชนทั่วไป ดังนั้น ถ้าจะศึกษา 6 ตุลานำแง่มุมมาใช้ควรนิรโทษกรรมประชาชนที่ไม่ใช่แกนนำไปก่อน ส่วนการศึกษาจะนิรโทษกรรมผู้อื่น ส่วนอื่นอย่างไรต้องใช้เวลา และ
3. ในกรณีเห็นว่าเรื่องจำเป็นต้องทำ แต่ยังเห็นต่างกันเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ เมื่อยังมีความเห็นต่างกันก็ควรมีกระบวนการรับความเห็นใช้ และอาศัยประชามติหาข้อยุติ แต่ที่ผมเห็นต่างจาก คอป. ในประเด็นที่จำเป็นต้องทำควรจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ไม่ใช่ทำเป็นเรื่องระยะยาวไม่รู้กี่ปีจะทำ เพราะอาจทำให้วิกฤตปะทุขึ้นมาได้อีก