กรณี "ยงยุทธ" ว่าด้วย "การรับโทษ" มุม กม. จาก "ก.พ.-กฤษฎีกา"

มติชน 26 กันยายน 2555 >>>




ไม่แปลกที่กรณีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย และรองนายกฯ จะเดินทางไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ประชุมหารือ และมีความเห็นว่า นายยงยุทธไม่ได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2550 เนื่องจาก "ยังไม่ได้รับโทษ" จากคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. และ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ที่ให้ไล่ออกจากราชการ กรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ จึงให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนับเป็น "โมเดล" อันคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง จากกรณี พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อใช้ในมาตรการแก้ไขป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล เมื่อต้นปี 2555 หรือการเสนอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย สำหรับปัญหาสถานะของนายยงยุทธ ที่จริงมีความเห็นทางกฎหมาย จากทั้ง ก.พ. หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปแล้วว่า ถือว่านายยงยุทธได้รับโทษแล้ว และได้รับการล้างมลทินแล้ว จึงถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ 2550 ระบุว่า ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือใน วันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมด หรือบางส่วนไปก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่า ผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ ขณะที่ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2554 ประกาศเมื่อ 26 มกราคม 2554 ระบุว่า"ข้อ 15 ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะต้องถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ ได้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการไปก่อนแล้ว ให้สั่งปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ หกสิบปีบริบูรณ์ หรือวันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการตามกฎ ก.พ. ออกตามมาตรา 108 แล้วแต่กรณี"ระเบียบ ก.พ.ดังกล่าว เท่ากับการกำหนดให้นายยงยุทธรับโทษถูกไล่ออกในปี 2545 อันเป็นปีที่เกษียณอายุราชการ และมารับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ. ในปี 2550 ดัง บันทึกความเห็น ที่ นร.1011 พิเศษ ของนายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. ส่งถึงนายกฯที่ระบุว่า การที่ ป.ป.ช. ชี้มูลให้ต้นสังกัดสั่งลงโทษตามมติ ป.ป.ช. เนื่องจากนายยงยุทธเกษียณอายุราชการแล้ว จึงต้องสั่งลงโทษย้อนหลังไปจนถึงก่อนวันเกษียณอายุราชการ ประกอบ กับคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัย คำสั่งลงโทษที่มีผลย้อนหลังไปก่อนหรือในวันที่กฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินใช้ บังคับ ย่อมได้รับการล้างมลทิน ตามกฏหมายล้างมลทินแล้ว
ดังนั้น กรณีของนายยงยุทธ ซึ่งถูกลงโทษแล้ว และได้รับการล้างมลทินแล้ว เท่ากับปัจจุบันนายยงยุทธ ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน นั่นคือปมเงื่อนว่าด้วยการลงโทษ รับโทษและล้างมลทิน ของนายยงยุทธ แต่ สัจธรรมของเรื่องนี้ เป็นไปอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ยังไงพรรคประชาธิปัตย์ต้องเห็นต่างจากพรรคเพื่อไทยอยู่แล้วแปลความได้ว่า เป็นเรื่องของ "การเมือง" คือการหักล้างต่อสู้ เพื่อผลทางการเมืองของใครของมันเพื่อผลทางการเมือง แม้จะต้อง "มองข้าม" แนวทางของราชการที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาก็ตาม