คณะทำงานพรรคร่วม รบ. "ชุดโภคิน" เดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้ข้อสรุป พ.ย. นี้ ม.เที่ยงคืน เสนอ 4 ข้อสำคัญ

มติชน 25 กันยายน 2555 >>>


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มีนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา เป็นประธานคณะทำงานได้นัดประชุมคณะงานที่พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) โดยมีคณะทำงานเข้าร่วมประชุม อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองประธานคณะทำงาน นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย (พท.) นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จากพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายนิกร จำนง จาก ชทพ. นายประเสริฐ บุญชัยสุข ส.ส.นครราชสีมา จาก ชพน. นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล นายวราเทพ รัตนากร เลขานุการคณะทำงานรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุจำเป็นที่ต้อง แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย เป็นต้น
โดยเชิญนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ เข้าร่วมหารือ ทั้งนี้ มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรค ชพน. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมให้การต้อนรับด้วย
นายโภคินแถลงว่า ที่ประชุมเห็นตรงใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และเมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต้องทำประชามติให้ประชาชนเห็นชอบ
2. ต้องเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้เพิ่มเติม ที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 ส่วนจะลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เมื่อใด ต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจและรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อน รวมถึงต้องให้ได้ข้อสรุปเรื่องการทำประชามติว่าจะทำก่อนหรือหลังการยกร่างรัฐธรรมนญ
3. เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องตอบโจทย์ 3 ข้อ ได้แก่
   1. ความเป็นประชาธิปไตยต่อการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
   2. การดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และ
   3. แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้คณะทำงานจะสรุปความเห็นทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อเสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาล ขณะนี้คณะทำงานได้เปิดช่องทางรับฟังความเห็นของประชาชน ผ่านเว็บไซต์ www.thaipeopleconsituion.com และตู้ ปณ.291 ราชเทวี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการร่วมประชุมดังกล่าว นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องการสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยต่อที่ประชุมว่า ในความเห็นที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไม่ควรจำกัดขอบเขตเฉพาะการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง เพราะจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่วางอยู่บนปมของความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ เกิดการคัดค้านและต่อต้าน ดังนั้น ม.เที่ยงคืนมีประเด็นที่เสนอให้พิจารณา คือ
1. ต้องปรับโครงสร้างของสถาบันทางการเมือง ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยต้องมีการยอมรับอำนาจของสถาบันการเมืองที่มาจากระบบเลือกตั้ง และจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจทางการเมือง ส่วนองค์กรอิสระต้องปรับโครงสร้างการทำงานให้มีความสัมพันธ์และความรับผิด ชอบต่อประชาชน
2. ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงยอมรับสิทธิในการปกครองของท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้เกิดการตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงอำนาจการจัดสรรทรัพยากร การเลือกตั้งผู้นำของตนเอง นอกจากนั้นควรยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและคงไว้เพียงราชการส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น
3. สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการให้สิทธิขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นอย่างเท่าเทียม
4. ต้องมีการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในด้านกระบวนการ ยุติธรรมและให้ได้รับความคุ้มครองจากรัฐในแง่ของการถูกละเมิดสิทธิ นอกจากนั้น ต้องให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนต่อสถาบันการเมือง
สำหรับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจของประชาชนอย่างกว้างขวางจากทุก ฝ่าย อาทิ จัดให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้ง และรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะให้ประชาชนมีการลงมติ