ประชาไท 7 สิงหาคม 2555 >>>
อ้างวันเกิดเหตุดำเนินคดีเพียงปล้นทรัพย์เนื่องจากจับได้ในที่เกิดเหตุ แต่การวางเพลิงได้มีการร้องทุกข์ในภายหลังและมีพยานยืนยันว่าผู้ต้องหาได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดจึงได้แจ้งดำเนินคดีในเวลาต่อมา
10.00 น. วานนี้ (6 ส.ค.) ห้องพิจารณาคดี 11 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สนามหลวง ได้ออกนั่งพิจารณาคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 1682/2553 ระหว่าง นักงานอัยการฯ กอง 4 โจทก์ กับนายอัตพล (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1 นายภาสกร (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 ซึ่งทั้ง 2 อายุ 16 ปีในวันเกิดเหตุ เย็นวันที่ 19 พ.ค. 53 ซึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และร่วมกันว่างเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นซึ่งเป็นโรงเรือนที่เก็บสินค้าจนเป็นเหตุให้นาย กิติพงษ์ สมสุข ซึ่งอยู่ในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวเป็นพยานเบิกความว่า จากการรวบรวมสำนวนการสอบสวนในคดีของจำเลยทั้ง 2 คน มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ.ห้าง ได้ชี้รูปจำเลยว่า เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ โดยวิ่งมายิงหนังสติ๊กเข้ามาในห้าง CTW ก่อน หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์วางเพลิงเกิดขึ้น เมื่อมีพยานบุคคลชี้ยืนยันผู้กระทำความผิด ประกอบกับมีการวางเพลิงและเผาห้าง ประกอบกับผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ แต่ไม่ได้อ้างพยานมาหักล้าง จึงมีความเห็นสมควรส่งฟ้อง
นายโชคชัย อ่างแก้ว ที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ได้ถาม ร.ต.อ.ปิยะ ถึงมติของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ 3/2553 ที่กำหนดให้คดีเกี่ยวกับการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นคดีพิเศษ รวมทั้งคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปิยะ ตอบว่าใช่ โดยคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นคดีที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน โดยที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ได้ถามต่อถึงประธานคณะกรรมการคดีพิเศษในขณะนั้นคือใคร ร.ต.อ.ปิยะ ตอบว่า โดยตำแหน่งของประธานคณะกรรมการคดีพิเศษจะเป็นนายกรัฐมนตรี และขณะนั้นนายกได้มอบหมายให้รองนายกฯ คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ และ ร.ต.อ.ปิยะ ยังเบิกความอีกว่า ทราบว่าการชุมนุมของ นปช. ในขณะเกิดเหตุเป็นการชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯลาออกและยุบสภาฯ
เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผู้รับผิดชอบคดีนี้ เบิกความว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการยุติการชุมนุมแล้ว และที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ได้ถามต่อว่า เหตุที่ยุติการชุมนุม เนื่องจากว่าทหารได้โอบล้อมใช้กำลังกระชับพื้นที่เข้ามา และในเวลาดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุมทราบหรือไม่ ร.ต.อ.ปิยะ ตอบว่า ทราบ
ที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ได้สอบถามอีกว่า เด็ก 2 คนนี้ถูกจับในวันที่ 19 พ.ค. 53 ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 4 โซน C เวลาประมาณ 17.00 น. ร.ต.อ.ปิยะ ยืนยันว่า ใช่ โดยที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ได้สอบถามต่อว่าการที่ถูกจับ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า เข้าไปลักทรัพย์ในนั้น และมีการต่อสู้กับเจ้าพนักงาน จึงตั้งข้อหาปล้นทรัพย์ใช่หรือไม่ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผู้รับผิดชอบคดีนี้ยืนยันว่า ใช่ โดยในวันนั้นไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ แต่มีการตั้งข้อกล่าวหาในภายหลัง จากที่มีพยานชี้ นายโชคชัย อ่างแก้ว ได้ถามต่อว่า มีแต่ชี้รูป ไม่มีการชี้ตัวใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปิยะ ตอบว่าใช่
