ว่าที่ประธานวุฒิ ?

โพสท์ทูเดย์ 11 สิงหาคม 2555 >>>




   "เออ...เรื่องอยากเป็นประธานวุฒิสภาคนทุกคนไปคิดเอง ถ้าใครอยู่ในตำแหน่งผม ถามว่าผมปฏิเสธไม่เอาได้หรือไม่ "

ไม่ได้อยากแต่ต้องสู้

สิ้นเสียงคำพิพากษาศาลอาญาให้จำคุกแก่ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร แต่ให้รอลงอาญาโทษไว้ 2 ปี ในคดีขึ้นเงินเดือนตัวเอง สมัยเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเก้าอี้ประธานวุฒิสภาก็ว่างลงทันที ชื่อของ "นิคม ไวยรัชพานิช" ส.ว.ฉะเชิงเทรา และรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ก็โผล่เป็นตัวเต็งคนสำคัญ ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของวุฒิสภาชุดลูกผสม
ที่สำคัญบรรดา สว.สายเลือกตั้งกว่าครึ่งสภาต่างยกยอว่านิคมมีความเหมาะสมที่จะเป็นประธานวุฒิสภามากที่สุด โดยต้องชิงกับ พิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา ที่กลุ่ม ส.ว.สรรหา ส่งเข้าประกวด
แต่ถึงแม้จะมากด้วยบารมีที่สะสมมาตลอดในเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา 4 ปี ทว่านิคมก็ไม่เคยสัมผัสตำแหน่งประธานวุฒิสภา โดยเฉพาะเมื่อครั้งลงชิงตำแหน่งกับ พล.อ.ธีรเดช ซึ่งเพิ่งเข้ามาเป็น สว.สรรหาชุดใหม่ ปรากฏว่านิคมแพ้ขาดลอยถึง 52 ต่อ 91 เสียง
มาในครั้งนี้ถือเป็นรอบที่ 2 สำหรับการลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ในวันที่ 14 ส.ค. "นิคม" เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ ถึงความพร้อมและคำถามที่ว่า"

ทำไมถึงอยากเป็นประธานวุฒิสภา"

   "ไม่ได้เตรียมอะไรมาก แต่บอกตัวเองเสมอว่าต้องตั้งมั่นอยู่ในความพร้อมตลอดเวลา ห้ามประมาทพร้อมที่จะแพ้ พร้อมที่จะชนะ อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ คือแล้วแต่ดวงของคนด้วย อย่าไปอะไรมันมากเลย ก็ไม่รู้สิ คนเราต้องพร้อมเผชิญกับทุกสถานการณ์"
ปัจจุบันมี ส.ว. เหลือ 146 คนจากยอดเดิม 150 คน แบ่งเป็น ส.ว.เลือกตั้ง 76 คน ส.ว.สรรหา 70 คน นิคม ระบุว่า ส.ว.สายเลือกตั้ง ไม่มีคีย์แมน หรือมือประสานสิบทิศ เนื่องจากเราต่างคนต่างมา 76 พรรคถ้าจะให้บอกว่าตอนนี้มีเสียงเท่าไรก็ตอบยาก แต่ถ้ายึดจากครั้งก่อนก็มี 52 เสียง
   "สงสัยดวงคนมันจะเป็นรองประธานวุฒิสภามั้งไม่เหมือนกับกลุ่มสรรหามาจากพรรคเดียวกัน คือคณะกรรมการสรรหาสู้กันไม่ได้สักที เป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบทางรัฐธรรมนูญ"
แม้น้ำเสียงจะไม่มั่นใจจะชนะเด็ดขาด กระนั้นเขาบอกว่ายังมีลุ้นและว่าการล็อบบี้มีแน่นอนทุกเวทีทุกครั้ง เพราะเป็นวัฒนธรรมสังคมไทยขนาดในยูเอ็นยังมีล็อบบี้ สภาก็เช่นเดียวกัน
สำหรับการเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาหนนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 ปี ซึ่ง ส.ว.เลือกตั้ง เหลือวาระอีกประมาณ 2 ปี จะต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วเลือกตั้งกันล็อตใหม่ นิคมฉายภาพย้อนหลังถึงการชิงตำแหน่งที่ผ่านมาให้ฟัง
   "ครั้งแรกสายเลือกตั้งไม่ได้ยอมนะครับ ก็สู้กัน สายเลือกตั้งส่งท่านทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ แต่บังเอิญว่าเกมการเมืองตอนนั้นยังตั้งตัวไม่ติด มีการปล่อยข่าวว่ามีการแจกเงิน มีการแจกรถ ทำให้ผมสงสารท่านทวีศักดิ์อย่างมากตอนนั้นผมคิดว่าท่านทวีศักดิ์ไม่น่าจะแพ้ให้กับท่านประสพสุข บุญเดช น่าเสียดายแทน เราหาคนแก้เกมไม่ทัน"
   "ครั้งที่สอง ความจริงแล้วดูทิศทางตอนแรกฝ่ายเลือกตั้งน่าจะสดใสนะครับ ขณะนั้น ส.ว.สรรหา เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามวาระ โดยมี คนเก่ากลับเข้ามา 34 คน และเป็นคนใหม่อีก40 คน แต่เราประมาณผิดไปหน่อย เพราะจริงๆแล้วมาจากช่องทางเดียวกัน คือ คณะกรรมการ สรรหา และผิดคาดมี ส.ว.เลือกตั้ง 20 เสียง ไปเทให้สรรหา เป็นของภาคใต้ ภาคเหนือภาคกลาง ภาคอีสานบางส่วน"
   "ครั้งที่สามครั้งนี้ มีความสำคัญตรงที่ถ้าสายเลือกตั้งจะดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่ถึง 2 ปีแต่ถ้าสายสรรหาได้ก็จะเหลือวาระดำรงตำแหน่งอีก 5 ปี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไปยาวเลย มองกันตามหลักแล้วควรให้โอกาสคนที่เหลือวาระน้อยได้ทำหน้าที่บ้างในฐานะที่มีความยึดโยงกับประชาชน"

ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพใน ส.ว.สายเลือกตั้ง มาจากความพยายามต่างตั้งตนเป็นหัวหน้ากลุ่มกันมากเกินไปหรือไม่ ?
นิคม ตอบว่า "แน่นอนครับ อันนี้เป็นสังคมของสัตว์โลกในสัตว์ยังมีจ่าฝูง หัวหน้าฝูงไม่ใช่จำกัดเฉพาะแค่คน เป็นธรรมดา"
นอกจากอุปสรรคในเรื่องเสียงที่ทำให้เก้าอี้ประธานวุฒิสภาที่นิยมหวังไว้ ยังไม่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีเกมจาก ส.ว.สรรหา ที่บีบให้เขาแสดงสปิริตลาออกจากรองประธานวุฒิ ก่อนลงสมัครชิงประธานวุฒิสภา เป็นอีกปัจจัยที่บั่นทอนและท้าทายต่อการตัดสินใจ
   "ผมจะลาออกหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะถึงยังไงผมก็ต้องออก ถ้าผมได้ตำแหน่งประธานวุฒิสภาไปโดยปริยาย แต่การลาออกเพื่อแสดงสปิริตนั้น ถามว่า สปิริตตรงนี้มันมีผลได้ผลเสียต่อการเลือกตั้งอย่างไร"
   "ถ้าผมลาออกแล้ว ผมจะสง่างามมันจะมีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่ มันไม่มี มันไม่เหมือนตำแหน่งอื่นไม่เหมือนคุณเป็นเจ้าพนักงานแล้วลงเลือกตั้ง เพียงแต่การเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 มีผลต่อความหวังของคนที่อยากเป็นตำแหน่งนี้"

ช่วยขยายความหน่อย ?

