(ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ28ก.ย.-4 ต.ต.)
เกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ที่ความเห็นต่อรายงานฉบับสมบูรณ์ เกี่ยวกับการเสียชีวิต 98 ราย ในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ถูกยำใหญ่ ในมุมมองต่างทรรศนะ ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมไทยที่ร้าวลึกมายาวนานหลายปี
แน่นอนว่า ประเด็นใหญ่ที่ถูกจับจ้องมากที่สุดคือ ปม "ชายชุดดำ" ที่รายงาน คอป. อ้างมีหลักฐานชี้ชัดให้ต้องยอมรับว่า ในจำนวน 92 ศพนั้น มีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน แยกเป็นทหาร 6 นาย ตำรวจ 2 นาย และประชาชนกลุ่มรักษ์สีลม 1 ราย ต้องสังเวยชีวิตเพราะฝีมือกลุ่มชายลึกลับที่ครบเครื่องไปด้วยอาวุธสงคราม โดยที่บางส่วนมีความใกล้ชิดกับ เสธ.แดง-พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล
และข้อสันนิษฐานที่ยังไม่มีหลักฐานชัด คือ เรื่องราวของชายชุดดำที่ออกมาจากปาก "สมชาย หอมลออ" หนึ่งใน คอป. ปริศนาที่คลุมเครือ ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างชายชุดดำกับแกนนำ นปช. เป็นความเห็นหรือความจริงกันแน่ เพราะหลังผ่านไป 2 ปี ยังไม่มีใครสามารถจับชายชุดดำที่มีส่วนในการก่อเหตุได้แม้แต่คนเดียว
ขณะที่สาเหตุการเสียชีวิตอีกเกือบ90รายที่เหลือ คอป. ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามจากประชาชนได้ ว่ามาจากวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้การดำเนินงานของ ศอฉ. อันเป็นผลมาจากคำสั่งของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุคนั้นทั้งหมดหรือไม่
รวมถึงการใช้สไนเปอร์ ทั้งๆ ที่มีข้อมูลปรากฏว่า ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิต 98 ราย ตายเพราะกระสุนที่ยิงอย่างแม่นยำเข้าที่ศีรษะ และส่วนบนของร่างกาย
เสียงวิจารณ์คณะกรรมการ "คอป." ชุดที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งขึ้น ด้วยงบฯ 65 ล้านบาท เต็มไปด้วย "ความเห็น" และมีข้อบกพร่องหลายเรื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความเห็นส่วนตัว" ที่ นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. เสนอให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "เสียสละ" เดินตามแนวทาง "นายปรีดี พนมยงค์"รัฐบุรุษอาวุโส ด้วยการไม่กลับประเทศไทย...
"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รมช.เกษตรฯ ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง ออกโรงฉะทันทีว่า "ผมอยากฝากไปยังท่านคณิต ว่าปัญหาของสังคมไทยคือเรื่องความไม่เป็นธรรม อะไรๆ ก็โยนมาให้ทักษิณเสียสละ คุณทักษิณไม่อยากเป็นรัฐบุรุษ แต่อยากเป็นมนุษย์ธรรมดาที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแบบปกติมากกว่า แล้วท่านคณิตไม่รู้หรือว่าประวัติศาสตร์ของท่านปรีดีต้องโดนอะไรมาบ้าง ถูกความอยุติธรรมกลั่นแกล้งขนาดไหน"
แกนนำพรรคเพื่อไทย รุมประณามผลสรุปของ คอป. ว่า เป็นสิ่งอัปยศ ที่ไม่เป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการละเมิดสิทธิ ทั้งยังไล่บี้ เรียกหาผลการศึกษาเหตุสลายชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 98 ราย ที่เก็บข้อมูลจากนักข่าว ช่างภาพสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่เคยร่วมเกาะติดเหตุการณ์กระชับพื้นที่ เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ คอป. ยกย่องผู้เสียชีวิตทั้ง 98 คน ที่เสียสละออกมาเรียกร้องความยุติธรรม พร้อมตั้งคำถามทำไม คอป. ไม่ดำเนินการผู้สั่งการทหารในขณะนั้น ซึ่งคือ ศอฉ. และนายกรัฐมนตรี ที่ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ
แล้วความอึดอัด จากรายงานสรุปของ คอป. ก็ถูกสะท้อนผ่านวงเสวนา "รัฐประหาร 19 กันยา กับอาชญากรรม โดยรัฐ กรณีการสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 53"ที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ร่วมกับ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล จัดขึ้นเมื่อ 23 กันยายน ที่ผ่านมา
ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจาะคำถามไปที่ คอป. เพื่อขอคำอธิบายว่า การปรากฏของชายชุดดำ ทำให้ทหารยิงใส่ผู้ชุมนุมมือเปล่า ซึ่งสำหรับ ศปช. คิดว่าต่อให้เป็นความจริงว่าผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องจัดการ ไม่ใช่ยิงไม่เลือกหน้า
"ถ้า คอป. วิเคราะห์การตายเป็นกรณีไป จะเห็นว่าไม่ใช่เพราะชายชุดดำเลย แต่เป็นการตายเพราะเจ้าหน้าที่ การที่ออกมาสรุปว่าเป็นเรื่องผัวเมียทะเลาะกันและผิดทั้งคู่ การใช้คำพูดทำนองนี้เป็นสิ่งที่ทำให้การใช้ความรุนแรงของรัฐพร่าเลือน ทั้งที่อาวุธของทั้งสองฝ่ายเทียบกันไม่ได้เลย"
สอดรับกับการจำแนกรายงานที่แพงสุดในโลกของ คอป. ที่ นายธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ชำแหละค่าเฉลี่ยเม็ดเงินตกถึงหน้าละ 2 แสนบาท แต่วิธีคิดกลับมีปัญหายิ่ง เมื่อพูดถึงรากเหง้าปัญหาว่าความรุนแรงเกิดจาก ทักษิณโฟนอิน แต่การที่ทหาร ปืนใหญ่ รถถัง กลับไม่ถูกกล่าวถึง
น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มอง คอป. ว่ามีปัญหาตั้งแต่ต้นเริ่มตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คู่ขัดแย้ง
ดังนั้น รายงานเพียง 300 หน้าของ คอป. จึงไม่สามารถเสนอความจริงอะไรได้
ในโลกออนไลน์ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ใช้พื้นที่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงทรรศนะถึง "อนุสนธิ" จากรายงานของ คอป. ที่ตอกย้ำว่า
ขณะนี้สังคมไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ไม่มี "จุดร่วมตรงกลาง" (ซึ่งแสดงออกในแง่ไม่มีบุคคล หรือ องค์กร หรือกลไกที่ "อยู่ตรงกลาง" ในแง่ที่สังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเชียร์พรรคการเมืองไหน สามารถยอมรับร่วมกันโดยทั่วๆ ไปได้ - พูดอีกอย่างคือมาถึงจุดที่ไม่สามารถหา "ฉันทามติ" หรือ consensus ในเรื่องใดที่สำคัญๆ ได้แล้ว
แม้หลากหลายความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องจะสับเละ จวกแหลก ต่อรายงานของ คอป. แต่ในผลสำรวจของสวนดุสิตโพล กลับระบุว่า ประชาชนถึงร้อยละ 53.70 กลับเห็นด้วยกับข้อสรุปที่เผยแพร่ โดยมองว่า ใช้เวลาในการศึกษานานพอสมควร มีการชี้แจงอย่างละเอียด ทั้งขั้นตอนการทำงาน การรวบรวมพยานหลักฐาน และส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างความปรองดองของชาติได้
ความเห็นจากผลสำรวจประชาชน ดูจะไปสนับสนุนถ้อยคำที่ อภิสิทธิ์ เวชชาวะ เรียกร้องรัฐบาลและแนวทางของพรรคเพื่อไทย ให้ตั้งหลักยอมรับ "ข้อเท็จจริง" ที่ คอป. เสนอ พร้อมฝากบอก พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับกระบวนการยุติธรรมมาเป็นคำตอบสู่กระบวนการปรองดอง จะถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเชื่อ คอป.
หลังโดนสับอย่างหนัก "คณิต ณ นคร"เปิดเผยผ่านสื่อว่า "คนที่มาให้ข้อมูลมาด้วยความสมัครใจ เต็มใจ อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติ ไม่ใช่ความเห็นลอยๆ แต่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ประกอบ และส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหากับอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมฝากถามกลับไปยังคนวิพากษ์วิจารณ์ที่เต้นเร่าๆ กับความอยุติธรรมที่รู้สึกว่าเกิดขึ้น ว่า ได้อ่านเนื้อหารายงานครบถ้วน และละเอียดดีหรือยัง?"
"ผมอาจยอมรับได้ว่ารายงานของเราไม่สมบูรณ์ก็เราทำได้อย่างนี้ จะมาคาดคั้นอะไรอีก มีต่างชาติมาเสนอเงินช่วยเหลือแต่ผมปฏิเสธ บอกเลยว่าไม่รับเป็นเงิน แต่ถ้าจะส่งผู้เชี่ยวชาญมา เรายินดี ซึ่งหลายประเทศส่งคนมาช่วย
"คอป. คงไม่ต้องชี้แจงอะไรอีก เพราะงานของเราจบแล้ว ผมก็พักผ่อนกลับไปเลี้ยงหลาน แต่ไม่ท้อ เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีสิทธิ์บ่น"
แม้ว่า คณิต ณ นคร อยากกลับไปเลี้ยงหลาน แต่คำถามมากมายเกี่ยวกับรายงาน คอป. ยังล่องลอยอยู่ในสายลม