ประชาไท 26 สิงหาคม 2555 >>>
ในคืนก่อนพิธีฌาปนกิจศพนายอำพล หรือ อากง SMS ที่วัดลาดพร้าว ถ.ลาดพร้าว-วังหิน กรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวานนี้ (25 ส.ค.) นั้น ในช่วงกลางดึก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขึ้นอภิปรายเป็นเวลา 30 นาที
ตอนหนึ่งของการปราศรัย สมศักดิ์ กล่าวถึงเรื่อง การมี "Moral Courage" หริอ "ความกล้าหาญทางคุณธรรม" ซึ่งเป็นเรืองที่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก โดยไม่เกี่ยวว่าจะมีทัศนะทางการเมิองอย่างไร โดยสมศักดิ์กล่าวถึงคดีกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 กับกรณีการเสียชีวิตของอากง SMS โดยสมศักดิ์กล่าวว่า ในคดีกรณีสวรรคตดังกล่าวทั้ง 3 ศาล มีบรรดาตุลาการรวม 12-13 คน แต่ไม่มีสักคนกล้าที่จะบอกว่าหลักฐานไม่พอที่จะเอาผิดประหารชีวิต เฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน ยกเว้นตุลาการคนหนึ่งในชั้นศาลอุทธรณ์ที่กล้าบอกว่าตัดสินประหารชีวิตไม่ได้ จำเลยเหล่านี้ไม่ผิด ที่เหลือไม่มีใครกล้าบอกเลย
กรณีดังกล่าวใช้เวลาถึง 30-40 ปี กว่าจะยอมรับว่าปรีดี พนมยงค์ไม่เกี่ยวข้อง และในคดีนี้ไม่มีทางที่มหาดเล็ก 2 คนจะร่วมมือกับปรีดีในการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 แต่ตลอด 30-40 ปีมานี้ มีคนใหญ่คนโต มีคนจบมหาวิทยาลัย มีนายกรัฐมนตรีจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีใครออกมาพูดว่าเป็นสิ่งไม่ถูกที่ไปประหารชีวิตเขา ไม่ถูกที่ไปไล่เขาออกนอกประเทศ ไม่มีเลย ทุกคนคำนึงถึงฐานะตัวเองหมด แล้วประเทศไทยสังคมไทยเป็นอย่างนี้ตลอด
กรณีอากง เป็นเรื่องที่สะเทือนใจมาก เพราะตลอดทั้งกระบวนการแต่ต้นจนจบ หาคนที่กล้าหาญทางคุณธรรมแบบนี้ไม่ได้ ในระดับตุลาการที่ตัดสินอากง ตั้งแต่การไม่ให้อากงประกัน ตุลาการต้องรู้แน่ๆ ว่าการไม่ให้ประกันมันผิด เหตุผลที่ว่าอากงอายุ 60 จะหนี เป็นเหตุผลที่ว่าผิดแน่ๆ ถ้าตุลาการไปอ้างเหตุผลแบบนี้ แต่ไม่กล้าจะบอกว่าคนนี้ไม่หนีหรอกแล้วให้ประกัน แล้วการตัดสินศาลก็ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานพอที่อากงเป็นคนส่ง SMS ในภาษากฎหมายเขามีศัพท์ว่า "Burden of Proof" ภาระในการพิสูจน์ไม่ได้อยู่ที่จำเลย ไม่ได้อยู่ที่ตัวโจกท์ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยส่งจริง ศาลก็ต้องปล่อยจำเลยไป และกรณีที่ต่อให้อากงยอมรับว่าส่ง SMS จากเครื่องนี้จริง แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าอากงในการกดส่ง ตามหลักภาระในการพิสูจน์ศาลก็ต้องปล่อยอากง แต่ศาลก็ไม่กล้าตัดสิน ในสังคมซึ่งมีความเป็นมนุษย์อยู่ ตุลาการที่นั่งบัลลังก์ไม่อนุมัติประกันอากง เขาต้องรู้แน่ๆ ว่าการไม่อนุมัติให้อากงประกันไม่ถูก เขาต้องรู้แน่ๆ ว่าการตัดสินแบบนี้มันผิดหลักกฎหมายแต่ก็ไม่ให้ประกัน ตัดสินเสร็จก็ไม่ให้ประกัน อ้างเรื่องกลัวหนีอีก นี่คือสิ่งที่ผมไม่มีความกล้าหาญทางคุณธรรม อย่างน้อยควรจะรู้อะไรผิด อะไรถูก
ประเด็นที่ผมเสียใจมากกรณีอากงคือ ในทุกวงการไม่มีใครกล้าหาญทางคุณธรรมเพียงพอ แต่คำนึงฐานะตำแหน่งตัวเองตลอด กับฝั่ง นปช. อย่างอาจารย์ธิดา (ถาวรเศรษฐ์) ใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์ กว่าจะพูดเรื่องนี้ คือการไม่มี "Moral courage" ที่ผมพูดถึง และไม่เพียงแต่ นปช. รวมทั้งรัฐบาลเอง แม้ในระดับข้อเสนอของนิติราษฎร์จะทำไม่ได้ อย่าว่าแต่ข้อเสนอของผมเลย ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำได้ แต่มันมีระดับที่รัฐบาลทำได้ อย่างกรณีที่ตอนนี้มีนักโทษในคดี ม.112 ประมาณ 10 กว่าคนในเรือนจำใหญ่ และอำนาจในการย้ายนักโทษอยู่ในมือ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมต.ยุติธรรม ซึ่งสามารถสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ย้ายนักโทษไปอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ เซ็นเช้า ย้ายบ่ายได้ทันที แต่จนป่านนี้ทำไมไม่ทำ
กรณีอากง เห็นได้ชัด ทุกฝ่ายขี้ขลาดตาขาว เห็นคนแก่อายุ 60 ห้ามประกันซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ต้องออกมาพูดแล้วว่าทำไม่ได้มันผิด ด้านกฎหมาย อธิการบดี แต่ทุกคนเงียบกริบหมด ที่สำคัญคือพูดไปแล้วกลัวจะเดือดร้อน เข้าข้างพวกล้มเจ้าบ้าง หรือบางคนกลัวว่าจะเข้าข้างอีกฝ่าย จนอะไรที่เป็นเรื่องความถูกความผิด ที่มันเป็นพื้นฐานง่ายๆ ของความเป็นคนมันหมดไปเลย แล้วทำให้คนแก่คนหนึ่งซึ่งไม่ใช่การเมืองอะไรทั้งสิ้น มาตาย โดยที่ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของเขากับครอบครัวเขา
ถ้าเสียงนี้จะได้ยินไปถึงทุกคน ทุกฝ่าย เลยทั้งเหลือง ทั้งแดง ทั้งรัฐบาล ทั้ง นปช. ลองถามตัวเองจริงๆ ว่า ตัวเองมีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหนต่อการตายของอากง และถ้าพูดกันตรงๆ คนดังทั้งหลายแหล่ ที่มีฐานะทั้งหลายแหล่แล้วตลอดเวลาของคดีอากง ทั้งที่รู้ว่าไม่ถูก มันผิดแล้วไม่ทำอะไร ผมว่าทุกคนต้องถามใจตัวเองว่า มีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหนในทางคุณธรรม ว่าสามารถทำอะไรได้มาก สามารถช่วยอากงในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้แต่ไม่ช่วย เพราะคำนึงถึงชื่อเสียงตัวเอง คำนึงถึงฐานะตัวเอง คำนึงถึงการเมืองตัวเอง ผมว่าควรจะมีความละอายแก่ใจตัวเอง พรุ่งนี้เผาอากง ผมอยากให้คนเหล่านี้นอนไม่หลับแล้วคิดถึงความตายของคนแก่คนนี้ แล้วถามตัวเองว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาตัวเองควรจะทำได้มากกว่านี้ไหม
ฝ่ายรัฐบาลเองก็เหมือนกัน กับคนที่ต้องโทษคดี ม.112 เรื่องง่ายๆ แค่ย้ายคุก มันไม่ยากอะไรเลย ถูกด่าก็ด่าไปสิ แค่นี้มันไม่ทำให้รัฐบาลล้มหรอก ถ้าย้ายคุกแล้วทำให้รัฐบาลล้ม มาจับผมเข้าคุกแทนได้เลย คือมันมีอะไรบางอย่างซึ่งควรจะคำนึง ไม่ใช่คิดแต่การเมืองอย่างเดียว มันเป็นเรื่องคุณธรรมที่คุณควรจะคิดบ้าง แล้วสังคมไทยมันขาดสิ่งนี้มาก
ถ้าจะว่าไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่เรายืดเยื้อไม่จบ ผมคุยกับคุณนิก (นิก นอสติทซ์ ช่างภาพ) ชาวเยอรมันที่มาทำข่าวบ่อยๆ สิ่งหนึ่งที่น่าเสียใจก็คือว่า ทุกวันนี้ ทุกฝ่ายขาดสิ่งนี้ คือคิดอยากจะเอาชนะทางการเมืองอย่างเดียว หลายอย่างคนเหล่านี้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด รู้ว่าเป็นอะไร รู้ว่าทางออกเป็นอะไร ทุกคนรู้ว่าถ้าไม่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ไม่มีทางแก้วิกฤตได้ ใช่ไหม ไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ต่อวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา เรื่องพวกนี้ถ้าไม่พูด ไม่อธิบายกันเต็มที่ ก็แก้วิกฤตไม่ได้ ถามหน่อยว่าคนในวงการเมืองคนไหนไม่รู้บ้างเรื่องนี้ ถามหน่อยว่าบรรณาธิการข่าวที่ไหน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับไม่รู้บ้างว่ามีประเด็นนี้อยู่ แล้วเมืองไทยแทนที่จะมานั่งพูดกัน แทนที่ทุกฝ่ายจะมีความกล้าหาญว่า "เนี่ยวิกฤตนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้" "มันหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้ไม่ได้ แล้วมาตั้งโต๊ะพูดกันตรงไปตรงมา ฯลฯ"
มันเหมือนประเทศนี้บางครั้งผมคิดแล้วทั้งเศร้า ทั้งเหนื่อย เรื่องที่มันควรจะแก้ได้โดยใช้สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ทุกฝ่ายมันเหมือนกับหายไปไหนหมดไม่รู้ แล้วความหายไปไหนหมดนี้ สุดท้ายคนที่เป็นเหยื่อตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาก็คือคนตัวเล็กๆ คนธรรมดานี่แหละ ไม่ใช่คนดังๆ ทั้งหลายของทั้ง 2 ฝ่ายหรอก คนอย่างอากง คนที่ตายไป 90 คน 100 คน 20 คนที่อยู่ในคุกคดีทั่วไป คน 10 คนคดี 112 แล้วคนที่มีตำแหน่ง มีฐานะของทุกฝ่าย ในชีวิตประจำวันคุณกินข้าว กินปลา คุณหลับนอนโดยความรู้สึกที่ปล่อยให้ปัญหามันเรื้อรัง แล้วไม่รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของคุณในการแก้
ผมหวังว่าทุกคนทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในอำนาจตอนนี้ รวมถึงอำนาจการเมือง ทางศาล ทางสังคม พวกนักวิชาการ พวกนักหนังสือพิมพ์ จะได้คิดบ้างว่าเราปล่อยภาวะแบบนี้มันเกินไปแล้ว กรณีอากงมันเป็นสุดยอดของความที่ ซึ่งผมว่าคนจะได้สติกันบ้างจากอากง แต่อากงตายมาหลายเดือนทุกอย่างก็กลับเป็นเหมือนเดิมหมด ก็ไม่รู้ว่าถ้าสังคมไทยเป็นอย่างนี้ ทุกฝ่ายไม่มีความกล้าหาญทางคุณธรรมที่จะคุยกันตรงไปตรงมา ต่างฝ่ายต้องคำนึงถึงอย่างนู้นอย่างนี้ รัฐบาลก็กลัวถูกกล่าวหาว่าว่าล้มเจ้า อีกฝ่ายก็กลัวหมดข้ออ้างในการเกาะสถาบันกษัตริย์ ในที่สุดจะลงเอยอย่างไรรู้ไหม ในที่สุดอาจจะลงเอยด้วยนองเลือดอย่างขนานใหญ่ในสังคมไทย แล้วถ้าลงเอยอย่างนั้นความรับผิดชอบมันอยู่กับใคร อันนี้ต้องถามตัวเองทุกคน
กรณีอากง ความรู้สึกของผมคือ ทุกฝ่ายมันขาด "ความกล้าหาญทางคุณธรรม" ที่จะทำในสิ่งที่รู้ว่ามันถูก รู้ว่าควรจะทำอะไร แต่ทุกคนไปคำนึงถึงอย่างอื่นหมด ไปคำนึงฐานะ ตำแหน่ง คำนึงถึงการเมืองหมด แล้วไม่กล้าทำ แล้วสุดท้ายคนที่เป็นเหยื่อคือคนแก่ธรรมดาที่สุดท้ายต้องมาตายโดยห่างจากครอบครัว