นิคมครุ่นคิดก่อนตอบ "เออ...ใช่ เกมนี้ชัดเจน แต่ถ้าผมไม่ออก เขาก็จะมีประธานวุฒิสภาคนเดียว อันนี้เป็นสิ่งยุ่งยากใจพอสมควร ผมก็ต้องยอมรับแรงกดดันเป็นแรงกดดันของคนที่ประสงค์อยากได้ตำแหน่งนี้ โดยอ้างว่าต้องแสดงสปิริตลาออก"
   "ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ผมแสดงจุดยืนแสดงสปิริต และบอกว่าถ้าไม่ออกจะไม่ลงคะแนนให้และจะได้คะแนนน้อย อีกฝ่ายบอกว่า อย่าลาออกถ้าลาออกก็เข้าล็อกเขาเลย แล้วจะให้ผมทำยังไงดี ตอนนี้ผมมี 2-3 สามทางเลือก แต่บางทีก็คิดว่าอาจไม่ลงสมัครเลือกตั้งประธานวุฒิสภาเลยไม่รู้สิตอนนี้มีแต่เจ็บตัว เจ็บมาก หรือเจ็บน้อยก็อีกเรื่องหนึ่งไม่เคยมีเสมอตัวเลย"
   "พวกเขาก็บี้หนัก ไม่รู้ว่าบี้ผมเพื่อให้ประโยชน์อะไร แต่ผมก็พอมองออก อาศัยความสง่างามพูดออกมาแล้วดูดี ดูจ๊าบ ดูดี๊ดีแต่มีเป้าหมาย"
ตลอดเวลาที่นิคมเป็นรองประธานวุฒิสภามักถูกข้อกล่าวหาว่า "อยากเป็นประธานวุฒิสภา" อยู่เสมอ เพราะครั้งหนึ่งเมื่อปี 2554 ส.ว.สายเลือกตั้ง ที่ร่วมสนับสนุนนิคมลงชื่อรวมตัวกดดันให้ "ประสพสุข" ลาออกแต่ไม่สำเร็จขณะที่นิคมชี้แจงว่า ไม่มีส่วนกับการเลื่อยขาเก้าอี้ จึงขอให้ไว้ใจได้ ต่อมาเมื่อนิคมแพ้ชิงประธานวุฒิสภาให้กับ พล.อ.ธีรเดช ก็มีข่าวออกมาว่า นิคมไม่ลงรอยกับท่านประธาน
   "เออ...เรื่องอยากเป็นประธานวุฒิสภาคนทุกคนไปคิดเอง ถ้าใครอยู่ในตำแหน่งผม ฐานะอย่างผม ถามว่าผมปฏิเสธไม่เอาได้หรือไม่ ถ้าผมทำอย่างนั้น กลุ่มที่สนับสนุนผมก็จะหมดความเชื่อถือในตัวผมฉะนั้นผมต้องแสดงภาวะผู้นำเมื่อตำแหน่งว่างและผมเป็นรองประธานวุฒิสภาอันดับที่ 1 อยู่ๆ คุณเป็นรองอันดับ 1 แล้วคุณไม่ลุกขึ้นสู้เขาได้อย่างไร ไม่ใช่ผมอยากเป็นประธานวุฒิสภา มาได้แค่นี้ก็มาได้ไกลเกินที่ผมคิดแล้ว"
ถามถึง "พิเชต" คู่แข่งคนสำคัญจากสายสรรหา เขาประเมินว่า "ท่านพิเชตเป็นคนดีเรียบร้อย นุ่มนิ่ม สุขุม เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ผมอยู่ตรงนี้ ทั้งคนรักและคนไม่รัก คนชอบและคนไม่ชอบ กับท่านพิเชตก็ได้คุยกันนะ ไม่มีอะไร มีน้ำใจนักกีฬาเหมือนเดิม"

แสดงว่า ส.ว.พิเชต ไม่น่ากลัวเท่ากับคนที่หนุนหลังท่านพิเชต ?

นิคม ฟันธง "อันนี้ถูกต้อง"
   "เออ...เรื่องอยากเป็นประธานวุฒิสภาคนทุกคนไปคิดเอง ถ้าใครอยู่ในตำแหน่งผม ถามว่าผมปฏิเสธไม่เอาได้หรือไม่ ถ้าผมทำอย่างนั้น กลุ่มที่สนับสนุนผมก็จะหมดความเชื่อถือในตัวผมฉะนั้นผมต้องแสดงภาวะผู้นำ เมื่อตำแหน่งว่างและผมเป็นรองประธานวุฒิสภาอันดับที่ 1 อยู่นะผมก็ต้องสู้"

'อย่าห่วง...เรื่องไม่เป็นกลาง'

