'หมอเหวง' มอบรายชื่อดีเอสไอสอบคำสั่งแต่งตั้งพลซุ่มยิง 39 คน

ข่าวสด 11 กันยายน 2555 >>>


วันที่ 11 ก.ย. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า วานนี้ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางเข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อมอบหลักฐานกรณีคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่ 9/2553 ลงนามโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ลงวันที่ 17 เม.ย.2553 กรณีการแต่งตั้งพลซุ่มยิงจำนวน 39 นาย ให้มาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการชุมนุมปี 2553 และ รายงานผลการสอบสวนการเสียชีวิตของ จ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ ซึ่งระบุว่าเสียชีวิตจากการถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิง เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2553 เวลา 01.00 น. บริเวณถนนสีลม
นพ.เหวง กล่าวว่า มี 2 เรื่องที่จะนำมามอบให้ดีเอสไอ คือตนได้รับเอกสาร 2 ฉบับจากนายทหารนอกราชการ มีสาระสำคัญในเอกสารฉบับที่ 1 เป็นการสั่งการตั้งพลยิงจำนวนทั้งสิ้น 39 นาย โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. ขณะนั้น จึงต้องการให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงจากเอกสารดังกล่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ หากจริง พลยิงดังกล่าวประจำที่ไหน วันเวลาอะไร ทำหน้าที่อะไร ผลการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างไร มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากการทำหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่ มีการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไปอย่างไร
นพ.เหวง กล่าวต่อว่า ส่วนเอกสารฉบับที่ 2 ที่มอบให้ดีเอสไอ เป็นการยืนยันการเสียชีวิตของ จ.อ.พงศ์ชลิตที่ถนนสีลม บริเวณโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ในวันที่ 17 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 01.00 น. โดยกล่าวหาว่าเป็นการถูกยิงจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งขัดกับรายงานของสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงเป็นการตายจากการยิงของทหาร จึงขอให้ดีเอสไอตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และหาผู้รับผิดชอบโดยเร็ว
นพ.เหวง กล่าวอีกว่า สำหรับแผนปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัวเกิดขึ้นก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏตัว นอกจากนี้หากคนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธมากมายจริง ทำไมในการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค. กลับมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเพียง 2 ราย ซึ่ง 1 ใน 2 รายมีรายงานข่าวว่าถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่เอง
   "ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภาพโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ และคลิปวิดีโอ ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ได้มีอาวุธร้ายแรงอยู่ข้างกายและจากผลการตรวจสอบทางการจนถึงวันนี้ ยังไม่มีรายงานว่าพบคราบเขม่าปืนในมือของผู้เสียชีวิตเลย อาวุธที่รัฐบาลบอกว่าร้ายแรงนั้น เท่าที่มีการบันทึกภาพไว้มักประกอบด้วย หนังสติ๊ก พลุ ตะไล ประทัดยักษ์ ระเบิดขวดที่ทำจากขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ท่อนไม้ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ไม่สามารถเทียบกับสิ่งที่อยู่ในมือทหารได้เลย คำถามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และกองทัพไม่เคยตอบให้กระจ่างเลยคือ เมื่อผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ทำไมพวกเขาจึงต้องถูกยิงจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส คนเหล่านั้นเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งหมดใช่หรือไม่" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าว
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลที่แล้วมั่นใจเรื่องผู้ก่อการร้ายจริง ก็ต้องติดตามหาหลักฐานแสดงให้ได้ว่าผู้ก่อการร้ายที่ว่านี้คือใคร มีจำนวนเท่าไร และผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้มีส่วนต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บรายใดบ้าง ไม่ใช่มาใช้วิธีตีขลุมเหมารวมโดยปราศจากหลักฐาน และการแยกแยะโยนทุกเรื่องให้ผู้ก่อการร้าย ทั้งที่หลายกรณีมีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ที่กำลังเล็งปืนเข้าใส่ประชาชนคือเจ้าหน้าที่ ดังเช่นคลิปภาพเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนาราม เมื่อเดือน พ.ค. 2553 ที่ปรากฏในโลกออนไลน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากนี้ นพ.เหวง ยังได้นำภาพถ่ายกระสุนปืนกลชนิดต่างๆ รวม 6 ชนิดที่ใช้ในสงคราม มาอธิบายให้สื่อมวลชนฟัง โดยระบุว่ากระสุนดังกล่าวบางชนิดมีลักษณะหัวสีเขียว และบางชนิดเป็นกระสุนนำวิถี ซึ่งคล้ายกับกระสุนที่พบในจุดเกิดเหตุช่วงสลายการชุมนุมปี 2553 รวมทั้งนำภาพถ่ายของพลแม่นปืน 2 นายที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณย่านบ่อนไก่ และเคยมาให้การกับดีเอสไอ ที่ระบุว่ากระสุนที่ใช้ยิงเป็น กระสุนยางหรือกระสุนปลอม ซึ่งเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง คืออาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ 2 นายนี้นำมาใช้ไม่สามารถใช้กับกระสุนยางได้ และหากใช้กระสุนยางจริงปากกระบอกปืนจะต้องติดอุปกรณ์ครอบปากกระบอกปืนไว้แต่ไม่มี ดังนั้นจึงต้องการให้ดีเอสไอสอบปากคำพลแม่นปืนนี้ให้ชัดเจนเพราะไม่เชื่อว่าใช้กระสุนปลอม
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวภายหลังรับมอบเอกสารคำสั่ง ศอฉ. ตั้งพลแม่นปืน 39 จาก นพ.เหวงว่า ข้อมูลดังกล่าวจะนำส่งคณะพนักงานสอบสวนที่ทำคดีนี้ ซึ่งขอยืนยันว่าดีเอสไอทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง ตามข้อกฎหมายที่ปรากฏ และข้อมูลที่ นพ.เหวง นำมาให้วันนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อคดี ทั้งนี้ ส่วนจะมีการสอบปากคำ นพ.เหวง หรือไม่นั้น คงต้องรอคณะพนักงานสอบสวนพิจารณาก่อน
   "ผมอยากให้สื่อมวลชนช่วยบอกประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ทุกคน ทำงานตรงไปตรงมา เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องโตในบ้านเมืองคงไม่มาทำเล่นๆ หรือ ตั้งธง หรือเข็มทิศ ซึ่งทำแบบนั้นไม่ได้ พนักงานสอบสวนคงไม่ยอมให้ตัวเองต้องมาติดคุกติดตะราง และเรื่องใหญ่ขนาดนี้คงมาทำเล่นๆ ไม่ได้ การทำคดีดังกล่าวนี้มี 3 ฝ่ายเข้ามาร่วมสอบ ประกอบด้วย ตำรวจนครบาล ซึ่งมี พ.ต.อ.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. มาร่วม ส่วนฝ่ายดีเอสไอ มี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และฝ่ายพนักงานอัยการ" นายธาริต กล่าว
นายธาริตกล่าวต่อว่า เมื่อมี 3 หน่วยงานเข้ามาร่วมสอบแบบนี้ ฉะนั้นคงไม่มีใครยอมใคร ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ตามกฎหมายล้วนๆ คดีที่กำลังทำอยู่นี้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และยืนยันพนักงานสอบคงไม่ทำตามใคร หรือทำให้ถูกใจคนใดคนหนึ่ง และในวันที่ 17 ก.ย. นี้ ศาลอาญาจะนัดอ่านคำสั่งคดีของ นายพัน คำกอง และคดีนี้จะเป็นปฐมบทนำไปสู่คดีอื่นๆ คงต้องจับตาดู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการสอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องใน ศอฉ. นั้น ในวันที่ 12 ก.ย. คณะพนักงานสอบสวนจะสอบปากคำนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นเลขานุการ ศอฉ. ในขณะนั้น ล่าสุดนายถวิลขอเลื่อนให้การเป็นวันที่ 27 ก.ย.
ด้าน นพ.เหวง กล่าวอีกว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเสียชีวิตของกลุ่มทหารมักจะไม่มีผลการชันสูตรพลิกศพออกมาให้เห็น และตนก็เป็นคนรักทหาร รวมทั้ง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตวันที่ 10 เม.ย. 53 จึงขอทวงถามกับดีเอสไอ เกี่ยวกับผลการสอบสวนและผลการชันสูตรพลิกศพของ พ.อ.ร่มเกล้า และทหารนายอื่นๆ ด้วยว่าเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนชนิดไหน แบบใด
