ท่ามกลางรางวัลมากมายที่ว่าด้วยหนังสือ มีรางวัลหนึ่งที่ชื่อ Freedom to Publish ยืนยันว่าเขียนไม่ผิด Freedom to Publish จริงๆ เป็นรางวัลที่สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (IPA) มอบให้แก่ "ความอิสระ" และ "การมีสิทธิ" ที่จะตีพิมพ์หรือเขียนหนังสือนั่นล่ะ
ผู้ได้รับรางวัลนี้บางคนถูกจับเข้าคุกในบ้านเกิดทันที หลังเดินทางกลับจากการงานเลี้ยงแสดงยินดีที่ได้รางวัล อาทิ "Mr.Ragip Zarakolu" นักเขียน นักเคลื่อนไหว และเจ้าของสำนักพิมพ์ Belge ในตุรกี
Ragip ถูกทางการตุรกีหมายหัวไว้นานแล้ว เคยเดินเข้าออกคุกอยู่หลายครั้ง ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศจนถึงปี 1999 เพราะสำนักพิมพ์ของเขาพิมพ์หนังสือที่ว่าด้วยการขัดแย้งและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์มาเนียและชาวเคิร์ด การจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อยในตุรกี รวมถึงประวัติศาสตร์วัฒธรรมชนกลุ่มน้อยหลายเล่ม ซึ่งผู้มีอำนาจถือว่าเป็นหนังสือต้องห้ามในสังคม
ขณะที่ "Bui Chat" กวีหนุ่มและเจ้าของสำนักพิมพ์ the Giay Vun Publishing House publisher จากเวียดนาม ที่มักเขียนบทกวีเชิงสัญลักษณ์ และตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนหรือนักประวัติศาสตร์ต้องห้ามในเวียดนาม กลับเจอปฏิกิริยาอีกอย่าง นั่นคือทันทีที่มีการประกาศว่าเขาได้รางวัล Bui Chat ก็ถูกปล่อยตัวจากคุกที่ถูกจับไปก่อนหน้า แต่ว่ายังคงอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังและการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
"รางวัลนี้จึงตัดสินกันที่หัวใจ ว่าคนทำหนังสือคนไหนบ้างที่กล้าเสี่ยงและยึดถือความถูกต้องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การมอบความรู้เพื่อสร้างวิจารณญาณให้เกิดแก่ผู้คนในสังคม"
โดยเฉพาะในประเทศที่ผู้มีอำนาจสามารถยึดกุมทุกความเคลื่อนไหว
ในการประชุม IPA ที่เพิ่งผ่านมา ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ที่ประชุมได้มีข้อเรียกร้องเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลแต่ละประเทศในหลายแง่มุม ทั้งขอให้มีองค์กรกลางจัดการเรื่องลิขสิทธิ์อย่างเข้มแข็งและเป็นธรรม, ขอให้ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการจำหน่ายหนังสือทุกประเภท เพื่อไม่ให้ภาระทางภาษีเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงหนังสือดังปัจจุบัน, ผู้มีอำนาจรัฐ รวมถึงผู้มีอำนาจทางการแข่งขันต้องช่วยกันปกป้องการถือเอกสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในลักษณะการครอบงำ, ยกเลิกการควบคุมการพิมพ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมหนังสือมีอิสรภาพ เป็นของท้องถิ่น เป็นของคนพื้นเมือง และขอปฏิเสธคำนิยามที่ใช้ในทางที่ผิด เช่น การหมิ่นประมาท ความมั่นคงของรัฐ หรือลัทธิก่อการร้าย เพื่อเป็นการล่วงล้ำเข้าไปตรวจตรา รังควานสื่อ และใช้อำนาจบังคับอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะนี่เป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะที่ต้องเปิดเผย โปร่งใส
"Jonathan Shapiro" นักเขียนการ์ตูนชาวแอฟริกาใต้คือรายล่าสุดที่ได้รับรางวัลนี้ไปครอง
ถึงตอนนี้ชาปิโรจะยังไม่ถูกจับเหมือนรุ่นพี่ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะอยู่ได้แบบสบายใจ เพราะคู่กรณีที่มีปัญหากันประจำคือ ประธานาธิบดี Jacob Zuma เพิ่งยื่นฟ้องเขาอีกครั้ง หลังชาปิโรเขียนการ์ตูนล้อเลียนในหนังสือพิมพ์ Mail & Guardian เป็นภาพซูมากำลังข่มขืนผู้หญิงที่มีชื่อว่า "นางสาวยุติธรรม"
IPA ให้เหตุผลว่าชาปิโรมีความกล้าหาญอย่างมากในการวาดและเผยแพร่สิ่งที่ยากจะพูดถึง ทั้งเรื่องการทุจริต เผด็จการ และความไม่ยุติธรรมในสังคม และการต่อสู้ผ่านการ์ตูนก็ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ ข่มขู่ ขึ้นศาล ติดคุก จนถึงขู่ฆ่า
ดูท่าคงไม่มีรางวัลไหนที่ทำให้ผู้ได้รับสุ่มเสี่ยงเท่ากับ Freedom to Publish อีกแล้ว แต่เป็นความสุ่มเสี่ยงที่มนุษย์คนหนึ่งคงภาคภูมิใจอย่างยิ่ง