ชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา สูสีต้องลงคะแนนถึง 2 รอบ "นิคม ไวยรัชพานิช" ส.ว.สายเลือกตั้ง เฉือน "พิเชต สุนทรพิพิธ" ส.ว.สรรหา ด้วยคะแนน 77 ต่อ 69 คะแนน ยันจะส่งเสริมให้ ส.ว. มีความเป็นกลาง …
เมื่อเวลา 10.13 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา รักษาการประธานวุฒิสภา ประธานในที่ประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงที่มีมติชี้มูลความผิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรณีออกคำสั่งก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ ที่วุฒิสภาจะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 273 ประกอบข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาข้อที่ 114 จะแจกสำเนาดังกล่าวแก่ ส.ว. และผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพิจารณาจากนั้นจะจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวโดยเร็วและบรรจุเข้าระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน
ต่อมานางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ได้เสนอชื่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ส.ว.สรรหา อดีตประธานวุฒิสภา เป็นกรรมาธิการฯแทน นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม ที่ขอลาออก จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการลงมติเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ โดยเมื่อนายนิคมได้แจ้งขั้นตอนดำเนินการเสร็จ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เสนอชื่อ นายนิคม น.ส.เกศสินี แขวัฒนะ ส.ว.พระนครศรีอยุธยา เสนอชื่อ น.ส.สุนันท์ สิงห์สมบุญ ส.ว.สรรหา นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ส.ว.สรรหา เสนอชื่อ นายพิเชต และนายพรพจน์ กังวาล ส.ว.ระนอง เสนอชื่อ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี
จากนั้นนายนิคมได้มอบให้นางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมต่อ โดยเปิดให้ผู้สมัครทั้ง 4 คน ได้แสดงวิสัยทัศน์คนละ 10 นาที จากนั้นเป็นขั้นตอนการลงคะแนนด้วยวิธีลับ ให้สมาชิกรับบัตรลงคะแนนแล้วเขียนชื่อผู้ที่จะเลือกแล้วหย่อนลงในกล่องซึ่ง ผลการนับคะแนนปรากฏว่านายพิเชตได้ 63 คะแนน นายนิคมได้ 46 คะแนน นายเกชาได้ 35 คะแนน และนางสุนันท์ได้ 2 คะแนน โดยนางพรทิพย์ กล่าวว่า ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ว. ที่ลงชื่อเข้าร่วมประชุมจึงต้องลงคะแนนกันอีกรอบ โดยนำคนที่มีคะแนนอันดับ 1 และอันดับ 2 คือนายพิเชตและนายนิคมมาแข่งกันใหม่ผลปรากฏว่านายนิคมได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ด้วยคะแนน 77 คะแนน ขณะที่นายพิเชตได้ 69 คะแนน
นายนิคม กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นวิธีการทำงาน เพื่อให้องค์กรวุฒิสภาเป็นที่พึ่งของประชาชนปราศจากการครอบงำของฝ่ายการเมือง โดยมีวิสัยทัศน์ 4 ประการคือ
1. ส่งเสริมให้ ส.ว. มีความเป็นกลาง อิสระโดยยึดหลักกฎหมาย นิติรัฐและนิติธรรม ประธานฯต้องรอบรู้มีความมั่นคงและชัดเจนในกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย ต้องไม่เอนเอียงตามกระแสสังคม หรือการกดดันของพรรคการเมือง ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถยืนหยัดเคียงข้างประชาชนได้
2. ส่งเสริมการทำงานของคณะกรรมาธิการให้แข็งแกร่งเป็นอิสระและนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริง
3. สร้างความเข้มแข็งในการสรรหาบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพราะหากคัดเลือกบุคคลไม่เหมาะสม จะถูกกล่าวหาโจมตีว่าไม่เป็นกลางได้
4. ทำให้วุฒิสภาเป็นองค์กรหลักในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ในภูมิภาคอาเซียน ที่ต้องเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
นายนิคม กล่าวต่อว่า มีจุดแข็งคือการเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต อยู่แทบจะทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการบริหารการเงินการคลัง การแพทย์ การสาธารณสุข หรือผังเมืองเป็นประสบการณ์ที่จะทำให้ตนสามารถควบคุมการประชุมวุฒิสภาโดย เฉพาะเป็นคนที่มีความจำดี แม่นยำในกฎข้อบังคับ ยืนยันว่ามีความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ลงสมัครคราวที่แล้วก็พลาด คราวนี้ก็ขอโอกาสว่าตนเป็นตัวแทนจากการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งมีเวลาอีก 1 ปีครึ่ง จึงขอโอกาสเพราะเสียงของสมาชิกทุกท่านจะทำให้วุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีความน่า เชื่อถือได้
สำหรับ นายนิคม ไวยรัชพานิช เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2490 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของนายเทียม และนางสีฟ้า ไวยรัชพานิช ภรรยาชื่อนางนพมาศ ไวยรัชพานิช มีธิดา 2 คน การศึกษา ชั้นประถมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดพงษาราม "นันทศึกษา", มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนพนมสารคาม, โรงเรียนพนมอดุลวิทยา, มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร, วิทยาศาสตร์สาธารณสุข มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์, วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาสุขาภิบาล) มหาวิทยาลัยมหิดล, วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาคอมพิวเตอร์ศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MPA San Jos" State University, USA., Certificate in Healthy Cities, Australia, ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4414
ประวัติการทำงาน เคยรับราชการในหลายตำแหน่ง โดยเริ่มต้นการทำงานตั้งแต่ปี 2516 จนกระทั่งได้เป็น ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม 1 ตุลาคม 2549 รองปลัดกรุงเทพมหานคร 1 ตุลาคม 2550 จากนั้น ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ 2 มีนาคม 2551 ด้วยคะแนน 92,490 และรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 วันที่ 18 มีนาคม 2551 จนกระทั่งปัจจุบัน ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานวุฒิสภา