ความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนพฤษภาคมปี 2553 กำลังจะถูกเปิดเผยโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยใช้ฤกษ์ 17 กันยายน 2555 ล้อกับสถานการณ์ครบรอบ 6 ปีที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ต้องลี้ภัยจากแผ่นดินไทย หลบพิษร้ายจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ถูกเลือกใช้เพื่อแถลงข่าวสำคัญใน 2 วาระ
1. เปิดเผยรายงานความคืบหน้าฉบับสมบูรณ์ ซึ่งที่ประชุมสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า จากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคนเสื้อแดงจะเกลียด คอป. เข้าไส้ !
2. ปิดฉากการดำเนินการของ คอป.อย่างเป็นทางการ โดยครั้งนี้ "ดร.คณิต ณ นคร" ในฐานะประธานได้จัดทำหนังสือเปิดใจคณะกรรมการภายใต้ภาวะกดดันทางการเมืองตลอด 2 ปี
ข้อเสนอแนะ 21 ข้อ ที่เป็น "พินัยกรรม" ให้กับ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ประกอบด้วย
1. บรรยากาศแห่งการปรองดอง เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับเพิกเฉยและเร่งรัดกระบวนการ เช่น การนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสู่รัฐสภา โดยไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
"การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเชื่อม โยงกับประเด็นการเมือง จะก่อให้เกิดความขัดแย้งและการต่อต้านที่ลุกลามยิ่งขึ้น จึงเห็นว่าควรตัดสัมพันธ์กับบุคคลที่มีแนวคิดโน้มเอียงในการล้มล้างสถาบัน เพื่อรักษาบรรยากาศปรองดองให้คงอยู่ต่อไป"
2. การปรับใช้หลักความ ยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การกระทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง มิใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในภาวะปกติทั่วไป ผู้กระทำผิดจึงมิใช่อาชญากรโดยกมลสันดาน การใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงอาจเพิ่มความรู้สึกคับแค้นให้มากขึ้น
"การนิรโทษกรรม ไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และไม่ควรเริ่มต้นจากรัฐสภา"
3. ความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย แม้ระบอบประชาธิปไตยจะมีข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นการปกครองที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ประชาชนต้องอดทนและแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี ไม่ควรเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาด้วยการล้มล้างการปกครองอย่างการรัฐประหาร
4. การเคารพสิทธิมนุษยชน รัฐควรพิจารณาทบทวนกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น กฎหมายที่มีผลเป็นการลบล้างความผิดโดยมิชอบ หรือมีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษต่อผู้อื่น
5. ข้อเสนอเกี่ยวกับหลักนิติธรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจนที่จะยึดถือหลัก นิติธรรมในการบริหารประเทศ เพื่อลดความเคลือบแคลงระหว่างกัน
6. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องจัดให้มีเวทีสาธารณะหรือสานเสวนาเพื่อให้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญจะทำให้ได้มาซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
7. ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ต้องระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
"รากเหง้าของความขัดแย้งมีจุดเริ่มต้นจากความเคลือบแคลงหลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมโดย เฉพาะคดีซุกหุ้นปี 2544 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำผิดข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายโดยแท้"
8. สถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้ทุกฝ่ายงดเว้นการกล่าวอ้างถึงสถาบันเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง โดยอาจกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
"การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หวังว่ารัฐบาล-รัฐสภาจะร่วมกันแสดงความกล้าหาญในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบัน โดยศึกษาแนวทางอาญาของประเทศต่าง ๆ"
9. การแก้ไขปัญหาพื้นฐานในสังคม รัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นและมีเจตจำนงในทางการเมืองในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กระบวนการยุติธรรม และกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐาน
10. ขอเรียกร้องให้สื่อทุกแขนงเพิ่มบทบาทในการกระตุ้นให้สังคมช่วยกันแสวงหา ทางออกอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าการรายงานโต้แย้งระหว่างคู่ขัดแย้ง
11. ข้อเสนอเกี่ยวกับทหาร ต้องปฏิรูปองค์กรด้านความมั่นคง โดยยึดหลักรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร ไม่ได้หมายถึงการต่อต้านทหาร แต่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและทหารมีความเหมาะสม
"รัฐต้องลดบทบาทของทหารในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมฝูงชนหรือการสลายการชุมนุม ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจหรือเจ้าหน้าที่"
12. ให้ผู้นำและผู้ร่วมชุมนุมยึดมั่นในหลักการที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น รัฐควรศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น กฎหมายการจัดการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนของประเทศอังกฤษ
13. ทุกฝ่ายควรคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพราะการช่วยเหลือจะอยู่บนหลักการด้านมนุษยธรรมสากลเป็นกลางไม่เลือกปฏิบัติ
14. บทบาทของนักการเมืองและปัญหาการทุจริต ทุกพรรคควรร่วมกันจัดทำข้อตกลงว่าจะช่วยกันลดเงื่อนไขของความขัดแย้งที่เกิด ขึ้นได้อย่างไร เพื่อสร้างความไว้วางใจและบรรยากาศของการปรองดอง
15. ผู้นำทางศาสนาควรแสดงออกถึงความเป็นกลาง ในการแสดงธรรมหรือคำสอนทางจริยธรรม
16. การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐเปิดช่องทางให้มีการสื่อสาร ทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
17. ความปรองดองในระดับชุมชน รัฐต้องส่งเสริมประชาชนเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เคยขัดแย้งกันในอดีต
18. ภาคประชาสังคม ควรส่งเสริมบทบาทให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะบทบาทการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
19. การใช้เครื่องมือในการสร้างความปรองดอง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลขยายพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสถกเถียง โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุม การนิรโทษกรรมที่ต้องครอบคลุมถึงรายละเอียดในการกำหนดความผิดและเงื่อนไข
20. ความต่อเนื่องของกระบวนการปรองดอง แม้ คอป. จะสิ้นสุดวาระในการดำเนินงาน แต่กระบวนการปรองดองยังต้องดำเนินต่อไป โดยรัฐควรส่งเสริมกลไกที่มีความเป็นกลาง และไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐ เช่น การจัดตั้งเครือข่ายด้านการปรองดองในชาติ
"การจัดเวทีสาธารณะ หากรัฐดำเนินการเสียเองอาจไม่ได้รับความไว้ใจจากประชาชนบางกลุ่ม เพราะยังถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้ง ควรหนุนด้านงบประมาณแทน"
21. การเผยแพร่รายงานฉบับสุดท้าย ขอให้รัฐบาลและสื่อมวลชนเผยแพร่ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการลดความรู้สึกโกรธแค้นชิงชัง เพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่ความปรองดองได้ในที่สุด