กรุงเทพธุรกิจ 25 สิงหาคม 2555 >>>
วงเสวนา ค้านยุบศาลปกครอง ด้านนักวิชาการกฎหมาย ประเมินยุบได้โดยตัวของศาลปกครองเอง หากทำคดีช้า
งานเสวนาวิชาการ เรื่อง ยุบศาลปกครอง ใครได้ใครเสีย ซึ่งจัดโดยคณะนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง (บยป.) รุ่นที่ 3 วิทยาลัยการยุติธรรมทางปกครอง โดยมีนักวิชาการ นักการเมือง รวมถึงตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเสวนา
นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตนไม่เห็นด้วยที่จะให้นำยุบศาลปกครอง แต่การปฏิบัติหน้าที่ของศาลปกครองปัจจุบันมีสิ่งที่ตนเป็นห่วง คือ ตุลาการที่ทำหน้าที่ในศาลปกครองสูงสุด และ ศาลปกครองชั้นต้น เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยชาญเรื่องกฎหมายปกครองมีอยู่อย่างจำกัด และบางเรื่องอยู่นอกความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้นแล้วต้องยอมรับว่าผู้มีอำนาจมักจะขยายอำนาจเกินขอบเขต เพราะโดยนิสัยคนไทยชอบสร้างอาณาจักร ขยายอำนาจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตีกรอบการใช้อำนาจ และสร้างกลไกระบบตรวจสอบการทำงานของตุลาการ เพราะเชื่อว่าหากมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็ง จะทำให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของตุลาการ นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตุลาการ คือความเป็นอิสระ ไม่ให้บุคคลในฝ่ายใด รวมถึงบุคคลในศาลมาแทรกแซงการทำงานได้
นายพงษ์เทพ กล่าวต่อว่า สำหรับการมีศาลปกครองแยกจากศาลยุติธรรม ตนเห็นว่ามีข้อดี คือ เมื่อมีการฟ้องร้องว่าตุลาการศาลปกครองใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายและไม่ถูกต้อง ต่อศาลยุติธรรม จะทำให้กระบวนการตรวจสอบ และคนที่ทำหน้าที่ไม่กระอักกระอ่วนใจ เมื่อพบความผิดแล้วลงโทษ แต่หากนำศาลปกครองไปอยู่ในระบบเดียวกันกับศาลยุติธรรม อาจทำให้กระบวนการตรวจสอบมีปัญหาได้ อย่างไรก็ตามในนโยบายของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลไม่มีการยุบศาลปกครองไปรวมในศาลยุติธรรม ดังนั้นคงไม่มีใครผลักดันเรื่องกล่าวให้เป็นจริง
“ผมขอเสนอว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดี รัฐสภามีสิทธิเรียกไปถามได้หากมีการพิพากษาที่ต่างกัน นอกจากนั้นแล้วควรให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตุลาการศาลทุกระดับ รวมถึงต้องทำงานอย่างมีอิสระ ด้วยการแสดงจุดยืนต่อสังคมในประเด็นต่างๆ” นายพงษ์เทพ เสนอ
ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าคัดค้านการยุบศาลปกครองแล้วนำไปรวมเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกเสนอโดยนักการเมือง ซึ่งจะเป็นจริงได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ฝ่ายบริหารซึ่งกุมเสียงข้างมากในสภาฯ อย่างไรก็ตามมองว่าศาลปกครองถูกจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ และหากถูกโละจริงก็ต้องทำโดยรัฐธรรมนูญ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลมีสิ่งที่สะท้อนว่าประเด็นการยุบศาลปกครองจะเกิดขึ้น เมื่อดูจากหลักการและเหตุผลการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าไม่มีการถ่วงดุลอำนาจศาล และไม่ได้มีการยึดโยงจากประชาชน ซึ่งเคยมีการอภิปรายในสภาฯ ถึงข้อเสนอให้มีการเลือกประมุขศาลยุติธรรมโดยสภาฯ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับภาคประชาชน ซึ่งตนมองว่าเป็นแนวคิดที่วิปริต
