โลกวันนี้ 10 กันยายน 2555 >>>
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หนึ่งในคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ระบุถึงเวลาแล้วที่ศาลต้องกลับไปนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีอย่างเดียว อย่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะผลประโยชน์ทำให้เกิดความเสื่อม เรื่องแก้รัฐธรรมนูญต้องเดินหน้าต่อไปเพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้กับประชาชน เหตุผลมีดังนี้
นิยามความหมายของคำว่าตุลาการภิวัฒน์
ความจริงคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” มีความหมายไปในทางที่ดี หมายความว่า “ตุลาการได้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง และใช้บทบาทของตุลาการเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน” ความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ “เมื่อประเทศชาติหรือสังคมมีความขัดแย้ง หรือมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น คำว่าตุลาการภิวัฒน์คือการใช้บทบาทของตุลาการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม” แต่ทีนี้ความเข้าใจของคนในสังคมนำคำนี้มาใช้ไปในทางว่าตุลาการเข้ามามีบทบาทแทรกแซง หรือใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่เกินกว่าอำนาจที่ควรจะเป็น คือมองไปในทางร้าย ในทางที่ไม่ใช่บทบาทภารกิจของตุลาการ และจะเป็นปัญหาของสังคม คำว่าตุลาการภิวัฒน์จึงเป็นคำที่ใช้กันโดยมองไปที่บทบาทภารกิจของตุลาการที่ใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง ไม่สมกับบทบาทของตุลาการที่ควรจะเป็น
นับตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา จะเห็นว่าตุลาการมีส่วนในการเข้าไปหารือ เข้าไปพูดคุย เข้าไปทำอะไรต่างๆที่ไม่ใช่ครรลองของกฎหมาย ไม่ใช่ครรลองของตุลาการ เช่น การเข้าไปพูดคุยกับนักการเมือง คนที่มีอิทธิพลต่างๆเหล่านี้ พยานหลักฐานก็เป็นที่เปิดเผยในระยะหลังๆ จากที่มีบางคนออกมาเปิดเผยความจริงให้ฟัง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่บทบาทของตุลาการ เพราะบทบาทภารกิจจริงๆต้องอยู่บนบัลลังก์นั่งชี้ขาด ไม่มีผลประโยชน์ในส่วนใดๆทั้งสิ้น
ครั้นพอเกิดวิกฤตทางการเมืองก็ทำให้คนเหล่านี้ถูกจับตามองว่าท้ายสุดคุณจะตัดสินใจอย่างไร แนวโน้มทิศทางทำให้ประชาชนคนไทยทั่วไปเห็นว่ามันเกินไป มันไม่ใช่ภารกิจของตุลาการ หรือมองไปในทาง 2 มาตรฐาน มองไปในทางอคติ ซึ่งเขาก็มีมุมมอง มีเหตุผลที่สามารถมองได้ คุณเอาตุลาการมาเป็นผู้ที่เข้าไปสรรหาองค์กรอิสระ ไปสรรหาวุฒิสภา ซึ่งองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรทางการเมือง
เมื่อเป็นเช่นนี้ท้ายสุดพอมีคดีความเกิดขึ้น เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เช่น เรื่องการประกันตัว คนก็เห็นว่าเกิด 2 มาตรฐาน ไม่เป็นธรรม เรื่องการยุบพรรคหลักฐานก็ชัดเจน แต่คุณใช้ข้อกฎหมาย ใช้เทคนิคทางกฎหมายมาตัดสินในการยกคำร้อง ทั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือนายทะเบียนบอกชัดเจนว่ามีการคบคิดกันอย่างเป็นกระบวนการ แต่พรรคอื่นๆยุบง่ายดายเหลือเกิน ตัดสินไป 111 คน เป็นต้น
