สัปดาห์หน้าจะถึงวันครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 “มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์ ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่านา ถึงความเห็นต่อความเปลี่ยนแปลงกว่าครึ่งทศวรรษ ในฐานะผู้สังเกตการณ์และที่มารอยสัก "นวมทอง" ที่แขนข้างขวา
มอง 6 ปี รัฐประหาร อย่างไร
พูดอย่างเลวๆก็คือ มองอย่างสะใจที่ตกลง เราสรุปไว้ถูก เพราะตอนนั้นก็เชื่อมั่นว่าจะเป็นการกระทำที่ล้มเหลว ทุกอย่างผิดที่ผิดทาง มีผลแค่ปลุกระดมความกลัวและเกลียดชังระหว่างคนในชาติให้เพิ่มขึ้น ผ่านมา 6 ปี รัฐประหารปี 49 มีผลดีอย่างเดียวคือทำให้ประชาชนรากหญ้าที่เดิมไม่ค่อยได้สนใจการเมืองระดับประเทศนัก มีความตื่นตัวอย่างมากในการที่จะรักษาไว้ซึ่งอำนาจ ศักดิ์ศรีและสิทธิของเขาเองอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
สาเหตุ ที่สัก “นวมทอง” ไว้ที่แขน เพราะอะไร จึงต้องเป็นคำนี้
ตอนที่เกิดรัฐประหาร คนรอบๆ ตัวเราทุกคนมีแต่ความดีใจ ยินดี ปลาบปลื้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแปลกแยกมากๆ รู้สึกเหมือนว่าเราเองผิดปรกติอย่างมากที่กลับไม่รู้สึกดีเหมือนคนอื่นๆ ซ้ำร้ายยิ่ง ยิ่งรู้สึกเสียใจ สิ้นหวัง เหมือนโดนกระทืบหัวใจจนแหลกละเอียด ในชีวิตเคยรู้สึกเช่นนี้ 2 ครั้งเท่านั้นคือ ตอนที่คุณแม่ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง กับอีกครั้งคือ เมื่อหลังรัฐประหาร 3 วัน ช่วงนั้นเราไปทำงานอยู่ที่ประเทศสิงค์โปร์
เมื่อกลับมาเพื่อนได้เล่าให้ฟังว่ามีแท็กซี่ใช้สีสเปรย์พ่นตัวถังรถว่า "ไม่เอารัฐประหาร" แล้วขับรถพุ่งชนรถถังเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการประท้วงคณะปฎิวัติ คนขับแท็กซี่รอดชีวิต แต่อาการหนักมาก ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ ระหว่างที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างส่งคนมาเยี่ยม มาบอกเขาว่ารัฐประหารจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น เป็นสิ่งที่เขาในฐานะประชาชนควรจะดีใจ ซึ่งเป็นการปลอบที่ขัดกับความเชื่อ เจตนารมณ์และจุดยืนของเขาอย่าสิ้นเชิง
เมื่อออกจากโรงพยาบาลเขาได้ทราบว่า ข่าวการขับรถชนรถถังของเขาถูกนำไปบิดเบือนความจริง โดยเขียนทำนองว่า คนขับแท็กซี่ขับรถพุ่งชนรถถังเพราะสายตาไม่ดีบ้าง สติไม่ดีบ้าง ทหารผู้ใหญ่ในคณะรัฐประหารบางท่านถึงกับพูดว่า "ไม่มีใครเขายอมตายเพื่อความเชื่อของตัวเองหรอก" ซึ่งก็เป็นการพูดถึงจิตใจคนได้แปลกมาก เพราะนัยว่าการทำรัฐประหาร นั้นคือการที่ผู้ทำรัฐประหารบอกกับประชาชนว่าจะขอพลีชีพเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันและประเทศชาติ เป็นการเอาความเชื่อในความดีงาม และอุดมการณ์มาพุ่งชน แบบยอมตายเพื่อจะทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะ แต่คนทำรัฐประหารกลับดูถูกน้ำใจประชาชนเอง ดังนั้น พออาการคุณนวมทองดีขึ้นออกจากโรงพยาบาลได้ เขาจึงเขียนจดหมายอธิบายเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของเขาอีกครั้ง แล้วใส่เสื้อสีดำที่มีข้อความต่อต้านรัฐประหาร แล้วไปผูกคอตายอยู่ใต้สะพานลอย
