วุฒิสภาแนะปัดฝุ่น ร่าง กม.ชุมนุมสาธารณะ ค้างเติ่งวาระตั้งแต่ปี"54 หวังแก้มวลชนปะทะกัน

มติชน 3 ตุลาคม 2555 >>>




เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญทั่วไปมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดย พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา หารือว่า ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. .... ที่เสนอเข้ามาในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งขณะนี้ยังค้างอยู่ในระเบียบวาระ ดังนั้นอยากเรียกร้องให้มีการหยิบยกเอาร่างพ.ร.บ. ชุมนุมในที่สาธารณะขึ้นมาพิจารณา เพราะเห็นได้จากการชุมนุมทางการเมืองล่าสุดที่เกิดการปะทะกันระหว่างเสื้อ เหลืองกับเสื้อแดง ที่บริเวณหน้ากองบังคับการปราบปรามทำให้ประเทศเสียหาย จึงต้องการทราบว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาความรุนแรงจากการชุมนุมในที่สาธารณะอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .. สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีทั้งสิ้น 38 มาตรา ซึ่งมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่ง มาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 34 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตราสำคัญ มีดังนี้ มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้
(1) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
(2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
(3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา
(5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติของกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
มาตรา 5 "การชุมนุมสาธารณะ" หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
"ที่สาธารณะ" หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณ ประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน หรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ
มาตรา 10 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามกฎหมายผู้ใดประสงค์จะจัดการ ชุมนุมสาธารณะ และการชุมนุมนั้นกระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่าเจ็ด สิบสองชั่วโมง
ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือผู้นัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วม ชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวย ความสะดวกในการชุมนุม เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง หนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา 30 ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่กระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ผู้ใดมิได้แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา 31 ผู้ใดจัด เชิญชวน หรือนัดหมายให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 37 ผู้ใดไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานตามมาตรา 20 หรือ มาตรา 22 หรือจากผู้ควบคุมสถานการณ์ตามมาตรา 26 ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าอาวุธตามวรรคหนึ่งเป็นอาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกับผู้กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