รายงานพิเศษ: วาทะรัฐประหาร

ประชาไท 20 กันยายน 2555 >>>




ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแทบทุกครั้งมักมีปัญญาชนร่วม อยู่ด้วยเสมอ อุเชนทร์ เชียงเสน พาพวกเราย้อนอดีตกลับไป 6 ปี เพื่อดูว่าปัญญาชนเหล่านี้ให้เหตุผลอะไรในการสร้างความชอบธรรมให้กับการ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

1. เห็นด้วย, ไม่คัดค้าน เพราะ....

กำจัดทักษิณได้

นายสมพันธ์ เตชะอธิก นักวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, “ทัศนะวิจารณ์ (opinion)” 21 กันยายน 2549): เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการ ปกครอง เพราะถือเป็นการจัดการกับระบอบทักษิณ ซึ่งหลังจากนี้ ต้องการให้ตรวจสอบทางกฎหมายว่า ที่ผ่านมา มีสิ่งใดบ้างที่ไม่เป็นธรรม และเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพรรคพวก ทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ไปโดยไม่ชอบ ดังนั้น การปฏิรูปการปกครองดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขเฉพาะหน้า เพื่อกำจัดระบอบทักษิณออกไปก่อน

เป็นสิ่งที่ดีที่จะเข้ามาแก้ปัญหา

ศ.นพ.สุทธินันท์ จิตพิมลมาศ แกนนำกลุ่มวิชาชีพแพทย์สาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, “ทัศนะวิจารณ์ (opinion)” 21 กันยายน 2549): ส่วนตัวมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่ง ที่ดีที่จะเข้ามาแก้ปัญหาระบอบทักษิณ ที่หยั่งรากฝังลึกและแผ่กว้าง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจนยากที่จะแก้ไข จากการติดตามความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ดังกล่าวเชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองคงมีเหตุผลค่อนข้างดีในการตัดสินใจปฏิบัติการ และประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกดีกับเรื่องดังกล่าว

บริสุทธิ์ใจ มิได้มีประโยชน์ตนแอบแฝง

กลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยสังคมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (“แถลงการณ์คณาจารย์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี”, http: www.prachathai.com, 21 กันยายน 2540): เชื่อว่าคณะปฏิรูปฯ กระทำการครั้งนี้เพื่อหาทางออกให้กับประเทศที่กำลังถึงทางตันในวิถีทาง ประชาธิปไตย โดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยมิได้มีประโยชน์ตนแอบแฝงแต่ประการใด ซึ่งถึงแม้จะเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ควรได้รับการอภัยหรืออาจถึง กลับได้รับการสรรเสริญ อุปมาดังการละเมิดกฎหมายที่ห้ามบุกรุกในเคหะสถานของผู้อื่นด้วยการเสี่ยง ชีวิตบุกรุกเข้าไปดับเพลิงที่กำลังโหมไหม้บ้านหลังนั้นอยู่
เชื่อว่าการยึดอำนาจครั้งนี้ไม่ใช่การทำลาย ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการทำลายระบอบทุนนิยมเผด็จการเบ็ดเสร็จในคราบประชาธิปไตยที่บริหาร ประเทศโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากวิญญูชน
เชื่อว่าหากคณะปฏิรูปฯ ไม่ก่อการในครั้งนี้รัฐบาลชุดก่อนจะอ้างกติกาประชาธิปไตยที่ได้มาโดยระบบ ธุรกิจการเมืองเพื่อกุมอำนาจบริหารประเทศต่อไปอีกยาวนาน ซึ่งเชื่อได้ว่าจะนำพาประเทศไทยไปสู่ภยันตรายอันใหญ่หลวงในไม่ช้า”

ยากที่การปฏิวัติจะมีผลในทางร้าย

ร.ศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, “ทัศนะวิจารณ์ (opinion)” 21 กันยายน 2549): การปฏิวัติครั้งนี้ ทั้งคนต่างชาติและคนไทยรวมทั้งนักธุรกิจจะเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมีสถานการณ์บีบบังคับเพราะหากไม่มีการปฏิวัติ อาจจะทำให้เกิดการชุมนุมที่มีความรุนแรง จนอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้น การปฏิวัติครั้งนี้จึงน่าจะทำให้คนสบายใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศมากขึ้น อีกทั้งเหตุการณ์ครั้งนี้ยังเป็นการยุติความกังวลของนักวิชาการถึงปัญหาหลัง จากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย
‘ต่างชาติส่วนใหญ่เข้าใจไทยดี เค้าสนใจว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพหรือเปล่ามากกว่า ตอนนี้ระบบราชการไทย รวมทั้งระบบเศรษฐกิจก็มีความเป็นประชาธิปไตยและเสรีพอ จึงยากที่การปฏิวัติจะมีผลในทางร้าย และจริงๆ แล้ว ก็ดีกว่าการมีความไม่แน่นอนเยอะ’

ยังมีสิ่งทีดี

น.ส.กชวรรณ ชัยบุตร อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กรรมการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ไทยรัฐ, 21 กันยายน 2549.): การเปลี่ยนผ่านของระบอบประชาธิปไตยไม่ควรจะ เกิดรัฐประหาร และเปลี่ยนผ่านโดยใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วคณะปฏิรูปฯ ต้องทำให้การทำรัฐประหารในครั้งนี้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการสถาปนาอำนาจของคณะปฏิรูปฯเอง หรือคนใดคนหนึ่ง แต่ยังมีสิ่งดีที่มีการออกแถลงการณ์ให้นิสิตนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมแสดง ความคิดเห็น แต่สิ่งที่อยากฝากถึงคือต้องพยายามให้การปฏิวัติครั้งนี้มีความก้าวหน้าและ พัฒนามากกว่าการทำรัฐประหารที่ผ่านมา ต้องให้การศึกษากับประชาชน และวางโครงสร้างสังคมที่จะให้ประชาชนสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

ไม่สนองต่อเศรษฐกิจพอเพียง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชระไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท (ผู้จัดการรายวัน, 22 กันยายน 2549,หน้า 6): ชมรมแพทย์ชนบทเห็นด้วยกับการดำเนินการ [รัฐประหาร] ดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาจากผู้นำที่ไม่ชอบธรรม และบริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการประชาธิปไตย กล่าวคือ ใช้กติกาประชาธิปไตยให้เกิดประโยชน์แก่ตน รวมทั้งใช้ระบอบเผด็จการเข้าไปครอบงำสื่อและองค์กรอิสระ .. ไม่สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

