ปมล้างมลทินกับมุมจริยธรรม

ข่าวสด 29 กันยายน 2555 >>>


ประเด็น "ล้างมลทิน" นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พิจารณาตามข้อกฎหมาย ความเห็นของ นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิ การคณะกรรมการกฤษฎีกา
น่าจะชัดเจนแล้วว่า ความผิดกรณีที่ดินอัลไพน์ตั้งแต่ครั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัด ได้รับการล้างมลทินไปแล้วตามมาตรา 5 พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2550
แต่ในแง่ "จริยธรรม" ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบว่า การที่นายยงยุทธยังดำรงตำแหน่งเสนาบดีอยู่นั้นเหมาะสมแค่ไหน อีกทั้งประเด็นนี้อาจถูกหยิบยกนำไปขยายความ สั่นคลอนเสถียรภาพ รัฐบาลได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่


ข้อเรียกร้องที่ให้นายยงยุทธแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ผมมองว่าข้อเรียกร้องนี้ต้องพิจารณาจากแรงกดดันทางสังคมว่าจะมีพลังกดดันในเรื่องนี้ได้มากขนาดไหน
เพราะถ้าปล่อยให้นักการเมืองกดดันกันเองคงไม่ได้ เนื่องจากไม่มีฝ่ายไหนดีกว่ากัน และมีปมที่ยังไม่ได้รับการสะสางเหมือนกัน
ฉะนั้นต้องสร้างสังคมที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับจริยธรรมทางการเมือง และหันมากดดันนักการเมืองไม่ว่ากรณีใดก็ตาม โดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายไหน
แต่แง่หนึ่งที่มองเห็นในขณะนี้คือ สังคมไทยยังไม่มีมาตรฐานในการกำหนดให้นักการเมืองแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง หากเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ
เห็นได้จากกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในกรณีเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 98 ศพ ซึ่งก็ควรต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเช่นกัน
และถ้าบอกว่านักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าประชาชนทั่วไป ก็ยังขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานทางสังคมที่ต้องวางไว้ว่าการจะแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองนั้น ควรขีดเส้นไว้ขนาดไหน
ถามว่าประเด็นของนายยงยุทธ จะส่งผลกระทบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ หรือไม่ ผมมองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกัน เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่งตั้งนายยงยุทธ ก่อนการถูกวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่งตั้งนายยงยุทธหลังถูกวินิจฉัยถึงจะมีปัญหาได้
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะดำเนินการต่อเรื่องนี้อย่างไรถึงเหมาะสม ก็ต้องเคลียร์เรื่องข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อนว่าควรเป็นอย่างไร มีความผิดทางข้อกฎหมายหรือไม่ ผ่านทางข้อกฎหมายเเล้วก็ต้องมาดูในเรื่องจริยธรรมว่าควรเป็นอย่างไร
ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล้าตัดสินใจเรื่องนี้ กล้าจะปรับนายยงยุทธออกจากการเป็นรัฐมนตรี ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่พรรคเพื่อไทยจะวางบรรทัดฐานทางการเมืองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

