ทีมข่าว นปช.
24 กันยายน 2555
วันนี้ (24 ก.ย. 55) ห้อง 707 ศาลอาญา (ถ.รัชดาภิเษก) ศาลนัดไต่สวนการเสียชีวิต ชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถ.ราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (โฆษก ศอฉ.) ให้การว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 53 มีการชุมนุมของผู้สนุบสนุน นปช. ในกรุงเทพ มีการประกาศ พรบ.ความมั่นคงภายใน ในเวลานั้น
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ เพื่อดูแลควบคุมการชุมนุมของ นปช. ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในเวลาต่อมา
ตนเองในฐานะโฆษกของกองทัพบก และ ศอฉ. มีหน้าที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ของ ศอ.รส. ทุกวัน เพื่อนำเรื่องที่เป็นประโยชน์ หรือสิ่งที่ประชาชนควรรู้เผยแพร่สู่สาธารณะ
นปช. จัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้อภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจัดชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-3 เม.ย. 53 ก่อนที่จะเปิดพื้นที่การชุมนุมใหม่ที่สี่แยกราชประสงค์ ทำให้จำนวนผู้ชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน ลดลง ศอฉ. จึงได้ทำการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เม.ย. 53
ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 53 อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ได้พาพรรคพวกบุกเข้ารัฐสภา มีการแย่งชิงอาวุธไปจากเจ้าหน้าที่ จึงได้ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และได้เปลี่ยนจาก ศอ.รส เป็น ศอฉ. ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
ศอฉ. ได้รับแจ้งว่า มีการยิงลูกระเบิด M79 ตามสถานที่ต่างๆในกรุงเทพ โดยยิงออกมาจากผู้ชุมนุม นปช. ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ ศอฉ. ขอคืนพื้นที่จาก ถ.ราชดำเนิน
วันที่ 10 เม.ย. 53 ช่วงเช้ามีการประชุม ศอฉ. เพื่อขอคืนพื้นที่การชุมนุม ถ.ราชดำเนิน ในวันนั้น โดยหวังว่า ปฏิบัติการณ์จะเสร็จสิ้นก่อนค่ำ ต่อมาเวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเย็นเจ้าหน้าที่เห็นว่า เวลาดังกล่าวทัศนวิสัยจำกัดจึงขอถอนกำลังกลับ ศอฉ. จึงได้อนุมัติให้ถอนกำลัง
เจ้าหน้าที่ได้ถอนกำลังออกจาก ถ.ราชดำเนิน เกือบหมด คงเหลือแต่ทหารราบที่ 2 ที่ติดอยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุม นปช. และเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่-ผู้ชุมนุม นปช. เจ้าหน้าที่ถูกโจมตีด้วยกระสุนปืน M67, M79 และกระสุนปืนชนิดอื่นๆ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
ในวันนั้น เวลา 20.00 น. ตนเองร่วมประชุมอยู่ที่ ศอฉ. และได้ยิน กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ (เลขานุการนายกรัฐมนตรี) พูดโทรศัพท์กับ นพ.เหวง โตจิราการ โดยขอให้ นปช. หยุดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นไม่นานการปะทะก็ยุติลง
วันที่ 13 พ.ค. 53 ศอฉ. ได้ทำการปิดล้อมสี่แยกราชประสงค์ เพื่อไม่ให้บุคคลเข้า-ออก รวมทั้งตัดระบบสาธารณูปโภค และสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่ได้ผล เห็นได้จากที่ตอนกลางวันจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย แต่ตอนกลางคืนยังคงมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีทางเข้า-ออกหลายทาง
วันที่ 19 พ.ค. 53 ศอฉ. ตัดสินใจ "กระชับวงล้อม" บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อกดดันให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม และเพื่อเข้าตรวจสอบสวนลุมพินี เนื่องจากได้รับแจ้งว่า มีการซ่องสุมผู้คน และอาวุธสงคราม การกระชับวงล้อมคือ การกดดันผู้ชุมนุมจนทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความอึดอัดจนต้องยุติไปเอง ต่างจากการสลายการชุมนุมที่ต้องใช้กำลัง การกดดันของ ศอฉ. ทำตามหลักการสากล 7 ขั้นตอน โดยเริ่มจากเบาไปหาหนัก
เจ้าหน้าที่ ศอฉ. เป็นทหารบกที่มาจากหลายหน่วยงาน การเบิกใช้อาวุธอยู่ในความดูแลของนายสิบอาวุโส ซึ่งเป็นทหารที่มีประสบการณ์การรบ และมีสติสัมปชัญญะในการใช้อาวุธเป็นอย่างดี อาวุธปืนที่ให้ในวันนั้นคือ ปืนลูกซอง, M16 และทราโว่
ส่วนภาพข้อความ "เขตใช้กระสุนจริง" นั้น เป็นการแจ้งให้ประชาชนระวังตัว เป็นจิตวิทยาเพื่อไม่ให้ผู้ชมนุม นปช. เข้าไปในบริเวณนั้น แต่มีการยิงกระสุนใส่ "ชายชุดดำ" จริง เพราะชายชุดดำยิงกระสุนมา ชายชุดดำมีจริง แต่ไม่ได้ถูกจับในวันนั้น พวกเขาถูกจับในวันหลังพร้อมกับอาวุธสงคราม
บทความในวารสารเสนาธิปัตย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2553 ซึ่งเขียนโดย พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติ เป็นเพียงการวิเคราะห์เชิงวิชาการ โดยนำข้อมูลมาจากสื่อมวลชนต่างๆ ต่อมาภายหลัง พ.อ.บุญรอด ได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และได้เขียนบทความแก้บทความดังกล่าวในภายหลัง
โชคชัย อ่างแก้ว (ทนายความผู้ร้อง) ชี้ให้ศาลเห็นว่า การชุมนุมของ นปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 53 เป็นการชุมนุมโดยสงบ และก่อนวันที่ 10 เม.ย. 53 ไม่เคยมีการเสียชีวิตจากการปะทะกับ ศอฉ.
การเสียชีวิตในวันนั้นประกอบด้วย ทหาร, นักข่าว, ผู้ชุมนุม นปช. และประชาชน ศอฉ. มีการสรุปผล และรับทราบการเสียชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ โดยไม่ทราบสาเหตุของการผิดพลาดนี้ แต่มีการแถลงข่าวเฉพาะกรณี วสันต์ ภู่ทอง เท่านั้น
หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 ศอฉ. อ้างว่า มีการจับกุมชายชุดดำกว่า 10 คน แต่ไม่ทราบว่า แต่ละคนโดนข้อหาอะไร และไม่ทราบว่า ผู้ใดยิงกระสุน M79, M67 ใส่เจ้าหน้าที่ในวันนั้น
ในวันนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธจริง กระสุนจริง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 800 คน แม้ว่าในวันต่อมาจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บลดลงเหลือกว่า 300 คนก็ตาม
หลังจากวันนั้นผู้ชุมนุมที่เหลือได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ โดยไม่ทราบว่า ศอฉ. ได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณ ถ.ราชดำเนิน หรือไม่ การขอคืนพื้นที่เป็นมติของ ศอฉ.
การประชุม ศอฉ. ผู้ที่อาวุโสที่สุดในที่ประชุมจะเป็นประธานการประชุม ซึ่งบางครั้งก็เป็นอภิสิทธิ์, สุเทพ หรือบุคคลอื่น แต่ในวันที่ 10 เม.ย. 53 สุเทพเข้าร่วมประชุมตลอดทั้งวัน ดังนั้นจึงน่าจะรับทราบรายงานการเสียชีวิตของประชาชน
พยานให้การยืนยันว่า ชายชุดดำมีจริง แต่ไม่ยืนยันว่า ชายชุดดำมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตเหล่านี้หรือไม่ แม้ว่า ศอฉ. จะปฏิบัติตามขั้นตอน 7 ขั้นตอน แต่ก็ยอมรับว่า มีการใช้กระสุนจริง แม้จะอ้างว่า ใช้เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ และประชาชน โดยไม่ได้หมายเอาชีวิตก็ตาม
ในวันนั้น พล.ท.อักษรา เกิดผล เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และบทความในวารสารเสนาธิปัตย์ฉบับนี้ยืนยันว่า มีการใช้ "สไนเปอร์" จริง แม้จะอ้างว่า สไนเปอร์เป็นศัพท์ทางทหารหมายถึง "พลแม่นปืนระวังป้องกัน" ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องประชาชน-ทหาร โดยจะยิงเฉพาะข้าศึกก็ตาม อีกทั้งพยานก็ไม่สามารถนำสืบวารสารเสนาธิปัตย์ฉบับอื่นที่อ้างว่า ได้เขียนแก้บทความก่อนหน้านี้