ดีกว่าจมน้ำตาย

อ.สิริพรรณ นกสวน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพธุรกิจ, 21 กันยายน 2549, หน้า 18.): เชื่อว่าเจตนารมณ์แรกของคณะทหารนี้คือ ไม่อยากให้บ้านเมืองแตกแยก แต่ไม่อยากให้ประชาชนดีใจจนเกินไป แม้เหตุที่ทำจะเหมาะสมกับสถานการณ์ก็ตาม
‘การเมืองจะถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ หากรัฐธรรมนูญล้มไปแล้ว แต่บางครั้งการถอยหลังเข้าคลองก็ดีกว่าการตกคลองแล้วจมน้ำตาย การที่ทหารเดินถอยหลังเข้าคลอง เพื่อทำสะพานข้ามคลองคงจะดีกว่านี้ และหวังว่าเขาคงสร้างความเข้มแข็งของสะพานให้เรามากพอ’

น่าประทับใจ

ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, “ทัศนะวิจารณ์ (opinion)” 21 กันยายน 2549): เหตุการณ์ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 แม้หลายฝ่ายไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีหลายสิ่งที่น่าประทับใจ คือไม่มีความรุนแรง ไม่เสียเลือดเนื้อ เราในฐานะประชาชนชาวไทยต้องมาหยุดคิด ว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดันทุรัง เอาชนะกัน โดยไม่ฟังใครนั้นจะนำไปสู่แนวทางเช่นนี้เสมอ นำไปสู่การปฏิรูป ปฏิวัติ ถือเป็นการตั้งหลักใหม่ให้กับสังคม หลังจากนี้ไป เหตุการณ์ต่างๆ น่าจะสงบลง โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงชายแดนใต้

เลือกตั้งทักษิณจะกลับมาอีก

นายวิทยากร เชียงกูล คณะบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต (ไทยโพสต์, 21 กันยายน 2549, หน้า 12.): การยึดอำนาครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่มีเหตุผล ความชอบธรรม มากกว่าช่วง รสช.ปี 2534 เพราะหนนี้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล แต่ต่างชาติมักไม่เข้าใจการยึดอำนาจอยู่แล้ว เพราะมักมองว่าประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง ทั้งที่วันนี้ประชาธิปไตยในไทยเป็นไปในรูปแบบเผด็จการ
‘ครั้งนี้เราไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าเลือกตั้งคุณทักษิณ ก็จะกลับมาอีก และก็จะเกิดการประท้วงยืดยื้อ แน่นอนอาจะมีบางฝ่ายกลังรูปแบบการยึดอำนาจ เพราะติดภาพประวัติศาสตร์ แต่วันนี้ประชาชนแยกออก’

จบสิ้นเสียที

นางสุนทรี เซ่งกิ่ง แกนนำเครือข่ายประชาชนขอนแก่นเพื่อประชาธิปไตย (กรุงเทพธุรกิจ, 21 กันยายน 2549, หน้า 18.): พอใจที่ช่วงเวลาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดลงแน่นอนแล้ว รู้สึกเห็นใจทหาร และศาลยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาพยายามใช้กติกาทางรัฐธรรมนูญเข้ามาแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไม่ยินยอม จึงนำมาซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้

ไม่ใช้ความรุนแรง

นายเจษฎ์ โทณวนิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (ผู้จัดการรายวัน, 21 กันยายน 2549,หน้า 3): เนื่องจากการกระทำของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เป็นการยึดอำนาจ [ที่] ไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงมีการนำความขึ้นกราบบังคมทูล ถึงสถานการณ์ของประเทศ อีกทั้งประกาศว่าไม่ประสงค์ที่จะเข้ามาบริหารเอง แต่รีบดำเนินการโดยให้มีรัฐบาลโดยเร็ว จึงขอให้ประชาชนทุกคนอยู่ในความสงบ และสามารถทำงานได้ตามปกติ

นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

รศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (“คณะปฏิรูปฯ ต้องคืนอำนาจประชาชนโดยเร็ว” http://www.nationweeken.com วันที่ 22 กันยายน 2549): ‘… การรัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นการยุติระบอบเดิมที่ไม่มีความชอบธรรมเพื่อให้นำ ไปสู่ระบอบใหม่ที่ดีกว่า โดยต้นตอของประชาธิปไตยในอังกฤษ ก็มาจากการยึดอำนาจจากกษัตริย์เพื่อนำอำนาจมาให้ประชาชน’
‘แม้การรัฐประหารครั้งนี้จะดูเหมือนเป็นการ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเป็นการทำเพื่อนำประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ก็ถือว่าคุ้มค่า ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ควรทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงเหตุผลมากที่สุด รวมทั้งกำหนดทิศทางการปฏิรูปการเมืองโดยเร็วเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ’

ดีแต่ไม่ดี

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) (แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 22 กันยายน 2549, http: www.prachathai.com, 27 กันยายน 2540.): ความถอยหลังทางการเมืองหาได้เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อมีการรัฐประหารไม่ แต่เกิดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เริ่มมีการแทรกแซงสื่อและองค์กรอิสระในรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่การแก้ปัญหาข้อติดขัดทางการเมืองไม่ว่าจะน้อยใหญ่เพียงใด สมควรที่จะใช้วิถีทางและช่องทางที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ...
ดังนั้น โดยหลักการแล้ว การรัฐประหารถึงแม้จะเป็นไปด้วยความปรารถนาดีกับบ้านเมือง แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ส่งผลดีในการคลี่คลายปมปัญหาในระยะสั้น

ควรให้โอกาสล้างบ้าน

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้จัดการรายวัน, 22 กันยายน 2549,หน้า 11): ที่เราได้คุยกันก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและ ไม่เห็นด้วย แต่โดยหลักการก็คือว่า เราควรให้เวลาคณะปฏิรูปฯ ได้เข้ามาจัดระเบียบล้างบ้าน เราควรจะให้เวลาเขาไหม ซึ่งเราก็ตกลงว่ามีความจำเป็นที่จะให้เวลากับคณะปฏิรูปฯ ที่ต้องจัดตั้งรัฐบาล มีสภาขึ้นมาบริหารเพื่อที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปทางการเมืองให้ได้ ก็คงต้องให้เวลาเพราะของทั้งหมดไม่ได้มีการเตรียมการกันมาก่อน โดยเขาขอเวลา 2 อาทิตย์ก็ไม่ได้มากมายอะไร ทุกคนก็ยอมรับว่าเวลาแค่นี้ก็เป็นเรื่องที่ดีและยอมรับได้ ซึ่งอีกฝ่ายก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร เพียงแต่เห็นว่าการรัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้น แต่ก็ยอมรับกันว่าถ้าไม่ใช่ทางออกนี้ก็ยังหาทางออกให้บ้านเมืองไม่ได้
 
รัฐประหารแห่งรัฐประหาร

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้จัดการออนไลน์, “รัฐประหารแห่งรัฐประหาร,” คอลัมน์ “ฟ้าดินเดียวกัน”  27 กันยายน 2549.): บอกกันตรงๆ ก็ได้ว่า ผมไม่เพียงโล่งใจเท่านั้น หากลึกลงไปแล้วผมยังแอบสะใจอีกด้วย ถึงแม้ห้วงหนึ่งของความรู้สึกนั้นจะทำให้ผมมีสติกลับมา แล้วบอกกับตัวเองว่า การรัฐประหารไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหลักการที่ผมยึดถือมาโดยตลอด แต่ในที่สุดผมก็ต้องเตือนสติตัวเองอีกชั้นหนึ่งว่า ผมกำลังดัดจริตเพื่อให้ตัวเองดูดีในฐานะผู้รักประชาธิปไตยอย่างสุดซึ้งคน หนึ่งเท่านั้น จนกระทั่งลืมไปว่า การระงับความรุนแรงที่มีแนวโน้มว่าจะนองเลือดต่างหากที่น่าจะมีค่ามากกว่า การมานั่งยึดหลักการที่ว่า แต่กระนั้นก็ตาม การเตือนสติตัวเองเช่นนั้นก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ถ้าหากเราไม่ดูข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่จากเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
สำหรับผมแล้วระบอบทักษิณได้ทำการรัฐประหาร ก่อนที่ คปค. จะรัฐประหารเสียอีก คุณทักษิณ ไม่ได้ก่อการรัฐประหารในแบบที่การเมืองไทยเคยประสบมา (เช่น อย่างที่ คปค.ทำ) แต่ คุณทักษิณ ทำโดยฉีกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการต่างๆ จนรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่การเมืองไทยเคยมีมาต้องไร้ความหมาย ไป….
เหตุฉะนั้น การรัฐประหารวันที่ 19 กันยาของ คปค. สำหรับผมแล้วจึงคือ รัฐประหารแห่งรัฐประหาร

ไม่น่านิยม แต่ยุติปัญหาโดยพลัน

เครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย, เครือข่ายอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา มศว. เพื่อประชาธิปไตย (คมชัดลึก, 28 กันยายน 2549, หน้า 15): ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับมรสุมที่สำคัญ ซึ่งเดิมพันด้วยความอยู่รอดของชาติจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สร้างความร้าวฉานบาดลึกและหนทางแก้ไขดูตีบตัน มืดมน จน คปค. ได้เลือกกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่น่านิยม แต่การที่ไม่เสียเลือดเนื้อและยุติปัญหาโดยพลัน ย่อมดีกว่าปล่อยให้ประชาธิปไตยเดินไปตามทางและจบลงด้วยเลือดเนื้อของประชาชน

ล้วนแต่เป็นคนดี

ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ (“รัฐประหารกับประชาธิปไตย มุมมองทางวัฒนธรรมการเมือง” บทความพิเศษ, ผู้จัดการออนไลน์, 3 ตุลาคม 2549): ส่วนหนึ่งก็รู้สึก ‘โล่งอก’ นี่คงไม่ต่างจากความรู้สึกของคนไทยทั่วไปเนื่องจากรัฐประหารครั้งนี้ดำเนิน การได้อย่างนิ่มนวล และไม่ใช้ความรุนแรง ถือได้ว่าเป็นรัฐประหารที่เริ่มได้ดี รอจนสถานการณ์สุกงอมมาก แล้วจึงดำเนินการ
อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นรัฐประหารของผู้อาวุโส เพราะบรรดาคนที่อยู่เบื้องหลังล้วนแต่เป็นคนที่มีอายุมากแล้วทั้งนั้น ท่านจึงดำเนินการได้อย่างรอบครอบ อีกความ ’โล่งอก’ หนึ่ง คือ รัฐประหารครั้งนี้หมายถึงการสิ้นสุดลงของระบอบทักษิณ ที่มีคุณทักษิณเป็นผู้นำ
ผมคิดว่า หลังจากนี้ ขบวนการตุลาการภิวัตน์คงเคลื่อนตัวไปอย่างเต็มรูป ใครถูก ใครผิด ใครโกงกินบ้านเมือง จะถูกลงโทษไปตามกฎหมาย ขบวนการนี้คงส่งผลโดยตรงต่อการสกัดกระแสคอรัปชั่นทางการเมืองที่แพร่ระบาดจน กลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของนักการเมือง ของข้าราชการได้ในระดับหนึ่ง...
วันนี้ คงไม่มีใครกล้าบอกว่า รัฐประหารผิด เพราะบรรดาผู้ที่ก่อการล้วนแต่เป็นคนดี ที่รักชาติบ้านเมือง และเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ

Carnation Revolution, ถอยหลังเข้าคลองธรรม

ดร.เสรี พงศ์พิศ นักวิชาการอิสระ (“Carnation Revolution” เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 15 ฉบับที่ 748, (29 กันยายน 2549), หน้า 14.): สำหรับวันนี้ ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเป็นอย่างนี้ ต้องการอย่างนี้ และรู้สึกว่าได้รับการปลดปล่อยจากความกดดันที่สั่งสมมานานหลายเดือน อารมณ์ความรู้สึกโดยทั่วไปเป็นอะไรที่เหมือนคนเพิ่งออกจากห้องผ่าตัด ยังรู้สึกถึงความเจ็บปวด แต่ก็รู้สึกโล่งใจที่ได้ผ่านการรักษาที่เชื่อว่าดี
คิดแบบไทยๆได้แบบนี้ก็ดีแล้ว ดีที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ถ้าหากมีการปะทะกันระหว่างประชาชนที่ต่อต้านและสนับสนุนคุณทักษิณ ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์ใดๆ ในอดีต”
ในยุทธวิธีไม่ว่าการบของทหารหรือหรือการ ต่อสู้ของปัจเจก การถอยเป็นเรื่องธรรมดา ถอยเพื่อป้องกันตัว ถอยเพื่อตั้งหลัก อาจะมีคนบอกว่า นี่ไม่ใช่การถอยตั้งหลัก แต่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ก็แล้วแต่ใครจะคิด เพราะมีคนอย่างท่านพุทธทาส ที่บอกว่า “ถอยหลังเข้าคลอง” นั้นดีและจำเป็น คือ ต้องเข้า ‘คลองธรรม’ ทำให้ถูกต้องเสียก็ดี

