อธิบดีศาลอาญาชี้มุม กม. เอาผิด "คนสั่งยิง" ม็อบแดง

มติชน 21 กันยายน 2555 >>>




เป็นการให้สัมภาษณ์ของนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีการไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 98 ศพ ซึ่งศาลอาญาเพิ่งมีคำสั่งกรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง เป็นคดีแรก ว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิง ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวย การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

คดีวิสามัญฆาตกรรมที่พนักงานอัยการขอให้ศาลไต่สวน มีลักษณะอย่างไร

เป็นการตายผิดธรรมชาติ อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตายโดยไม่รู้สาเหตุ ตายขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน การตายที่อ้างว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน มีอยู่ 4-5 ประเภท เมื่อพบศพแล้วเจ้าพนักงานต้องสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ก่อนยื่นเรื่องเสนอพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ไต่สวนพยาน
สำหรับพยาน พนักงานอัยการจะนำมาจากสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เท่าที่จะสามารถทำได้ ถ้าศาลมีคำสั่งออกมาว่าเป็นการตายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้า พนักงาน แต่ไม่ทราบชื่อเจ้าพนักงานที่ทำให้ตาย เช่น กรณีศาลอาญามีคำสั่งในคดีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง (อาชีพขับรถแท็กซี่ ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านราชปรารภ ที่ศาลอาญามีคำสั่งว่า พฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถตู้ แล้วกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุม ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)) ก็ไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานเป็นใคร ทราบแต่เพียงเป็นกลุ่มเจ้าพนักงานทหาร หลังศาลมีคำสั่งศาลก็ส่งให้พนักงานอัยการส่งคืนพนักงานสอบสวนขยายผลต่อไป

ในกรณีไม่ทราบตัวเจ้าพนักงานทหารที่ทำให้ถึงแก่ความตาย จะสามารถฟ้องร้องผู้สั่งการหรือหน่วยงานได้หรือไม่

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ระบุว่า ผู้ใดกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นจะมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ เว้นแต่จะรู้ว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายมาตรานี้ยกเว้นให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งไม่รวมถึงผู้ บังคับบัญชาที่สั่งการ ศาลก็จะส่งพนักงานสอบสวนไปดูอีกทีว่า ผู้บังคับบัญชาที่สั่งการมีเหตุที่เป็นความผิดหรือไม่ ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่ถูกต้อง อาจพิจารณาตั้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ที่สั่งการได้
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการสอบสวนขยายผลว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคำสั่งไม่ชอบและเปิดช่องให้ดำเนินคดีต่อไปได้ เพราะผลคำสั่งการชันสูตรของศาลไม่ตัดอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคล ที่ทำให้ตาย ถ้ามีหลักฐานก็ต้องมาดูว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง แล้วพนักงานอัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องด้วยหรือไม่ ถ้าอัยการฟ้องก็เข้าสู่กระบวนการสืบพยานต่อไป

คำสั่งศาลในคดีนายพัน คำกอง ระบุว่าเกิดจากกระสุนเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ. จะสามารถฟ้องร้อง ศอฉ.ได้หรือไม่

พนักงานสอบสวนต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานต่อว่า คำสั่ง ศอฉ. ที่สั่งการให้เจ้าพนักงานทหารปฏิบัติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่ง ออกคำสั่งถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อยู่ที่พยานหลักฐาน อยู่ที่ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน จะพิจารณาพยานหลักฐานและตั้งข้อหาเสนอพนักงานอัยการมีคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ ถ้าไม่ฟ้องก็จบไป ถ้ามีคำสั่งฟ้องคดีเข้ามาสู่ศาล ศาลก็จะใช้ดุลพินิจตรวจสอบอีกครั้งว่า คำสั่งที่สั่งให้เจ้าพนักงานทหารปฏิบัติ หน้าที่นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีกฎหมายใดมารองรับหรือไม่ ตามหลักการสลายการชุมนุมมีหลักปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว จะต้องดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ศาลก็จะพิจารณาดูว่าผู้ต้องการทำตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าออกคำสั่งไม่ถูกต้องก็เป็นความผิด

ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ศาลอาญานัดไต่สวนคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ร่วมชุมนุมในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 นัดสุดท้าย แนวทางคำสั่งศาลจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับคดีนายพัน คำกอง หรือไม่

บอกไม่ได้ คำสั่งแต่ละคดีเป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวนแต่ละสำนวน ถ้าสำนวนคดีนายชาญณรงค์ระบุไม่ได้ว่าผู้ยิงเป็นใคร เป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานทหาร ถ้าหลักฐานไม่ชัดแจ้ง คำสั่งศาลคงไม่สามารถระบุได้ว่าเสียชีวิตจากการกระทำของใคร คำสั่งชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตแต่ละคดีไม่ได้เป็นบรรทัดฐานให้คดีใดๆ
ขณะ นี้มีคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตใน เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลอาญาอีก 4 คดี โดยพนักงานอัยการยื่นคำร้องคล้ายๆ กัน โดยมี 3 สำนวนระบุว่ากระสุนถูกยิงมาจากแนวบังเกอร์ของทหาร ส่วนอีก 1 คดี ระบุว่ากระสุนยิงมาจากเจ้าพนักงานตำรวจหรือทหาร ซึ่งจะต้องดูหลักฐานในการไต่สวนว่ากระสุนถูกยิงมาจากที่เกิดเหตุใด มีพยานยืนยันหรือไม่ว่าใครหรือฝ่ายใดเป็นผู้ยิง ซึ่งถ้าเป็นอย่างคดีนายพัน คำกอง ก็จะสามารถระบุได้ว่ากระสุนมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานทหาร เพราะข้อเท็จจริงแต่ละคดีเกิดขึ้นคนละสถานที่ ต้องตั้งต้นใหม่ว่าที่เกิดเหตุที่ไหน ทหารอยู่ที่ไหน ขณะเกิดเหตุมีใครทำอะไรบ้าง
ยกเว้นคดีเด็กชาย (ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงภาพยนตร์โอเอ) ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงหนังฝั่งตรงข้ามกับคดีนายพัน คำกอง ซึ่งมีสถานที่เกิดเหตุเดียว ลักษณะนี้ก็พอจะคาดเดาได้ว่าน่าจะมีคำสั่งใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ คงต้องรอดูว่าหลังศาลสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว จะทำคำสั่งออกมาอย่างไร คำสั่งที่ออกมาเป็นบรรทัดฐานได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

เคยมีหรือไม่ ในคดีชันสูตรการเสียชีวิตที่ผ่านมาซึ่งไม่สามารถระบุตัวผู้ทำให้ถึงแก่ความตายได้ จะสามารถดำเนินคดีกับผู้สั่งการได้

ยังไม่เคยเห็น ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมามีคดีที่ พล.ต.อ. คนหนึ่ง (พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค) นำกำลังเจ้าหน้าที่ไปล้อมจับผู้ต้องหาค้ายาบ้า แล้วมีการปิดล้อมยิงผู้ต้องหาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหลายศพ มีการยื่นคำร้องให้ศาลชันสูตรการเสียชีวิต และศาลมีคำสั่งว่าเกิดจากเจ้าพนักงานตำรวจทำให้เสียชีวิต แต่ก็ไม่เห็นมีการฟ้องดำเนินคดี พล.ต.อ. คนนั้น ว่าสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรืออาจมีการสอบสวนแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ผมก็ไม่ทราบ อีกทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีลักษณะนี้ก็มีน้อยมาก
ดังนั้น ขึ้นอยู่ข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวน จะได้ขยายผลหาพยานหลักฐานที่จะมาดำเนินคดีได้มากน้อยแค่ไหน และชั่งน้ำหนักดูว่าการสั่งการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แล้วนำมาตั้งสำนวนเป็นคดีอาญาดำเนินคดีกับคนที่สั่งการ แต่บางทีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายก็อาจมีคำสั่งไม่ฟ้องก็เป็นได้ อยู่ที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการซึ่งเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมแต่ ละด้านจะต้องทำหน้าที่ไป ศาลไม่เกี่ยวข้องจนกว่าจะมีการฟ้องคดี

ในคดีนายพัน คำกอง ที่ศาลสั่งว่าถูกยิงโดยทหารขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย จะสามารถนำคดีมาฟ้องร้องข้อหาพยายามฆ่า 2,000 คน ได้หรือไม่

การตั้งข้อหาพยายามฆ่าต้องมีคู่กรณี ต้องดูว่าคู่กรณีเป็นเจ้าพนักงานทหารนายใด เพราะบริเวณถนนดินสอที่เกิดเหตุมีทหารเยอะมาก ไม่รู้ว่าเป็นทหารกลุ่มไหน การแจ้งข้อหาจะแจ้งกับทหารคนไหน ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องทำการสอบสวน แต่ถ้าจะต้องข้อหาพยายามฆ่าต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงของทหาร ต้องพิจารณาดูว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ อยู่ที่ผลการสอบสวนต่อไปมากกว่า

คำสั่งศาลในคดีชันสูตรศพแต่ละคดีจะสามารถร้อยรวมกัน นำไปสู่การดำเนินคดีการเสียชีวิต 98 ศพในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมในภาพรวมได้หรือไม่

เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนจะนำคำสั่งศาลในแต่ละคดีมาดำเนินการ พนักงานสอบสวนเป็นองค์กรยุติขั้นต้น ศาลเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ อยู่ที่วิธีการและเทคนิคของพนักงานสอบสวน อาจใช้วิธีการอย่างที่ถามก็ได้ หรือจะใช้วิธีการอื่น การจะดำเนินคดีกับผู้สั่งการเจ้าพนักงานทหาร ยังพูดไปไกลไม่ได้เพราะคดียังไม่เข้ามาสู่ศาล พนักงานสอบสวนจะร้อยคดีรวมกันตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุตอนต้นในการเสียชีวิตผู้ ชุมนุมในวันแรก ไล่ไปจนถึงวันสุดท้ายศพสุดท้ายให้สอดคล้องต่อเนื่องกันเพราะเป็นสถานการณ์ เดียว และจะตั้งข้อหากับผู้สั่งการหรือไม่อย่างไร อยู่ที่พนักงานสอบสวนและอัยการ หรืออาจจะแยกฟ้องเป็นรายคดี 98 คดีเลยก็ได้ แต่ต้องมีหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานก็ฟ้องผู้สั่งการไม่ได้
สุดท้าย ถ้าฟ้องคดี ศาลก็จะเป็นผู้พิจารณาอยู่ดี ไม่ใช่ว่าพนักงานสอบสวนจะตั้งธงล่วงหน้าว่า จะฟ้องโดยขยายผลจากคำสั่งศาล ต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมมาเชื่อมโยง