นิธิ เอียวศรีวงศ์: พลวัตของชนชั้นนำไทย (1)

ข่าวสด 2 ตุลาคม 2555 >>>



ปัญหาว่าความแตกร้าวในสังคมไทยปัจจุบัน มีสาเหตุมาจากความแตกร้าวของชนชั้นนำกันเอง หรือเป็นความแตกร้าวระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่าง ดูเหมือนจะคลี่คลายไปแล้ว เพราะความเห็นส่วนใหญ่ก็คือ มันเป็นทั้งสองอย่าง
แต่เป็นทั้งสองอย่างไม่ได้หมายความว่า เป็นโดยไม่เกี่ยวกัน ในทางตรงกันข้ามเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออกทีเดียว ผมหวังว่าจะสามารถเล่าความเกี่ยวโยงดังกล่าวตามความเห็นของตัวเองได้
ชนชั้นนำไทยซึ่งถืออำนาจบริหารจัดการบ้านเมืองมานานนั้น ไม่ได้ประกอบด้วยกลุ่มเดียว แต่มีกลุ่มใหม่ๆ แทรกตัวเข้ามาเพิ่มอยู่เสมอ
ในขณะที่กลุ่มเก่าบางกลุ่มเคยถูกลดอำนาจและบทบาทลง ก็สามารถกลับมาเถลิงอำนาจได้ใหม่ และเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่องก็มี ต่างเข้าไปยึดถือการนำร่วมกันบ้าง แข่งกันบ้าง ในองค์กรและสาขาของการบริหารจัดการ ทั้งที่เป็นของรัฐเป็นของเอกชน หรือเป็นพลังทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมยอมรับอำนาจ บางกลุ่มก็จับมือเป็นพันธมิตรกัน บางกลุ่มก็จับมือต่อต้านบางกลุ่มร่วมกัน
พูดง่ายๆ ก็คือ "การเมือง" ของชนชั้นนำนั้นเอง ก็สลับซับซ้อนและมีพลวัตในตัวเอง ไม่ใช่กลุ่มเดิมที่เกาะกันกินหัวชาวบ้านมายาวนาน โดยไม่เปลี่ยนแปลงกลุ่มหรือวิธีการเลย กลุ่มชนชั้นนำที่ถือว่าเป็นหัวขบวนสำคัญๆ ประกอบด้วย
1. ระบบราชการ รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธทั้งหมด (บางครั้งก็ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน บางครั้งก็แตกแยกกันภายใน จนทำให้ไม่อาจยึดอำนาจนำไว้แต่ผู้เดียวได้ ในขณะที่ฝ่ายราชการพลเรือนสูญเสียความชอบธรรมในการนำไปมากแล้ว)
2. นักธุรกิจอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ บางส่วนก็สั่งสมทุนมานานตั้งแต่ก่อนสมัยสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สบโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้อย่างแท้จริงด้วยนโยบายพัฒนา ซึ่งสถาปนาขึ้นในสมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา
3. นักธุรกิจในต่างจังหวัด กลุ่มนี้ก็เป็นผลผลิตของนโยบายพัฒนาเหมือนกัน เช่นเป็นเจ้าของกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร, นายทุนเงินกู้, ทำกิจการขนส่ง ฯลฯ เป็นต้น กลุ่มนี้บางส่วนอาจเข้าไปเกี่ยวพันกับธุรกิจในมุมมืดด้วย ทั้งความจำเป็นในการประกอบกิจการ และเพราะเป็นโอกาสซึ่งเกิดขึ้นใหม่ในตลาดชนบท เช่นเป็น เจ้ามือหวยเถื่อน, ออกเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยผิดกฎหมาย, ทำไร่หรือโรงงานนรกเพื่อประกันการมีแรงงานในยามจำเป็น ฯลฯ ดังนั้นหลายคนในกลุ่มนี้จึงมีฉายาว่าเจ้าพ่อ
เมื่อการเมืองเปิดกว้างขึ้นหลัง 14 ตุลา 2516 กลุ่มนี้ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างออกหน้า โดยเข้าร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆ และสามารถเข้าร่วมรัฐบาลได้เสมอมานับตั้งแต่นั้น เพราะชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้อย่างขาดไม่ได้
อันที่จริง คนกลุ่มนี้หาได้มีผลประโยชน์ขัดแย้งโดยตรงกับนักธุรกิจอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯไม่ โดยเฉพาะเมื่อ "เจ้าพ่อ" เริ่มแปรธุรกิจของตนให้เข้าสู่แสงสว่างมากขึ้น เช่นเปิดโรงแรมชั้นหนึ่งในหัวเมือง ก็ต้องอาศัยการเข้าร่วมเครือบริหารของโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อช่วยยกมาตรฐานของโรงแรมตนเอง และเพื่อประกันแขกที่จะเข้าพักในระดับหนึ่ง