ทำดีแล้ว

นายทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญสุข รองคณะบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต (มติชนรายวัน 12 ตุลาคม 2549 หน้า 11.): มีโอกาสได้หารือกับ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ประธาน คมช. ก่อนรัฐธรรมนูญชั่วคราวประกาศใช้ ซึ่งผมบอกท่านว่า ทำดีแล้วที่ยึดอำนาจได้ แต่ยังไม่มีใครทำดีได้ถึงตอนจบ เพราะที่ผ่านมาช่วงแรกถูกมองว่าเป็นเรื่องดี แต่ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ร้าย ดังนั้นถ้าจะเป็นวีรบุรุษได้จริงต้องทำตามสิ่งที่คณะปฏิรูปการปกครองประกาศไว้

เสริมคุณธรรม กู้ชาติ

อ.ธีรยุทธ บุญมี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มติชนรายวัน 12 ตุลาคม  2549  หน้า 15): เราอาจจะเถียงกันได้ว่า ปัจจุบันควรหรือได้เกิดกระบวนการอมาตยาภิวัฒน์ขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะของพัฒนาการไทย ซึ่งต้องมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการเสริมคุณธรรมสังคมเพื่อกู้ชาติ ไม่ใช่กระบวนการเพื่ออำนาจหรือผลประโยชน์

ถูกบังคับให้รัฐประหาร

ศ.ดร. อัมมาร สยามวาลา  (“แนะรัฐเร่งฟื้นฟูนิติรัฐ”, กรุงเทพธุรกิจ, 16 ตุลาคม 2549, หน้า 4.): เมื่อผู้นำประเทศต่อต้านหลักการนิติรัฐ โดยที่ไม่มีอำนาจอื่นใดคอยมาถ่วงดุล ทำให้นิติรัฐเสื่อมถอย ลงเรื่อยๆ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวอยู่หัว เมื่อ 25 เมษายน 2549 ต่อประธานศาลฎีกาและศาลปกครอง ก็เพื่อที่จะให้สถาบันตุลาการเข้ามามีส่วนช่วยในการแก้ไขวิกฤติของชาติ ให้ rule of law ผงาดขึ้นมาอีกครั้ง ดึงประเทศไทยกลับเข้ามาสู่ระบบนิติรัฐ แต่ถึงที่สุดแล้วปัญหา rule of law deficit ที่เข้าข่ายวิกฤติ สถาบันตุลาการ ก็ไม่สามารถเข้ามาเบรก การใช้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่สังคมไทยหันกลับมาใช้เส้นทางการรัฐประหาร เพื่อหยุดยั้งอำนาจดังกล่าว
‘...พัฒนาการที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ประเทศถูกบังคับให้ทำการรัฐประหาร เนื่องจากประเทศไม่มีหลักของ rule of law..’

เกินคุ้ม

ประสาน มฤคพิทักษ์ (“คืนกลับสู่ความเป็นจริง” มติชนรายวัน, 20 ตุลาคม 2549, หน้า 6.): ต่อการรัฐประหารครั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่า
1. มิใช่ความปรารถนาทางอัตวิสัย (ตนเอง) แต่เป็นความจำเป็นทางภววิสัย (สภาพภายนอก) ของการยึดอำนาจ… การรัฐประหารครั้งนี้ พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ไม่ต้องการครองอำนาจ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ปรารถนาจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประชามติและสังคมจึงเปล่งเสียงต้อนรับมากกว่าต่อต้าน
2. ถ้าไม่มีรัฐประหารจะเกิดอะไรขึ้น... เดินขบวนก็แล้ว เปิดโปงก็แล้ว วิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงก็แล้ว ขับไล่ต่อสาธารณะก็แล้ว สารพัดวิธีอารยะขัดขืนถูกนำมาใช้จนหมด การรัฐประหาร 19 ก.ย. จึงเป็นทางออกทั้งๆที่คนรักประชาธิปไตยไม่อยากเกิดขึ้นเลย
ใช่หรือไม่ว่า การรักษาประชาธิปไตยไว้ คือ การเปิดทางให้ทักษิณกลับมาแล้วสั่งการให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ตามด้วยเลือด น้ำตา และความตายของผู้คนจำนวนมาก แล้วผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก ยึดอำนาจตนเองเพื่อสกัดการยึดอำนาจของฝ่ายตรงกันข้าม กลายมาเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ อย่างนี้จะดีหรือ
ผู้เขียนอาจจะวาดภาพเลวร้ายเกินเหตุไปก็ได้ การรัฐประหารจะดีจะร้ายยังต้องเถียงกันต่อไป แต่การตัดวงจรความรุนแรงและขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณอันเลวร้าย เพียงแค่นี้ก็เกินคุมแล้ว…
นี่คือการกลับคืนสู่ความเป็นจริง ของสังคมไทย ที่ขัดใจใครบางคน แต่ก็เป็นหนทางอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรกับประเทศเรานับจากนี้ต่อไป

2. ไม่เห็นด้วย (ในหลักการ) แต่...

ผิดหวังถ้าล้มล้าง ม. 39, 40, 41

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) (แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ฉบับที่ 1 http: www.prachathai.com, 21 กันยายน 2540.): รู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อการยึดอำนาจและการ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ แม้การบริหารประเทศซึ่งนำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นได้ทำลายหลักการประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิทางการเมืองและสิทธิของ พลเมืองอย่างร้ายแรงตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แต่การรัฐประหารนั้นย่อมขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเช่นกัน…  คปส. รู้สึกผิดหวังถ้าการรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่การล้มล้างหลักการในรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 มาตรา 40 และ มาตรา 41 ที่รองรับสิทธิสื่อมวลชน เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และหลักการที่ว่าคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรของสาธารณะ นับเป็นเรื่องเศร้าที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 ต้องถูกยกเลิกทั้งที่เพิ่งประกาศใช้เพียง 9 ปี

