อีสานโพล ชี้ ผลงานอยู่ดีกินดี "ปู" ไม่ผ่าน ฝ่ายค้านสอบตก เลือกตั้งใหม่กา "เพื่อไทย"

มติชน 27 สิงหาคม 2555 >>>




วันนี้ (27 ส.ค. 55) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประจำเดือนพฤษภาคม โดยผลการประเมินสอบผ่านเกือบทุกด้าน มีเพียงด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ที่ผ่านไม่ถึงครึ่ง

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลใน 6 ด้าน เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงมาตรการและนโยบายการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยการสำรวจจะมีขึ้นทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 5 ตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งตรงกับการครบรอบ 1 ปีของการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลนี้ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,146 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ ผลสำรวจการประเมินผลงานรัฐบาลใน 6 ด้าน พบว่า

ด้านภาพรวมการทำงานของรัฐบาล 

  • ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 75.1 
  • ไม่ผ่าน ร้อยละ 24.9.7 

ด้านการเมืองและประชาธิปไตย

  • ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 58.6
  • ไม่ผ่าน ร้อยละ 41.4  

ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี

  • ประเมินให้ไม่ผ่าน ร้อยละ 52.9 
  • ผ่าน ร้อยละ 47.1 

ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด 

  • ประเมินให้ผ่านร้อยละ 65.9
  • ไม่ผ่าน ร้อยละ 34.1 

ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ 

  • ประเมินให้ผ่านร้อยละ 59.9 
  • ไม่ผ่าน ร้อยละ 40.1 

ด้านการต่างประเทศ 

  • ประเมินให้ผ่านร้อยละ 80.9 
  • ไม่ผ่าน ร้อยละ 19.1

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบกับการสำรวจเดือนมิถุนายน 55 พบว่า แม้ครั้งนี้คนอีสานจะประเมินให้ผลงานแต่ละด้านผ่าน แต่ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ชาวอีสานกว่าร้อยละ52.9 ประเมินว่าไม่ผ่าน (จากเดิมให้ไม่ผ่านร้อยละ 47.3) และผลงานบางด้านมีแนวโน้มลดลง โดยด้านการเมือง จากเดิมประเมินว่าผ่านร้อยละ 66.4 ลดลงเหลือร้อยละ 58.6, ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ จากเดิมร้อยละ 69.6 ลดลงเหลือร้อยละ 59.9  ส่วนด้านอื่นๆ ได้ผลการประเมินใกล้เคียงผลเดิม โดยด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด จากเดิมประเมินว่าผ่าน ร้อยละ 65.4 ครั้งนี้ได้ผลประเมินผ่านร้อยละ 65.9 และ ด้านการต่างประเทศ จากเดิมร้อยละ 82.4 ครั้งนี้ได้ผลประเมินร้อยละ 80.9
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามความคิดเห็นว่า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่า ร้อยละ 43.8 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (จากเดิมร้อยละ 34.3) กว่าร้อยละ 36.7 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ โดยมีผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 9.3 และอีกร้อยละ 10.1 ตอบว่าจะเลือกพรรคอื่นหรือไม่เลือกพรรคใด
ในส่วนของการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 61.2 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน (เดิมร้อยละ 58.2) โดยให้เหตุผล เช่น ทำให้เกิดความวุ่นวาย, ทำให้รัฐบาลทำงานไม่สะดวก, เป็นการค้านเรื่องเดิมๆ, ไม่ค่อยค้านอย่างสร้างสรรค์ ส่วนอีกร้อยละ 38.7 ที่ประเมินให้ผ่าน ให้เหตุผล เช่น ทำงานได้รวดเร็ว, เป็นการทำงานตามหน้าที่ได้ดี เป็นต้น
สำหรับผลการสำรวจนักการเมืองที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดประจำเดือน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงนำมาเป็นอันดับหนึ่งร้อยละ 39.2 (จากเดิมร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 9.7 ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนร้อยละ 9.6 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้คะแนนร้อยละ5.7 แต่ที่น่าสนใจคือ มีกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 14.4 ที่กล่าวว่า ไม่มีนักการเมืองคนใดที่มีผลงานที่โดดเด่นเลย นอกจากนี้ ยังมีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ นายจตุพร พรหมพันธ์ ได้รับการกล่าวถึงอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด คือ ด้านเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ปัญหาค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ค่าแรง และหนี้สิน โดยชาวอีสานกว่าร้อยละ 56.4 เห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด รองลงมาคือปัญหายาเสพย์ติด ร้อยละ 11.2 และด้านปัญหาการเมือง ร้อยละ 9.76 ที่เหลือเป็นปัญหาอื่น ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ การทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
   “ผลการประเมินในครั้งนี้ พบว่า มุมมองของชาวอีสาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ผลการประเมินสอบผ่านเกือบทุกด้านเหมือนเช่นครั้งที่ผ่านๆ มา  แต่ก็ห้ามประมาทเนื่องจากคะแนนนิยมเริ่มลดลง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีมีคะแนนต่ำที่สุด ซึ่งในด้านนี้ เป็นด้านที่กระทบต่อความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชนโดยตรงมากกว่าด้านอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินงานของรัฐบาล 1 ปีที่ผ่านมา ยังคงได้รับการสนับสนุนจากชาวอีสานเป็นอย่างดี และพรรคเพื่อไทย ก็ยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ชาวอีสานยังคงให้ความนิยมมากที่สุดอยู่ ทั้งนี้ นโยบายที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก็คือนโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น ราคาสินค้า  ปัญหาราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร ค่าแรง/เงินเดือน และหนี้สิน เป็นต้น ส่วนฝ่ายค้านคงต้องเร่งทำงานให้โดนใจคนอีสานมากขึ้น” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 53.8 เพศชาย ร้อยละ 46.2 ส่วนใหญ่อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 31.7 รองลงมาอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 30.1 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 16.3 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 14.7 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 7.2 อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ 43.9 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 56.1
ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 30.2 รองลงมาปริญญาตรี ร้อยละ มัธยมปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 17.8 มัธยมต้น ร้อยละ 16.3 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 7.3 และปริญญาโทและเอก ร้อยละ 3.1
ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 32.8 รองลงมาอาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.1 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.4 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.8 อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 9.1 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.5 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 6.7 และอาชีพอื่นๆร้อยละ 1.7
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 32.3 รองลงมารายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 26.5 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 17.2 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 11.3 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 7.8 มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 5.0