เริ่มต้นนับ 1 ความจริง 98 ศพ

ข่าวสด 23 กันยายน 2555 >>>




คดี 98 ศพอันเป็นผลจากคำสั่งใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553
กลับมาได้รับความสนใจจากประชาชนในสังคมอีกครั้ง ทันทีที่ศาลอาญามีคำสั่งในคดีชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง ว่า เป็นการเสียชีวิตจากกระสุนปืนของทหาร ระหว่างปฏิบัติการกระชับวงล้อมขอคืนพื้นที่ตามคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
คดี นายพัน คำกอง เป็น 1 ใน 36 สำนวน ที่พนักงานสอบสวนและอัยการตั้งเรื่องเสนอต่อศาลไต่สวนว่า เป็นการเสียชีวิตจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้คำสั่งศาลในคดีได้รับการคาดหมายว่า อาจเป็นบรรทัดฐานคดีที่ยังเหลืออีก 35 สำนวน
โดยเฉพาะคดีของ "น้องอีซา" ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ เด็กกำพร้าสถานสงเคราะห์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในสถานที่เกิดเหตุเดียวกับนายพัน คำกอง
รวมถึงกรณี "ลุงหนังสติ๊ก" นายชาญณรงค์ พลศรีลา ซึ่งรูปคดีค่อนข้างแน่นหนาว่า เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ตาย โดยศาลจะเปิดไต่สวนพยานนัดสุดท้ายวันที่ 1 คาดว่าเป็นคดีที่ 2 ต่อจากนายพัน คำกอง
ในสภาพการเมืองไทยที่แบ่งสีแบ่งฝ่ายขัดแย้งกันชัดเจน แน่นอนว่าคำสั่งศาลในคดีนายพัน คำกอง จะต้องถูกฝ่ายหนึ่งนำมาเป็นสารตั้งต้น ในการขยายผลไปยังแง่มุมอื่นๆ ไม่ว่าการตั้งสำนวนใหม่ คดี "ฆาตกรรม" และ "พยายามฆ่า" เพื่อเอาผิดกับผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งปฏิบัติการกระชับวงล้อม จนนำมาสู่การสูญเสียชีวิต ประชาชนผู้บริสุทธิ์
การขยายผลคดีนายพัน คำกอง ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่พยายาม ขยายผลรายงานสรุปของ คอป. เกี่ยวกับเรื่องชายชุดดำ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง จึงอยู่ที่ว่าระหว่างคำสั่งศาลกับรายงานสรุปของ คอป.
สิ่งใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากันรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. เกี่ยวกับการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นวิทยาศาสตร์มากพอจะยืนยันข้อสรุปเรื่องชายชุดดำ
ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลและ ศอฉ. ในขณะนั้น กลับขาดการตรวจสอบอย่างจริงจัง
ไม่มีการศึกษาหาข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้กำลังพลซุ่มยิง หรือ "สไนเปอร์" ประจำการตามยอดตึกสูง ทั้งที่มีภาพถ่ายหลักฐานเกลื่อนเว็บไซต์และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ยืนยันถึงการมีอยู่จริง แต่ไม่มีการหยิบมาใช้
รวมถึงการเปิดเผยเอกสารคำสั่งของ คอป. ที่ได้แต่งตั้งการ์ดพันธมิตร และคนสนิทแกนนำพันธมิตร เข้าร่วมในคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553
การตั้งเสื้อเหลืองเข้ามาร่วมสอบสวนการชุมนุมของเสื้อแดง คือจุดด่างพร้อยที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือในรายงาน คอป. มากที่สุด