พิชิต ชื่นบาน
คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย


ในฐานะนักกฎหมายมองว่า ไม่ใช่เป็นประเด็นในแง่มุมกฎหมายที่จะกล่าวหาว่าทำผิด แต่เป็นมุมมองทางการเมืองมากกว่า
เพราะกรณีที่เกิดกับนายยงยุทธ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล และ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทยก็มีมติลงโทษทางวินัยคือปลดออก ซึ่งเป็นโทษทางวินัย ถือว่าได้รับโทษสิ้นสุดไปแล้วตามที่มี พ.ร.บ.ล้างมลทิน ดังนั้นตำแหน่งรัฐมนตรีของนายยงยุทธไม่น่ามีปัญหา
อีกทั้งในประวัติราชการก็ระบุว่าไม่มีโทษ เนื่องจากแก้ประวัติของนายยงยุทธจากอานิสงส์ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ไปแล้ว จึงไม่ส่งผลต่อตำแหน่งปัจจุบัน
เรื่องนี้เลขาฯ กฤษฎีกา และเลขาฯ ก.พ. ต่างออกมาให้ความเห็นในทางเดียวกันถึงรัฐบาลว่าไม่มีผล จึงเป็นอย่างที่ผมบอกคือ เหลือประเด็นทางการเมืองเพียงอย่างเดียว โดยตั้งประเด็นเรื่องจริยธรรมการเป็นรัฐมนตรี
ต้องถามกลับไปว่า กระบวนการทั้งหมดในทางวินัยยังไม่เริ่มต้นด้วยซ้ำ เพราะอัยการยังไม่มีการส่งฟ้องในทางอาญา จะมาถามหาเรื่องจริยธรรมได้อย่างไรในเมื่อขั้นตอนยังไม่เกิด
หากจะมาเรียกร้องเช่นนี้ก็ต้องถามกลับไปว่า ถ้าเกิดดีเอสไอชี้ความผิดของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ กรณีสลายการชุมนุมว่าผิด แต่ยังไม่ได้ส่งเรื่องดำเนินคดี ก็ต้องถือว่ามีความผิดทางจริยธรรมเช่นเดียวกัน
และต้องรับโทษปลดจากหัวหน้าพรรคทันทีด้วยหรือไม่ และยังมีคำถามต่อไปว่าหากมีการส่งฟ้องคดีของนายยงยุทธ และศาลวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด กระบวนการทั้งหมดจึงยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น
สำหรับประเด็นที่พยายามโยงถึงนายกฯ ว่า อาจมีความผิดที่ไม่พิจารณาการทำหน้าที่ของนายยงยุทธนั้น เรื่องนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะยังไม่ได้เริ่มต้นทางอาญาใดๆ ทั้งสิ้น
ต้องแยกให้ออกเป็น 2 ประเด็น เรื่องวินัยจบไปแล้ว และเรื่องจริยธรรมการดำรงตำแหน่งยังไม่ได้พิจารณาเลย จะไปกล่าวหานายกฯ ได้อย่างไร
ที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นี้ว่าใช้ช่องของกฎหมายเพื่อหลีกหนีความผิด ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง นายยงยุทธยังสามารถทำหน้าที่รัฐมนตรีได้ต่อไป จนกว่ากระบวนการขั้นตอนการพิจารณาโทษอื่นๆ จะเกิดขึ้น

นันทวัฒน์ บรมานันท์
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ


กรณีของนายยงยุทธ เมื่อกฤษฎีกา ให้ความเห็นไว้แล้วว่าได้รับอานิสงส์จากกฎหมายล้างมลทินก็ต้องยึดถือตามนั้น เพราะเป็นเรื่องของกฎหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้นเรื่องนี้ก็ต้องเป็นที่ยุติไป
ที่ผ่านมามีข้าราชการผู้ใหญ่หลายคนได้รับการล้างมลทินตามกฎหมาย ไม่ใช่นายยงยุทธเพียงคนเดียว เราจึงควรให้ความเป็นธรรมกับเขาในส่วนนี้ด้วย ส่วนความเหมาะสมหรือการแสดงจริยธรรมทางการเมือง ต้องแยกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หากพูดกันจริงๆ ก็เป็นเรื่องของนายยงยุทธที่จะพิจารณาเองว่าควรทำอย่างไร ใครจะไปบังคับเขาไม่ได้ และฝ่ายค้านจะบังคับเขาก็คงยาก เพราะทางกฎหมายก็ตีความไว้ ชัดเจนแล้ว
อย่างไรก็ตามเข้าใจภาระหน้าที่ของฝ่ายค้านดีว่า มีหน้าที่ค้าน เมื่อมีประเด็นที่สามารถหยิบยกมาพูดได้ก็ต้องพูด
แต่เรื่องดังกล่าวจะกระทบไปถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะเลือกนายยงยุทธมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยหรือไม่นั้น อยากให้พิจารณาว่าการเลือกบุคคลใดก็ตามมานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว รวมถึงเป็นไปตามกฎหมายกำหนด
ในมุมมองผมจึงไม่น่ากระทบต่อนายกฯ ซึ่งเรื่องทางจริยธรรมถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เมื่อเกิดประเด็นขึ้นมา แต่ละคนก็จะคิดและวิพากษ์วิจารณ์กันไปเอง
ขอยกตัวอย่างกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ทำไมจึงไม่พิจารณาเรื่องจริยธรรมบ้าง ซึ่งอาจเป็นการลาออก แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการให้เห็น
บางครั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน และดูตัวเองด้วย ผมพูดแบบนี้ไม่ได้เข้าข้างนายยงยุทธ แต่อยากให้เห็นว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึกของแต่ละฝ่ายมากกว่า
แต่ที่ถูกต้องและต้องยึดถือมากที่สุดคือ การตีความทางกฎหมาย
เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการตีความข้อกฎหมายให้ความเห็นอย่างไรก็ต้องจบ แต่หากไม่พอใจจริงๆ ก็ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความดู ไม่ควรออกมาวิจารณ์กันมากมาย