ล็อบบี้ ส.ว. ถอดถอน "เทือก" ?

ข่าวสด 13 กันยายน 2555 >>>


ก่อนที่วุฒิสภาจะนัดลงมติถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 18 ก.ย. กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่สมัยเป็นรองนายกฯ แทรกแซงการทำงานกระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างนี้ก็มีข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ในทำนองว่า สมาชิกบ้าน 111 พรรคเพื่อไทยกำลังเดินสายล็อบบี้ ขอเสียง ส.ว. ให้ได้ตามเกณฑ์ คือ 3 ใน 5 หรือเกือบๆ 90 เสียง
ข่าวดังกล่าวเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นอย่างไร มีความเห็นจากผู้คลุกวงใน ดังต่อไปนี้

ตระกูล มีชัย
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


เมื่อมีการลงมติทุกครั้งทุกเรื่อง การล็อบบี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะเป็นการล็อบบี้ด้วยเหตุผลหรือล็อบบี้ด้วยการให้สิ่งตอบแทน เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากัน หากล็อบบี้อย่างมีเหตุผลโดยไม่มีสิ่งตอบแทน ก็ไม่มีปัญหา
กรณีวุฒิสภาจะลงมติถอดถอนนายสุเทพในวันที่ 18 ก.ย. โดยล่าสุดมีข่าวล็อบบี้คะแนนเสียงจาก ส.ว. นั้น ผมก็ทราบจากข่าว แต่ในเชิงการเมือง การต่อสู้ทางการเมือง ต้องไม่ลืมว่านายสุเทพเป็นแกนนำหลักพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ก็เป็นแกนนำกลุ่มหนึ่งของพรรคเพื่อไทย จึงเป็นไปได้ที่จะมีการล็อบบี้ แต่เป็นลักษณะของการจูงใจกันมากกว่า ไม่ได้หมายถึงการให้สิ่งของตอบแทนอื่นใด
การเมืองนั้นมีกลุ่มมีพวกพ้อง วุฒิสภาก็มีทั้งจากการสรรหาและเลือกตั้ง มีเครือข่ายทางการเมือง ไม่ได้เป็นกลางอย่างแท้จริง จึงเป็นไปได้ที่สมาชิก 111 อาจไปพูดคุยกับ ส.ว. ในสายที่คุยกันได้
หากจำแนกกลุ่มทางการเมือง ส.ว.สรรหา ก็เจาะจงไม่ได้ว่ากลุ่มใดเป็นพวกใคร ส่วน ส.ว.เลือกตั้ง ในส่วนของภาคใต้อาจมีแนวโน้ม ไปทางนายสุเทพ ขณะที่ ส.ว. จากภาคอื่นแนวโน้มอาจตรงข้ามกัน
อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องเป็นการอธิบายด้วยเหตุผลข้อโต้แย้งระหว่างนายสุเทพกับการตัดสิน ของ ป.ป.ช. ว่าใครมีน้ำหนักมากกว่ากัน
ต้องยอมรับว่าการถอดถอนนายสุเทพเป็นเรื่องลำบาก ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ของวุฒิสภาไม่เคยมีมติใดที่ถอดถอนใครได้เลย หากการถอดถอนครั้งนี้ได้เสียงสมาชิก 3 ใน 5 จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่
ลองคิดดูว่านายสุเทพจะสู้ขนาดไหน ในแง่การล็อบบี้ด้วยเหตุผลเชื่อว่านายสุเทพจะสู้เต็มที่ เพื่อไม่ให้คะแนนสูงถึงขั้นที่จะถอดถอนได้ และสมมติว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นคล้อยตาม ป.ป.ช. จะเกิดมาตรฐานการยอมรับคำตัดสินของ ป.ป.ช. ด้วย ต่อไปหาก ป.ป.ช. ตัดสินแล้วส่งเรื่องมาให้วุฒิสภาถอดถอน มติจะออกมาแตกต่างจากนั้นไม่ได้ และวุฒิสภาจะกลายเป็นองค์กรที่มีพลังอำนาจในกระบวนการถอดถอน ซึ่งถือว่าเป็นการเดินหน้าของกระบวนการได้ แต่หากไม่สำเร็จคงห้ามความคิดคนทั่วไปไม่ได้ว่า การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ตวง อันทะไชย
ส.ว.สรรหา


ผมอยู่กับวุฒิสภามา ไม่มีใครล็อบบี้ใครได้ ส.ว. มีอัตตา ความเป็นตัวของตัวเองสูง ถ้าจะมีจริงก็แค่บางคนเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นไปไม่ได้แม้จะมีสายสัมพันธ์กับการเมืองกันอยู่บ้างก็ตาม
ดังนั้นอย่าพูดให้ ส.ว. เสียหาย เราควรเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ส่วนผู้ที่ให้ข่าวก็ไม่รู้ว่ามีเจตนาอะไร ในฐานะวุฒิสภาไม่ควรออกความเห็น อย่างไรก็ตามไม่คิดว่าวุฒิสภาจะเสื่อมเสีย ในเมื่อไม่เป็นความจริง ไม่มีนอกใน จะร้อนใจไปทำไม
เรื่องการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง รวมถึงกรณีนายสุเทพ เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนมาเพื่อให้ถอดถอนใครไม่ได้
ในมุมมองคนร่างคงแค่ต้องการปรามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ระมัดระวังการทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งดี ไม่มีข้อเสีย
บางทีความสำเร็จของการถอดถอน ไม่ใช่ถอนนักการเมืองออกจากตำแหน่งได้ แต่เป้าหมายสุดท้ายคือ การสร้างกระบวนการให้เกิดภูมิคุ้มกันจากการใช้รัฐธรรมนูญปี"50
เชื่อว่าถ้าจะให้ถอดถอนบุคคลใดได้ ต้องให้คนร่างกลับไปออกแบบกฎหมายใหม่ก่อน ด้วยคะแนนครึ่งๆ น่าจะยังพอมีหวัง

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
รองประธานวุฒิสภา


พยายามตรวจสอบกับเพื่อนสมาชิก ไม่มีเรื่องนี้ แต่อาจเป็นไปได้ที่ ส.ว. บางกลุ่มไปคุยกันวงลับกับกลุ่มการเมืองบ้าง ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำ ให้เราเห็น จึงไปทำอะไรไม่ได้
ข้อบังคับวุฒิ สภา ข้อ 127 ระบุชัดเจนว่า ในวันลงมติ ส.ว. มีความคิดอย่างไรในใจก็ให้เก็บไว้ อย่าไปพูดคุยปรึกษาจนทำให้เพื่อนสมาชิกเสียความเป็นกลาง ดังนั้นการบอกว่ามีล็อบบี้ จะกล้าจริงหรือ เพราะขัดต่อข้อบังคับ
ผู้ให้ข่าวอ้างว่าขาดอีก 12 เสียง จะครบเสียง 3 ใน 5 เป็นเพียงสูตรคำนวณคณิตศาสตร์ง่ายๆ มากกว่าเอา 89 เสียง ลบ 77 เสียง ก็ขาด 12 เสียงพอดี แล้วที่บอกว่า 77 เสียงรู้แล้วหรือว่าจะไปในทิศทางเดียวกันหมด เขาอาจต้องการหวังผลมุมกลับก็ได้
ไม่อยากให้คิดเป็นเรื่องการเมือง เราทำงานตรงนี้ต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดี การเมืองถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจนอย่ามาพูด เพราะกระทบภาพลักษณ์วุฒิสภา
การหาได้ 89 เสียงนั้นยาก เพราะคนร่างไม่ต้องการให้ถอดถอนนักการเมืองง่ายๆ เกรงว่าถ้าถูกนำมาเป็นเกมการเมืองอาจบั่นทอนจิตใจคนทำงานได้ เพราะการตัดสิทธิ์ 5 ปี เท่ากับประหารชีวิตทางการเมือง ดังนั้นอย่าไปมุ่งหวังว่า เรื่องมาถึงวุฒิสภาแล้วจะต้องถอดถอนบุคคลได้

ประสพสุข บุญเดช
อดีตประธานวุฒิสภา


ไม่จริงหรอกเรื่องการล็อบบี้เสียงสมาชิกวุฒิสภา แต่ละคนมีดุล พินิจอยู่แล้ว จึงไม่เชื่อว่าจะมีการเดินสายจากคนนอก
ไม่ทราบว่าผู้ปล่อยข่าวมีเจตนาอะไร แต่ข่าวลือย่อมเป็นข่าวลือ เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ข้อเท็จจริงก็มีอยู่คือนายสุเทพยอมรับแล้วว่า ส่งหนังสือไปกระทรวงวัฒนธรรมจริงเพื่อแต่งตั้งบุคคลช่วยเหลืองาน
แต่ประเด็นที่จะลงมติคือ กรณีนี้เป็นการแทรก แซงงานข้าราชการประจำหรือไม่ ขั้นตอนก็เหมือนการพิพากษาในชั้นศาลที่จะต้องซักถามความแน่ชัดของการกระทำนั้นๆ ก่อนปิดสำนวน เมื่อ ส.ว. รับฟังข้อมูล เห็นหลักฐาน เชื่อว่า ส.ว. ต่างก็มีคำตอบในใจได้เองแล้ว
การล็อบบี้เสียงจะได้ประโยชน์อะไร และจะทำได้อย่างไร อย่านำมาเปรียบเทียบกับเรื่องแต่งตั้งประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา ที่เป็นการเชียร์ว่าจะสนับสนุนใครมากกว่ากัน
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่การรักใครชอบใคร เป็นเรื่องของหลักการที่ต้องว่าไปตามเหตุผล ไม่ใช่ไม่ผิดก็บอกว่าผิด ไปกลั่นแกล้ง ทำผิดหลักการเหตุผลไม่ได้อยู่แล้ว
ดังนั้นเมื่อกระแสข่าวเป็นแค่ข่าวลอยๆ ไม่เป็นความจริง วุฒิสภาก็ไม่น่าเสื่อมเสีย นอกจากจะมีใครออกมายืนยันแน่ชัดค่อยว่ากันไป
เรื่องการถอดถอนกรณีนี้ คำนวณไม่ออกว่าจะได้ถึง 89 เสียงหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาเมื่อถึงเวลาพิจารณากระบวนการถอดถอนบุคคลทีไร ก็ออกจากตำแหน่งกันไปแล้ว การถอดถอนจึงไม่เคยสำเร็จสักที
คราวนี้ก็คงเช่นกัน นายสุเทพพ้นตำแหน่งรองนายกฯ ไปเป็นปีๆ แล้ว ถือเป็นข้อด้อยของกระบวนการถอดถอนที่ต้องผ่าน ป.ป.ช. ก่อนจึงใช้เวลานาน ซึ่งควรแก้ไขให้เป็นกรณีพิเศษ พิจารณาภายใน 60 วัน ระหว่างที่บุคคลนั้นๆ อยู่ในตำแหน่ง การพิจารณาตอนที่บุคคลนั้นพ้นตำแหน่งไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไร
เพราะวัตถุประสงค์ของการพิจารณาเพื่อไม่ให้อยู่ในตำแหน่งให้เกิดความเสียหาย และมีผลตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นั่นเอง