แต่ดูเหมือนว่าผู้ใหญ่ใน คอป. จะไม่ยี่หระต่อข้อครหาดังกล่าว อ้างว่าคณะทำงาน คอป. จำเป็นต้องมาจากคนหลากหลายวงการ สำหรับคนเสื้อแดงแล้วเป็นเหตุผลที่ยากทำใจยอมรับได้
รายงานฉบับสมบูรณ์ที่ไม่สมบูรณ์กำลังถูกจับตามองว่าจะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ แทนที่จะก่อให้เกิดความปรองดองตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม หรือไม่
สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยว่า การที่ คอป. ออกมาแถลงผลสรุปรายงานในวันเดียวกับศาลนัดฟังคำสั่งคดีนายพัน คำกอง เป็นการจงใจช่วยกลบเกลื่อน และหาทางออกให้นักการเมืองบางคนในรัฐบาลชุดก่อนที่กำลังถูกความจริง 98 ศพ ไล่ต้อนเข้าสู่จุดคับขันในชีวิตหรือไม่ เพราะข้อกล่าวหาคดีฆาตกรรมนั้น ใครโดนเข้าไปย่อมเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส
ที่สำคัญในกรณี 98 ศพ นอกจากคดีนายพัน คำกอง ที่ศาลมีคำสั่งไปแล้ว ยังมีแนวโน้มจะตามมาในลักษณะเดียวกันอีกนับสิบคดี จึงไม่แปลกที่ช่วงนี้จะเห็นอาการพลุ่งพล่านตีโพยตีพายเอากับ นายธา ริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะผู้มีบทบาทสูงในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี 98 ศพว่า เอาตัวรอด เปลี่ยนสี
มีความพยายามจะหาทางลากเอานายธาริต เพ็งดิษฐ์ เข้ามาเป็นผู้ต้องหาร่วมในคดีฆาตกรรมด้วย
เนื่องจากอธิบดีดีเอสไอก็เป็น 1 ในคณะกรรมการ ศอฉ. เช่นกัน แต่นั่นยิ่งกลับเป็นแรงบีบให้นายธาริต ต้องหาทางปกป้องตัวเอง ด้วยการคายข้อมูลความลับภาย ใน ศอฉ. เพื่อที่จะมัดบุคคลสั่งการสูงสุดให้แน่นหนามากขึ้น
ล่าสุดมีการออกมาเปิดเผยความลับสมัยนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายธาริตเคยเข้าพบเพื่อรายงานว่า เบื้องต้นดีเอสไอพบ 11 ศพที่การตายเกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมเสนอว่าต้องส่งศาลไต่สวน นายอภิสิทธิ์ก็เห็นด้วย ทั้งยังสั่งให้ไปชี้แจงกับฝ่ายทหาร ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร เป็นขั้นตอนปกติธรรมดา
แต่เท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่านายอภิสิทธิ์ ไม่ว่าตอนเป็นนายกฯ หรือเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ไม่เคยพูดถึงรายงานของดีเอสไอดังกล่าว รวมถึง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ที่มักจะอ้างถึงแต่ชายชุดดำ
ชายชุดดำซึ่งปรากฏตัวเพียงแวบเดียวในเหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 แต่กลับถูกนำมาค้ากำไรเกินควร
พนักงานสอบสวนดีเอสไอยืนยันที่ผ่านมาไม่เคยสอบสวนพบหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับชายชุดดำ เพียงพอจะระบุตัวได้ว่าเป็นใคร อยู่ฝ่ายไหน ถึงจะมีรูปในคลิปแต่ก็ไม่ปรากฏว่าชายชุดดำยิงม็อบหรือเจ้าหน้าที่เสียชีวิต
และเมื่อศาลอาญามีคำสั่งคดีนายพัน คำกอง ทุกอย่างก็ชัดเจนว่า เป็นการตายจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร ที่ปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ. ไม่ใช่ชายชุดดำ
เกราะป้องกัน "อภิสิทธิ์-สุเทพ" เริ่มถูกเจาะทะลุทะลวงด้วยคมหอกดาบของความจริง ความจริง 98 ศพที่เริ่มต้นนับ 1 จากคดีนายพัน คำกอง