ท้ายสุดเมื่อผนวกกับหลายเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้คนเห็นว่าตุลาการไม่ควรมีบทบาทเช่นนี้ และนำคำนี้มาใช้กัน ความจริงแล้วรากฐานเป็นคำที่ถูก แต่เอามาใช้รวมความหมายว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม คุณไม่ควรเข้ามามีบทบาทนี้ คุณไม่ควรเข้ามาทำหน้าที่แบบนี้ คุณมีประโยชน์เกี่ยวข้องก็มองไปในทางเสียหาย อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขายกขึ้นมาว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ นี่คือความหมายของตุลาการภิวัฒน์ที่คนมองไปในทางเลวร้าย
จะส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมในอนาคตหรือไม่
ผมอยากพูดอย่างนี้ ผมเรียนมาทางกฎหมาย ผมมองว่าตุลาการต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ในอดีตที่ผ่านมามีประมวลจริยธรรมของตุลาการซึ่งเข้มงวดมากกว่าที่ปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่แต่ตอนหลังถูกละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองมาก ทำให้เห็นว่าประมวลจริยธรรมถูกละเลย ทำให้บทบาทภาระหน้าที่ขององค์กรตุลาการที่ได้รับการยกย่องเริ่มสั่นคลอน ซึ่งไม่ ได้หมายถึงตุลาการทั้งหมด แต่ผลจากการกระทำของคนบางกลุ่มบางพวกที่เข้ามาทำงานการเมืองทำให้ความเชื่อถือของคนหมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อถือในกระบวนการตัดสิน
ผมมองในภาพรวมว่าจะต้องเข้าที่เข้าทาง อย่ามายุ่งกับการเมือง อย่ามายุ่งกับปัญหาบ้านเมือง ควรกลับไปอยู่บนบัลลังก์ ไปตัดสินคดี มาเป็นโน่นเป็นนี่ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยสูญเสียไป
ควรยุบศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมี แต่ละยุคแต่ละสมัยมีมาตลอด แต่อาจเรียกชื่อแตกต่างกัน ปัญหาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือ ที่มาที่ไป องค์กรสรรหาจะต้องเป็นที่น่าเชื่อถือ และมีหลักประกันในความเป็นอิสระ ปัจจุบันพูดกันตรงๆว่าส่วนใหญ่มาจากศาล ทั้งศาลปกครอง ศาลฎีกา แต่การมาจากศาลหมายความว่าต้องมีหลักประกันว่ามากน้อยเพียงใด พอสมควรหรือไม่ กระบวนการสรรหาต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติโดยยึดโยงกับประชาชนหรือไม่ อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเราไม่สามารถมีหลักประกันได้ว่าจะตรวจสอบเขาได้อย่างไร ผมไปดูการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญอาจจะถอดถอนถ้าเขาทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาวางไว้ 3 ใน 5 มันยากเย็นมาก
แต่ถ้าตุลาการรัฐธรรมนูญทำผิด รัฐธรรมนูญมีกระบวนการที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ ตัวแทนประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบได้ต้องเป็นเรื่องสำคัญ คุณจะเรียกศาลรัฐธรรมนูญมาชี้แจงในสภาก็เรียกไม่ได้ ถ้ามีข้อร้องเรียนว่าทำผิดกฎหมายก็เรียกไม่ได้ ทำอย่างไรก็จะเป็นทางตันของกระบวนการตรวจสอบ เช่นคดีล่าสุดเรื่องคำวินิจฉัยก็ไม่นึกฝันว่าอยู่ดีๆศาลจะรับ เพราะที่ผ่านมามันชัดเจนและเป็นที่รู้กันทั้งเอกสาร หลักฐาน เว็บไซต์ ว่าต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมาก และเขียนเสียดิบดีว่าพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่คุณไม่มองเลยว่าที่ผ่านมาเขาทำกันอย่างไร
เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด ผมไปตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเพียงความเห็นหนึ่งในชั้นกรรมาธิการ แต่พอลงมติก็ยังยึดแนวทางเดิม เพราะเป็นเรื่องล้มล้างการปกครอง เป็นเรื่องสำคัญ อยู่ดีๆจะไปร้องกันแบบง่ายๆไม่ได้ ต้องมีองค์กรตรวจสอบก่อนว่ามีมูลหรือไม่ ไม่เช่นนั้นคงมีการร้องกันเต็มไปหมด ไม่ต้องทำงานทำการกัน อย่างนี้เป็นต้น
หรือไปดูคำวินิจฉัย 4 เสียงออกมาบอกว่าไม่มีอำนาจวินิจฉัยมาตรา 291 เป็นอำนาจของรัฐสภา แต่อีก 4 เสียงบอกว่าแก้ทั้งฉบับไม่ได้ ก็เท่ากัน แต่พอมีคำวินิจฉัยกลางออกมากลับบอกว่าควรไปทำประชามติก่อน ถามว่าประชาชนจะทำอย่างไร รัฐสภาจะทำอย่างไร คุณบอกว่ามีอำนาจรับ ถ้าเราบอกว่าไม่มีอำนาจ ท่านบอกว่าแล้วใครจะมาบอกว่าผมไม่มีอำนาจ ผมว่าผมมีอำนาจ แล้วคุณบอกไม่มี ใครใหญ่สุด คำตอบเขาก็บอกว่าเขาเป็นองค์กรเดียว เป็นศาลเดียว ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา แถมรัฐธรรมนูญบอกต่อไปว่าคำวินิจฉัยของศาลผูกพันองค์กรอื่น อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นโดยสรุปต้องดูที่มา ต้องรื้อกระบวนการสรรหา และที่สำคัญต้องตรวจสอบได้
ขณะนี้ผมมีแนวคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีศาลเดียว และรัฐธรรมนูญเขียนว่าคำวินิจฉัยเป็นที่สุดผูกพันองค์กรอื่น แต่ทีนี้คำถามคือถ้าคุณวินิจฉัยผิด ถ้าคุณลุแก่อำนาจ ทั้งที่คุณไม่มีอำนาจแต่บอกว่ามี ผมเลยเกิดแนวคิดเหมือนกับที่เขาทำอยู่ในขณะนี้ เขามีองค์กรหนึ่งขึ้นมาวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่างๆว่าคดีนี้ขึ้นศาลไหน บางทีอาจเกิดปัญหาว่าศาลนี้มีอำนาจหรือไม่ ก็จะมีองค์กรหนึ่งขึ้นมาตรวจสอบว่าจริงๆแล้วอยู่ในอำนาจศาลนี้ ความจริงแล้วคุณไม่มีอำนาจ ผมก็เลยมีไอเดียขึ้นมาว่าพ้นจากคดีศาลรัฐธรรมนูญควรมีกรรมการมาสักชุด เอาประธานศาลทั้งหลายมานั่งแล้ววินิจฉัยว่าถ้าคุณตัดสินโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีอำนาจ คำวินิจฉัยของคุณไม่ผูกพันคนอื่น เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดการสมดุลกัน
ควรมีศาลรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่
ผมเห็นว่าควรมีศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แต่จำเป็นต้องมีการทบทวนที่มา องค์ประกอบ วิธีการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี และการตรวจสอบ หมายถึงต้องตรวจสอบได้
องค์กรอิสระอื่นๆควรมีการปฏิรูปอย่างไร หรือไม่
ปัญหาเกิดจากว่าเราดันไปรับรองคณะบุคคลที่ถูกตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ผมไม่พูดถึงรายละเอียดของตัวบุคคลว่าใครเป็นบ้าง รับรองไม่ว่า แถมรับรองไปจนเต็มพิกัด เช่น ถ้าวาระ 9 ปี ก็อยู่จนถึงจบวาระ นี่คือตัวอย่างของ กกต. กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผลที่ตามมาคือคนเหล่านี้ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ทั้งที่กฎหมายต้องมีการโปรดเกล้าฯ ก็กลายเป็นว่าเราไปรับรองคณะบุคคลที่ถูกแต่งตั้งโดย คมช. และรับรองอยู่เต็มพิกัด
ซึ่งหลักการเขียนกฎหมายถ้าที่มาที่ไปของคนต่างกัน เช่น ขณะนี้ถามว่ามีองค์กรสรรหา ป.ป.ช. หรือไม่ มีองค์กรสรรหา กกต. หรือไม่ คำตอบคือยังไม่ได้สรรหาเลย เพราะคุณไปรับบุคคลมาให้อยู่ 9 ปี ซึ่งหลักการร่างกฎหมายถ้าการสรรหาแตกต่างกัน ที่มาต่างกัน ก็จะเขียนบทเฉพาะกาลให้อยู่ได้ระยะหนึ่งและให้ดำเนินการสรรหาใหม่ เพราะอะไร เพราะที่มาที่ไปต่างกัน แต่ปัญหาของบ้านเมืองเกิดจากการที่คุณไปรับรองสิ่งเหล่านี้ที่คณะรัฐประหารทำไว้และให้อยู่ครบวาระ ทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นการต่อยอดยึดโยงอำนาจที่มาจากรัฐประหารให้อยู่ต่อไป เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นองค์กรอื่นๆ ซึ่งไม่ชอบด้วยครรลองทางกฎหมาย โดยภาพรวมองค์กรอิสระเหล่านี้ควรต้องมี แต่ต้องปรับปรุง ทั้งที่มา กรรมการสรรหา องค์ประกอบการสรรหา และต้องยึดโยงกับประชาชน ตัวแทนประชาชนต้องตรวจสอบได้ รวมถึงบัญชีหนี้สินและทรัพย์สินขององค์กรอิสระด้วย
ความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์เป็นขั้นตอน เช่น ต้องทำประชามติหรือไม่ แล้วชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน จากนั้นหากได้ข้อยุติแล้วก็ตัดสินใจ นโยบายรัฐบาลเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องปฏิรูปการเมืองโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. ความเห็นผมคิดว่ารัฐบาลพรรคแกนนำควรยืนยันนโยบายนี้และทำต่อไปให้สำเร็จ ส่วนจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้เมื่อไรนั้น คาดว่าไม่น่าจะเกินสมัยประชุมนี้
มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ
ผมคิดว่าอย่างไรเสีย ความเห็นส่วนตัวของผมเอาความเห็นส่วนกลางของฝ่ายค้าน ส.ว. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และอะไรที่คิดว่าเป็นปัญหา แก้ให้หมด ซึ่งวิธีการแก้ก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร เพราะเหลือแต่ลงมติ จะเริ่มอย่างไร ฉะนั้นตรงไหนเป็นห่วงเป็นใยกันก็เอามาแก้ให้หมด จะได้ไม่มาตั้งกันอีก มาร้องกันอีก อยากทำประชามติกันใช่มั้ย ก็ทำ แต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร เพราะร่างเดิมก็มีประชามติอยู่แล้ว แต่ถ้าจะทำก่อนก็ผ่านขั้นตอนไปแล้ว จะลงวาระ 3 แล้ว กำลังคิดกันอยู่
มีการนำมาตรา 112 มาใช้เป็นเป็นเครื่องมือทางการเมือง
เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความจริงผมเข้าใจดีถึงความรู้สึก ความต้องการของคนบางส่วน เข้าใจความเห็นของนิติราษฎร์ ผมไม่ได้มองว่าพวกเขาไม่จงรักภักดี แต่คนเหล่านี้มองว่ามาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเมื่อเป็นเครื่องมือแล้วท้ายสุดกลับไม่เป็นผลดี จึงเสนอให้มีการแก้ไข ซึ่งก่อนยุครัฐประหารก็ใช้เรื่องนี้มาโจมตีกัน เช่น บอกว่าทักษิณไม่จงรักภักดี จะเป็นประธานาธิบดี ส่วนจะแก้หรือไม่พรรคเพื่อไทยต้องคิดให้หนัก เพราะประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สามารถนำไปสร้างเป็นละครน้ำเน่าได้ง่ายๆ เพื่อให้เห็นว่าคุณไม่จงรักภักดี อันนี้ต้องระวัง ต้องดูให้ดี
ดังนั้น นายกฯจึงไม่มีนโยบาย เพราะเห็นปัญหา แต่คิดว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อน สามารถพลิกและเป็นเกมการเมืองแบบง่ายๆ ท้ายสุดเราก็ต้องตามไปแก้ตัว เหมือนกับยุคหนึ่งที่คนบอกว่าให้เลือกนายกฯโดยตรง จริงๆก็มีหลายประเทศที่เลือกนายกฯโดยตรง แต่คนที่ต้องการบิดเบือนเขามองสถาบันในลักษณะห้ามแตะต้อง ตั้งคำถามง่ายๆจนคนเหล่านั้นเสียผู้เสียคนไปเลย เช่น คุณจะเอาในหลวงไปไว้ไหน คุณจะเอาระบบประธานาธิบดีมาใช้หรือ ซึ่งเจตนาของเขาไม่ใช่เลย พระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงเป็นประมุขเหมือนเดิม ต้องการแยกอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติออกจากกัน ก็เอาเลย ตั้งแง่ว่าคุณจะเอาในหลวงไปไหน ท้ายสุดคนเสนอเสียคนเลย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ละเอียดอ่อน ผลีผลามทำอะไรไม่ได้ และเป็นเรื่องที่นำไปเป็นประเด็นการเมืองแบบบิดพลิ้วได้ง่ายมาก