เนื่องจากตัวเราเองพื้นฐานเป็นคนขี้เกียจ รักสบาย ไม่ค่อยสนใจคนอื่นนัก แต่เมื่อได้รับรู้ในความแน่วแน่ในสิ่งที่เขาได้ทำลงไป เรารู้สึก สะอึกและตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก เรียกได้ว่า ณ จุดนั้นเขาคือ คนไทยคนแรกที่เราได้เห็นจะๆ ว่ายอมฆ่าตัวตายเพื่อยืนยันในความเชื่อของตนเอง เป็นการกระทำที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และทุกครั้งที่เราเล่าเรื่องนี้ให้คนฟัง เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เรื่องนี้มากนัก เพราะรัฐบาลคณะปฎิวัติเหมือนจะพยายามปิดๆข่าว ทุกครั้งที่เราเล่าเรื่องนี้ โดยยังไม่บอกว่าเขาประกอบอาชีพอะไร ทุกคนที่ได้ฟังจะบอกว่า เออ เจ๋งดีหวะคนนี้
แต่แล้วพอเราบอกว่าเขาเป็นคนขับแท็กซี่ คนเหล่านั้นก็จะพูดประมาณว่าคนขับแท็กซี่ก็งี้หละแม่งบ้า อาจกินยาบ้า เมา หรือมีคนจ้างวานให้มาทำ คือกลายเป็นพยายามลบล้างสิ่งที่เขายืนยันกระทำลงไปจนสำเร็จด้วยวิธีการดูแคลนในอาชีพสุจริตที่เขาเป็น ซึ่งยิ่งทำให้เราหดหู่มาก ปีนั้นเราอายุสามสิบหก คือครบสามรอบพอดี เราคิดว่าเราแก่และเห็นทุกอย่างมามากแล้ว แต่เราก็กลับไม่สามารถวางความรู้สึกช้ำใจอันนี้ได้ ในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 49 เราจึงไปสักชื่อของคุณ นวมทอง ไว้ที่แขนขวาของเรา เอาให้ทุกคนเห็นกันจะๆ กันไปเลย เราไม่เคยสักหรือคิดจะสักชื่อใครอะไรมาก่อนเลยในชีวิต แต่เราถือว่าการที่ได้สักชื่อของคนที่มีเกียรติและความกล้า พูดจริงทำได้จริง เช่น คุณนวมทองถือเป็นเกียรติแก่ตัวเรา และคือของขวัญที่ดีที่สุดที่เราจะให้ตัวเองได้ ในปีเกิดครบสามรอบของเราค่ะ
ทำไมจึงไม่เชื่อว่า คนขับรถแท็กซี่ ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จ้างมาสร้างสถานการณ์อย่างที่หลายคนเชื่อ ในขณะนั้น
เพราะเขาทำในสิ่งที่เรารู้สึกอยากทำมากๆ แต่ไม่กล้าทำ และต่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ โอนเงินมาให้เราสักหนึ่งพันล้านบาท เราก็ยังไม่กล้าทำสิ่งที่คุณนวมทองทำอยู่ดี หรือต่อให้เราจนมากๆ ไม่มีเงินหรือสิ่งที่คนชอบเรียกมันว่าต้นทุนทางสังคม เราก็ไม่กล้าฆ่าตัวตายเพื่อเงินอยู่ดี
หลังจากนั้นเราก็ส่งเลขาให้ไปพบกับครอบครัวของคุณนวมทอง ไปให้กำลังใจ และแสดงความคารวะ ได้พูดคุยกับครอบครัวของคุณนวมทอง เราไม่กล้าแม้แต่จะไปเองเพราะไม่อยากจะรู้สึกสะเทือนใจไปมากกว่านี้ การกระทำของคุณนวมทองได้ใจเพื่อนๆ เราหลายคน
บางคนตอนเกิดปฎิวัติยังมึนๆ เฉยๆ นิ่งๆ เซ็งแต่ก็ไม่อยากรู้สึกเหมือนฝืนกระแสสังคม แต่พอคุณนวมทองฆ่าตัวตายอย่างมุ่งมั่น พร้อมทิ้งจดหมายลาตายที่เขียนได้กินใจมากๆ ไว้ คนหลายๆ คน ที่พยายามเก็บความรู้สึกไว้ก็กล้าพูดความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ความไม่พอใจกับการทำรัฐประหารออกมา เรียกได้ว่าความตายของคุณนวมทองคือแรงกระแทกอันแรกที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เรา และเพื่อนหลายๆคนรู้สึกกล้าที่จะยอมรับในความโกรธของตัวเองซึ่งความรู้สึก ที่รุนแรงและความรู้สึกที่จริงขนาดนั้นไม่สามารถซื้อหรือปลุกได้ด้วยเงิน เพียงอย่างเดียวไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวยหรือคนจน
ปรากฏการณ์ “ดารุณี กฤตบุญญาลัย” ถูกตั้งคำถามเสียงดังกลางห้างดัง ไม่ว่าจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล” (ดาร์ตอปิโด) หรืออาจจะตั้งใจถามเพราะเห็นว่าเป็นคนเสื้อแดง แต่ข้องใจในประเด็น “รักในหลวง” คุณเต่านา มองเหตุการณ์นี้อย่างไร
สำหรับเรา เราไม่แน่ใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่บ่งบอกถึง ความรักในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อย่างแท้จริงหรือไม่ แต่เราแน่ใจว่าเป็นการกระทำที่บ่งบอกถึงความเกลียดชังและความสับสนอย่างยิ่ง กับการต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความเกลียดชังนั้นซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะ มันเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเพียร สอนพวกเรามาในเรื่องการมีสติและการกระทำความดีขณะที่ ความเกลียดชังอย่างไร้สติ ไม่สามารถเกิดขึ้นจากความรักและนับว่าเป็นการกระทำความดีได้อย่างแน่นอน
ข้อความทางเฟซบุค “อย่าโหนเจ้า เพราะ เจ้าก็ต้องพึ่งประชาชนค่ะ” สเตตัสนี้ มองความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ กับภาคประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงไป หรือไม่
คนไทยชอบคิด และอยากเชื่อว่าใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจอย่างเด็ดขาดเหนือองค์กร อื่น แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งอย่างมีความสัมพันธ์ที่จำเป็นต้องพึ่งพิงและให้ความจริงใจกันอยู่ ตลอดเวลา พร้อมๆ กับการระมัดระวังตัวไม่ให้ตัวเองเกิดการลุกล้ำล่วงเกินไปในอำนาจหน้าที่คน อื่นทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจจนเกินไปนักเพราะวิธีการใช้กฎหมายกติกาของ สังคมไทยเป็นระบบพึ่งพิงแต่ช่วงหลังๆกลับกลายไปเน้นระบบอ้างอิงซะมากกว่า
มองเรื่องนี้อย่างไรต่อความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่คิดแตกต่างกันเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112
เรามีความเชื่ออย่างโรแมนติกๆ ในแบบของเราเองว่า วันหนึ่งสถาบันจะเป็นผู้ประกาศยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี้ด้วยตนเอง เพราะทุกครั้งที่มีการนำมาตรานี้ไปใช้ เรื่องยิ่งหลุดมือไป สถานการณ์บานปลายออกไป คนที่เสียหายที่สุดก็คือสถาบันเองค่ะ
ความกลัวทางการเมือง ที่แต่ละฝ่ายควรเปิดเผยออกมา จะเป็นไปได้แค่ไหน
ในที่สุดจะเป็นไปได้หมด และจะมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยออกมาเพราะภายในอีก 5 ปีประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีประชาชนสองแบบ แบบที่หนึ่งคือพวกที่ไม่สนใจการเมืองมากนัก แค่รู้ไว้ ใช้จับทิศทางในการทำมาหากินให้สำเร็จ เอาเวลาไปมุ่งมั่นตั้งสติทำงาน ทำตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้นเรื่อยๆ กับ แบบที่สองคือพวกที่ตั้งหน้าตั้งตาปล่อยข่าวลือ จริงบ้าง ไม่จริงบ้างเพื่อทำลายคนอื่นไปๆมาๆ วนเวียนๆ ดังนั้นในที่สุดคนที่รักและเชื่อในความจริง คนที่เชื่อว่าการยอมรับความจริงจะเป็นทางออกของทุกสิ่ง เขาก็จะตั้งหน้าตั้งตาเผยแพร่ความจริง ที่เขาเองเชื่อว่าจริงออกมาสู่มวลชน ก็คงจะมีกันคนละแบบคนละเล่ม แล้วก็คงจะมีการถกเถียง คัดคาน พยายามพิสูจน์ข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่ายกันไปเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีมากกับสังคมไทย เพราะความจริงไม่เคยทำร้ายใคร ในขณะที่อคติและข่าวลือ เมื่อถูกนำมาผสมกับความเกลียดกลัวและใจเสีย สามารถฆ่าคนบริสุทธ์ได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
มองว่ารูปแบบการยึดอำนาจด้วยรถถัง กำลังทหาร ยังเป็นตัวเลือกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่หรือไม่
คงจะมีคนคิดฝันๆ อยู่เรื่อยๆ แต่ในทางปฏิบัติจริงจะเป็นไปได้ยากมากๆ และถ้าหากทำอีกทีหนึ่งก็คงจะได้ล้มล้างกันทุกอย่างเลย ไม่ใช่แค่รัฐบาล
สังคมไทยชอบโทษว่าเป็นเพราะนักการเมืองเลว โกงกิน จึงต้องมีการทำรัฐประหาร เราอยากให้ลองมองย้อนกลับดูสักนิดว่าพอทำเสร็จแล้ว ซึ่งประเทศไทยก็มีรัฐประหารมาไม่รู้จะกี่หนแล้ว ประเทศชาติดีขึ้นจริงหรือ ถ้าหากการทำรัฐประหารเป็นอะไรที่มีผลดีจริงๆ คงไม่ต้องทำบ่อยขนาดนี้กระมัง ??? นักการเมือง คือตัวแทนของประชาชน ถ้าหากจะพูดว่านักการเมืองส่วนมากเป็นคนเลว ก็หมายความว่าประชาชนส่วนมากก็เลวด้วย เพราะประชาชนจะเลือก ส.ส. ที่เขาเชื่อว่าเป็นตัวแทนในคุณค่าของเขา
แนวความคิดที่ชอบนำเรื่องการการทำรัฐประหารมาคอยขู่ๆ นักการเมือง ซึ่งจะดีจะเลวอย่างไรก็คือตัวแทนของประชาชน นี่มันคล้ายๆกับ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาในแบบหนึ่ง อยากให้ลูกโตขึ้นเป็นคนแบบหนึ่ง แต่พอไม่ได้อย่างใจก็ขู่ว่าจะตัดออกจากกองมรดก ขู่เสร็จก็คิดว่าลูกจะกลัวแล้วก็จ๋อยๆ ยอมทำตามทุกอย่างที่พ่อแม่อยากให้ทำ ทั้งๆ ที่ลูกถึงแม้ว่าต้องมีความกตัญญู รู้คุณ และมีหน้าที่ดูแลตอบแทนคุณบิดามารดา แต่ลูกก็เป็นคนเหมือนกัน มีความต้องการในตัวในการพัฒนาที่จะเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่พ่อแม่ต้องการร้อยเปอร์เซนต์ เพราะมันฝืนธรรมชาติเขา หลังจากพ่อแม่ขู่และตัดเขาออกจากกองมรดกจริงๆ กลับกลายเป็นว่าเขาก็อยู่ของเขาเองได้ ซ้ำร้ายยังแข็งแกร่งขึ้น มีตัวตนที่ชัดเจน เข้มแข็งกว่าลูกที่พ่อแม่ตั้งหน้าตั้งตาตามใจให้ทุกอย่าง เพียงเพราะเขายอมทำตามความต้องการทุกอย่างของพ่อแม่ จบลงในที่สุดพ่อแม่ก็ต้องหันกลับมาพี่งลูกที่ถูกตัดออกจากกองมรดกออกไป เพราะเขายืนหยัดและแข็งแกร่ง ส่วนลูกที่ยอมทำตามทุกอย่างไม่คิดที่จะสู้ชีวิตด้วยตัวเอง นอกจากพ่อแม่จะพึ่งอะไรไม่ได้แล้ว ยังต้องเป็นภาระทางใจให้พ่อแม่ไปอีกชั่วชีวิต เพราะลูกคนนี้จะไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองได้
การทำรัฐประหารคือการขู่ให้ลูกเป็นเด็กไม่มีวันโตตลอดไป คอยแต่จะแหงนหน้าขึ้นมองและพร้อมที่จะแบมือขอของได้ทุกอย่างทางวัตถุที่อยากได้แต่ไม่เคยได้รับความสุขที่แท้จริงเพราะ เขาต้องติดอยู่กับกับดักแห่งการแบมือขอในสิ่งที่เขาควรที่จะยืนยันที่จะต้อง สร้างและรักษาไว้ด้วยตัวเอง...
