กรุงเทพธุรกิจ 12 สิงหาคม 2555 >>>
“รัฐบาล” ขุดทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง เช็คบิล รัฐบาล “อภิสิทธิ์” ส่งหนังสือถามกฤษฎีกา หาช่องดำเนินคดีละเมิด-อาญา แต่ผลการวินิจฉัยบอกไม่มีอำนาจ
นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือตอบความเห็น กรณีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถามความเห็นว่าเกี่ยวกับการดำเนินคดี กรณีทุจริตการบริหารจัดการโครงการชุมชนพอเพียง ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่ากรณีดังกล่าวสำนักปลัดสำนักนายกฯเป็นผู้เสียหายหรือไม่ และคณะกรรมการชุมชนพอเพียงถือเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า การทุจริตที่เกิดขึ้น สำนักงานปลัดสำนักนายกฯไม่ใช่ผู้เสียหาย และคณะกรรมการชุมชนพอเพียงก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดและพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับหนังสือตอบความเห็น ฉบับดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0117/1478 ลงวันที่ 17 เมษายน 2555 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 เห็นชอบแนวทางการกำหนดให้มีการจัดตั้งโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) หรือโครงการชุมชนพอเพียง
โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพีย เพื่อยกระดับชุมชนเพื่อบริหารจัดการโครงการ และให้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เกี่ยวกับวิชาการ ธุรการ และอำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่คณะกรรมการแต่งตั้งเพื่อช่วยปฏิบัติงาน รวมทั้งดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ต่อมาคณะกรรมการฯ ได้ออกระเบียบคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน ว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน รวมทั้งบริหารจัดการโครงการที่หมู่บ้านและชุมชนดำเนินการ ทั้งนี้ ได้มีการขับเคลื่อนและบริหารจัดการตามโครงการดังกล่าวมาระยะหนึ่งพบว่า มีการทุจริตและฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในส่วนของคดีแพ่งและคดีอาญาในหลายกรณี
ดังนั้น เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการในทางคดีเป็นไปด้วยความรอบคอบและชัดเจนถูกต้องตามกฎหมาย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงขอหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
1. กรณีมีการทุจริตจากการบริหารจัดการโครงการ มีปัญหา 3 ประการ คือ
(1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้เสียหายหรือไม่
(2) คณะกรรมการชุมชนถือเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่
(3) คณะกรรมการชุมชนถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
2. กรณีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีโอนเงินงบประมาณให้ชุมชนและชุมชนได้ดำเนินการตามโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว ทรัพย์สินที่ได้รับจากการดำเนินการตามโครงการ ชุมชนจะสามารถนำไปจำหน่ายจ่ายโอนได้หรือไม่ เพียงใด รวมทั้งเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องส่งคืนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือนำเข้าบัญชีชุมชน
3. กรณีปรากฏความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และต่อมาภายหลังผู้กระทำความผิดได้ชดใช้เงินคืนแล้ว สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะตกลงยอมความได้หรือไม่ เพียงใด
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เงินงบประมาณที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดสรรไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารของชุมชนที่ได้รับการอนุมัติตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนนั้น เป็นเงินงบประมาณประเภทหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนำไปจัดสรรตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ในประการแรก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้เสียหายหรือไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อมีการจัดสรรเงินงบประมาณเข้าในบัญชีเงินฝากธนาคารของชุมชนตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ระเบียบคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน พ.ศ. 1223 ข้อ 19 วรรคสาม ได้กำหนดให้เงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชน และชุมชนสามารถนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม การจัดสรรเงินงบประมาณให้ชุมชนดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการให้ขาด และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชนโดยสมบูรณ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในเงินงบประมาณที่ชุมชนได้รับการจัดสรรแล้วอีกต่อไป เมื่อเกิดการทุจริตจากการบริหารจัดการโครงการดังกล่าว สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงมิใช่ผู้เสียหาย
ประการที่สอง ที่ว่า คณะกรรมการชุมชนถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่ นั้น เห็นว่า มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ หมายความว่าข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด และข้อ 4 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ก็ได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือถูกสั่งให้ปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ แต่คณะกรรมการชุมชนมิใช่เป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งหรือถูกสั่งให้ปฏิบัติงานใดของรัฐ หากแต่เป็นคณะบุคคลที่ประชาชนในชุมชนมีฉันทามติคัดเลือกกันขึ้น และส่งให้นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขต หรือนายกเทศมนตรีรับรองเท่านั้น ดังปรากฏในบทนิยามคำว่า
คณะกรรมการชุมชน ตามข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนฯ นอกจากนั้น การงานที่คณะกรรมการชุมชนจะต้องรับผิดชอบในการดำเนินการ ก็เป็นกิจกรรมที่เป็นเรื่องของประชาชนในชุมชนที่จะช่วยกันคิดทำเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยมิได้เกี่ยวกับกิจการของรัฐแต่อย่างใด คณะกรรมการชุมชนจึงมิใช่ เจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ประการที่สาม คณะกรรมการชุมชนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ นั้น เห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 186/2544 สรุปความได้ว่าความเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาสามารถพิจารณาได้ เป็น 2 กรณี คือ
1) ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นก็มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาโดยผลของกฎหมาย
2) ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอย่างชัดแจ้งให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องพิจารณาว่าการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น เป็นการแต่งตั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจรัฐในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากเป็นการแต่งตั้งเพื่อให้บุคคลดังกล่าวใช้อำนาจรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ในการสั่งการ การออกคำสั่งทางปกครอง หรือ
ในการบังคับใช้กฎหมาย บุคคลผู้นั้นก็มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติอย่างชัดแจ้งให้คณะกรรมการชุมชนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และคณะกรรมการชุมชนก็มิได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในการบริหารกิจการของคณะกรรมการชุมชนตามระเบียบ
คณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนฯ ก็มิได้มีการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ และกิจการที่คณะกรรมการชุมชนดำเนินการมิใช่เป็นกิจการของรัฐ จึงไม่ถือว่าคณะกรรมการชุมชนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ประเด็นที่สอง ทรัพย์สินที่ได้รับจากการดำเนินการตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน ชุมชนจะสามารถนำไปจำหน่ายจ่ายโอนได้หรือไม่ เพียงใด รวมทั้งเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องส่งคืนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือนำเข้าบัญชีชุมชนเห็นว่า
ระเบียบคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน พ.ศ. 2553 ในข้อ 19 วรรคสาม ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าให้เงินงบประมาณที่ชุมชนได้รับการจัดสรร และดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในบัญชีเงินฝากธนาคารของชุมชนตามโครงการชุมชนพอเพียง
รายได้ที่เป็นส่วนเพิ่มจากการนำเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรตามหลักเกณฑ์ไปลงทุน ลิขสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และหรือทรัพย์สินสืบเนื่องที่เกิดจากการนำเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรตามโครงการชุมชนพอเพียงไปดำเนินการ ให้ขึ้นทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชนเพื่อนำไปบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และเมื่อชุมชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหล่านั้น ชุมชน จึงย่อมมีสิทธินำไปจำหน่าย จ่ายโอน ตามความประสงค์ของชุมชนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประเด็นที่สาม กรณีปรากฏความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และต่อมาภายหลังผู้กระทำความผิดได้ชดใช้เงินคืนแล้ว สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะตกลงยอมความได้หรือไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าเงินที่จัดสรรไปนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชนแล้ว และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมิใช่ผู้เสียหาย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีสิทธิไปยอมความได้ แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลโครงการดังกล่าวอาจดำเนินการให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ชุมชนตามควรแก่กรณีได้