เชื่อว่าเจตนาดี

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กรุงเทพธุรกิจ, “นักวิชาการหนุนให้มีส่วนร่วม” 22 กันยายน 2549, หน้า 13.): เชื่อว่าคณะปฏิรูปมีเจตนาต้องการแก้วิกฤติ ที่เกิดขึ้น จากการแถลงการณ์ที่บอกว่าไม่ต้องการเข้ามาบริหารประเทศเอง แต่ต้องการแก้วิกฤติประเทศ ซึ่งต่างจากการปฏิวัติเมื่อ ปี พ.ศ. 2534 ที่เป็นการแย่งอำนาจกัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2534 มีการตั้งพรรคการเมือง และใช้การยึดทรัพย์มาเป็นประเด็นในการต่อรองกัน ถึงได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ตามมา
‘ส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่เมื่อทำไปแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้บ้านเมืองเสียหายบอบช้ำให้น้อยที่สุด การปฏิวัติรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เหมือนกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการคีโม มันแรงมาก แม้รักษามะเร็งได้ แต่ร่างการมันตายไปด้วย’

ทักษิณคือ เงื่อนไข

สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  (“ครป.แถลงค้านปฏิวัติ แต่เข้าใจ...” , http://www.prachatai.com , 25 กันยายน 2549): การที่ ครป. เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกหรือเว้นวรรค ด้วยเหตุผลว่าเป็นทางออกเดียวที่จะลดการเผชิญหน้าหรือผ่าทางตันทางการเมือง ได้ แต่น่าเสียดายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มุ่งมั่นพิทักษ์รักษาอำนาจของตัวเองและเครือข่ายไว้ จนทำให้วิกฤตการณ์การเมืองตึงเครียดมากขึ้น และสร้างเงื่อนไขให้เกิดอำนาจนอกระบบหรือการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นอย่าง มิอาจหลีกเลี่ยงได้
แม้ว่าการรัฐประหาร เป็นสิ่งมิชอบตามหลักการประชาธิปไตย แต่กระแสสังคมกลับส่งสัญญาณสนับสนุนอย่างกว้างขวางก็เพราะว่าวิถีทาง ประชาธิปไตยในกระบวนการปกติไม่สามารถนำพาสังคมไทยให้พ้นวิกฤติได้
ครป. จะจับตาตรวจสอบการโต้กลับของระบอบทักษิณและเครือข่าย ซึ่งยังซุกซ่อนอำนาจในหลายระดับไว้ได้ โดยอาจใช้ “สงครามมวลชน” เข้ามาเผชิญหน้ากับ คปค.เพื่อสร้างสถานการณ์และเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของ คปค. และฝากไปถึงพลังประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ ให้ระมัดระวังว่าจะไม่ตกหลุมพรางและเป็นเครื่องมือของระบอบทักษิณโดยไม่รู้ตัว”

ไม่ใช่ไม่ไว้ใจ ขอตรวจสอบ

นาย สุวิทย์ วัดหนู ที่ปรึกษา ครป. (“ครป.แถลงค้านปฏิวัติ แต่เข้าใจ...” , http://www.prachatai.com , 25 กันยายน 2549): ต่อจากนี้ไป ครป. จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ คปค. ไม่ใช่ไม่ไว้ใจแต่เป็นการตรวจสอบประเด็นตามที่ได้มีการแถลงข่าวการยึดอำนาจ ใน 4 ประเด็น เช่นการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม การเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ การบริหารงานของพ.ต.ท. ทักษิณ ที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ว่า คปค.เอาจริงเอาจังกับการจัดการมากขนาดไหน

แก้ปัญหา มีทั้งได้และเสีย

รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณะบดีคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (“สัมภาษณ์พิเศษ” ล้าหลัง, ฉบับพิเศษ “รัฐประหาร,” (กันยายน, 2549) หน้า 2.):  [รัฐประหารมี 4 แบบ] แบบที่ 4 คือ รัฐประหารที่เกิดจากความวุ่นวายทางสังคม คือ รัฐบาลทะเลาะกับประชาชน หรือไม่ประชาชนทะเลาะก็ฆ่ากันเองบนท้องถนน แล้วฝ่ายรัฐประหารเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา ผมเข้าใจว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นการรัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหาเพราะว่า รัฐบาลไม่ได้ทะเลาะกับทหาร รัฐบาลทะเลาะกับพันธมิตร รัฐบาลทะเลาะกับประชาชน ความต่างมันอยู่ตรงนี้
ปัญหาเรื่องความถูกผิด ไม่ต้องมาถาม คือปัญหาเรื่องการถูกผิดมันต้องถามว่าคุณใช้เกณฑ์อะไรมาวัด มันเป็นการตัดสินเชิงคุณค่า ซึ่งใช้ความรู้สึก เวลาที่เรามองปัญหาการเมือง คุณต้องมองหลายๆอย่างประกอบกัน คือความถูกผิดมันตัดสินยาก แต่โดยหลักการแล้ว การรัฐประหารนี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ในระบบการเมืองประเทศนั้นๆ ไม่สามารถใช้กระบวนการปกติในการแก้ไขปัญหาได้”
[การรัฐประหารครั้งนี้สังคมได้หรือสูญเสีย อะไรบ้าง ?] ทั้ง 2 อย่าง ได้บ้างเรื่องก็ต้องเสียบางเรื่อง ผมไม่คิดว่ามีอะไรได้มาอย่างเดียว อย่างน้อยเราก็เห็นบ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบ อย่างน้อยก็ไม่เห็นการนองเลือด การปะทะกันบนท้องถนน อย่างน้อยเราก็จะได้เห็นกระบวนการบางอย่างที่เป็นข้อบกพร่องในในสมัยทักษิณ จะได้รับการแก้ไข อย่างน้อยก็จะได้เห็นการปฏิรูปการเมืองบางอย่างเกิดขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เราจะได้... ไม่มีอะไรได้โดยไม่เสีย ก็มีส่วนได้เยอะพอสมควร แล้วเราก็เสียไปพอสมควร

