หกปีรัฐประหาร ประสบการณ์ขั้นใหม่ของการต่อสู้ของประชาชนไทย

Facebook อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ 27 กันยายน 2555 >>>


เหลียวหลังไปดูอดีตพัฒนาการการต่อสู้ของประชาชนไทย ถ้าเราไม่นับการต่อสู้ของพรรคที่ต่อสู้นอกระบบและใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา การต่อสู้ของประชาชนไทยได้พัฒนายกระดับขึ้นสู่คุณภาพใหม่ที่แตกต่างจากในอดีตอย่างชัดเจน การต่อสู้ของประชาชนหลังรัฐประหาร 2549 จึงมีฐานะทางประวัติศาสตร์ใหม่
1. เป็นการต่อสู้ที่มุ่งมั่นเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของสังคมไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ปัจจุบันอยู่ในระยะของระบอบอำมาตยาธิปไตย ในฉายาประชาธิปไตย เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจเป็นของประชาชนไทยแท้จริง เปิดเผย ตรงไปตรงมา (แม้จะมีคนใส่ร้ายป้ายสีบิดเบือนว่าเราจะเปลี่ยนให้เป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีแทนพระมหากษัตริย์) ในอดีตนั้นไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในยุค 14 ตุลา, พฤษภา 35 ที่มีการลุกขึ้นสู้ล้วนเป็นการขับไล่เผด็จการทหารเท่านั้น
2. เป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ จึงถือเป็นเรื่องยากในการต่อสู้และการรักษาขบวนการ การรักษาองค์กรการต่อสู้ การพัฒนาองค์กร และพัฒนาการต่อสู้ นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ของขบวนการประชาชนเช่นกัน เพราะปกติจะเป็นการลุกขึ้นรวมตัวต่อสู้เพียงสั้น ๆ แล้วเลิกกันไป นี่เพราะเรามีเป้าหมายระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว โจทย์ข้อนี้จึงเป็นโจทย์ใหม่ขององค์กร นปช.
3. การจัดการบริหารองค์กรและขบวนการที่มีจำนวนผู้ร่วมเคลื่อนไหวมากที่สุดตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงาน แกนนำทุกระดับที่มีความหลากหลาย มวลชนแนวหน้า มวลชนสนับสนุน นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ที่มีความยากลำบากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีความหลากหลายทั้งในกลุ่มเสื้อแดง กลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ และการแทรกแซงเข้ามาปะปนในหมู่มวลชนและแกนนำจากฝั่งปฏิปักษ์ ต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนรวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงและพวกที่มีความเชื่อในการต่อสู้ต่าง ๆ กัน มุ่งหวังลดทอนกำลังการจัดตั้งองค์กรคนเสื้อแดงอันรวมศูนย์การทำลายมาที่ นปช. แกนนำ นปช. เพื่อแย่งชิงมวลชน นอกจากนี้บางกลุ่มแสดงตัวเป็นคนของพรรคของรัฐบาลทำองค์กรใหม่ซ้อนองค์กร นปช. (จัดตั้งซ้อนจัดตั้ง) มวลชนจึงสับสน
4. เนื้อหาและเป้าหมายการต่อสู้ไม่ใช่ต่อต้านรัฐประหารโดยกองทัพเท่านั้น แต่ช่วงเวลาการต่อสู้ที่ยืดเยื้อนี้ยังเป็นการต่อสู้ผลพวงการรัฐประหารและยังเป็นความต่อเนื่องของการทำรัฐประหารโดยกองทัพ เป็นการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เรียกร้องให้ทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อให้ประเทศนี้มีนิติรัฐ นิติธรรม หลังปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน จับกุมคุมขัง ประชาชนยังสู้ไม่ถอย แต่เปลี่ยนจากการถูกไล่ฆ่าไล่ยิง มาถูกพิฆาตด้วยกระบวนการยุติธรรม มิหนำซ้ำคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความเป็นจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) ยังมาฆ่าซ้ำด้วยการทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้ชุมนุมและคนเสื้อแดง นี่จึงเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 2549 มาเป็นลำดับ
เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ปัจจุบันเป็นการต่อสู้ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างโดยประชาชน เพื่อประชาชน นี่เป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์ปัจจุบันคือต่อสู้เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ ตัวบทกฎหมายอื่นและองค์กรจากผลพวงรัฐประหาร เราจึงเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 จากประชาชนและยื่นถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งสองเรื่องนี้แม้ไม่ได้ผลตามกฎหมายเพราะวุฒิสมาชิกคงไม่ถอดถอน แต่เราต้องการแสดงออกถึงความคิดและประชามติต่อระบบตุลาการตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สำหรับร่างกฎหมายปรองดองและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีฉบับ นปช. และฉบับพรรคเพื่อไทย แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกัน ต่างคนต่างทำ นปช. ต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งร่าง นปช. ไปประกบของพรรคถึงโหวตจะแพ้ก็ตาม เพราะพรรคเพื่อไทยคงไม่เข้าใจความคิดของประชาชนคนเสื้อแดงดีพอและไม่ประสานงานอย่างเป็นระบบ ดังนั้นขั้นตอนการต่อสู้ในระยะเวลานี้จึงเป็นเวลาของปัญญาชน ชนชั้นกลางจะมีบทบาทสูงในเวทีการต่อสู้ เพราะจะเป็นการต่อสู้ในเวทีความคิด หลักการ เหตุผล ข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มาหักล้างกัน จะปรากฎกลุ่มปัญญาชน, องค์กรของผู้รักความเป็นธรรม นักกฎหมายที่รักความเป็นธรรมและมีจุดยืนอยู่ที่ประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังของปัญญาชนผู้รักความเป็นธรรมเหล่านี้จะมีบทบาทนำ ดังเช่น กลุ่ม ศปช. ศูนย์ข้อมูลประชาชน ที่ผลิตเอกสารนับพันหน้า ถือเป็นกลุ่มนักวิชาการที่นปช.และขบวนการประชาชนต้องยกย่องสรรเสริญไว้ ณ ที่นี้ นอกจากนั้นกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ นักวิชาการกฎหมายอิสระ ก็จะทำให้การต่อสู้ของประชาชนน่าเชื่อถือในหมู่ชนชั้นกลางและปัญญาชนอื่น ๆ
5. การต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์จารีตนิยมที่ครอบงำสังคมไทย ชนชั้นนำจารีตนิยมไทยสร้างวาทะกรรมและคำอธิบายรวมทั้งนิยายหลายชุดความคิดที่ทำให้คนไทยทั้งสังคมติดหล่มจมปลัก พัฒนาไปไม่ได้ โดยทำให้เข้าใจว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยคือระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เหมาะสมกับสังคมไทย กลไกรัฐสำคัญต้องอยู่ในมือเครือข่ายระบอบอำมาตย์ และอธิบายเหตุผลต่อไปว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะชนชั้นนำจารีตนิยมคือเทพท่ามกลางคนส่วนใหญ่ที่ถูกประณามว่าเป็นอสูรตัวร้าย เทพจึงต้องเป็นผู้ปกครองเพราะเป็นคนดีมีจริยธรรม มีคุณธรรม นี่เป็นคำอธิบายที่ใช้สร้างความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน และการสร้างบทบาทผู้ร้ายถาวรให้กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่ามาเพราะแจกเงิน เมื่อเข้ามาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก็ต้องถอนทุนคืน หาเงินใหม่ คอรัปชั่นเชิงนโยบาย โกงกิน ทำให้คนชั้นกลาง ปัญญาชนรังเกียจ เกลียดชัง การเข้ามาสู่วงการเมืองกลับกลายเป็นเรื่องเลวแทนที่จะเป็นเรื่องดี ๆ
