ยิงตามหน้าที่...ก็อธิบายได้

โพสท์ทูเดย์ 25 สิงหาคม 2555 >>>




ถ้าถามว่าผมเชื่อว่าชายชุดดำมีจริงหรือไม่ ผมเชื่อว่ามีภาพเราก็พยายามหา อยากรู้มากว่ามันเป็นใคร แต่ก่อนอื่นที่อยากรู้คือคนที่บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากชายชุดดำมีหรือไม่ จนบัดนี้ยังหาไม่เจอ ในภาพที่มีชายชุดดำนำปืนมายิงผมยังหาไม่ได้ว่าใครถูกยิงจากปืนกระบอกนั้นเลย มันไม่มี แล้วมันไปไหน ยิงใคร
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีกับวิวาทะระหว่าง ผู้นำกองทัพ กับ ดีเอสไอ เมื่อดีเอสไอเดินหน้าทำคดีเหตุการณ์ความรุนแรงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 คดีใหญ่ที่เป็นหัวใจซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยมุ่งทำคดีส่งฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องทำให้ประชาชนล้มตาย 91 ศพกระทั่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีส่งนายตำรวจมือดี 50 นาย มาช่วยสางคดีนี้ที่มีการตั้งทีมชุดใหม่ขึ้นมาลุยสอบ
ที่ครึกโครม คือ คำพูดของ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข  รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าชุดสอบสวนคดีนี้ ให้สัมภาษณ์กระทบกับฝั่งกองทัพ หลังระบุว่า จะเรียกพลซุ่มยิง หรือหน่วยสไนเปอร์ของกองทัพ มาสอบว่าทหารยิงประชาชนจริงหรือไม่ !!
พ.ต.อ.ประเวศน์ อธิบาย "โพสต์ทูเดย์" ถึงเบื้องหลังในการเดินหน้าคดีว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว ซึ่งดีเอสไอเก็บรวบรวมหลักฐานมาโดยตลอดดังนั้นวันนี้มันควรมีความชัดเจนออกมาบ้างแล้วยิ่งเมื่อมีการเยียวยาพยานก็เริ่มปรากฏออกมา ถ้าไม่มีการเยียวยาก็เชื่อว่าคดียังไม่คืบโดยเฉพาะศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553 หรือ (ศปช.) ได้เก็บรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดี อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องดีเอสไอไม่เคยรู้ว่าเขาทำงานตรงนี้อยู่ ถามว่าถูกเร่งจากรัฐบาลหรือไม่ ก็ไม่ใช่ แต่เมื่อมาถึงเวลาก็ควรจะสรุปได้บ้างแล้ว ดังนั้นทุกอย่างมีเหตุมีผล ไม่มีมั่ว
ขั้นตอนการดำเนินการจากนี้ เขาบอกว่า จะเรียงลำดับคำสั่งให้สลายการชุมนุม ว่าการออกคำสั่งถูกต้องหรือไม่ อาศัยอำนาจหรือกฎหมายอะไร มาตราไหนจากนั้นจะดูที่ผู้ปฏิบัตินำคำสั่งไปใช้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าคำสั่งมาโดยชอบ ปฏิบัติชอบก็ไม่ผิด แต่ถ้าคำสั่งชอบแต่คนปฏิบัติไม่ชอบ คนปฏิบัติก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำ
   "เราต้องดูตั้งแต่กฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชนกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าอย่างไรจากนั้นจะมาดูว่า ข้อปฏิบัติทั้งฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือนฝ่ายการเมือง มีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างไร แต่ถ้ามีคำสั่งถูกต้อง แต่ปฏิบัติไม่ถูกต้องเหมือนจิ๊กซอว์ของภาพหายไป เราก็จะเห็นทันทีซึ่งขั้นตอนนี้ได้ทำหนังสือเชิญ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าให้ปากคำในวันที่ 27 ส.ค. นี้ รวมถึงจะเชิญ ธาริต เพ็งดิษฐ์อธิบดีดีเอสไอ เข้าให้ปากคำด้วย เพราะร่วมอยู่ในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนั้น"
พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุว่า การทำงานในห้วงเวลานี้มีความกดดันมาก เพราะสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือให้พรรคประชาธิปัตย์พอมายุคนี้ก็ถูกมองเป็นพรรคเพื่อไทยความกดดันนี้มาจากผลของการเมือง ดังนั้นพนักงานสอบสวนทุกคนต้องทำคดีให้มีความคืบหน้าค้นหาความจริงออกมาให้ได้
   "สาเหตุเบื้องต้นของการปะทะกันแต่ละจุดที่มีการเสียชีวิต เกิดจากคนแค่ 2 พวก คือ คนเสื้อแดงกับฝ่ายรัฐ นั่นคือแนวทางกระชับการ สอบสวน ดังนั้นเราต้องรวบรวมจิ๊กซอว์ทั้งหมดเช่น คน สถานที่ วันที่ และเวลา เพื่อดูภาพรวบรวมเหตุการณ์ว่าเริ่มต้นจากอะไร ฝ่ายไหนเริ่ม
ทำอย่างไร ต่างคนต่างอ้างว่ามีกฎหมายรองรับทางฝ่ายชุมนุมก็อ้างว่าเขามีสิทธิชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ทางฝ่ายทหารอ้างว่าปฏิบัติ
หน้าที่ตามกฎหมายและขั้นตอน เราก็ต้องมาดูว่าข้อเท็จจริงใครเป็นอย่างไรก่อนจะสรุป" การเดินหน้าสอบคดี 91 ศพ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกเสมือนว่ามุ่งเน้นไปที่การทำงานของทหารว่ากระทำเกินกว่าเหตุ ทั้งยังถูกวิจารณ์ว่า ดีเอสไอและตำรวจมุ่งเอาผิดอภิสิทธิ์และสุเทพ ในฐานะผู้ออกคำสั่งให้สลายการชุมนุม
   "การที่ ผบ.ทบ. แสดงท่าทีขึงขัง พูดเหมือนดีเอสไอไปกล่าวหาให้ทหารเป็นฝ่ายผิด ทั้งที่หลักฐานมันมีมานานแล้ว และผมไม่ได้มีเจตนาทำให้ทหารเสื่อมเสียเพียงแค่ขอเชิญมาสอบสวนเท่านั้น แล้วจะมาบอกว่าปฏิบัติตามหน้าที่จะมาเอาผิดทหารเรื่องอะไรอ้าว... ก็คุณยังไม่ได้บอกเลยว่าคุณปฏิบัติหน้าที่อะไร ผมพูดเรื่องมีการยิงคนตาย แต่คุณพูดเรื่องสลายการชุมนุมตามการออกคำสั่งของ ศอฉ. ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรแต่มันพูดกันคนละเรื่อง"
   "ถ้าบอกว่าการกระทำที่ผ่านมาถูกต้อง แต่บัดนี้ยังไม่มีผู้ใดยอมรับเลย ถ้าคุณบอกว่าคุณยิง แต่เป็นการยิงตามหน้าที่ ยิงเพราะมีเหตุถ้ามั่นใจว่าถูกก็ต้องบอก จุดนี้ผมยิง ศพนี้ผมยิงเพราะว่าเขากำลังทำร้ายผม มันก็สามารถอธิบายได้ แต่ถามว่า มีไหมครับคนที่จะออกมาบอกเช่นนี้ ไม่มี แล้วทำไมไม่ออกมาบอกล่ะ ในมุมกลับกันสิ่งที่ผมเรียกร้องคือ เอกสารทางราชการ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ระดับคำสั่ง กำลังพลอาวุธ บัญชีเบิกกระสุนไปเรายังได้ไม่ครบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์มาก ส่งมาให้ผมสิ"พ.ต.อ.ประเวศน์ ถามกลับกองทัพ
ปมสไนเปอร์ที่ดีเอสไอจะเชิญมา พลแม่นปืน 2 นาย เข้าให้ปากคำว่า แม้ว่าทางกองทัพพยายามรั้งเลื่อนให้ปากคำมาหลายครั้งแต่ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ ยอมปล่อยตัวให้มาชี้แจงต่อดีเอสไอในเดือน ก.ย. หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี 91 ศพ ชี้แจงว่า คดีสไนเปอร์ที่อยู่ในความสนใจตอนนี้ ไม่ใช่ว่าดีเอสไอเห็นรูปภาพทหาร 2 นาย แล้วไปบอกว่าเขาเป็นคนยิงคนตาย เราต้องหาให้ได้ว่าเขาเล็งปืนไปทางไหน ยิงอะไร ฉะนั้นพยานหลักฐานมันต้องไปด้วยกันและมีเหตุผล
เขายืนยันว่า การสอบสวนยังไม่ได้สรุปว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก แต่เมื่อมีพยานหลักฐานเบื้องต้นน่าเชื่อว่าศพผู้ชุมนุมเกิดจากฝ่ายรัฐจึงต้องนำไปไต่สวนที่ศาลตามกฎหมาย แต่ถ้าฝ่ายรัฐเชื่อว่าการกระทำเกิดจากฝ่ายผู้ชุมนุมเรื่องนี้ไม่ต้องนำไปไต่สวน เพราะกฎหมายระบุว่า กรณีที่มีการเสียชีวิตอันอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 150 ป.วิอาญา ต้องให้ศาลไต่สวนเอง ผลที่ตามมาจึงมีแต่คนบอกว่าทำไมมีแต่คดีที่ทหารทำ แต่พอคดีผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายทำไม่เห็นมี ซึ่งเป็นความแตกต่างทางขั้นตอนกฎหมายเท่านั้น

ประเด็น "ชายชุดดำ" ที่โจมตีทหาร มีการกล่าวหาว่า ดีเอสไอไม่ให้ความสำคัญที่จะคลี่คลาย จริงหรือไม่
   "ถ้าถามว่าผมเชื่อว่าชายชุดดำมีจริงหรือไม่ผมเชื่อว่ามีภาพเราก็พยายามหา อยากรู้มากว่ามันเป็นใคร แต่ก่อนอื่นที่อยากรู้คือคนที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากชายชุดดำมีหรือไม่ จนบัดนี้ยังหาไม่เจอ ในภาพที่มีชายชุดดำนำปืนมายิง ผมยังหาไม่ได้ว่าใครถูกยิงจากปืนกระบอกนั้นเลย มันไม่มี แล้วมันไปไหน ยิงใคร
...ขออธิบายว่า ในภาพที่ได้มามีชายชุดดำ 5 คน ถืออาวุธเอ็ม 79 ปืนอาก้า แล้วมีทหารเสียชีวิต เมื่อพิสูจน์บาดแผลของทหารไม่ใช่เกิดจากอาวุธปืน มีแต่โดนระเบิดและไม่ใช่ระเบิดเอ็ม 79 แล้วจะให้ผมไปเถียงหลักวิทยาศาสตร์ เถียงข้อเท็จจริงได้อย่างไร"
...ขณะเดียวกันอย่าดูแค่ชายชุดดำ ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งแกนนำ นปช.บางส่วนรู้เรื่องก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายไปแล้ว อย่าลืมว่าแกนนำไม่ถูกดำเนินคดี ก็โดนกันไปแล้วเหมือนกัน ฉะนั้นไม่ใช่ว่า เอ๊ะ! ทำไมกล่าวหาแต่ฝ่ายทหาร แต่เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีไปจำคุกไปก่อนแล้ว ฉะนั้นต้องพูดให้ครบ ถ้า นปช.ไม่มีชายชุดดำ ป่านนี้คงโดนแค่ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.จราจร ดังนั้นจึงไม่ใช่การทำตามใบสั่ง หรือมีธงของคดีไว้แล้ว" พ.ต.อ.ประเวศน์ ทิ้งท้าย

ได้ดีเพราะ 'ทวี สอดส่อง'
        
ใครก็ต่างครหาว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คนนี้ "แดงจ๋า" เขาไม่ปฏิเสธ เพียงแต่อธิบายว่า
    "ผมเข้าพื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงจริง ใครจะมองเป็นแดงจ๋าก็แล้วแต่ เพราะผมไปหาข่าว ซึ่งในสมัยเสื้อเหลืองก็เข้าไปเหมือนกัน หน้าที่ของผมขณะนี้คือให้เข้าไปสังเกตการณ์ ขอเน้นว่า เมื่อก่อนคนก็เคยมองคณะนิติราษฎร์เป็นเสื้อแดง แต่คนพวกนี้เรียกร้องความถูกต้องทั้งนั้น ซึ่งผมก็มั่นใจว่าในชีวิตรับราชการมา เรื่องความยุติธรรมคือสิ่งที่ผมยึดถือมากที่สุด การจะไปเขียนสำนวนคดีให้สวยงามขึ้นมาเองนั้น ทำไม่ได้ เพราะเมื่อถึงเวลาศาลถามว่าได้หลักฐานมาจากไหน เราก็ตอบเขาไม่ได้"
พ.ต.อ.ประเวศน์ ใช้ประสบการณ์ความผิดพลาดในอดีตเป็นเครื่องเตือนใจโดยเล่าว่าชีวิตการเป็นตำรวจที่ผ่านมาได้นั้น ต้องศึกษาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต
   "อย่างคดีเชอร์รี่แอน ที่เป็นเรื่องสร้างความอับอายต่อผู้รักษากฎหมาย ผมถือว่าจะต้องไม่ปล่อยให้มีการจับผิดตัวเด็ดขาด ถ้าคดีที่รับผิดชอบอยู่ในมือของคนชื่อประเวศน์และแม้ว่าทุกวันนี้จะยอมรับว่ายังมีให้เห็นอยู่บ้างที่พบว่ามีการจับคนบริสุทธิ์ไปขังคุก"
ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ประเวศน์ ยังเคยลงไปทำงานสืบสวนสอบสวนเก็บพยานหลักฐานที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนสามารถวางผังตารางผู้ก่อการร้าย บีอาร์เอ็น นำสำนวนส่งอัยการให้ศาลลงโทษประหารชีวิตเป็นผลสำเร็จ
   "ผมเป็นคนแรกที่ทำคดีก่อการร้ายในรูปของกระบวนการเป็นคนแรกและคนเดียวที่ถนัดเรื่องไขคดีก่อการร้าย"