นพ.เหวง กล่าวต่อว่า ส่วนกระสุนปืนที่กองทัพ ใช้อยู่ในปัจจุบัน และช่วงปี 2553 มีอยู่ 2 ชนิด คือ กระสุนสังหารทั่วไปหัวสีเขียว แบบเดียวกับที่เจ้าหน้าที่เบิกมาใช้ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนาราม ใช้ในปืนเอ็ม 16 เอ 2 ถึงเอ็ม 16 เอ 4 (เอ็ม 16 รุ่นใหม่) และทาโวร์ เพราะเชื่อว่าหัวกระสุนหนักกว่าจะมีอำนาจทำลายสูงกว่า และกระสุนอีกชนิดเป็นกระสุนสังหารและส่องวิถี เวลายิงไปจะเป็นลำแสงว่าไปทิศไหน เป็นกระสุนรุ่นใหม่สำหรับใช้ในปืนเอ็ม 16 เอ 2 (เอ็ม 16 รุ่นใหม่) และทาโวร์ ส่วนกระสุนยางนั้นไม่มีใช้ในกองทัพ และหากมีก็ไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกับอาวุธปืนเอ็ม 16 หรือทาโวร์ได้เพราะมีความร้อนสูงร่วม 1,000 องศา กระสุนยางละลาย ดังนั้น คำให้การของพลแม่นปืนขัดกับข้อเท็จจริง
เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 10 ก.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรอง นายกฯ กล่าวถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จะตรวจสอบเรื่องการเบิกจ่ายกระสุน ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีการพูดถึงการตั้งข้อหาเจตนาฆ่า ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 ว่า เป็นเรื่องที่ตนทำใจเอาไว้แล้ว เมื่ออำนาจบริหารบ้านเมืองเปลี่ยน มีข้าราชการบางส่วนที่เปลี่ยนไปด้วย ตนเป็นรองนายกฯ มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง ปลอดภัยของบ้านเมือง เมื่อมีคนก่อเหตุร้าย ก่อการจลาจล มีคนเอาอาวุธสงครามมาประทุษร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน ตนก็ต้องแก้ไขสถานการณ์
   "หากการทำงานตามหน้าที่ของผมจะต้องถูกพลิกกลับมาให้เป็นจำเลย ก็พร้อมสู้คดีและไม่หวั่นไหว ฉะนั้นดีเอสไอ หรือตำรวจที่มีปัญญาคิดสารพัดวิธี เพื่อจะรับใช้ผู้มีอำนาจขอเชิญถาโถมมาได้ ผมพร้อมรับสภาพอยู่แล้ว และไม่หนีไปต่างประเทศอย่างแน่นอน" นายสุเทพกล่าว
เมื่อถามว่าคดีดูเหมือนเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิม จะมีการสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาใหม่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเขาสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาใหม่หรือไม่ แต่มั่นใจในข้อเท็จจริง หลักฐานของจริงที่เรามีอยู่ และมั่นใจว่าเราจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงความจริงจากผู้ที่มีอำนาจอยู่ในมือในขณะนี้ได้หรือไม่นั้น คิดว่าความจริงเปลี่ยนไม่ได้ ไม่ว่าจะมีเจตนาบิดเบือนไปอย่างไรก็ตาม วันนี้ก็เช่นกันหากเอาเหตุการณ์ปี 2553 มาบิดเบือน เราก็ต้องเอาข้อเท็จจริงมาสู้
ที่สโมสรทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเปิดเผยเอกสารของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ โดยนายสุเทพเป็นคนลงนามก่อนนำมาสู่การตั้ง 39 พลยิงว่า อย่าตื่นเต้นกับเรื่องดังกล่าวให้มาก ซึ่งเวลาการทำงานหากดูแล้วไม่ปลอดภัยเขาก็ต้องเตรียมพร้อมของทุกหน่วยงานแต่จะใช้หรือไม่ใช้ก็ต้องว่ากันอีกทีตามสถานการณ์ ที่มีปัญหากันทุกวันนี้ก็เพราะพลยิงเฝ้าระวัง นั่นก็ต้องไปว่ากันในศาล อย่าให้เป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้เป็นพลซุ่มยิงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าสถานการณ์ลุกลามบานปลายไปอีกระดับหนึ่ง แล้วจะให้ทำอย่างไร จะไม่ให้เตรียมความพร้อมบ้างเลยหรือ ไม่เตรียมคนเหล่านี้ไว้ต่อสู้หรือป้องกันหรืออย่างไร แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นก็จบ ก็ให้ไปว่ากันในศาลในเรื่องความผิดหรือถูกมาตอบโต้กันทางสื่อไม่เป็นประโยชน์ ตนไม่เห็นว่าประเทศชาติจะได้อะไร
เมื่อถามว่ามีความเป็นห่วงหรือไม่ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษมาสอบสวนทหาร แต่ไม่ติดตามเรื่องชายชุดดำ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กองทัพได้ทวงถามไปแล้ว และก็ได้คำตอบมาว่ากำลังติดตามอยู่ ตนว่าไม่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ก็จะต้องดูทั้งสองฝ่าย วันนี้ทางดีเอสไอบอกว่าทำตามคำร้องเดี๋ยวก็จะมีคนไปร้องอีกและก็จะมีการสอบกันอีก สอบกันไปมาอย่างนี้นี่คือกฎหมายไทย ก็ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน อย่าไปเร่ง ถ้าเร่งมากๆ ก็จะเกิดความวุ่นวาย เดี๋ยวหน่วยงานก็จะทะเลาะกัน แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรว่ากันไปตามขั้นตอน ตนไปไม่ได้ไปปิดบังใครทั้งสิ้น