แม้กระนั้น นักธุรกิจต่างจังหวัดก็ไม่ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกับนักธุรกิจอุตสาหกรรมกรุงเทพฯ ความขัดแย้งหลักน่าจะเป็นความแตกต่างด้านโลกทรรศน์ของคนสองกลุ่มนี้เป็นสำคัญ นักธุรกิจต่างจังหวัดถูกมองอย่างหมิ่นๆ จากนักธุรกิจอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯและบริวารซึ่งคือคนคอปกขาว เพราะได้รับการศึกษาแผนใหม่สูงกว่า ในขณะที่คนมีการศึกษาในเขตเมืองเข้าไปเชื่อมโยงกับทั้งทุน, เทคโนโลยี และตลาดของต่างชาติมากขึ้น ตามสภาพโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้น จึงต้องการปรับสภาพรัฐให้เป็นที่ยอมรับในเชิงสากลไปพร้อมกัน ในขณะที่นักธุรกิจต่างจังหวัดอาจพอใจเพียงให้รัฐปล่อยให้ตนดำเนินธุรกิจปริ่มกฎหมายต่อไป ทั้งสองฝ่ายอยากเห็นรัฐอ่อนแอเหมือนกัน แต่อ่อนแอกันไปคนละทาง
4. กลุ่มกษัตริย์นิยม หลังการรัฐประหาร 2490 กลุ่มนี้สั่งสมอำนาจได้เพิ่มขึ้น แม้คณะรัฐประหารซึ่งเป็นผู้คุมอำนาจสูงสุดไม่ได้สังกัดกลุ่มนี้ก็ตาม ความแตกร้าวในคณะรัฐประหารเอง ทำให้กลุ่มทหารสร้างพันธมิตรกับกลุ่มนี้ และในที่สุดก็ร่วมมือกันช่วงชิงอำนาจนำเด็ดขาดไว้ได้
นับตั้งแต่นั้นมากลุ่มกษัตริย์นิยมก็สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งของอำนาจเพิ่มขึ้นตลอดมา เพราะกลุ่มทหารต้องอาศัยกลุ่มนี้ในการแสวงหาความชอบธรรมของการเผด็จอำนาจ
5. กลุ่มคนคอปกขาว ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นและกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่มีความสำคัญนับตั้งแต่ 14 ตุลาฯมาก็เช่นเดียวกัน คนเหล่านี้มีการศึกษาแต่ไม่ได้สังกัดอยู่กับระบบราชการเหมือนเดิม แต่แทรกอยู่ในวงการธุรกิจ, นักเทคนิค ฯลฯ และที่สำคัญคือเป็นกำลังสำคัญในสื่อทุกแขนง
พลังทางการเมืองของคนกลุ่มนี้แสดงให้เห็นทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภามหาโหด 2535 เมื่อรวมพลังกันได้ และร่วมมือกับชนชั้นนำกลุ่มอื่นบางกลุ่มก็อาจล้มอำนาจของทหารได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มชนชั้นนำที่ไร้พลังจัดตั้งอย่างยิ่ง ไม่มีสมาคม, ไม่มีสภา, หรือองค์กรของตนเอง (เมื่อเปรียบเทียบกับนักธุรกิจอุตสาหกรรมและธนาคาร หรือเครือข่ายกษัตริย์นิยม หรือกองทัพ) ดังนั้นจึงสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ต่อเมื่อมีประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงบางอย่างร่วมกัน และต้องมีผู้นำเป็นตัวเป็นตนอย่างชัดเจน กลุ่มคนชั้นกลางคอปกขาวคือกลุ่มที่โหยหาผู้นำ (ที่เรียกว่าคนของประชาชน) มากที่สุด เพราะปราศจากผู้นำ บทบาททางการเมืองของคนกลุ่มนี้ก็ถูกจำกัดลงเหลือ แต่เพียงสื่อ ถึงแม้มีอิทธิพลพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเด็ดขาดนัก
เครื่องมือในการนำไปสู่บทบาททางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียวที่คนกลุ่มนี้มีอยู่คือ การเลือกตั้ง แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้พัฒนากลไกที่จะใช้การเลือกตั้งให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ (เช่นสหภาพแรงงานรถยนต์ในสหรัฐ เป็นหนึ่งในกลไกที่ทรงพลังในการเมืองเรื่องเลือกตั้ง) ถึงแม้จะพัฒนากลไกขึ้นได้ ก็ใช่ว่าจะเป็นน้ำหนักสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะ ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภาย่อมมาจากกลุ่มประชากรอื่น ไม่ใช่กลุ่มนี้ ซึ่งประกอบเป็นประชากรไม่น่าจะเกิน 25% ของทั้งประเทศ
