เส้นทาง นปช.: งานฌาปนกิจศพ อำพล ตั้งนพกุล อากง (วันฌาปนกิจ)



ทีมข่าว นปช.
27 สิงหาคม 2555




วานนี้ (26 ส.ค. 55) อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ และคนเสื้อแดงจำนวนมากร่วมงานฌาปนกิจศพวันสุดท้ายของ อำพล ตั้งนพกุล (อากง) ณ วัดลาดพร้าว แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ
ก่อนเริ่มพิธีเกิดฝนตกลงมากอย่างหนัก แต่ก็ไม่ทำให้ผู้ร่วมงานย่อท้อ หรือถอยหนี เพราะทั้งหมดเชื่อว่า นี่เป็นการไว้อาลัยจากสวรรค์ และเป็นการสดุดีวิญญาณของอากง
รสมาลิน ตั้งนพกุล (ป้าอุ๊-ภรรยาของอากง) เผยว่า ตนเองยังคงรู้สึกอาลัยรักอากงอยู่ ตอนนี้ทำใจได้แล้ว รู้สึกยินดีที่งานในครั้งนี้มีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่อากงเป็นเพียงคนธรรมดา
อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ขึ้นกล่าวแสดงความไว้อาลัยต่ออากง โดยร้องขอให้ประชาชนสืบทอด "ปณิธาน" เพื่อไม่ให้การเสียชีวิตของอากงไม่คุ้มค่า ทั้งนี้การเสียชีวิตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย-โลก เพราะอากงเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่นักการเมือง, นักวิชาการ หรือนักต่อสู้ แต่สามารถสร้างผลสะเทือนที่ยิ่งใหญ่ต่อระบอบอำมาตย์ได้ ครั้งหนึ่งตนเองเคยเข้าเยี่ยมอากง และนักโทษการเมืองเสื้อแดงคนอื่นๆในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งตนเองได้กล่าวกับอากงในตอนนั้นว่า อากงเป็นเพียงคนธรรมดาที่สามารถทำให้ระบอบอำมาตย์ไทยสั่นสะเทือน
อากงไม่ควรเป็นผู้ถูกกล่าวหาจากคดีเช่นนี้ นิติรัฐ-นิติธรรมไทยยังไม่ถูกต้อง กระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่เป็นไปตามหลักสากล เพียงแค่ข้อสงสัยก็ทำให้อากงถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนคำพูดของป้าอุ๊ที่ว่า "กลับบ้านกันเถอะ เขาปล่อยลื้อแล้ว" นั้น เป็นการตอกหน้าระบอบอำมาตย์ จากการที่คนๆหนึ่งต้องกลับบ้านด้วยร่างที่ไร้วิญญาณ
อากงเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมืองไทย อำมาตย์ใช้ทั้งอาวุธ (กองกำลังเข่นฆ่าประชาชน) และกระบวนการยุติธรรม (การคุมขังโดยไม่ให้ประกันตัว) เพื่อข่มขู่ผู้ที่ท้าทายอำนาจของพวกเขา เป็นการแสดงให้เห็นว่า นิติรัฐ-นิติธรรมยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้ถูกคุมขังหลายคนที่ไม่ได้รับการประกันตัวจำเป็นต้องยอมรับสารภาพ เพราะเห็นว่า โอกาสที่จะชนะนั้นน้อยมาก
คดี ม.112 ไม่ควรเกี่ยวกับสีเสื้อ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของอากงนั้น ประชาชนต้องไม่ลืมเลือน ประชาชนต้องช่วยกันทำให้ประเทศหลุดพ้นจากความคิดจารีตนิยมสุดโต่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ นปช. พยายามทำงานอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง แม้จะมีบางคนมองว่า นปช. อาจมีความกล้าหาญน้อยไปหน่อย
นอกจากนี้หลังกล่าวเสร็จ อ.ธิดา ร้องขอให้ผู้ร่วมงาน ยืนตรง 1 นาทีเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับอากงด้วย
วราวุธ ฐานังกรณ์ เชื่อว่า การเสียชีวิตของอากงเป็นเรื่องของ "โชคชะตา" ที่กำหนดให้การเสียชีวิตของอากงมีความหมายต่อแผ่นดินไทย-ประชาชนไทย สะเทือนไปทั่วทั้งจักรวาล การเปลี่ยนแปลงใดๆจำเป็นต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน การเสียชีวิตของอากงเป็นการแลกเปลี่ยนที่สมศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับ นวมทอง ไพรวัลย์ ยากที่คนธรรมดาจะทำได้แบบนี้
นอกจากนี้วราวุธยังประชาสัมพันธ์งานทอล์คโชว์ของตนเอง เนื่องจากขณะนี้ตนเองมีภูมิคุ้มกันโรคร้ายแล้ว จึงตั้งใจที่จะเล่าเรื่องราวของตนเองอย่างหมดเปลือก ตอนนี้ขออุบไว้ก่อน แต่ขอรับรองว่า ตนเองเก็บมุขไว้มากมายจากในเรือนจำเพื่อทอล์คโชว์ครั้งนี้ ทั้งนี้ตนเองเชื่อว่าภายในปี 2561 ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และประชาชนจะเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ของอากง
หลังจากการกล่าวไว้อาลัยเสร็จ อ.สุดา รังกุพันธุ์ ได้เล่าประวัติโดยย่อของอากงว่า อากงเกิดที่ จ.สมุทรปราการ จบชั้น ป.7 ก่อนไปเรียนภาษาจีนต่อกับโรงเรียนแบบสอนกันเอง เริ่มงานด้วยการเป็นลูกจ้างโรงงานไม้ใน จ.ชลบุรี, คนขับรถของร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ต่อมาจำเป็นต้องหยุดงาน เพราะต้องมาดูแลมารดาที่ไม่ค่อยสบาย
ปี 2551 อากงผ่าตัดมะเร็งใต้โคนลิ้น ก่อนถูกจำคุกในปี 2553 จึงไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานศพของมารดาของตนที่เสียชีวิตในปี 2554 ก่อนที่ตนเองจะสิ้นลมหายใจในวันที่ 8 พ.ค. 55
นอกจากนี้ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ยังได้อ่านบทกวี โดยมี อานนท์ นำภา (ทนายความของอากง) ร่วมเป่าขลุ่ยเพื่อเป็นการไว้อาลัยครั้งสุดท้าย หลังจากนั้น รสมาลิน ตั้งนพกุล ได้ปล่อยนกพิราบ 112 ตัวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