เมื่อการค้นหาความจริงเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2553 เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนและถูกขยายผลทางการเมือง 2 ขั้ว หลังคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดเผยรายงานฉบับสุดท้ายออกสู่สาธารณะ
เวลาเดียวกัน ศาลอาญา รัชดาภิเษก อ่านคำสั่งการไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ "พัน คำกอง" แท็กซี่เสื้อแดง ว่าเสียชีวิตจากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม
ปรากฏ 2 ชื่อที่ถูกโยงเข้ามาเกี่ยวข้องคือ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกฯ และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตรองนายกฯ ในฐานะเป็นผู้ออกคำสั่ง
ขณะที่เรื่องจากแกนนำคนเสื้อแดงที่ยื่นร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อเอาผิด "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ก็มีความคืบหน้า
เพราะ "สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล" รมว.ต่างประเทศ แนะนำให้คณะรัฐมนตรีทำคำประกาศยอมรับอำนาจศาล ตามข้อ 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศรับเรื่องเฉพาะกรณีได้ แม้ไทยจะไม่ได้ทำสัตยาบันก็ตาม
"น.พ.เหวง โตจิราการ" แกนนำคนเสื้อแดง ที่เดินทางไปถึงกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อนำเรื่องสลายการชุมนุมปี 2553 ขึ้นพิจารณาในศาลอาญาระหว่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าว่า "กระบวนการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรัฐบาลประกาศรับข้อ 12 (3) เท่านั้น"
"โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" ทนายความคนเสื้อแดงบอกว่า ความคืบหน้าคืบไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีเสียงบอกว่าการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงมีแค่ 98 ศพ อาจไม่เข้าข่ายยื่นฟ้อง แต่ตามกฎหมายเขาไม่ได้กำหนดจำนวนศพ แต่เขากำหนดองค์ประกอบกฎหมายคือ
1. กระทำอย่างกว้างขวาง กรณีนี้คลุมตั้งแต่สะพานพระปิ่นเกล้าไปถึงคลองเตย
2. อย่างเป็นระบบ เช่น วันที่ 10 เม.ย. สลายการชุมนุมอย่างเป็นยุทธการ ซึ่งในธรรมนูญกรุงโรมไม่ได้บอกว่าจะต้อง 100 คนขึ้นไป
"ผมจึงมีความเชื่อสูงที่ศาลจะรับเรื่องและมีโอกาสชนะ เพราะตอนแรกเขาให้เวลาเราชี้แจงครึ่งชั่วโมง แต่ปรากฏว่าฝรั่งเขาก็ให้เวลาเราอธิบายชั่วโมงครึ่ง สะท้อนว่าเขาสนใจ มีมูล มีน้ำหนักพอที่เขาจะให้ความสำคัญแก่เรา ไม่เหลวไหล"
"ดังนั้น ผมจึงประเมินเข้าข้างตัวเองว่ามีหวังสูง เราต้องการยุติการฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางถนน เพราะช่วงสลายการชุมนุมโรเบิร์ตอยู่กับผมตลอดในรถตู้ เห็นเหตุการณ์แวดล้อมทั้งหมดว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง พอวันที่ 17 พ.ค. จึงเดินทางออกนอกประเทศ แล้วเขาก็ตั้งเรื่องไว้ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศทันที"
"เขาก็คิดหา ช่องว่าจะเอาผิดนายอภิสิทธิ์อย่างไร จนมาพบว่านายอภิสิทธิ์ถือสัญชาติอังกฤษซึ่งเป็นภาคีกับศาลอาญาระหว่างประเทศ อยู่แล้ว มีหลักฐานชัดเจนคือการมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในตำบลออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ" น.พ.เหวง กล่าว
แม้ฟากฝั่งแกนนำคนเสื้อแดงมีความมั่น ใจว่า จะสามารถลาก "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ขึ้นดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ มีโอกาสสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็เตรียมนำคดี "ฆ่าตัดตอน" ที่เป็นผลพวงจากนโยบายประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิต 2,873 คน ในช่วงเวลา 3 เดือนของการดำเนินนโยบาย ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศเช่นกัน มีการวาง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ในฐานะผู้ออกนโยบายไว้เป็นจำเลยโดยพรรคมอบหมายให้ "กษิต ภิรมย์" อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบ
"กษิต" บอกถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้ ยื่นหนังสือให้สำนักประธานศาลอาญาระหว่างประเทศไปพิจารณาแล้ว และเขาก็พร้อมรับข้อมูลเพื่อนำมาศึกษา ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับเรื่องอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นเรื่อง ของอนาคต อยู่ที่การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอไป
"กษิต" ชั่งน้ำหนักทั้ง 2 เหตุการณ์ ระหว่างการสลายการชุมนุมปี 2553 กับคดีค่าตัดตอนว่า "มันมีความต่างอยู่ 1 ข้อใหญ่ คือ เรื่องสลายการชุมนุม 2-3 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไปอย่างเต็มที่ไม่มีการชะงัก แต่คดีฆ่าตัดตอนมันหยุดชะงัก เพราะฉะนั้นอะไรที่มันหยุดชะงักในประเทศนั้น ๆ ก็เป็นภาระหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ"
สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์รวบรวมให้ศาลอาญาระหว่างประเทศไปพิจารณา มีทั้งพยานบุคคลที่เป็นญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิต กับพยานเอกสาร คือรายงานการศึกษาเบื้องต้นของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน" หรือ คตน. ที่ ชี้ว่านโยบายการปราบปรามยาเสพติดในยุค "พ.ต.ท.ทักษิณ" เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ "กษิต" บอกว่า สิ่งที่เป็นหมัดเด็ดของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ คล้อยตามคือ การที่กระบวนการยุติธรรมของไทยหยุดชะงัก ไม่เดินหน้าคดีฆ่าตัดตอน
"ประจักษ์กันอยู่ตามหลัก common sense (สามัญสำนึก) คดีมันหยุดมาตั้งนานแล้ว เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา หรือมีการเมืองเข้ามาแทรก กดขี่"
เขาเชื่อว่า สุดท้ายศาลโลกจะไม่พิจารณาสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 98 ศพ "โดย common sense 98 ศพไม่มีเหตุผลอันใด รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นคนตั้ง คอป. เอง แสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ กระบวนการยุติธรรมมันเดินอยู่ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะบิดเบือนอะไรมันฟังไม่ขึ้น และเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนรู้ จะไปฟ้องได้อย่างไร หรือว่าเพื่อไทยไม่เคารพศาลยุติธรรม"
เมื่อตรวจสอบเกณฑ์ความผิดอาญาที่เข้าข่ายตามธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ พบว่ามีฐานความผิด 4 ฐาน
1. อาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์
2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
3. อาชญากรรมสงคราม และ
4. อาชญากรรมการรุกราน
"ดร.คณิต ณ นคร" อดีตประธาน คตน. ซึ่งปัจจุบันเป็นประธาน คอป. แยกแยะว่า กรณีฆ่าตัดตอนในรายงานศึกษาเบื้องต้นที่เคยทำ ระบุว่า นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นแตกหัก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เข้าข่ายการเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เพราะเป็นการกระทำอย่างมี systematic (เป็นระบบ) ส่วนกรณี 98 ศพ ไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ
"ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" อดีตกรรมการ คตน. เปรียบเทียบระหว่างคดี 98 ศพ กับฆ่าตัดตอนว่า มีโอกาสที่ศาลอาญาระหว่างประเทศรับเรื่องฆ่าตัดตอนมากกว่า
"เรื่องยาเสพติดชัดเจน รัฐเป็นผู้กระทำฝ่ายเดียว เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 2 พันกว่าศพ กระทำในระยะเวลาอันสั้น ไม่มีการต่อสู้ เจ้าหน้าที่ยิงฝ่ายเดียวเข้าข่ายมากกว่าการสลายการชุมนุม พ.ค. 2553 ที่สำคัญคือ ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็มีชายชุดดำ มีการยิงต่อสู้จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ 30 ราย"