6. นี่เป็นระยะเวลาที่ถูกกระทำจากรัฐประหารต่อเนื่อง ยังมีผู้ถูกจองจำในคุกทั้งประชาชนและแกนนำทุกระดับ ผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกฟ้องในข้อหาผู้ก่อการร้าย หลายคนถูกจองจำ ถูกตัดสินคดี 20 ถึง 30 ปี ประชาชนถูกฆ่ายังไม่อาจเอาผิดกับใครได้ คนบาดเจ็บ 2,000 กว่าคน คนถูกจับดำเนินคดีกว่า 1,600 คน ในขณะที่อันธพาลกลุ่มจารีตนิยมคดียังไม่ไปถึงไหน ไม่ถึงศาลด้วยซ้ำ ดังนั้นบรรยากาศการต่อสู้จึงอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อความยุติธรรมมีทั้งด้านรับและด้านรุกเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชน ลบล้างผลพวงการทำรัฐประหาร แต่ในการต่อสู้นี้แม้จะยังอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ แต่ชัยชนะจากการได้รัฐบาลจากพรรคที่ผู้รักประชาธิปไตยสนับสนุนก็ทำให้ประชาชนควรมีส่วนในฐานะผู้กระทำด้วยและมีการต่อสู้เชิงรุก จึงต้องมียุทธศาสตร์ยุทธวิธีเชิกรุกเดินหน้าตลอดไปด้วย เป็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเชิงรุกทั้งในฐานะที่ถูกกระทำและในฐานะเป็นผู้กระทำ จึงเป็นโจทย์ใหม่สำหรับขบวนการประชาธิปไตยที่อาจถูกขัดขวางจากบางส่วนในพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมที่เล่นเกมยอดปิระมิด โดยใช้การเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งกับอำมาตย์ หวังเอาเองว่าทุกอย่างราบรื่น ผลการออกกฎหมายปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้วนแสดงชัดเจนว่าไม่ง่ายดังที่คิด
นี่ก็เป็นการท้าทายว่า ขบวนการประชาชนคนเสื้อแดงจะก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้หรือไม่ เพราะเมื่อคนพรรคเพื่อไทยขึ้นไปได้อำนาจส่วนหนึ่งในฐานะผู้ปกครอง ก็หวังจะเล่นเกมยอดปิระมิดโดยการเจรจากับชนชั้นนำ และจะมีข้อต่อรองให้สลายเสื้อแดง ซึ่งลักษณะนี้คล้าย ๆ กับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ คณะราษฏรได้อำนาจรัฐระดับหนึ่งก็แตกแยกกันไปโดยการใช้การเจรจากับชนชั้นสูงอำมาตย์ใหญ่ในเวลานั้นเพื่อความปรองดอง ในที่สุดล้มเหลว ปรองดองเป็นเรื่องหลอก เรื่องจริงก็คือคณะราษฎรถูกแบ่งแยกและถูกทำลายทีละครึ่ง ทีละคนสองคนจนหมดสิ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2490 หมดเชื้อเลยเมื่อ พ.ศ. 2500 สถาปนาอำนาจอำมาตยาธิปไตยพร้อมเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ เพราะคณะราษฎรไม่มีฐานมวลชนพื้นฐาน ขาดคนแห่งฐานปิระมิด พึ่งเฉพาะข้าราชการพลเรือน ทหารเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่กำลังที่ก้าวหน้า ไม่ใช่รากหญ้า ในขณะที่ฝั่งอำมาตย์ขณะนั้นก็รุกยึดอำนาจเอาข้าราชการทหารพลเรือนกลับมาอยู่ในมือได้ แต่นั่นก็ห้าสิบหกสิบปีมาแล้วที่ประชาชนยังไม่ตื่นตัวทางการเมืองมากพอดังปัจจุบัน
ผ่านรัฐประหารมา 6 ปี ประชาชนเติบใหญ่ เสื้อแดงยกระดับ ขยายตัว ผ่านการปราบปรามเข่นฆ่าก็เป็นการทดสอบแบบหนึ่งว่ามีจิตใจทรหดอดทนกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละหรือไม่ ผ่านการทดสอบทั้งสู้ ถูกปราบ ลุกสู้ใหม่อย่างรวดเร็ว และเลือกตั้งได้รัฐบาลที่มาจากพรรคที่สนับสนุน ผ่านด่านทดสอบทั้ง 2 เรื่องนี้ได้แล้วจะมัวหลงระเริงกับอำนาจรัฐเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือไม่ ลืมเป้าหมายหนทางไกลที่ตั้งใจจะให้ได้ความเท่าเทียมกันเพื่อนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง ด่านนี้เป็นด่านหินที่ผ่านการทดสอบได้ยากมาก นี่จึงเรียกว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต้องยืนหยัดต่อสู้ท่ามกลางสิ่งล่อใจด้วยผลประโยชน์และอำนาจปลอม ๆ สั้น ๆ แต่จะมีผลให้เกิดแย่งชิงมวลชน แย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจ ในฐานะที่มีบทบาทแห่งชัยชนะการต่อสู้ที่ได้รับชัยชนะจะมีปัจจัยแห่งความพ่ายแพ้เสมอ ก้าวย่างของประชาชนขณะนี้จึงเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ยากกว่าสู้กับกระสุนปืน !