“แนวทางการยุบศาลปกครอง โดยแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีความพยายามจดๆ จ้องๆ ที่จะทำโดยนักการเมืองเสียงข้างมากในสภาฯ ซึ่งต้องจับตาดูให้ดี ทั้งนี้ผมมองว่ามีสิ่งที่น่ากลัวกว่าการยุบศาลปกครอง คือ การแทรกแซง การครอบงำตุลาการโดยฝ่ายบริหาร โดยเปิดช่องให้นักการเมืองมีสิทธิตั้งประธานศาลฎีกาเองได้ ก็เท่ากับว่านักการเมืองทำทั้งงานบริหาร ทำกฎหมายและสั่งศาลได้ จะทำให้ประชาธิปไตยล้มแน่” นายวิทยา กล่าว
ด้านนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศาลปกครองเป็นทางออกทางเดียวที่จะจำกัดการใช้อำนาจบริหารของหน่วยงานรัฐ ไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งการทำหน้าที่ของศาลปกครองที่ผ่านมายอมรับว่าต้องมีการปรับปรุงองค์กรให้มีประสบการณ์ที่ดีกว่านี้ จะเป็นประโยชน์กว่าการยุบศาลปกครอง ตามข้อเสนอของนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ส่วนตัวมองว่าการทำตามข้อเสนอจะเกิดผลเสียกับทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักการเมือง ทั้งนี้มีสุภาษิตทางกฎหมาย กล่าวไว้ว่าแม้ไม่พอใจสิ่งที่มีอยู่อยู่บ้าง จงรู้ว่า สิ่งที่แม้จะไม่ดี แต่รู้จักดี มันสู้สิ่งที่ดี ที่เราไม่รู้จักไม่ได้ ดังนั้นข้อเสนอของนักการเมือง เชื่อว่าจะทำให้คนหวาดหวั่นต่อสังคม แต่เป้าหมายที่แท้จริง คือให้สังคมคิดในประเด็นดังกล่าวมากๆ และลดการคิดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวนักการเมืองคนนั้นน้อยลงเท่านั้นเอง
“ผมมองว่า สิ่งที่จะทำให้ยุบศาลปกครองได้ คือ กระบวนการทำงานของศาลปกครองเอง อาทิ ทำคดีเชื่องช้า ซ้ำซาก ใช้เงินมากหรือแพง พิพากษาคดีไม่มีเหตุผลเป็นที่กระจ่าง การแสวงหาข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ ตัดสินโดยข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ ชัดเจนในข้อกฎหมาย หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดความเสื่อมศรัทธาไปในที่สุด ซึ่งผมมองว่าหากศาลปกครองไม่ปฏิบัติตัวเช่นนั้น ต่อให้นักการเมืองมีเสียงข้างมาก 400-500 เสียง ก็ไปยุบท่านไม่ได้” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นการตรวจสอบศาล ปัจจุบันสามารถทำได้โดยวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีนั้นๆ ได้เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ แต่อย่านำตัวบุคคลมารองรับคำวิจารณ์ เพราะจะถือเป็นความผิดตามกฎหมายทันที
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบศาลปกครอง เพราะศาลปกครองเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ มีที่พึ่ง ทั้งนี้ตนอยากให้ศาลปกครองมีการพิจารณาปรับปรุงคดี โดยใช้ความระวัง และคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้เสียด้วยนอกจากพิจารณาความถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ส่วนประเด็นที่มีการฟ้องร้องและขอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉิน ตนเข้าใจว่าอยากได้รับการดูแลทันที แต่ต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าการทำงานที่รวดเร็วไม่มีความรอบคอบ เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ฟ้องร้องคดีกลายเป็นจำเลย ทั้งที่คดียังไม่ตัดสิน นอกจากนั้นแล้วยังไม่มีการพูดถึงการเยียวยาและการบรรเทาความเสียหายจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบศาลปกครอง เพราะจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะตามกระบวนการยุติธรรม ในศาลยุติธรรม ประชาชนเข้าถึงยาก และจำเป็นต้องมีเงินทุนในการต่อสู้คดี ส่วนศาลปกครองนั้น ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการเมือง ความไม่เป็นธรรมจากภาครัฐ แม้จะไม่มีเงินก็สามารถเดินเท้าเปล่าเข้าไปยื่นเรื่องฟ้องร้องได้ อย่างไรก็ตามตนยอมรับว่าการทำงานของศาลปกครองมีข้อด้อยและความปรับปรุง คือ การทำงานที่ล่าช้า