สุชาติ นาคบางไทร: ทฤษฎีว่าด้วยนักโทษ ม.112 หลังพระราชทานอภัยโทษ

ประชาไท 6 กันยายน 2555 >>>




อดีตนักโทษยันไม่มีใครชนะคดี ม.112 เสนอให้เลือกยอมรับ ถึงแม้จะบริสุทธิ์ก็จะได้ลดโทษครึ่งหนึ่งและตัดสินทันที ไม่ต้องยืดเยื้อรอ ย้ำประชาธิปไตยจะต้องมีที่ยืนให้กับคนทุกกลุ่ม

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.55 ที่ผ่านมาทางรายการประกายทอล์ค ซึ่งเผยแพร่ทางเวปไซต์ konthaiuk.com ได้สัมภาษณ์ สุชาติ นาคบางไทร หรือนายวราวุธ (สงวนนามสกุล) ซึ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 55 จากการพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2555  เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม โดยนายวราวุธถูกศาลพิพากษา จำคุก 6 ปี จากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ซึ่งนายวราวุธให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 3 ปี แต่รวมเวลาที่อยู่ในเรือนจำก่อนได้การอภัยโทษทั้งสิ้น 1 ปี กับเกือบ 10 เดือน ซึ่งสุชาติ นาคบางไทร ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการดังกล่าวว่า หลังจากได้รับอภัยโทษ ขณะนี้กำลังตั้งหลักปรับตัวหลังจากห่างหายชีวิตอิสรภาพไปนาน

สภาพในเรือนจำ

สำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วนนี่ แนะนำที่นี่เลย เพราะ 2 สัปดาห์แรก ลดไป 11 กิโลกรัม จิตใจสภาพร่างกาย สภาพแวดล้อม ทุกอย่างเอื้ออำนวยให้น้ำหนักลดมาก อาหารการกินไม่ต้องคิดว่าจะอร่อย สิ่งเดียวที่เราได้รับ คืออาหารที่สะอาดและถูกหลักอนามัย แต่เรื่องที่กลัวก่อนจะเข้าไป กลับไม่ได้พบเลย ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับนักโทษคนอื่นๆ ไม่ได้พิเศษหรือแย่กว่าใคร

ความสัมพันธ์กับอากง (SMS) ขณะที่อยู่ในเรือนจำ

ได้มีโอกาสคุยกับอากง ตอนแรกก็ไม่รู้จักกัน แต่คุณธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดม หรือ หนุ่ม แดงนนท์ เขาจะเป็นคนที่รวบรวมนักโทษทางการเมืองและนักโทษ ม.112 ให้มาได้รู้จักกัน อากง เป็นคนพูดน้อยและดูแววตาแล้วจะเศร้าอยู่ตลอดเวลา ส่วนตนเองก็ยังมีอารมณ์อื่นบ้าง อากงยังดูเหนื่อย มีสภาพร่างกายที่แก่กว่าอายุมาก เมื่อเทียบกับพี่สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งอายุมากกว่าอากง แต่แข็งแรงและกระฉับกระเฉงมาก ซึ่งตอนที่อยู่ในคุกนั้น ไม่ค่อยได้คุยกับใครมากในเรื่องคดีหรือการเมืองเพราะไม่ทราบว่าแต่ละคนที่เข้ามา เข้ามาด้วยเหตุผลอะไร หรือมีเหตุผลอื่นแอบแฝงด้วยหรือไม่ ส่วนมากจะคุยในเรื่องทั่วๆไป

การเคลื่อนไหวหลังจากออกจากเรือนจำ

เดิมทีไม่ได้มีแนวที่ชัดเจนเท่าไหร่ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเรา (กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ) เป็นการเคลื่อนไหวที่งดงามมาก เป็นการเคลื่อนไหวของคนที่ตกลงกันกลุ่มใหญ่ แบ่งงานกันทำตามใจอาสา ในแง่ที่เราไม่ชอบการปฏิวัติรัฐประหารการฉีกรัฐธรรมนูญ เราคิดไว้แบบไหน เราก็ยังคิดเช่นเดิม แต่จะทำอย่างไรนั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เราเคลื่อนไหวกันหลายคน ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับเพื่อนเก่าๆของเรา ว่าจะมีความคิดอย่างไร แต่ส่วนตัวยังเหมือนเดิม

