คดี 6 ศพวัดปทุมฯ...เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่จุด นั้น 5-7 คน สามารถชี้ชัดตัวคนยิงได้ด้วยว่าเป็นใคร
คดีนายพัน คำกอง เป็น 1 ใน 98 ศพที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เป็นคดีแรกที่ศาลมีคำตัดสิน ยังเหลืออีก 10 คดี 18 ศพ
หลังคำพิพากษาของศาล คาดกันว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานของคดี 98 ศพที่เหลือ ในมุมมองของทนายที่ทำคดีให้กับเหยื่อผู้เสียชีวิตมองอย่างไร
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายคดีนายพัน คำกอง รวมทั้งคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา, ด.ช.คุณากร หรือน้องอีซา ศรีสุวรรณ และคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ให้สัมภาษณ์ "ข่าวสด" ไว้ดังนี้
คดีนายพัน คำกอง จะเป็นบรรทัดฐานของ 98 ศพ เท่าที่เราทำงานอยู่คิดเช่นนั้น ศาลเองก็คงมองมาที่คดีนี้เหมือนกัน แต่คำสั่งจะออกมาอย่างไรอยู่ที่พยานหลักฐานของแต่ละสำนวน
ในส่วนของคดีที่ผมทำอยู่ การตายของแต่ละศพค่อนข้างชัดว่าเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คดีก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้บางเหตุการณ์ไม่สามารถระบุตัวคนยิงได้ว่าเป็นนาย ก หรือ นาย ข
ยังมีคดีไหนที่ใกล้ตัดสินอีก
คดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา นัดไต่สวนครั้งสุดท้ายวันที่ 1 ต.ค. นี้ ผมจะหารือทีมงานว่าจะเพิ่มเติมพยานอีกหรือไม่ ซึ่งอาจมีเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ในส่วนของคดีเยาวชนวันที่ 15 ต.ค. นี้ จะสืบคดีวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์นัดสุดท้าย
คดีนายพัน คำกอง ทำให้การไต่สวนคดีอื่นๆ รวดเร็วขึ้น
มีส่วน เพราะพยานบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกันอาจลดลงไป หรือสืบเฉพาะพยานที่สำคัญๆ คดีนายชาญณรงค์ เหลือเพียงพนักงานสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ยังไม่เบิกความ
ทหารที่จะมาเบิกความเป็นหน่วยปฏิบัติในพื้นที่วันเกิดเหตุ ระดับผู้บังคับกองพัน พ.ท.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ และ ร.อ.วันชัย ยิ้มอยู่ ผู้บังคับกองร้อยของหน่วยที่ปฏิบัติ คดีนี้ก็ค่อนข้างชัด
คดี 6 ศพวัดปทุมฯ สังคมจับตา มีความชัดเจนแค่ไหน
คดี 6 ศพวัดปทุมฯ ตามคำร้องของอัยการที่ยื่นเท่าที่เห็นมีประจักษ์พยานจำนวนมาก และเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังที่มีการสลายการชุมนุมแล้ว อีกทั้งพื้นที่วัดปทุมฯไม่ใช่พื้นที่ชุมนุม
พยานหลักฐานค่อนข้างชัดว่ามีการยิงจากเจ้าหน้าที่ลงไปในวัดปทุมฯ นายอัฐชัย ชุมจันทร์ ที่วิ่งมาจากแยกเฉลิมเผ่าก็ถูกยิงตรงนั้น และมีพยานในที่เกิดเหตุเห็นว่าถูกไล่ยิง และมีคนเห็นทหารบนรางรถไฟฟ้า
คดี 6 ศพวัดปทุมฯ อาจชัดกว่าคดีนายชาญณรงค์ ตรงที่สามารถรู้ตัวคนที่ทำผิดด้วย เพราะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่จุดนั้น 5-7 คน สามารถชี้ชัดตัวคนยิงได้ด้วยว่าเป็นใคร
วันที่ 27 ก.ย. นี้ ศาลนัดเพื่อดูกรอบการพิจารณา เดิมศาลนัดไต่สวนไว้ถึงปีหน้าแต่มีความเป็นไปได้อาจขยับใกล้เข้ามาอีก
ใน 19 คดีที่ส่งศาลแล้วมีคดีไหนอีกที่พยานหลักฐานชัดเจนเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่
คดีที่ผมทำคิดว่าชัดเจนทุกคดี คดีของนายชาญณรงค์ ก็ค่อนข้างชัด เพราะเหตุเกิดในช่วงบ่ายของวันที่ 15 พ.ค. 2553
เหตุการณ์ที่ราชปรารภมีคนตายหลายศพ มีอีกหลายศพที่สำนวนยังไม่ขึ้นสู่ชั้นศาล คดีนายพัน ตายกลางคืน คดีชาญณรงค์ตายกลางวัน เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องระหว่างที่มีการกระชับวงล้อม
มีการนำกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นซอยรางน้ำ หรือราชปรารภ ล้วนเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ราชประสงค์ รวมทั้งบริเวณพระราม 4 และบ่อนไก่
ถามว่าจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันได้หรือไม่ มันเป็นแนวเดียวกัน แม้พยานหลักฐาน พยานบุคคลที่จะชี้ชัดในแต่ละคดีจะเป็นรายละเอียดในแต่ละเรื่องไป แต่เหตุการณ์เป็นลักษณะเดียวกันหมด คือตายด้วยกระสุนความเร็วสูง
กระสุนความเร็วสูงก็คืออาวุธสงคราม ซึ่งไม่ได้มาจากชายชุดดำ ข้อมูลจากการสืบพยาน รวมถึงทหารเองก็ยืนยันว่าไม่มีชายชุดดำ แต่เราเข้าใจทหารว่าเขาเป็นผู้ปฏิบัติต้องทำตามคำสั่งหรือข้อมูลที่ได้รับมา
ส่วนตัวผมคิดว่าคำสั่งมันน่าจะมีอะไรที่ไม่ปกติเยอะ จึงมีการตายขนาดนี้เกิดขึ้น ที่บอกคำสั่งไม่ปกติ คือคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ใช้อาวุธจริงยิงต่อเป้าหมายในระดับนี้ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติเป็นการยิงระดับที่ตายได้ทั้งนั้น
การปฏิบัติงานในพื้นที่อย่าลืมว่าคำสั่ง ศอฉ. จะมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และมีผู้ควบคุมการปฏิบัติด้วย ดังนั้น รายงานที่ขึ้นไปหรือการสั่งการลงมา จะบอดใบ้ ไม่มีใครรู้ใครเห็นเลยหรือว่าประชาชนตายเท่าไหร่แล้ว และเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่จริงบ้าง
ภาพรวมรูปคดีต่างๆ จะเอาผิดผู้สั่งการได้หรือไม่
คดีไต่สวนการตาย เป็นคดีซึ่งทำเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อไร ใครทำให้ตาย และลักษณะการตายเป็นอย่างไร ยังไม่มีการกล่าวหาว่าใครเป็นผู้รับผิด
กระบวนการทางกฎหมายเป็นการทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ ในชั้นศาลมีการตรวจสอบพยานว่าพูดจริง พูดเท็จ ฟังได้หรือฟังไม่ได้ และพยานหลักฐานมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ไม่ใช่ไปจินตนาการหรือคิดเอาเอง เป็นการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือมาก เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรม
แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะพยายามบอกว่าให้รอรายงานของ คอป. ก็เป็นเรื่องทางการเมือง
แนวโน้มสามารถเอาผิดคนสั่งการในคดีฆาตกรรมได้
คดีฆาตกรรมเป็นคดีหลัก พยานหลักฐานในสำนวนต่างๆ มีถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนจะเชื่อมโยงไปถึงผู้สั่งการ หรือผู้กระทำความผิด ก็ต้องไปต่อยอดเอาจากสำนวนต่างๆ นี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ถามว่าจะเอาผิดถึงคนสั่งการได้หรือไม่นั้น
1. ผมดูตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว คุ้มครองเฉพาะผู้กระทำการโดยสุจริตและ ไม่เกินกว่าเหตุ
2. ดูตามหลักสากลว่าด้วยการสลายชุมนุม การใช้กำลังและใช้อาวุธของสหประชาชาติ ได้ทำตามขั้นตอนครบถ้วนหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่
คุณบอกว่าออกคำสั่งไปอย่างนี้ แต่รู้หรือเปล่าว่าคำสั่งที่ออกไปเขาปฏิบัติตามนั้นหรือไม่ แล้วได้หยุด ได้สั่งห้ามเขาหรือไม่
โดยเฉพาะการนำอาวุธปืนและกระสุนจริงมาใช้ คุณบอกให้เอาไว้ป้องกันตัว แต่ป้องกันตัวจริงๆ หรือเปล่า เกิดการตายขึ้นเพราะอะไร คุณยิงโดยไม่ได้ตั้งใจฆ่าใคร แต่รู้อยู่แล้วว่าอาวุธนี้ยิงไปแล้วต้องตาย เป็นลักษณะเล็งเห็นผลได้
มีในสำนวนหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ
ปรากฏจากการซักถามและจากหลักฐานที่ปรากฏ ตัวอย่างคดีนายพัน คำกอง รถตู้ขับออกมาจากซอยราชปรารภ 8 แล้วหยุดรอ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าไปตรวจค้น พอบอกให้ถอยแล้วเขาไม่ถอยก็ยิงเลย จะบอกว่าเจ้าหน้าที่ขาดความระมัดระวังก็ไม่ได้ คุณไม่ปฏิบัติตามหลัก และหลักการยิงสกัดที่ให้ยิงไปที่เครื่องยนต์หรือล้อ เพื่อให้รถหยุด
ถ้าเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้ออกคำสั่งก็เหมือนกัน สั่งให้ตั้งด่านสกัดแต่ในคำสั่งบอกให้ใช้อาวุธ-กระสุนจริงได้ และในความเป็นจริง ก่อนศพนี้ก็มีศพอื่นอีก คุณรู้หรือเปล่า ถ้ารู้แล้วทำไมไม่หยุดการปฏิบัติด้วยวิธีการแบบนี้ เป็นพฤติเหตุแวดล้อม ไม่ใช่การตายเพียงศพเดียว และการจะใช้อาวุธต้องใช้ต่อผู้ใช้อาวุธยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ ถ้าอ้างมีชายชุดดำก็ต้องยิงต่อสู้กับชายชุดดำ แต่นี่ประชาชนถือหนังสติ๊ก
ประเมินแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายถูกฟ้อง
ไม่มีผู้ต้องหาคนไหนที่จะยอมรับ ทราบว่าเขาตั้งทนายสู้คดีแล้ว คงสู้ในทิศทางที่ว่าคำสั่งเขาออกโดยชอบ แต่เรื่องการปฏิบัติเป็นระดับเจ้าหน้าที่ เขาไม่ได้สั่งให้ไปฆ่าประชาชน
ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์สลายชุมนุม 10 เม.ย. ที่สะพานผ่านฟ้า ทำไมถึงมีการสั่งลุยต่อ หรือเคลื่อนกำลังหลังจากเคารพธงชาติแล้ว เขาเบิกความว่าสั่งหยุดแล้ว ไม่ได้สั่งให้เคลื่อนต่อ
แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เขารู้หรือเปล่าว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไร มีการยิงขู่ มีการปะทะกันเป็นระยะและมีผู้เสียชีวิต
การควบคุมการปฏิบัติท่านรู้ใช่หรือไม่ว่าจะสั่งสลายการชุมนุมไม่ได้ เพราะจะเกิดเหตุรุนแรงและจะมีคนบาดเจ็บล้มตาย คำสั่งอย่างนี้เหมือนเล็งเห็นผลอยู่แล้ว และอย่าลืมไม่ใช่เรื่องเดียว แต่เหตุการณ์เกิดต่อเนื่องมาตั้งแต่ 10 เม.ย.- 19 พ.ค. 2553 ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เขาเรียกว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา จะเอาผิดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม แต่เข้าข่ายเป็นผู้ต้องหาแน่นอน