ไม่มีเจตนา เป็นข้อยกเว้น ผ่านไปแล้ว มีความหวัง

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มติชนรายวัน 2 ตุลาคม  2549  หน้า 16.): จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับนี้ [ที่มีมาตรา 3 ‘ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการรัฐประหาร ถือเป็นครั้งแรกที่รองรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้’] น่าเชื่อได้ว่า คปค.ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะสืบทอดอำนาจทางการเมือง เพราะไม่มีการให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับคณะรัฐประหาร และเป็นรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญฉบับชั่วคราวหลังจากการรัฐประหารที่เป็นเผด็จ การน้อยที่สุดฉบับหนึ่ง เท่าที่เคยเห็นเทียบกันมา คาดหวังได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวร จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับทีดี มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ไม่ถูกครอบงำ และแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วได้
(สัมภาษณ์พิเศษ, “การเมืองใหม่จะปิดโอกาสการรัฐประหาร, กรุงเทพธุรกิจ, 15 ตุลาคม 2549, หน้า 2.): ‘การรับประหารครั้งนี้ ผมว่า ต้องถือว่าเป็นข้อยกเว้น ถ้าไม่มีความรุนแรงของสถานการณ์ทางการเมือง ถ้าไม่มีพฤติกรรมของนักการเมือง ถ้าไม่มีการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์อย่างมาก ถ้าไม่มีเงื่อนไขให้เกิด ผมเชื่อว่าแม้กระทั่งคนที่ทำรัฐประหารเองก็ไม่คิดว่าต้องทำรัฐประหาร ผบ.ทบ.ออกมายืนยัน 1 อาทิตย์ก่อนรัฐประหารว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ ผมเชื่อว่าเขาพูดจริง แล้วเขาก็บอกว่า เขาคิดทำรัฐประหาร 2 วันก่อนการดำเนินการเท่านั้น เพราะมันมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้จำเป็น’

เสียดาย

พิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป. 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (“พิภพ ธงไชย 2 เดือน คมช. 50-50” แทบลอยด์, 19 พฤศจิกายน 2549.): ‘กระบวนการยุติธรรมก็มาจากกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็มีการปรับปรุงอยู่เสมอ เมื่อจัดการบางเรื่องไม่ได้ก็ต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันกับอาชญากรรมที่ก่อ ขึ้น… ในเมื่อเรารู้ว่าการทุจริตคอรัปชั่นและนโยบายซับซ้อนมากกว่ารัฐบาลอื่น ฉะนั้นรัฐบาลและสภานิติบัญญัติฯ ก็น่าจะร่วมกันคิดว่ากฎหมายที่มีสามารถจัดการได้ไหม’
‘ผมเสียดายอำนาจของ คปค. ใช้อำนาจล้มรัฐธรรมนูญ ล้มองค์กรอิสระ และใช้อำนาจตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ กลับไม่ใช้คำประกาศของ คปค. จัดการเรื่อง [ทุจริตคอรัปชั่น] เหล่านี้ แต่ใช้อย่างเดียวคือการยุบพรรคแล้วให้มีผลต่อการไม่มีสิทธิลงเลือกตั้ง’

3. ท่าทีต่อการต้านรัฐประหาร

นอกจากการสนับสนุน ให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร ข้างต้นแล้ว ท่าทีต่อการรัฐประหารอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ความเห็นและท่าทีต่อคนหรือกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ในสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากรวบรวมประเด็นแรกบางส่วน

ไม่น่าทำแบบนี้ 

ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีมีการแจกใบปลิวในจุฬาฯ  เพื่อเชิญชวนแต่งชุดดำ และชุมนุมต้านรัฐประหารที่สยามพารากอน (กรุงเทพธุรกิจ, 22 กันยายน 2549, หน้า 15.): เครือข่ายจุฬาฯ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อตนได้รับใบปลิวเชิญชวนที่โรงอาหารจุฬาฯ ไม่ทราบว่าเป็นของคนกลุ่มใด แต่ใบปลิวระบุว่า เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
เมื่อผมได้รับใบปลิวแล้วรู้สึกตกใจ ไม่น่าทำแบบนี้ สถานการณ์บ้านเมืองไม่ดีอยู่แล้ว คนแจกใบปลิวใส่หัวเข็มขัดจุฬา แต่ผมไม่ยืนยันว่าเป็นนิสิตจุฬา เพราะใครก็ซื้อมาใส่ได้ แต่ก็ถามคนแจกว่า ทำแบบนี้ทำไม ชอบระบอบทักษิณหรือ เขาตอบเสียงดุดันว่า ไม่ชอบระบอบทักษิณแต่ก็ไม่ชอบรัฐประหารมากกว่า ผมไม่สบายใจเรื่องนี้มาก เพราะขณะนี้คณะปฏิรูปฯ เขาประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ถ้าไปแต่งชุดดำชุมนุมค้านเท่ากับยั่วยุให้คณะปฏิรูป ต้องดำเนินการตามกฎอัยการศึก จะเกิดความรุนแรงตามมาและบายปลายเป็นการรัฐประหารซ้อนรัฐประหาร

ขัดคำสั่ง คปค.

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ รศ.ดร.ใจ อึ๊งภากรณ์ เพื่อนอาจารย์ร่วมคณะ  ที่ออกมารณรงค์เคลื่อนไหว ในเหตุการณ์เดียวกัน (มติชนรายวัน 22  กันยายน 2549, หน้า 14): เป็นความเห็นของนายใจ ไม่ได้ดำเนินการในนามของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายใจจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง เพราะการเชิญชวนดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะมีมากกว่า 5 คน ซึ่งขัดคำสั่ง คปค. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน

เป็นกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจ

นายสมพันธ์ เตชะอธิก นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ผู้จัดการรายวัน, 22 กันยายน 2549,หน้า 11.): จากแถลงการณ์ของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ที่นัดแต่งชุดดำ รวมตัวกันที่ลานน้ำพุ สยามพารากอน ในช่วงเย็นวันที่ 22 ก.ย. นี้ โดยตนไม่รู้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มไหน ซึ่งอาจเป็นกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจไปก็ได้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้
‘ยอมรับว่าการรัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากทุกคราวที่เกิดขึ้น.. การรัฐประหารครั้งนี้มีเงื่อนไขเฉพาะ.. ซึ่งเท่าที่ดูทั้งประชาชน นักศึกษา และสื่อมวลชน ก็ไม่ได้ถูกอำนาจครอบงำแต่อย่างใด ต่างจากอดีตที่ใช้อำนาจครอบงำทุกประการ’
แนวโน้มการรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นเพียงระยะสั้น ที่ผ่านมา เป็นการแก้วิกฤติทางการเมืองชั่วคราวเท่านั้น ถ้าทำดีกระแสการคัดค้านการรัฐประหารก็ฟังไม่ขึ้น และเชื่อว่าเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ออกมาคัดคัดค้าน และเครือข่าย 19 กันยายน ต้านรัฐประหารก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งตนเองเชื่อว่า น่าจะอยู่นิ่งๆรอดูสถานการณ์ไปก่อน