ผมคิดว่า นี่คือกลุ่มที่คับข้องใจ (frustrated) ทางการเมืองที่สุด ในบรรดาชนชั้นนำของไทยทั้งหมด เพราะในด้านหนึ่งก็ดูเหมือนมีพลังมหาศาลและได้พิสูจน์ประสิทธิภาพของพลังนั้นให้เห็นมาแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับทำอะไรทางการเมืองไม่ได้มากนัก จึงง่ายที่จะถูกผลักให้ลงไปสู่ท้องถนนเพื่อยึดทำเนียบ, ยึดสนามบิน หรือตีกับตำรวจ
ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ทุกกลุ่มต้องปรับตัว เพื่อรักษาส่วนแบ่งอำนาจการนำของตนไว้ เมื่อ พคท.ล่มสลาย บทบาทนำทางการเมืองของกองทัพก็สั่นคลอน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องแรกๆ ที่นักการเมืองรุกเข้ามานำ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องซึ่งสภาความมั่นคงกำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายไว้เนิ่นนาน นับตั้งแต่การเปิดความสัมพันธ์กับจีน และการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า นักการเมืองก็ทำไปท่ามกลางการคัดค้านหรือลังเลใจของกองทัพ เหตุการณ์พฤษภามหาโหดใน 2535 และรัฐธรรมนูญ 2540 ยิ่งทำให้กองทัพหมดความชอบธรรมที่จะเข้ามาก้าวก่ายทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
ภาพเสมือนของความมั่นคงในระบบเลือกตั้ง ทำให้ข้าราชการต้องยอมรับการนำของนักการเมือง แม้แต่ที่เป็น "เจ้าพ่อ" หรือสายของ "เจ้าพ่อ" อย่างราบคาบ
กลุ่มกษัตริย์นิยมได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเมืองอย่างมากมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว ในช่วงทศวรรษ 2520 ต่อ 2530 การไม่กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ "กบฏ" ภายในของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้อำนาจของกลุ่มกษัตริย์นิยมในรัฐสภาอ่อนลง การคงอยู่ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับประกันความเป็นพันธมิตรของกองทัพกับกลุ่มกษัตริย์นิยม
แต่การชุมนุมกดดันของกลุ่มคนงานคอปกขาวหลังการเลือกตั้ง (โดยการสนับสนุนของพรรคการเมืองบางพรรค) ทำให้พลเอกเปรมตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกฯอีก ยิ่งทำให้กลุ่มกษัตริย์นิยมขาดพลังต่อรองในระบบรัฐสภายิ่งขึ้นไปอีก
การรัฐประหารของ รสช. ใน 2534 มีเป้าหมายจะสถาปนาระบบการเมืองแบบ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมาอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือผนึกอำนาจนำของกลุ่มข้าราชการ-กองทัพ และกลุ่มกษัตริย์นิยมไว้สูงสุด ซึ่งแสดงว่า กองทัพและกลุ่มกษัตริย์นิยมมองไม่เห็นว่า เมืองไทยใน พ.ศ. 2534 ได้เปลี่ยนไปในสามทศวรรษที่ผ่านมาอย่างมากแล้ว พวกเขามองไม่เห็นคนงานคอปกขาวซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขตัดสินทางการเมืองที่มีความสำคัญในหมู่ชนชั้นนำด้วยกัน มองไม่เห็นว่าธุรกิจอุตสาหกรรมไทยได้ก้าวไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ไม่ใช่อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าอีกต่อไป และด้วยเหตุดังนั้นจุดสิ้นสุดของพวกเขาจึงเต็มไปด้วยการนองเลือด
ยิ่งไปกว่านี้ ความพยายามที่มุ่งไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองเช่นนี้ กลับทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองยิ่งขึ้น