สำหรับการเข้าไปตรวจในที่เกิดเหตุของกองพิสูจน์หลักฐานและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์นั้น ร.ต.อ.ปิยะ เบิกความว่า เป็นการเข้าไปตรวจในที่เกิดเหตุ หลังจากเกิดเหตุการณ์ และเป็นพื้นที่ในการควบคุมของทหารแล้ว จากการตรวจสอบภาพ VCD ในวันเกิดเหตุ ไม่ปรากฏภาพจำเลยถือถังแก๊สหรือไปวางเพลิง
สำหรับการแยกแยะกลุ่มผู้ชุมนุมจริงๆ กับกลุ่มที่แฝงตัวเข้าไปเพื่อไปก่อเหตุในที่ชุมนุม เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ผู้รับผิดชอบคดีนี้ เบิกความว่า ขณะนั้นไม่น่าจะแยกได้ และสังเกตเห็นว่า เวลามีการชุมนุมครั้งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน สีไหน จะมีความตรวจกรองอยู่ แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถกรองได้อย่างวันที่ 19 พ.ค. 53 อันนี้จึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถกรองได้หรือไม่
อัยการได้สอบถามถึงเหตุที่ไม่ดำเนินคดีนี้ตั้งแต่แรก ร.ต.อ.ปิยะ จึงอธิบายว่า “กรณีดำเนินคดีฐานปล้นทรัพย์ก่อนนั้นเนื่องจากจับได้ในที่เกิดเหตุ พอจับก็ส่งดำเนินคดี ส่วนเรื่องของการวางเพลิง ได้มีการร้องทุกข์และดำเนินคดีทีหลัง เลยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในขณะนั้น จนกว่ามีพยานยืนยันว่า ผู้ต้องหาได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดจึงได้แจ้งดำเนินคดี” หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้นัดสืบพยานฝ่ายจำเลยต่อในวันที่ 7 และ 8 สิงหาคม นี้
ทั้งนี้ ในคดีนี้ มีผู้ต้องหาอีก 2 รายที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ คือ นายสายชล แพบัว อายุ 29 ปี ชาว จ.ชัยนาท และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 27 ปี ชาว จ.ชัยภูมิ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.2478/2553 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง
ขณะที่คดีร่วมกันปล้นทรัพย์ที่มีจำเลยเป็นเยาวชนทั้ง 2 คนอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันในส่วนที่เป็นผู้ใหญ่นั้น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 54 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาได้อ่านคำตัดสินคดีหมายเลขดำที่ 2235/2553 ที่พนักงานอัยการฟ้องนายพินิจ จันทร์ณรงค์ กับพวกรวม 7 คน ในฐานความผิด ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำกำลังประทุษร้ายโดยมี และใช้อาวุธปืน ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 7 มีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้คนละ 6 เดือน ส่วนข้อหาใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ ขัดขวางเจ้าหน้าที่นั้น ศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 คน เนื่องจากแม้จะสามารถตรวจยึดกระสุนได้ภายในห้าง แต่ไม่พบอาวุธที่ตัวจำเลย และเจ้าพนักงานก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า อาวุธดังกล่าวเป็นของจำเลย อีกทั้งไม่มีการนำสืบว่า จำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธต่อสู้ขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน ส่วนข้อหาปล้นทรัพย์ภายในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (CTW) ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันลักเอาทรัพย์สินต่างๆ รวม 18 รายการ มูลค่า 95,430 บาทนั้น ยังไม่มีทรัพย์สินของกลางที่ยืนยันว่า จำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำความผิด คงมีเพียงนายคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม จำเลยที่ 3 ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ประจำห้างสรรพสินค้า สามารถตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และแบตเตอร์รี่ จากร้านขายโทรศัพท์มือถือได้ จึงยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน เว้นแต่จำเลยที่ 3 ให้ลงโทษ 3 ปี