ตลอดการสนทนากับ "นิคม ไวยรัชพานิช" หลายครั้งเจ้าตัวขออนุญาตรับโทรศัพท์ที่เข้ามาเป็นระยะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกประธานวุฒิสภา เสียงจากต้นสาย ถ้อยคำที่รองฯ นิคม ตอบทำให้เดาไม่ยากว่าเป็นการสนทนาเรื่องการเลือกตั้งประธานวุฒิสภา
   "อืม อืม เออ เออ โอเค ติดตามกันต่อไป...ได้ๆๆๆๆ"
   "อืมๆๆ โอกาสพลาดมี เนี่ยๆ ใช่ ถูกต้อง""มองเหมือนกัน เวลานี้มีพรรคพวกบอกว่าถ้าออกจะไม่ลงคะแนนให้!!"
   "อ่ะหะ ได้เลย โอเคครับ สวัสดีครับ" ช่วงนี้รับโทรศัพท์หนัก?นิคมตอบไม่อ้อมค้อม "ใช่ๆ หนักไปบวชดีกว่า เครียดนะ คนยิ่งอยู่สูงยิ่งหนาว แต่ถามว่าคนที่ผ่านมาประสบการณ์มาแล้วอย่างผมก็พอรับไหว"

การเลือกตั้งประธานวุฒิสภาครั้งนี้จะได้รู้กันใช่หรือไม่ว่าใครเป็นเพื่อนแท้ ?

คำตอบที่ได้จากนิคมคือ "ใช่ครับ เพื่อนแท้เพื่อนเทียมถ้าเป็นผมเมื่อมันมีใจกันก็รักกันแล้วก็ให้เลยโดยที่คุณไม่ต้องมาขอผม ผมรักใครรักเลย แต่ถ้าไม่ใช่ ชอบใครก็คบน้อยหน่อย แต่ไม่ถึงขั้นเกลียดกัน งานการเมืองไม่มีสิทธิจะไปเกลียดใคร เพราะการสร้างศัตรูจะทำให้ตัวเองเป็นคนหม่นหมองเพราะต้องคอยคิดแก้แค้นตลอดเวลา"
   "ไม่รู้ว่าจะมีเพื่อนแท้เหลืออยู่อีกกี่คนก็ไม่รู้หรืออาจทำให้คนเกลียดขี้หน้าไปอีกเยอะ ผมเหลือวาระอีกปีกว่าก็ทนๆ ไปหน่อยเถอะ"
ความคลางแคลงใจถึงความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยผ่านการโหวตสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เจ้าตัวไขข้อสงสัยนี้ว่า "ถ้าผมพูดว่าพรรคการเมืองไม่ได้เข้ามาในวุฒิสภาเลยผมก็เป็นคนหลอกตัวเอง แต่เป็นเพียงความเกี่ยวพันในเรื่องการพิจารณากฎหมายและการทำงานอื่นๆไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนทั้งของท่านอภิสิทธิ์หรือท่านยิ่งลักษณ์ อะไรที่เป็นนโยบายที่ดีก็โหวตให้ อะไรดีก็ต้องสนับสนุน อะไรไม่ดีก็ต้องติ พวกท่านไปแถลงนโยบายรัฐบาลที่กระทรวงการต่างประเทศผมยังต้องไปเลย แม้ความจริงผมจะไม่เห็นด้วย"
   "นโยบายผู้สูงอายุผมก็เห็นด้วยโหวตให้ แต่พรรคนี้นโยบายมันเยอะ พอเราทำงานไปส่งเสริมรัฐบาลก็ถูกมองว่าผมเป็นพรรคเพื่อไทยหรืออย่างการโหวตรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าในใจทุกคนอยากให้มีการแก้ไข กลุ่ม สว.ที่ไม่อยากให้แก้เพราะพวกเขาได้ประโยชน์"
ขณะเดียวกัน นิคมนำเสนอมุมมองในอนาคตหากมีโอกาสได้เป็นประธานวุฒิสภาว่า "ถึงผมจะเหลือวาระอีกปีกว่าๆ ไม่ต้องห่วงผมจะไม่เป็นกลาง 4 ปีที่ผ่านมาย่อมรู้แล้วว่าผมเป็นคนอย่างไร เวลาตั้งปีกว่าๆ ทำอะไรได้เยอะนะครับผมเป็นคนทำงานเยอะ"
ส่วนสิ่งที่วุฒิสภาควรต้องเปลี่ยนแปลง นิคมคิดว่าที่ผ่านมาขาดความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีความเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ และผมคิดว่ามีการแสดงออกที่หลายขั้วมากเกินไป ฝ่ายหนึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนก็จะห่วงพื้นที่ทำให้อาจดูเสมือนหนึ่งว่าไม่ค่อยทำหน้าที่ในสภา อีกฝ่ายไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนแต่กลับไปทำหน้าที่เชื่อมโยงกับกลุ่มคนบางกลุ่ม
   "ถ้ากลับไปเลือกตั้งเหมือนเดิมระบบนี้มันตอบสังคมได้ และประชาชนควรได้มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกตัวประชาชน ผมถามว่าประชาชนในกรุงเทพมหานคร 5.8 ล้านคน คุณมีสิทธิเลือก ส.ว. ได้คนเดียว แต่ จ.สมุทรสงคราม หรือระนองมีประชาชนเพียง 2.5 ล้านคน ก็มีสิทธิเลือกตัวแทนประชาชนได้ 1 คนเท่านั้น มันเป็นธรรมหรือไม่ แต่ถ้ายังใช้ระบบนี้ต่อไปก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป เห็นหรือยังว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาเกิดความแตกแยก"

