ศาลอาญา 19 ก.ย. - ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 3 เดือนไม่รอลงอาญา “สนธิ ลิ้มทองกุล” แกนนำพันธมิตรฯ หมิ่น “นพดล ปัทมะ” ชี้ให้เข็ดหลาบไม่ละเมิดสิทธิ์บุคคลอื่น ขณะที่ “สนธิ” ยื่นหลักทรัพย์ 2 แสนบาทขอปล่อยตัวชั่วคราวสู้คดีในชั้นฎีกา
ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดำ อ.1488/2550 คดีแดง อ.3356/2552 ที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล นายพชร สมุทวณิช นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ นายวิรัตน์ แสงทองคำ เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 328 กรณีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2550 เวลากลางคืน จำเลยที่ 1 ผู้จัดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ผ่านเครือข่ายสัญญาณดาวเทียมเอเอสทีวีและผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กล่าวทำนองว่าโจทก์เป็นบุคคลไม่มีความกตัญญูกตเวทีต่อทุนหลวงที่ได้รับ คอยแก้ต่างและให้สัมภาษณ์เชิงประชาสัมพันธ์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีจำเลยที่เหลือดำเนินการเผยแพร่ถ้อยคำดังกล่าว
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ว่านายสนธิ จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 6 เดือน และให้ปรับบริษัทไทยเดย์ฯ จำเลยที่ 2 กับบริษัทแมเนเจอร์ฯ จำเลยที่ 6 รายละ 20,000 บาท และให้จำเลยที่ 1,2 และ 6 ร่วมกันลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ และมติชนรายวัน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันด้วย ส่วนจำเลยที่ 3-5 และ 7-8 ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยในคดีให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 1, 2 และ 6 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 กล่าวในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งการที่โจทก์เป็นทนายความให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำการโดยเปิดเผยเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนที่ประชาชนบางส่วนอาจจะพอใจ และอาจมีโจทก์หรือประชาชนบางส่วนไม่พอใจ การแสดงออกนั้นจะต้องไม่ให้กระทบและละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ส่วนหากจำเลยที่ 1 จะเห็นว่าการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดหรือไม่ จำเลยที่ 1 สามารถดำเนินคดีได้ และการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการกระทำเป็นการปกป้องสถาบัน ซึ่งการกระทำของโจทก์ที่แก้ต่างให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เกินกว่าหน้าที่ทนายความ ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าปกป้องสถาบัน แต่ไม่มีกฎหมายใดที่จะให้กระทำการโดยละเมิดสิทธิบุคคลอื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลรอการลงโทษเนื่องจากจำเลยมีอายุ 60 ปีมีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและบุตรและขอให้ศาลปรับลดระยะเวลาการโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์รายวันนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งมีการเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตไปทั่วโลก ดังนั้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 เข็ดหลาบไม่ดำเนินการใดที่จะเป็นการละเมิดสิทธิ์บุคคลใดอีก จึงไม่สมควรให้รอการลงโทษ แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง หรือผลทางการเมือง ประกอบกับจำเลยที่ 1 มีอายุมากแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 เดือนนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นควรแก้เป็นจำคุก 3 เดือน ส่วนการลงโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ และมติชนรายวัน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน เห็นว่าเป็นระยะที่ยาวเกินไป จึงให้เหลือเพียง 3 วัน
ส่วน บจก.ไทยเดย์ฯ จำเลยที่ 2 และ บจก.แมเนเจอร์ฯ ที่ 6 เห็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ได้กำหนดไว้ว่าบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะกระทำโดยประมาท ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลที่จะดำเนินการใดโดยผ่านผู้แทน แต่พยานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้แทนของจำเลยทั้งสองร่วมกระทำการกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาสั่งลงโทษปรับจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์เห็นควรแก้เป็นว่าให้ยกฟ้อง
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายสนธิ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นหลักทรัพย์ 200,000 บาทขอปล่อยชั่วคราวสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป