"ยงยุทธ" จบ ฝ่ายค้านไม่จบ

ข่าวสด 30 กันยายน 2555 >>>




การลาออกของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จากรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ที่จะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นเรื่องที่หลายคนพอคาดเดาได้แต่แรก
ตั้งแต่วันที่อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย มีมติลงโทษย้อนหลังโดยการปลดออกจากรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามการชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ของ ป.ป.ช.
ถึงแม้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตลอดจนปลัดกระทรวงมหาดไทยจะยืนยัน กรณีนายยงยุทธซึ่งเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2545 อยู่ในข่ายได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษมาก่อน จึงไม่มีผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน แต่ในทางการเมืองเป็นอีกเรื่อง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับนายยงยุทธไม่ต่างจาก "ขนมหวาน" สำหรับพรรคฝ่ายตรงข้ามที่พร้อมอยู่แล้วที่จะขยายผลทุกเรื่องตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ
บางทีก็ทำแบบเผื่อฟลุก อาศัยโชคเข้าข้าง เหมือนกรณี นายสมัคร สุนทรเวช ที่ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยข้อหาทำกับข้าวออกทีวี อันเป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของรัฐบาลพลังประชาชนในเวลาต่อมา
อีกทั้งนายยงยุทธไม่ใช่นักการเมืองตาดำๆ แต่เป็นถึงหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล แถมสวมหมวกใบใหญ่อีก 2 ใบ เป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 และ รมว.มหาดไทย ที่เปรียบเสมือนน้องๆ นายกรัฐมนตรี
ตลอดช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา นายยงยุทธยังถูกมองว่าเป็นเงาตามติด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เวลาออกตรวจงานตามพื้นที่ต่างๆ
ดังนั้น ไม่ว่าใครปฏิเสธอย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้ว่าแรงกดดันทางการเมืองที่พุ่งตรงเข้าหานายยงยุทธจะไม่กระทบชิ่งไปถึงพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล
โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อาจจะต้องแบกรับแรงกดดันนี้ไปด้วย ถ้าหากนายยงยุทธไม่ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่ามกลางมรสุมการเมืองรุมเร้า
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ถือฤกษ์งามยามดีวันศุกร์ที่ผ่านมาเข้ากราบนมัสการสมเด็จเกี่ยว เจ้าอาวาสวัดสระเกศ รับฟังพระมหาเถระ 10 รูปสวดชยันโต
เอาธรรมะเข้าข่ม อุทิศส่วนกุศลให้บรรดาเจ้ากรรมนายเวร ไม่ได้ระบุชื่อเสียงเรียงนามชัดเจนว่าใครคือเจ้ากรรมนายเวร แต่ถึงไม่พูดก็คงเดากันออก
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าเป้าหมายการทำลายล้างครั้งนี้อยู่ที่นายยงยุทธใช่หรือไม่ คำตอบยังก้ำกึ่ง
เพราะเอาเข้าจริงแล้วถึงนายยงยุทธจะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ก็เพียงแต่ในนามเท่านั้น อำนาจแท้จริงอยู่กับนายใหญ่และคนใกล้ชิด
ที่สำคัญนายยงยุทธไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้แรงสั่นสะเทือนต่างจากกรณีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ผู้ล่วงลับ
นอกจากนั้นหากจับกระแสความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็พอจะมองเห็นว่าเป้าหมายแท้จริงมีขนาดใหญ่กว่าตัวนายยงยุทธอยู่มาก
เห็นได้จากการประกาศว่าจะเอาผิดนายกฯ ตามมาตรา 157 ข้อหาละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หากยังฝืนมอบหมายให้นายยงยุทธนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม ครม.
รวมถึงการเตรียมยื่นกระทู้สดถามนายกฯ กดดันให้รับผิดชอบต่อนายยงยุทธ คล้ายกรณีนางนลินี ทวีสิน รมต.สำนัก นายกฯ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ก่อนหน้านี้
ตลอดจนการรวบรวมรายชื่อ 50 ส.ส. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรีของนายยงยุทธ
และการจัดฉากส่ง "เสื้อแดงเทียม" ออกมาขยายผลตอกลิ่ม ไล่ตะเพิดนายยงยุทธ ยื่นให้กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี พร้อมเสนอชื่อนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เสียบแทนเก้าอี้รมว.มหาดไทย เหล่านี้ทำให้ดูเหมือนเป้าหมายอยู่ที่ตัวนายยงยุทธ
แต่มองลึกลงไปในทางการเมืองโดยเฉพาะเกมที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าชื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ได้สร้างความหวั่นไหวให้กับคนในพรรคเพื่อไทยไม่น้อย
นั่นเพราะว่าหมากตานี้พรรคประชา ธิปัตย์เคยใช้ "พลิกเกม" ได้ผลมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในกรณีนายสมัคร และพรรคพลังประชาชน ครั้งนี้จึงไม่แปลกหากจะมีการพูดถึงการยุบพรรครอบ 3 ให้ได้ยิน ตรงนี้เองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้รัฐบาลเพื่อไทยต้องรีบหาทางตัดไฟแต่ต้นลม
จากนี้ต่อไป ถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จะลาออกจากรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แล้วก็ตาม
ก็ยังต้องติดตามดูต่อไป ว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามจะเดินหมากอย่างไรต่อไป
เพราะจากสถานการณ์การเมืองตอนนี้ พรรคประชาธิปัตย์เองก็อยู่ในสภาพจวนตัวเต็มที จากคดี 98 ศพที่กำลังกระชับวงล้อมเข้ามาทุกขณะ
หลังจากศาลอาญามีคำสั่งในคดีนายพัน คำกอง ว่าเสียชีวิตจากกระสุนปืนอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่ ชัดเจนเป็นคดีแรก และกำลังจะมีตามมาอีกนับสิบคดี ซึ่งจะเป็นการต่อยอดนำไปสู่การตั้งสำนวนคดีข้อหา "ฆาตกรรม" กับคนออกคำสั่งฆ่า
ตามที่คนรู้ทันอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ออกมาเตือนรัฐบาลให้เตรียมพร้อมรับมือกับม็อบแอบแฝง
เบื้องหน้ามาในรูปม็อบยางพารา ม็อบมะพร้าว แต่เบื้องหลังมีนักการเมืองคอยสนับสนุน ใช้เป็นเครื่องมือป่วนรัฐบาล เพื่อหวังล้มกระดานการเมือง ลบล้างคดีทั้งหมด
โดยยังไม่ทันขาดคำก็เกิดกรณีม็อบพันธมิตรฯ ยกพวกตีกับม็อบเสื้อแดง เย้ยตำรวจถึงหน้ากองปราบฯ หวังสร้างประวัติศาสตร์ย้อนรอยไปในช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549
ยังดีที่แกนนำ นปช. ออกมาเตือนสติคนเสื้อแดงไว้ได้ทันท่วงที ไม่ให้หลงไปกับแผนยั่วยุ ล้มกระดานคดี 98 ศพ
แล้วก็เป็นอะไรที่คาหนังคาเขา กับฉากที่พิธีกรสาวทีวีดาวเทียมช่องสีฟ้าชักชวนออกอากาศนัดแนะม็อบพันธมิตรฯ ให้ไปรวมตัวกันในวันนั้น โดยใช้ "เสื้อยืด" มาล่อ ปลุกปั่นจนกระทั่งเกิดเหตุเลือดตกยางออก
ทีวีช่องดังกล่าวโยงใยถึงพรรคไหน ไม่ต้องบอก
สัญญาณยืนยันฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่รามือง่ายๆ แน่ ต่อให้เรื่องของนายยงยุทธจบไปแล้วก็ตาม