คอป. แนะแก้ไข รธน. ต้องไม่รีบร้อน-แก้ ม.112

กรุงเทพธุรกิจ 15 กันยายน 2555 >>>




คอป. เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่รีบร้อนจัดสานเสวนาเพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านและเกิดการมีส่วนร่วม ส่วน ม.112 ต้องแก้ไขให้เหมาะสม

รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก.ค 53-ก.ค 55 ที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมืองและจะนำเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันที่ 17 ก.ย. นี้ ในส่วนที่ 5 ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะนั้น มีหลายประเด็นที่น่าสนใจทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ, มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูง, ข้อเสนอต่อสถาบันตุลาการ รวมทั้งข้อเสนอะแนะต่อกองทัพในยามที่บ้านเมืองเกิดความไม่สงบขึ้นด้วย
ทั้งนี้ คอป. ระบุว่า มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและอาจทำให้ความขัดแย้งบานปลายได้ คอป. จึงมีข้อเสนอแนะว่า ในระหว่างที่ประเทศชาติประสบปัญหาความแตกแยกเช่นนี้ การผลักดันเพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วนโดยที่ประชาชนยังมิได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน และไม่เข้าใจกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง ได้สร้างบรรยากาศของความเคลือบแคลงใจต่อการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีฝ่ายที่เห็นว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงได้
ทั้งนี้ คอป. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการที่เกิดขึ้นและเพื่อแสวงหาฉันทามติร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง สามารถเข้าใจประเด็นปัญหาและความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ติดตามตรวจสอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้จริง ตลอดจนให้ข้อคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้
รายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า ในการเสริมสร้างความมีส่วนร่วมดังกล่าว คอป. เห็นว่า รัฐต้องจัดให้มีเวทีสาธารณะหรือสานเสวนาเพื่อให้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหาและควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลรอบด้านจากมุมมองที่หลากหลาย และสามารถพิจารณาผลดีผลเสียรวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบก่อนมีกระบวนการลงประชามติเพื่อรองรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่อาจจัดทำขึ้นในอนาคต โดย คอป. เชื่อมั่นว่ากระบวนการดังกล่าวจะทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของโดยแท้จริง
คอป. ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีการระวางโทษในอัตราที่สูงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่มีความชัดเจนในขอบเขตที่เข้าข่ายตามกฎหมายและยังเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีได้ ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือกำจัดศัตรูในทางการเมือง คอป. จึงหวังให้รัฐบาลและรัฐสภาร่วมกันการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยศึกษานโยบายทางอาญาของประเทศต่างๆ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย
นอกจากนี้ คอป. ยังมีข้อเสนอะแนะต่อสถาบันตุลาการอีกด้วย โดย คอป. ระบุว่า มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่บทบาทและการทำหน้าที่ขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากต้องวินิจฉัยคดีที่มีลักษณะให้คุณให้โทษในทางการเมือง คอป. จึงขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรตุลาการจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการธำรงรักษาไว้ซึ่งศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชน เพราะการเสื่อมศรัทธาต่อองค์กรตุลาการอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความวุ่นวายจากการเรียกร้องชุมนุมหรือการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งกระทบต่อความสงบสุขมั่นคงของประเทศและอาจยกระดับไปสู่ความรุนแรงได้
   "คอป. เห็นว่า องค์กรตุลาการต้องพิจารณาพิพากษาคดีโดยชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมาย มีความเที่ยงธรรม ยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หลักความเป็นกลาง หลักนิติธรรม หลักทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย และต้องไม่มีความเห็นล่วงหน้าเกี่ยวกับคดีหรือคู่กรณี การวินิจฉัยคดีจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยปราศจากความลำเอียงหรืออคติ "
นอกจากนี้ คอป. ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทหาร  โดยระบุว่า การแทรกแซงทางการเมืองของทหารโดยเฉพาะการรัฐประหาร ส่งผลให้สังคมไทยมิได้เรียนรู้ที่จะจัดการวิกฤตการณ์ทางการเมืองตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตยและสร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มคนที่เห็นว่าอำนาจอธิปไตยของตนถูกคุกคามจากการโค่นล้มรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ลุกลามบานปลายเมื่อมีการใช้กำลังทหารซึ่งไม่ได้รับการฝึกฝนในการจัดการควบคุมการชุมนุมและมีศักยภาพในการใช้ความรุนแรงมาสลายการชุมนุม จนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอันนำมาซึ่งความสูญเสียและเสียหายเป็นอันมาก เพื่อเป็นหลักประกันว่าทหารจะไม่เป็นปัจจัยที่กระทบต่อเสถียรภาพในทางการเมืองอันอาจนำมาซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงในอนาคต
คอป. จึงมีข้อเสนอแนะว่า ให้รัฐบาลกำหนดห้ามมิให้ทหารดำรงตำแหน่งทางการเมืองและให้ทหารยุติบทบาทในการเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงทางการเมืองไม่ว่าในทางใด เช่น การใช้อิทธิพลกดดันนโยบายของรัฐบาล การข่มขู่ว่าจะใช้กำลังหรือยึดอำนาจ เป็นต้น
   "รัฐต้องลดบทบาทของทหารในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมฝูงชนหรือการสลายการชุมนุมซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมการควบคุมการชุมนุมตามหลักการสากลโดยเฉพาะ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่น การประกาศใช้กฎอัยการศึก การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ซึ่งให้ทหารมีบทบาทในการจัดการกับสถานการณ์อันไม่ปกติ จะต้องเป็นไปอย่างจำกัดเท่าที่จำเป็นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น เสรีภาพในการชุมนุม จึงไม่ควรนำมาใช้กับการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของประชาชนตามกรอบของกฎหมาย"