ชม 'ปู' เตือนฝ่ายค้าน

เป็นผู้บริหารในฝ่ายนิติบัญญัติคนหนึ่งที่ยังเหนียวแน่นในตำแหน่งรองประธานวุฒิสภานับแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน 4 คน ประธานรัฐสภา 3 คน และประธานวุฒิสภา 2 คน
การได้ร่วมงานกับผู้นำประเทศถึง 4 คนย่อมมองเห็นข้อดีและข้อเสียของแต่ละคนนิคม แจกแจงว่า
   "ท่านสมัคร สุนทรเวช เป็นนักคิดพูดจาตรงไปตรงมา ทำงานเร็วเป็นระบบ เป็นคนรักสถาบัน รักองค์กรมากมีความรับผิดชอบสูง เข้าไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แม้จะเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมาก็ตาม"
   "ท่านสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผมเสียดายความจริงควรมีโอกาสทำงานมากกว่านี้ แต่ทำเนียบรัฐบาลมาถูกยึดเสียก่อน"
   "ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นคนหนุ่ม ภาพลักษณ์ดี การศึกษาดี แต่ว่ามีการเมืองมากไปอยากให้ท่านเป็นรัฐบาลอีก แต่ไม่อยากให้ท่านเล่นการเมืองมากเกินไป"
   "ท่านยิ่งลักษณ์ ถึงแม้ทุกคนจะไปจ้องเล่นงานทุกเรื่องตั้งแต่การแต่งตัวสวยก็ควรให้โอกาส ตอนนี้พัฒนาตัวเองได้เร็วมาก เป็นคนนิ่ง ตรงนี้แหละมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็นผู้นำ ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวถ้าท่านอภิสิทธิ์ใช้ความนิ่งและทำงานไป คิดว่าไปได้ไกลเลยทีเดียว"
นิคม ทิ้งท้ายว่า "ถ้าตราบใดการเมืองยังมีทิฐิ แบบนี้ไม่มีทางที่จะแก้ไขความขัดแย้งได้ ฝ่ายค้านยังทำตัวแบบนี้ก็ไม่มีทาง เพราะเลือกตั้งกี่ครั้งก็แพ้ ผมพูดถูกมั้ย เมื่อแพ้ก็อาศัยกระบวนการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อความได้เปรียบทำไมไม่สร้างความศรัทธาให้เกิดในประชาชนแล้วมาสู้กัน"
   "การสร้างความรู้ความเข้าใจและวัฒนธรรมประชาธิปไตยตอนนี้เป็นเรื่องสำคัญเพื่อช่วยลดความขัดแย้งงานพวกนี้ไม่ค่อยมี สว.คนไหนอยากทำกัน เพราะมันเหนื่อยแต่ผมทำมันวังเวงนะ สงสัยต้องเรียกร้องให้สตรีออกมาเป็นใหญ่ ต้องอาศัยผู้หญิง คือ มีความอดทนมีความอดกลั้น มีหิริโอตตัปปะ มีความรับผิดชอบดี"