วันนี้ (12 กันยายน 2555) อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ เล่าถึงการสนทนาการเมืองไทย และคนเสื้อแดงกับ ส.ว.ฝรั่งเศส ดังนี้
ผู้เขียนได้รับเชิญรับประทานอาหารและพบปะกับคณะวุฒิสมาชิกฝรั่งเศสที่เรียกว่า “คณะผู้แทนกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาฝรั่งเศส” ในวันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2555 มี
มร.แบรนารด์ โซเฌย์ เป็นวุฒิสมาชิกเมืองอิแซร์ (แคว้น โรน-อัลปส์)
เกิดวันที่ 3 มีนาคม 2486
อาชีพ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์
ตำแหน่งอื่น ๆ
- รองประธานคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ การเลือกตั้ง กฎระเบียบและการบริหารทั่วไป
- สมาชิกกลุ่มสหภาพเพื่อขยวนการภาคประชาชน
ประวัติการเลือกตั้ง
- ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2544
- ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2554
ตำแหน่งภายในกลุ่มมิตรภาพระหว่างรัฐสภา
- รองประธานกลุ่มมิตรภาพฝรั่งเศส-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย)
มร.เฌรารด์ มิเกล เป็นวุฒิสมาชิกเมืองโลต์ (แคว้นมิดี-ปิเรเนส์)
เกิดวันที่ 17 มิถุนายน 2489
อาชีพ เกษตรกร
ตำแหน่งอื่น ๆ
- สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการคลัง
- สมาชิกสำนักงานเพื่อการตรวจสอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- สมาชิกคณะผู้แทนวุฒิสภาในดินแดนโพ้นทะเล
- สมาชิกกลุ่มสังคมนิยม
ประวัติการเลือกตั้ง
- ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2535
- ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2544
- ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2554
ตำแหน่งภายในกลุ่มมิตรภาพระหว่างรัฐสภา
- ประธานกลุ่มมิตรภาพฝรั่งเศส-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- รองประธานกลุ่มมิตรภาพฝรั่งเศส-เม็กซิโก-กลุ่มประเทศอเมริกากลาง
มร.แอรเว โมเรย์ เป็นวุฒิสมาชิกเมืองเลอร์ (แคว้น โอต-นอร์มองดี)
เกิดวันที่ 7 พฤษภาคม 2504
อาชีพ ผู้บริหารบริษัท
ตำแหน่งอื่น ๆ
- สมาชิกกลุ่มผู้แทนฝรั่งเศสในระดับรัฐสภาระหว่างประเทศ
- สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านปัญหากลุ่มชนที่ไม่มีถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งแห่งชาติ
ประวัติการเลือกตั้ง
- ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2551
ตำแหน่งภายในกลุ่มมิตรภาพระหว่างรัฐสภา
- ประธานกลุ่มมิตรภาพฝรั่งเศส-ยูเครน
- รองประธานกลุ่มมิตรภาพฝรั่งเศส-มาดากัสการ์ และประเทศในมหาสมุทรอินเดีย (เคนยา)
มร.ฌอง-โคลด เรอกิเยร์ เป็นวุฒิสมาชิกเมืองโลต์ (แคว้นมิดี-ปิเรเนส์)
เกิดวันที่ 4 ตุลาคม 2490
อาชีพ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์
ตำแหน่งอื่น ๆ
- สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศ การป้องกันประเทศและกิจการกองทัพ
- รองประธานคณะผู้แทนวุฒิสภาในดินแดงโพ้นทะเล
- สมาชิกกลุ่มชุมนุมประชาธิปไตยและสังคมยุโรป
ประวัติการเลือกตั้ง
- ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2554
ตำแหน่งภายในกลุ่มมิตรภาพระหว่างรัฐสภา
- รองประธานกลุ่มมิตรภาพฝรั่งเศส-แอฟริกากลาง (เซาโตเมและปรินซิเป)
ทั้ง 4 ท่านมีอาชีพต่างกันและสังกัดพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น บางคนผ่านการเลือกตั้งมานานตั้งแต่ปี 2535 คือ มร.เฌรารด์ มิเกล ที่มีอาชีพเกษตรกรและสมาชิกกลุ่มสังคมนิยม
การสนทนาเริ่มจากที่พวกเขาส่วนมากคิดว่าผ่านการเลือกตั้งทั่วไป แสดงว่าประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว จึงมีคำถามถึงความสามารถของรัฐบาลและเป้าหมายการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
จำได้ว่าตอบคำถามแรก ๆ เกี่ยวกับการต่อสู้ของ นปช. คนเสื้อแดง อธิบายถึงสภาพการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมายังระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ง่าย เพราะเหตุใด ? การเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก พ.ศ. 2475 มาแล้ว 80 ปี ต้องเผชิญกับการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก 20 ครั้ง และฉีกรัฐธรรมนูญเปลี่ยนมาแล้ว 18 ฉบับ ผ่านมา 6 ปีหลังรัฐประหารล่าสุด ผ่านการต่อสู้ของประชาชน บาดเจ็บ ล้มตาย ถูกจับกุมคุมขัง เรายังไม่อาจลบล้างผลพวงการรัฐประหารได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกรัฐธรรมนูญและคณะการเมืองการปกครองที่มาจากคณะรัฐประหาร
เราแจ้งให้เขาทราบว่า วุฒิสมาชิกของเราครึ่งหนึ่งมาจากการคัดสรรจากคนไม่กี่คนโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งข้าราชการ ทหาร พลเรือน การแต่งตั้งเลื่อนชั้น โยกย้าย ไม่อยู่ในอำนาจแท้จริงของรัฐบาลทั้งหมด มีบางตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนเท่านั้นที่อาจทำได้ และถ้าไม่เป็นที่พอใจรัฐบาลก็อาจถูกฟ้องร้องได้เสมอ ที่สำคัญยิ่งคือ ถ้ารัฐบาลทำให้กองทัพมีปัญหาไม่พึงพอใจในการแต่งตั้งโยกย้าย ก็อาจเกิดรัฐประหารได้ และการรัฐประหารที่ได้รับชัยชนะจะได้รับการรับรองว่าได้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์จากศาล มีอำนาจเต็มทุกประการ นี่จึงเป็นเหตุผลที่การทำการรัฐประหารในประเทศไทยเกิดขึ้นบ่อยที่สุด สำหรับการต่อสู้ของประชาชนนั้น แม้เราจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเป็นตัวแทนอำนาจประชาชนได้จริง ไม่สามารถทำงานบริหารประเทศได้จริง และ ส.ส. ก็ไม่อาจออกกฎหมายได้จริง แก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้จริง สรุปว่าอำนาจประชาชนที่สามารถมีส่วนในการเมืองการปกครองมีประมาณ 20-25% เท่านั้น
เป้าหมายการต่อสู้ของเราในระยะเวลานี้คือ การได้รัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน ไม่ใช่ของระบอบเผด็จการทหารอำมาตยาธิปไตย และลบล้างผลพวงรัฐประหารทั้งปวงที่แสดงออกโดยคณะบุคคลที่มีอำนาจเหนืออำนาจประชาชนและกฎหมายทั้งปวง ที่ไม่อาจทำให้ประเทศนี้มีนิติรัฐนิติธรรม ความมุ่งมั่นทั้งปวงของคนเสื้อแดงคือระบอบประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกัน
นอกจากนั้นก็จะเป็นการอธิบายความยากลำบากในการต่อสู้ของประชาชนที่จะเปลี่ยนผ่านสังคมล้าหลังไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ระยะสงครามเย็นกลับเป็นระยะเวลาที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบอบอำมาตยาธิปไตยไทย โดยการหนุนช่วยของสหรัฐอเมริการที่ใช้ขบวนการจารีตนิยมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
นี่ก็เล่าย่อ ๆ เฉพาะประเด็นสำคัญ ก็ดูว่าเขาอึ้งไปเมื่อได้รับฟังและเข้าใจความมุ่งมั่นของคนเสื้อแดงที่ต้องการประชาธิปไตยและความยุติธรรม