ความช่วยเหลือในเรือนจำ

ช่วงที่เข้าไปนั้นมีแกนนำ 8-9 คนอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพก่อนแล้ว และกระจายกันอยู่ทุกแดน ดังนั้นความที่เคยกลัวเรื่องร้ายๆ ก่อนเข้าไปในนั้นกลับไม่พบเลย อาจเป็นเพราะว่ามีแกนนำเหล่านั้นคอยเป็นหูเป็นตาให้อยู่แล้ว หรือว่ามีคนสนใจนักโทษคนอื่นๆ ก็เลยรอดปลอดภัย
คดีของผมเป็นคดีที่มีน้อยคนอยากจะเป็นเพื่อนหรือถูกมองว่าเป็นพวกเป็นฝ่ายเดียวกัน เราจึงไม่ได้มุ่งหวังว่าจะต้องมีใครดูแล เราไม่ได้อาสาใครมาติดคุก เราทำตัวเราเอง ในเมื่อเราทำผิดกฎหมาย เราก็ได้รับโทษ เราก็ถูกจองจำให้เป็นทุกข์ในคุกนั้นถูกต้องแล้ว ถ้าเราถูกจองจำแล้วได้รับความสุข มันก็ไม่ใช่คุก ดังนั้นการที่ตนเองไปติดคุกนั้น ถูกต้อง ไม่ได้โหยหาเรียกร้องว่าใครจะต้องมาดูแล ดังนั้นถ้าจะไม่มีใครดูแล ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะไม่มีใครสั่งให้ผมไปติดคุก เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ต้องให้โอกาสกับบุคคลอื่นที่ร่วมต่อสู้กันมา เขาก็ต่อสู้ในอุดมการณ์ของตนเอง ก็คงไม่มีเวลามาดูแลเรา

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ ม.112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เป็นเรื่องซับซ้อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับหลายฝ่าย ดังนั้นมันมีถูกมีผิดทั้ง 2 ด้าน ถ้าจะบอกว่า การรับโทษของผมเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ก็อาจจะถูกต้อง เพราะศาลพิจารณา เราก็ยอมรับสารภาพว่าทำผิด เพราะฉะนั้นติดคุกมันก็ถูกต้องนี่คือมองในแง่กฎหมาย แต่ในแง่ของการต่อสู้เคลื่อนไหวของเรา เนื้อหาจริงๆ ของเรา คือเราออกมาต่อต้านการรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญโดยพลการ และเราเป็นประชาชนออกมาต่อต้าน ถ้าเรื่องแบบนี้ คนๆ หนึ่งออกมาต่อต้านการรัฐประหารแล้วต้องติดคุกนี่ไม่น่าจะถูกต้อง แต่หลังจากที่เราออกจากคุกแล้ว เรากลับเข้าใจและให้อภัย ไม่ใช่เพราะเราเก่งหรือทำใจได้  เราเข้าใจว่า ในประเทศนี้มีคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้แบบนี้ และมีมาก่อนพวกเรา มีหลายคนอยู่ประเทศไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะทำอะไรที่หมิ่นเหม่หรือผิดต่อกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

การเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการปรับแก้หรือยกเลิก ม.112

มีความคิด 2 ด้าน คือทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นด้วยแสดงว่า เราเป็นประเทศประชาธิปไตย นั่นต้องไม่มีกฎหมายประเภทนี้เลย แต่ประเทศไทยเราเป็นประชาธิปไตยแบบที่เราเห็นอยู่ เพราะฉะนั้นการที่มีกฎหมายนี้อยู่ จึงเป็นหลักฐานในทางประวัติศาสตร์สำหรับอนาคต เพราะฉะนั้นการมี ม.112 เป็นสิ่งยืนยันว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมีประชาธิปไตยแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนที่เกี่ยวข้องกับมาตรานี้ เมื่อรู้ว่าในอนาคตประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ก็ควรยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ หรือผลักดันให้เข้าที่เข้าทางโดยที่เราไม่ต้องเรียกร้อง

ม.112 กับสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง

ม.112 เป็นสิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยไม่ควรมี เพราะทุกคนเท่าเทียมกันหมด เมื่อทุกคนเท่าเทียมกันหมดก็ไม่ต้องมีมาตราอะไรที่เป็นพิเศษอย่างนี้ แล้วทุกคนจะไม่สนใจมาตรานี้

ว่าด้วยนักโทษ ม.112 กับแนวทางการต่อสู้ของคนที่โดนคดี

การต่อสู้ในคดีนี้เป็นประเด็นลำบากใจของนักโทษในปัจจุบัน เพราะต้องตั้งคำถามว่า จะเอาอย่างไรดี จะสู้ก็มีเหตุผล ไม่สู้แล้วรับสารภาพก็มีเหตุผล คดีนี้ลองศึกษาในประวัติศาสตร์ การต่อสู้คดีในชั้นศาล เหมือนมีธงไว้แล้ว ดังนั้นเราต้องแยกนักโทษออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ ไม่ได้ทำผิด เขาก็ต้องสู้ สู้เพื่อยืนยันว่า สิ่งที่เขาทำมันไม่ผิด แต่ในประวัติศาสตร์มีใครสู้แล้วชนะบ้าง
ทฤษฎีบทที่ 1 ไม่มีใครชนะคดี ม.112 เลย
ทฤษฎีบทที่ 2 ถ้าคุณจะสู้ เพราะมีความบริสุทธิ์ใจ ก็สู้ไป แต่ในที่สุดก็จะไปเข้าทฤษฎีบทที่ 1 อยู่ดี แม้ว่าจะคิดว่าตัวเองบริสุทธิ์อย่างไร คดีนี้สู้ไปไม่มีใครชนะ และจะโดนลงโทษเต็มๆ
ทฤษฎีบทที่ 3 แล้วถ้าคุณยอมรับล่ะ (ถึงแม้จะบริสุทธิ์) ก็จะได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง ตัดสินทันที ไม่ต้องยืดเยื้อรอการไต่สวน หรือรออะไรทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น มีทฤษฎีบทอยู่ 3 ทฤษฎี ในมาตรา 112 แล้วแต่ว่าใครจะเลือกบทไหน ซึ่งจะไม่ขอก้าวก่ายวิจารณ์เลย เพราะมีนักต่อสู้บางท่านบอกว่า “ชีวิตนี้ขอมอบให้กับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าชีวิตจะหาไม่ ก็จะต่อสู้” นั่นคือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกคุมขังอยู่ เขาก็ยังยืนยันแบบนี้ ผมก็บอกไปว่าเมื่อก่อนคดี ม.112 จะมีโทษระหว่าง 3-15 ปี แต่ดูจากประวัติ คนที่เคยโดนคดีนี้จะถูกยกมา 6 ปี คือใครโดนคดีนี้ก็รับไป 6 ปีก่อน ถ้ารับสารภาพจะลดลงครึ่งหนึ่งจาก 6 ปีเหลือ 3 ปี แต่ถ้าไม่รับ แล้วต่อสู้ไม่ชนะ จะโดนโทษ 6 ปี
แต่มีข่าวดีสำหรับผู้ที่อาจมีโอกาสพลาดไปเป็นนักโทษคดี ม.112 เพราะตั้งแต่อากง SMS โดน โทษที่ได้รับ ไม่ใช่ 6 ปี แต่เหลือ 5 ปี คือถ้าใครสู้คดีแล้วแพ้ ก็จะตัดสิน 5 ปี เพราะฉะนั้น ถ้าใครรับ จะได้รับโทษครึ่งหนึ่ง คือ 2 ปี 6 เดือน เหมือนกรณีคุณโจ กอร์ดอน ดังนั้นขณะนี้อัตราโทษลดลงแล้ว
สำหรับผม ใช้ทฤษฎีบทที่ 3 คือ ไหนๆ ก็สู้ไม่ได้แล้ว ขอรับสารภาพแล้วลดโทษครึ่งหนึ่ง เป็นโปรโมชั่นที่ผมเลือก แต่คุณสมยศ ไม่เลือก ตรงนี้ก็ต้องเคารพ
ขณะที่ผมเลือกโปรโมชั่นในทฤษฎีบที่ 3 แล้ว พอเข้าไปในเรือนจำ ยังมีอีก 2 โปรโมชั่นใหญ่ๆ คือโปรฯแรก ได้ลดโทษไปอีก 9 เดือน และโปรฯที่ 2 ได้ลดไปอีก 5 เดือน ดังนั้นจากเดิมที่ติด 36 เดือน จึงเหลือแค่ 22 เดือน
สำหรับการหนีคดีก่อนหน้าถูกจับนั้น ไม่ถือเป็นโปรโมชั่น เพราะขณะนั้นชีวิตสบสนวุ่นวาย ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่มีจุดเปลี่ยนคือ คดีของคุณสุวิชา ท่าค้อ ได้รับพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายจนได้ออกไป เท่าที่ทราบ คดีของคุณสุวิชา โทษประมาณ 10 ปี แต่จำคุกประมาณปีเศษๆ ถือเป็นข่าวที่น่ายินดีมาก จึงได้คิดแบบบัญญัติไตรยางค์ว่า ถ้าเทียบกับคดีตนเอง โทษคงเหลือไม่กี่เดือน ผมจึงคิดว่า ติดคุกไปเลยดีกว่า เพราะถ้าหนีต่อไป จะต้องใช้เวลา 20 ปี แล้วยังเป็นไปได้ที่ปีที่ 19 จะโดนจับอีก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นยิ่งแย่ แต่ถ้าเราติดคุกแล้วก็มีโอกาสที่จะถูกดำเนินการแบบคุณสุวิชา ซึ่งมีความเป็นไปได้ จึงเลือกเข้ามาติดคุก

การเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้-ทอล์คโชว์

โครงการนี้คิดขึ้นมาจากนักโทษ 112 ด้วยกัน ในขณะนอนคุยในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คือคิดว่า ถ้าเราออกจากคุกแล้วไปทำมาหากินเฉยๆ เงียบๆ ไป สิ่งแรกคนที่มาเยี่ยม มาช่วยบริจาคสนับสนุนเรา เขาคงผิดหวัง ที่เขากล้าให้เพราะเขาเชื่อว่า เขาฝากประชาธิปไตยกับผมได้ ดังนั้นจึงต้องซื่อสัตย์ต่อความคิดนี้ของผู้สนับสนุน อีกเหตุผลคือ เราจะต้องพูดถึงนักโทษ 112 ในแง่ของความจริง แล้วพูดให้สนุก พูดกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ตลกอาจเล่นในคาเฟ่ได้ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยต้องระมัดระวัง แต่ก็ต้องรู้ว่า จะพูดอย่างไรถึงพูดได้ ดังนั้นจึงต้องพูดให้เป็นตัวอย่าง พูดให้เป็นเรื่องธรรมดาและไม่ผิดกฎหมาย ถ้าเราไม่กล้าพูด คนอื่นก็ไม่กล้า หรือไปพูดในมุมมืดแทน ถ้าเรายังใช้ประชาธิปไตยเรื่องนี้ต้องพูดได้ แต่ก็ต้องไม่ก้าวล่วงใคร ไม่ผิดกฎหมาย และประการสำคัญที่ต้องจัด เนื่องจากผมไม่มีรายได้และเงินทุนในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
บัตรมี 2 ราคา คือ 112 บาท และสำหรับคนที่มีเงินมากหน่อยคือ 2,000 บาท ซึ่งคาดไว้ว่าน่าจะมีประมาณ 50 คนที่จ่ายในราคานี้ เรื่องวันจัดนั้น ต้องใช้เวลาในการเตรียมการก่อน คิดว่าจะทำให้เป็นแบบมืออาชีพ จึงต้องเตรียมการทั้งเนื้อหา ความสนุกและข้อกฎหมาย ทุกคนสามารถฟังได้ แม้กระทั่งฝ่ายตรงข้าม คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 3 พ.ย.55 นี้ ตรงกับวันแรกๆ ในปี 2549 ที่กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการเกิดขึ้นที่สนามหลวง มีการจัดการปราศรัย จึงเป็นวันรำลึกถึงกลุ่มที่ได้ต่อสู้มาด้วย ส่วนสถานที่ต้องประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมอีกที คาดว่าจะใกล้สนามหลวง ซึ่งตนเองคิดไว้เพียงไม่น่าจะเกิน 150 คน แต่เพื่อนในเรือนจำ คือคุณหนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ และคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประเมินไว้ 500 คน

เกี่ยวกับกลุ่ม ‘คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ’

จะไม่มีใครปรากฏตัวว่าเป็นใคร มีแต่ผลงานที่ปรากฏ และขณะนั้นสมาชิกแต่ละคนก็ไปทำกิจกรรมในหลายๆ ส่วน อย่าสนใจว่าเราเป็นใคร แต่ควรสนใจว่า เราทำอะไร และเราได้ประชาธิปไตยแล้วหรือยัง เป้าหมายของกลุ่มคนวันเสาร์ฯ ในปี 49 คือต่อต้านการทำรัฐประหาร แสดงให้คณะรัฐประหารเห็นว่า มีคนเดือดร้อนจากการทำรัฐประหาร และเร็วๆ นี้จะมีการเชิญสมาชิกกลุ่มคนวันเสาร์ฯมาร่วมพูดคุยกัน มาพบปะและสรุปบทเรียนที่เคยเคลื่อนไหวกันมา

ความเห็นต่อวาระครบ 6 ปีการรัฐประหาร

เป็นการดีที่เราจะได้รำลึกถึงสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ส่วนผมและสมาชิกกลุ่มคนวันเสาร์นอกจากจะมีการพบปะพูดคุยกัน กลุ่มคนวันเสาร์จะเป็นกลุ่มนำที่จะเริ่มการปรองดอง ด้วยการเริ่มจากคนในกลุ่ม เพราะกลุ่มมีความหลากหลายมาก ถ้าเราสามารถปรองดองกลุ่มของเราได้ เราก็จะสามารถปรองดองสังคมที่ใหญ่ขึ้นได้ วันนี้ภาระของเราไม่ใช่แค่ต่อต้านรัฐประหาร แต่เราต้องการนำประชาธิปไตยมาให้กับประเทศนี้
เราได้รัฐบาลนี้มาภายใต้ความคลุมเครือ แม้จะให้มีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่ได้ก็ทำงานได้ลำบาก คนที่ทำรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ยังเดินไปเดินมาในสภา ทั้งๆ ที่เป็นนักโทษประหาร มันถูกต้องหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นถ้าผมรวบรวมคนแล้วยึดประเทศได้จะเป็นอย่างไรบ้าง ผมโดนแค่คดีเล็กๆ แต่ประเทศไทยเดินไม่ได้มา 4 ปี ส่วนคนทำรัฐประหารกลับไปไหนมาไหนได้สบาย แสดงว่ามันมีอะไรที่พิเศษพิสดารอยู่
ทราบดีว่าทุกคนต้องการประชาธิปไตย แต่การเป็นประชาธิปไตยต้องมีที่ยืนให้ฝ่ายตรงข้ามด้วย เรามาพูดว่า ใครไม่เห็นด้วยกับเราก็ต้องเชิญไปต่างประเทศ ใครไม่เห็นด้วยกับเรา ต้องไปเกิดใหม่ อันนี้ไม่ใช่ ประชาธิปไตยต้องไม่พูดคำนี้
เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำนี้เมื่อไหร่ แสดงว่ายังไม่มีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยในฝากฝั่งของเรา จะต้องมีที่ยืนให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกสถาบัน อะไรที่มีแล้วมาเป็นประโยชน์ต้องรักษาไว้ อะไรที่มีแล้วมาไม่เป็นประโยชน์ก็ต้องระงับหรือยุติไป เราต้องมากับประชาชนด้วยกัน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่คุยกัน 2 คนแล้วมากำหนด มันไม่ใช่ เมื่อทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ แต่ประเทศไม่ได้มีเราเพียงคนเดียว เราเป็นหนึ่งในนั้น จึงต้องรู้ร้อนรู้หนาว