มองศักยภาพฝ่ายค้าน กับการตรวจสอบหรือดุลอำนาจรัฐบาล ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีฝ่ายค้านอยู่ค่ะ
หมายความว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาในแง่บทบาทตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลในยามที่ตัวเองเป็นฝ่ายค้าน หรือไม่
พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส. สักคนที่สามารถยืนยืด อกสบตากับประชาชนแล้่วพูดดังๆให้พวกเราฟังได้ว่า พรรคการเมืองของเรามีจุดยืนคือการต่อต้าน ไม่เอา ไม่รับหลักการ ของการทำรัฐประหาร อย่างสิ้นเชิง ถือว่าเป็นสถาบันการเมืองที่ล้มเหลวอย่างหมดความน่าเชื่อถืออยู่แล้วในตัวเองค่ะ ความพยายามที่จะต่อยอดอะไรต่อไป ก็จะไม่มีประสิทธิภาพหรือได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น เพราะประชาชนถือว่าท่านไม่มีความจริงใจในหลักของประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานในหัวใจ ดังนั้นเมื่อท่านเป็นเช่นนี้แล้ว ท่านจะอ้างตัวว่าท่านจะต่อสู้เคียงข้างประชาชนได้อย่างไร
รัฐบาลปัจจุบัน จะยังคงบริหารต่อไป ได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขใด
ได้อย่างสบายๆ เพราะผู้นำคือนายกรัฐมนตรี ได้อำนาจมาด้วยการชนะเลือกตั้งอย่างชอบธรรม อย่างขาดลอย และในเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาท่านก็แสดงออกให้เห็นถึงความนิ่ง ความแมน และการให้เกียรติผู้อื่น แม้กระทั่งกลุ่มคนที่ไม่ได้เลือกท่าน ตราบใดที่ท่านสามารถทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า ประชาชนมีโอกาส มีความหวัง และความเชื่อมั่นในอนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขาเองและลูกหลาน ความก้าวหน้าทางเศรษกิจอาจจะเดินไปช้าๆแต่ต้องทำให้เดินไปข้างหน้า พร้อมๆไปกับการค่อยๆพยายามสร้างพื้นที่ให้คนทุกคนได้มีที่ยืน ให้การถกเถียงถึงแนวคิดที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ ที่ไม่ได้หมายความว่าใครเป็นคนดีกว่าใคร ถ้าหากทำได้อย่างนี้แล้วเรื่องทางกฎหมายและทางการเมืองก็จะค่อยๆถ่วงดุลกันไป อะไรที่ไม่ยุติธรรมมากๆ จนคนทนไม่ได้ เขาก็จะรวมตัวกันสร้างมวลชนขึ้นมาเพื่อส่งข้อความไปที่ตัวแทนของประชาชน หรือ ส.ส. ให้ นำมาถกเถียง จัดการ ปรับปรุง โดยผ่านระบบรัฐสภา ก็เป็นไปตามกลไกไป ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ทุกสิ่งจะค่อยๆมุ่งหน้ากลับเข้าสู่ระบบกลไกที่มันควรจะเป็น