แหวกหญ้าให้งูตื่น

นายสมภพ บุญนาค เครือข่าย 14 ตุลาคม ขอนแก่น กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร  (ผู้จัดการรายวัน, 22 กันยายน 2549,หน้า 11.): สิ่งแรกเป็นสิทธิของเขา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมาดูสิทธิที่แสดงออกมามันสอดคล้องกับสถานการณ์ภายใน ประเทศหรือไม่ ซึ่งยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นสิทธิของเขาก็ตาม เพราะเกรงว่า เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ส่งผลให้มีเหตุการณ์บานปลายในที่สุด
จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ข้อเท็จจริง ‘เราต่อต้านระบอบทักษิณ ซึ่งคนอาจมองว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่จริงๆแล้วเป็นการฉวยโอกาสทำลายประชาธิปไตย โดยการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงและครอบงำองค์กรต่างๆ ซึ่งหากเอาการเลือกตั้งมาต่อสู้กับระบอบทักษิณจะเหมือนกับเอามือเปล่าไปไปตอ สู้กับเผด็จการครบทั้งเงินและอำนาจที่จะลงโทษใครก็ได้’
…[คณะรัฐประหาร] จึงจำเป็นต้องออกมาป้องกันประเทศ และที่ผ่านมาที่ทำรัฐประหารก็อยู่ในกรอบที่รับได้ คือ ไม่มีการเข่นฆ่า
‘ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว (ท่าที่ต่อการต่อต้าน) ในครั้งนี้เพราะเป็นการแหวกหญ้าให้งูตื่น ส่งผลให้คนที่ฉวยโอกาสก่อความไม่สงบได้’

ไม่สบายใจ

ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนัก ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการชุมนุมของนักศึกษาในธรรมศาสตร์ ในวันที่ 25 กันยายน 2549 (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 25. กันยายน 2549): ยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายใจ ที่เห็นนักศึกษาอกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต้านรัฐประหาร แต่ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่สามารถแสดงออกได้ ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย และพร้อมจะดูแลเป็นอย่างดี และจะพยายามไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง

มีความรู้แต่ไร้ราก

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย (สปต.) 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เดลินิวส์, 28 ตุลาคม 2549): ‘คนที่มาคัดค้านตอนนี้บอกได้เลยว่าไม่มอง รูปแบบเหตุผลของการดำเนินการ อ่อนด้อยความรู้ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง มีความรู้แต่ไร้ราก ต้องการแค่ให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองมีความรู้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่จริงแล้วไม่ใช่ ต้องดูว่ารูปแบบเป็นเผด็จการก็จริงแต่เนื้อหาเป็นประชาธิปไตย มันเร็วเกินไปที่จะไปคัดค้าน เอาเรื่องอนาคตมาเล่น ตอนนี้เราต้องดูไปก่อน แต่ถ้าไม่ทำอย่างที่ประกาศไว้หลังจาก 2 สัปดาห์ หรือยังบ้าติดยึดอำนาจอันนี้แน่นอนเราไม่ยอมแน่จะมีการเคลื่อนไหวกันต่อไป’

ให้โอกาสกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน (“เอาใจ นคราเมือง ไม่ทิ้งนคราชนบท โจทย์ยากที่สุดของ คปค.” เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 15 ฉบับที่ 748, (29 กันยายน 2549), หน้า 14.): ‘ที่เขาพูดมา [พวกคัดค้าน] ก็ต้องฟัง เขาไม่เห็นด้วยก็ต้องบอกว่า ขอให้โอกาสกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และร่วมกับเขาในการตรวจสอบการปฏิรูปว่าดำเนินไปเพื่ออะไรที่ดีขึ้น นี่เป็นการยึดอำนาจเพื่อปฏิรูป เพราะถ้าอธิบายหรือทำให้เขาทบทวนได้ก็คือ การยึดอำนาจต้องไปดูที่สาเหตุ เป้าหมาย จะดูเพียงวิธีการว่าเป็นการยึดอำนาจคงไม่ได้ คนที่เขาอยากปฏิรูป เปลี่ยนแปลงสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม เขาได้ทำทุกอย่างแล้ว และทำสุดความสามารถของเขาแล้ว แล้วดุลอำนาจมันออกมาคุมทักษิณ ทำให้คุณทักษิณพ้นตำแหน่ง ก็เพราะทหารเข้ามาร่วมด้วย ทหารไม่ใช่คนปฏิวัติ ไม่ใช่คนยึดอำนาจหรอก แต่ประชาชนร่วมกับพลังทางสังคมอีกมากมายที่ยึดอำนาจ และไม่ได้ยึดเอาไว้ตลอดกาล ถ้ายึดไว้ตลอดกาลก็ไม่มีใครเห็นด้วย เป็นเพียงแต่ว่าหาข้อยุตติ’
‘ดังนั้นแทนที่จะออกมาเคลื่อนไหว หรือทำให้เกิดแรงกระเพื่อมใดๆ ทางการเมือง ก็ขอให้นับหนึ่งใหม่จากจุดนี้ เพื่อปฏิรูปการเมืองไทยไปพร้อมกัน แล้วเตรียมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ’

ความรู้มีน้อยเกินไป ไม่เคยอ่าน จอห์น ล็อค

รศ.ดร.นครินทร์  เมฆไตรรัตน์ คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (“สัมภาษณ์พิเศษ,” ล้าหลัง, ฉบับพิเศษ “รัฐประหาร,” (กันยายน, 2549) หน้า 2.): ผมคิดว่าความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมือง การปกครองมันมีน้อยเกินไป สำหรับพวกที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตย อาจจะมองว่าการรัฐประหารเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือ คนพวกนี้ไม่เคยอ่าน จอห์น ล็อค ผมกำลังพูดถึงบิดาของเสรีประชาธิปไตย จอห์น ล็อค บอกว่า รัฐบาลเกิดขึ้นโดยข้อตกลงทางสังคมที่เรียกว่า สัญญาสังคม หรือ Social Contract  รัฐบาลเมื่อได้ขึ้นไปสถาปนาอำนาจต้องเป็นไปตามข้อตกลงทางสังคม หน้าที่ของรัฐบาลคือ ธำรงไว้ซึ่งความสงบสุขของคนส่วนร่วม รักษาไว้ซึ่งเสรีภาพ ทรัพย์สิน อิสรภาพของประชาชน ก็ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข อย่าลืมนะว่านี่คือหน้าที่ของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ทำหน้าที่นี้ ประชาชนสามารถที่จะโค่นรัฐบาลได้ เราเรียกสิทธิตรงนี้ว่า สิทธิในการปฏิวัติ การยึดอำนาจในครั้งนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิวัติ
ในภาษาของพวกบิดาเสรีประชาธิปไตย เค้าเรียกว่า Right to resistant, Right to Revolution สิทธิในการต่อต้าน สิทธิในการโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามสัญญาประชาคม

แหม่งๆ ยังไงชอบกล

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (“ท่าทีต่อการรัฐประหาร 19 กันยาฯ” , คอลัมน์ “ฟ้าดินเดียวกัน” , ผู้จัดการออนไลน์, 18 ตุลาคม 2549.): ผมก็ไม่เคยพบเห็นการรัฐประหารที่ไหนเหมือน กัน ที่จะมีผู้ออกมาประท้วงกันอย่างออกหน้าออกตามากขนาดนี้ ผู้ประท้วงเหล่านี้มีทั้งที่แสดงออกโดยปัจเจกและโดยในนามขององค์กร
ข้อที่น่าสังเกตของผู้ประท้วงเหล่านี้ก็คือ ว่า บางคนเคยประท้วงระบอบทักษิณมาเมื่อก่อนหน้านี้ กลุ่มนี้ถือว่าพอเชื่อได้ว่าประท้วงด้วยความจริงใจ แต่กับบางกลุ่มแล้วผมไม่เคยเห็นหน้าเลยตลอดเวลาค่อนปีที่มีการประท้วงระบอบ ทักษิณ แต่พอเกิดรัฐประหารปั๊บก็ออกมาปุ๊บ กลุ่มหลังนี้ผมว่าแหม่งๆ ยังไงชอบกลอยู่
แต่ทั้งหมดนี้ผมไม่เห็นว่า คณะรัฐประหารจะจัดการอย่างเด็ดขาดอย่างในอดีตแม้แต่กรณีเดียว

เรียวแคบ

รศ.สุริชัย หวันแก้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พูดถึงเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ที่เรียกร้องให้ลาออกลาออกจาก สนช. (“มองไปข้างหน้า ข้ามพ้นกับดักคำถามที่เรียบแคบ,” โพสต์ทูเดย์, 28 ตุลาคม 2549. หน้า A3.): การเกิดกลุ่ม (19 กันยายน) ที่ยึดมั่นในหลักการอย่างมั่นคงเช่นนี้จึงมีคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างไม่ต้องสงสัย
การจะเลือกจุดยืนแบบต้านรัฐประหารมิติเดียว เริ่มต้นพูดคุยด้วยการถามว่า “คุณเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่” คงไม่พอแน่ เพราะคงมีน้อยคนกระมังที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร... แต่ไม่เห็นด้วยแล้วจะทำอย่างไร ลำพังการบอกว่า ควรบอยคอตการรัฐประหาร ไม่ร่วมมือต่างๆ โดยสิ้นเชิง ไม่น่าจะเพียงพอ
เราควรมาทบทวนว่า ในสถานการณ์ที่การรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วเดือนเศษ และกระบวนการต่างๆ กำลังเกิดขึ้นตามมามากมาย หากไม่มีเสียงของประชาชนทัดทานเลย แน่นอนว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติ ย่อมจะมีโอกาสถูกใช้ไปสร้างอุปสรรคแก่การเติบโตของภาคประชาชน และชักให้ถอยหลังไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตยหรือเสนาธิปไตยได้  และถ้าไปในทางร้ายที่สุด ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งซึ่งแปรเป็นความรุนแรงได้อีกในอนาคต
ดังนั้น เราควรจะหลุดจากกับดักของคำถาม ที่เรียวแคบว่า เห็นด้วยการรัฐประหารหรือไม่ ควรบอยคอตกับการรัฐประหารหรือไม่ มาสู่การตั้งสติว่า เราจะลดทอนความสูญเสียจากการรัฐประหารนี้ได้อย่างไรบ้าง

ขอจบท้ายรายงานฉบับนี้ด้วย “เก็บแรง” ใน คอลัมน์ “คันปากอยากเล่า” ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2549 หน้า 3 ซึ่งอาจจะเรียกว่า เป็นการ “รวบยอดความคิด” ที่สำคัญเลยทีเดียว โดยคนเขียนคนหนึ่งในคอลัมน์นี้ มีความใกล้ชิดหรือ”คลุกวงใน” “ภาคประชาชน”และ เคยเขียนวิจารณ์กลุ่มคัดค้าน พันธมิตรฯ มาตรา 7 ด้วยจุดยืนเดียวกับผู้ประสานงานพันธมิตรฯ อย่างคุณสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป.
ไม่ผิดหรอกที่คนจำนวนหนึ่งออกมาคัดค้าน ต่อต้าน ทั้งแต่งชุดดำ ทั้งเขียนแถลงการณ์ไว้อาลัยกับการฆาตกรรมประชาธิปไตย เป็นต้น อย่างน้อยก็เป็นการแสดงออกที่สมควรจะให้การยอมรับในเรื่องการยึดมั่นในหลัก การประชาธิปไตย
แต่ก็อย่างเพียง ต่อต้าน คัดค้านอย่างเดียว ต้องมีข้อเสนอให้สังคมก่อนหน้ายึดอำนาจด้วยว่า “หากทหารไม่รัฐประหาร” แล้วเราจะอยู่อย่างไรกับ “ระบอบทักษิณ” ระบอบที่ทำให้สังคมแตกแยก ปิดหูปิดตาประชาชน ทำลายกลไกการตรวจสอบ ทุจริตคอร์รัปชั่น คุกคามสิทธิเสรีภาพ ไม่ต่างจากเผด็จการ ดูประหนึ่งรัฐธรรมนูญถูกฉีกมา 5 ปี แล้วด้วยซ้ำ
เราจะอยู่โดยไม่หวาดระแวง อยู่อย่างสุขสะดวก อยู่อย่างเศรษฐีเสกกระดาษเป็นเงิน อยู่โดยที่พี่น้อง 3 จังหวัดใต้ตายเป็นใบไม้ร่วง กระนั้นหรือ?
แน่นอนการต่อต้านคัดค้านมันทำได้ในแง่ของ การแสดงจุดยืนในทางอุดมคติ แต่ขอ้เท็จจริงมันเกิดขึ้นแล้ว เก็บเรี่ยวเก็บแรงไว้ เอาเวลามาถกเถียงเพื่อหาข้อสรุป-ข้อเสนอ ว่าเราจะไม่ให้บทเรียนแบบที่เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร หรือเราจะสร้างสิทธิเสรีภาพในแง่มุมไหน ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะร่างใหม่ จะดีกว่าไหม ? หรืออย่างน้อยก็เก็บแรงไว้หน่อย... เผื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ เขาเบี้ยวสัญญากลับเข้ากรมกอง ฮ่าฮ่า...