ส่วนตัวเขาเชื่อว่าสังคมใดถ้าอยู่ในกฎกติกาแล้วคนเชื่อกติกาสังคมนั้นย่อมสงบสุขแน่นอน
   "แต่ที่ทุกวันนี้ไม่สงบ เพราะคนไม่เชื่อถือผู้ใช้กติกา ทุกวันนี้คนไม่เชื่อศาลบั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมปัญหาก็จะเกิด เพราะต่างคนต่างอ้างว่าตัวเองทำถูกต้อง แล้วไม่มีใครตัดสินมันจะอยู่อย่างไรผมเชื่อเช่นนั้นเพราะทำงานด้านนี้มาตลอดไม่เคยกลัวตาย ถ้ามัวแต่กลัวว่าคนที่เราเคยจับเขาขังคุกจะโกรธแค้น แล้วออกมายิงเราก็ไม่ต้องมาเป็นตำรวจ เพราะเราไม่เคยจับผิดตัว คนเรารู้อยู่ในใจว่าทำอะไร จะรับหรือไม่รับเท่านั้นเอง"
เฉกเช่นเดียวกับอาชีพตำรวจ ที่ถือว่ายศระดับพันตำรวจเอกของเขาไม่ธรรมดา
ย้อนดูประวัติก่อนที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ จะมาเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ เส้นทางวงการสีกากีฉูดฉาดไม่น้อย จบนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 (นรต.37) รุ่นเดียวกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อดีตผู้บังคับการกองปราบปรามและอดีตอธิบดีดีเอสไอที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2551 ถึงวันที่ 29 ก.ย. 2552      
ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งอธิดีดีเอสไอไม่นานนัก พ.ต.อ.ทวี ได้ดึง พ.ต.อ.ประเวศน์ เพื่อนร่วมรุ่นจากสภ.ปากเกร็ด มาทำงานที่ดีเอสไอ
หากมองเส้นทางการเติบโตของ พ.ต.อ.ทวี ก็จะเห็นเส้นทางการเติบโตของ พ.ต.อ.ประเวศน์  เพราะ พ.ต.อ.ทวี ได้ดีเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พอถูกปฏิวัติยึดอำนาจ พ.ต.อ.ทวี ถูกย้ายไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. จนกระทั่งเมื่อ"สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" พี่ชายของ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ มาเป็นรมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี จึงได้ถูกโยกย้ายกลับมารักษาการอธิบดีดีเอสไออีกครั้ง เมื่อ พ.ต.อ.ทวี ได้กลับมา จึงดึง พ.ต.อ.ประเวศน์ มือขวาคู่ใจกลับมาด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เมื่อ พ.ต.อ.ทวี ถูกเด้งไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม แล้วโยกธาริต เพ็งดิษฐ์ จากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มาเป็นอธิบดีดีเอสไอ แรกๆ ข่าวลือจึงกระหึ่มว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ ทำงานไม่เข้าตา ธาริต ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
จวบจนกระทั่งเปลี่ยนขั้วอำนาจ พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลครั้งนี้ พ.ต.อ.ประเวศน์ ได้รับการสนับสนุนจาก "อินทรีอีสาน" พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ครองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ทำงานสำคัญๆ หลายคดี โดยเฉพาะการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี2553
พ.ต.อ.ประเวศน์ ยังมีความสนิทสนมกับ"บิ๊กจุ๋ม" พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นรต.26 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
เส้นทางการทำงานของ พ.ต.อ.ประเวศน์จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีความสัมพันธ์โยงใยเกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยภายใต้การบริหารควบคุมทางการเมืองจาก พ.ต.ท.ทักษิณ