รอผลพิสูจน์ความจริง

มติชน 20 กันยายน 2555 >>>


ระยะนี้ได้บังเกิดเหตุการณ์การตามหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรก คือ พนักงานสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งมีหน้าที่ทำสำนวนคดีฆาตกรรมจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้ออกมาถามหาชายชุดดำ เพราะตรวจสอบสำนวนเดิมที่เคยดำเนินการมา โดยเฉพาะสำนวนคดีก่อการร้ายแล้ว พบว่าชายชุดดำไม่มีตัวตน เหตุการณ์ที่สอง คือ ศาลพิจารณาสำนวนที่อัยการสั่งฟ้องคดีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับรถแท็กซี่ ในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวแล้วเห็นว่าเป็นฝีมือของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และเหตุการณ์ที่สาม คือ คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. สรุปผลการศึกษา
น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่มีเป้าหมายเพื่อพิสูจน์ความจริงที่เกิดขึ้นในปี 2553 เฉพาะเจาะจงลงไปในห้วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยเหตุการณ์แรก สะท้อนให้เห็นมูลฐานการดำเนินคดี ? การก่อการร้าย ? ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุทำนองว่า ? เชื่อว่ากลุ่มชายชุดดำเป็นผู้ก่อความรุนแรง ? ส่วนเหตุการณ์ที่สอง ศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นว่าด้วยพยานหลักฐานทำให้เชื่อว่าการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับเเท็กซี่ เกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาคดีฆาตกรรม ซึ่งจะผิดหรือถูกยังต้องรอพยานหลักฐานและคำตัดสินของศาลขั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ตามลำดับ ส่วนเหตุการณ์สุดท้าย เป็นข้อมูลการตรวจสอบจากการสอบถามของ คอป. แล้วนำมาสรุป
น่าสังเกตว่าในบรรดากระบวนการพิสูจน์ความจริงดังกล่าว การพิสูจน์ความจริงตามหลักสากล คือ การพิจารณาตามขั้นตอนพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ และอยู่ในสถานการณ์ปกติ จะได้รับการยอมรับมากกว่าวิธีการพิสูจน์อื่นใด เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกระบวนการพิสูจน์ความจริงโดยขั้นตอนปกตินั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบทุกอย่างให้รอบด้านที่สุด มีพยานซึ่งสามารถให้เบาะแสความจริงในห้วงเหตุการณ์นั้น มีหลักฐานซึ่งพิสูจน์ได้ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้หลักปราศจากข้อสงสัย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผลการตัดสินใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือไม่มีการแสดงความคิดเห็นต่อท้าย
จากเหตุการณ์พิสูจน์ความจริงทั้ง 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และข้อสรุปเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์ความจริงที่ยังยืนยันว่า ระบบการพิจารณาคดีของศาลสถิตยุติธรรมในสภาวการณ์ปกติได้รับความเชื่อถือมากที่สุด เท่ากับว่าบัดนี้ความมืดมนในการเสียชีวิตของเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 เริ่มมีหนทางพิสูจน์อย่างน้อย 36 ราย จาก 98 ราย ซึ่งผลพิสูจน์สุดท้ายจะเป็นเช่นไรก็ต้องรอต่อไป เช่นเดียวกับเหยื่อความรุนแรงที่เหลือก็น่าจะได้รับการพิสูจน์ความจริงจากกระบวนการยุติธรรมในสภาวการณ์ปกติเช่นเดียวกัน