สหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อแสนชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่า ด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ย้ำไม่ได้ทำเพื่อคนเสื้อแดงแต่ทำเพื่อทุกคน ป้องกันเหตุการณ์เข่นฆ่าประชาชนในอนาคต ชี้ไม่ขัด รธน.ม.8 โดย 9 ส.ค. นี้จะยื่นรายชื่อต่อสภาแม้ยังไม่ครบ
ช่วงบ่ายถึงค่ำ วานนี้ (5 ส.ค.) สหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน (Union for People’s Democracy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของคนเสื้อแดงที่อาศัยอยู่ในประเทศในทวีปยุโรป ได้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่า 100,000 รายชื่อเพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญา ระหว่างประเทศ(International Criminal Court หรือ ICC) ในงาน “5 สิงหาประชาชุมนุม” ซึ่งจัดโดยกลุ่มเสื้อแดง กทม. 50 เขต รวมกับวิทยุชุมชน 5 สถานี ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว นางกรรณิการ์ นีลเซ่น ผู้แทนสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน เปิดเผยว่าการล่ารายชื่อนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. ตอนนี้ได้รายชื่อเพียงสองพันกว่ารายชื่อ โดยตามรัฐธรรมนูญกำหนดกำหนดไว้หนึ่งหมื่นรายชื่อในการยื่นเสนอกฎหมายต่อสภา แต่ทางสหภาพฯได้กำหนดไว้ว่าจะยื่นต่อรองประธานรัฐสภาในวันที่ 9 สิงหาคม นี้ เวลาบ่ายโมง ได้เท่าไหร่จะยื่นเท่านั้นก่อน แม้รายชื่อจะยังไม่ครบตามเงื่อนไข และหลังจากยื่นรายชื่อแล้วจะมีการล่ารายชื่อต่อไปเรื่อยๆอีกด้วยเพื่อทำการ จัดส่งภายหลัง โดยหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ทหารออกมาเข่นฆ่าประชาชนเหมือนกับปี 52, 53 อีก
“เป็นคนเสื้อแดงแต่พี่ทำเพื่อคนทุกคน ทุกสี ทุกชาติ ทุกศาสนา ถึงจะเป็นสีเหลืองสีแดงสีเขียว จะเป็นสลิ่มสิงคโปร์ลอดช่อง พี่ทำเพื่อทุกคน เพื่อป้องกันเหตุในอนาคต เพื่อลูกเพื่อหลานเราอันนี้มันสารถอยู่ได้ถาวร” นางกรรณิการ์ กล่าว
ผู้แทนสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้มีการยืนหนังสือไปยัง กระทรวงการต่างประเทศและทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐไทยให้สัตยาบันใน ประเด็นดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 54 โดยทางรัฐบาลได้ตอบกลับมาว่าติดกฎหมายภายในประเทศหลายมาตรา ซึ่งทางสหภาพฯ ได้มีการตอบโต้ไปแล้วว่าไม่จริง โดยนางกรรณิการ์ ได้นำจดหมายของทางสหภาพฯ ที่ส่งถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้รัฐบาลไทยดำเนินการต่อเนื่องในประเด็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งจดหมายดังกล่าวให้เหตุผลว่า เป็นข้ออ้างที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนดการให้เกิดความคืบหน้าสู่การให้สัตยาบันฯ เพราะในประเทศที่มีระบอบการปกครองเช่นเดียวกับไทย เช่น อังกฤษ เบลเยียม แคนนาดา ญี่ปุ่น ลักซัมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปนและสวีเดน ก็มีข้อบัญญัติในลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 8 ของไทย แต่ก็ให้สัตยาบันฯ ไปแล้ว ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของบางประเทศเช่น เบลเยียม บัญญัติไว้ใน Article 91 ที่ว่าพระมหากษัตริย์จะถูกละเมิดมิได้และเหล่ารัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองแทน หรือเดนมาร์กบัญญัติคล้ายกัน Section 13 ที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ จะล่วงละเมิดมิได้ และรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองเช่นกัน
ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่าง ประเทศ(ICC) ในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยกับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ” มีวิทยากรรวม 5 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คุณวารุณี ปั้นกระจ่าง ผู้อำนายการกองกฎหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้ตอบคำถามถึงสาเหตุที่ประเทศไทยไม่เข้าเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรมว่า “ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรม กำหนดให้ประมุขของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอาญาตามธรรมนูญศาล นี้ ไม่ว่ากรณีใดและจะไม่เป็นมูลเหตุให้ลดหย่อนโทษ หมายความว่าถ้าไทยเข้าเป็นภาคีก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อนี้ด้วย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ นี่เป็นข้อติดขัดประการหนึ่ง ซึ่งหากไทยจะเข้าเป็นภาคี ก็จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเพื่อรองรับพันธกรณีตามข้อ 27 ซึ่งไทยจะต้องคำนึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีสถานะพิเศษในบริบททางสังคม การเมืองและกฎหมายของไทย จะต้องมีการศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา”
ปชป. ยื่น จม. 2 ฉบับ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ฟ้องเอาผิด “ทักษิณ” เบื้องหลังฆ่าตัดตอน
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา เดลินิวส์ รายงานว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสื่อยื่นอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศรวมทั้งประธานศาลอาญาระหว่าง ประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. เป็นการร้องศาลอาญาระหว่างประเทศในเรื่องกระบวนการฆ่าตัดตอนตามนโยบายการ ปราบปรามยาเสพติดในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยากเรียกร้องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวน การดังกล่าว เช่น กรณีของน้องฟลุ๊คที่ถูกลูกหลงจากการจับกุมยาเสพติดของตำรวจให้มาร่วมกันเป็น โจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งนี้ด้วย
ส.ส.เพื่อไทย ทวีตโต้ ปชป. ทำไมเพิ่งสนใจ ICC ชี้ควรส่งนายอภิสิทธิ์ไปประเดิมสอบสวนคนแรก
น.ส.จารุพันธ์ กุลดิลก คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.เพื่อไทย ได้ ทวีตตอบโต้การเคลื่อนไหว ของพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นนี้ ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวชื่อ @ajarnjar(https://twitter.com/ajarnjar) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ต่อกรณีที่ ปชป. เพิ่งจะมาสนใจเรื่องฆ่าตัดตอน โดยจะไปศาล ICC บ้าง ตามรอยเสื้อแดง โดยประกาศส่งนายกษิต (ผู้ก่อการร้ายปิดสนามบิน, จำเลย ICJ, ขึ้นชื่อเรื่องมารยาททรามกับ ประเทศเพื่อนบ้าน) ไปเป็นผู้ดำเนินการนั้น ต้องขอไว้อาลัยต่อการตัดสินใจของ ปชป. ครั้งนี้อย่างสุดจิตสุดใจ เพราะดิฉันมองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ ปชป. มีแต่เสียกับเสีย แบบกู่ไม่กลับ
ประการแรก คนทั้งโลกจะตั้งคำถามว่าทำไมเพิ่งจะมาสนใจ ICC ความจริงใจต่อเรื่องฆ่าตัดตอนแทบจะไม่มี เป็นแค่เกมส์ตอบโต้ไปวันๆ
ประการที่สอง ไม่พ้นข้อหาเด็กลอกการบ้านตามเคย ลอกหนทางของเสื้อแดงที่จะแสวงหาความเป็นธรรมสากลให้กับ ประเทศไทย โถ..พรรคนักกฎหมายขี้คุย
ประการที่สาม การที่จะไปฟ้อง ICC บ้าง ก็เท่ากับยอมรับอำนาจศาลICCแล้ว ก็มีความยินดีที่จะส่งนายอภิสิทธิ์ไปประเดิมสอบสวนคนแรก
ประการที่สี่ การส่งนายกษิต (ภิรมย์)ไป นับว่าปชป.เลือกได้ถูกคนแล้ว ดิฉันไม่กังวลอะไรเลย นอกจากจะทำให้ประเทศไทยขายหน้าอะไรอีก
สุดท้าย ขอบอกว่า ช่วยดำเนินการให้ไว เพราะดิฉันอยากเห็นปรากฏการณ์เปรียบเทียบ 'ความเป็นธรรมไทย' กับ 'ความเป็นธรรมสากล'
น.ส.จารุพันธ์ ยังทวีตอีกว่า “เท่ากับไม่ต้องออกทุนการศึกษาให้ปชป.ในการเรียนระบบกฎหมายสากล จะได้เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่เขาอดทนกับวิธีคิดเรื่องนิติรัฐแบบไดโนฯของคุณมาก แล้วนายกษิตไป ICC กลับมาถ่ายทอดให้ไว เพราะหากปชป.ได้สัมผัสความเป็นธรรมสากลแล้ว อาจจะเกิดสำนึกได้ว่าได้ก่อกรรมทำเข็ญกับปท.นี้ขนาดไหน ดิฉันตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ายังไงปชป.ก็ต้องเดินมาตามเส้นทางนี้ ทางที่ไม่เหลือทางเลือกอื่น และในที่สุดเสื้อแดงก็ทำสำเร็จ ดิฉันอยากให้รางวัลโนเบลกับคนเสื้อแดงจริงๆ การปฏิรูปความเป็นธรรมของไทย accountability, no impunity เริ่มแล้วและจะเปลี่ยนแบบไม่มีวันหวนคืน ขอเพื่อนๆทุกคนช่วยกันให้ความรู้เรื่อง ICC ให้กระจ่างแจ้งไปทั้งหมดทุกสีเสื้อนะคะ โดยเฉพาะหลักปรัชญา กรุยทางกันต่อไปค่ะ ลุย”