เหลียวหลังแลไปข้างหน้า: ความแตกต่างระหว่าง กสม. กับ ศปช.



ทีมข่าว นปช.
25 สิงหาคม 2555




อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และ พีระ ลิ้มเจริญ ร่วมออกรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555
อ.ธิดา กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระที่มาจากผลพวงของ รธน.50 มีคณะกรรมการ 7 คน ขณะที่ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) เป็นองค์กรอิสระที่มาจากประชาชน ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และคนหนุ่ม-สาวที่อาสาเข้ามาค้นหาความจริงจากเหตุการณ์เดือน เม.ษ.-พ.ค. 2553 เป็นกลุ่มปัญญาชนอิสระที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง หรือ พท. โดยที่ อ.กฤตยา อาชวนิจกุล ซึ่งเป็นกรรมการ ศปช. เคยทำงานที่ศุนย์ข้อมูลประชาชนช่วงเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535
ขณะนี้คดีการไต่สวนการเสียชีวิต 98 ศพกำลังคืบหน้า จึงทำให้ อภิสิทธิ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ จำเป็นต้องใช้ตัวช่วยคือ กสม. กสม. เคยถูก ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ตำหนิว่า วางตัวไม่เหมาะสม กสม. ชุดนี้ถูกแต่งตั้งในปี 2550 ภายหลังการรัฐประหาร คณะกรรมการทั้ง 7 คนล้วนฝักใฝ่ฝ่ายอำมาตย์ เช่น นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เคยเป็นรองประธานคณะกรรมการกิจการสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ซึ่งมีเป้าหมายจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลทุนนิยม
เมื่อ กสม. มาจากฝ่ายอำมาตย์ รายงานของ กสม. จึงสรุปว่า การชุมนุมของ นปช. เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เป็นการชุมนุมที่รุนแรง ไม่ใช่การชุมนุมที่ปราศจากอาวุธตาม รธน.50 ม.63 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21
ปชป. พยายามผลักดันให้ กสม. ออกรายงานโดยเร็ว เพื่อใช้แก้ต่างในคดีไต่สวนการเสียชีวิต 98 ศพ โดยมีบทสรุปย่อว่า การชุมนุมของ นปช. เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ รัฐบาลขณะนั้นสั่งการถูกต้องแล้ว ยกเว้นกรณีการเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม 6 ศพที่อาจสงสัยได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง คนเสื้อแดงจึงเห็นว่าเป็นรายงานที่บิดเบือนความจริง
อ.ธิดา ยกตัวอย่างเนื้อหาในรายงานฉบับนี้ที่สรุปว่า กรณีการเสียชีวิตของพลทหารณรงฤทธิ์ สาละ ไม่สามารถสรุปได้ ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจน แต่กรณีของผู้เสียชีวิตที่แยกศาลาแดงกลับสรุปได้ว่า เกิดจากระเบิด M79 ที่มาจากฝั่งคนเสื้อแดง รัฐบาลขณะนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะประกาศ พรก.ฉุกเฉิน, ปิดสื่อ (สถานีโทรทัศน์ PTV, สถานีวิทยุชุมชน และอินเตอร์เน็ต) และใช้การปราบปราม ดังนั้นรายงานฉบับนี้จึงเป็นสิ่งที่ ปชป. ต้องการ ตนเองเห็นว่า กสม. ควรเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการสิทธิ ปชป. ชนและอำมาตย์ชน" มากกว่า
ขณะที่ "ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53" ของ ศปช. ชี้ให้เห็นว่า บทสรุปของ กสม. เลือกที่จะปกป้องอำนาจรัฐมากกว่าประชาชน โดยพุ่งไปที่การกระทำของคนเสื้อแดงเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนแทนที่จะพุ่งไปที่การกระทำของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ทั้งที่ความเป็นจริงอาวุธของฝ่ายทหารเหนือกว่าอาวุธของฝ่ายประชาชนมาก
อ.ธิดา ยกตัวอย่างเนื้อหาในรายงานฉบับนี้ที่ระบุว่า มีการใช้กระสุนจริงกว่า 117,000 นัด, กระสุนสไนเปอร์กว่า 2,000 นัด ในขณะที่มีการใช้กระสุนยางเพียงกว่า 6,000 นัดเท่านั้น นอกจากนี้ข้อมูลยังเผยอีกว่า

  • ผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 60 เป็นคนหนุ่ม-สาว (อายุ 20-39 ปี)
  • สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากถูกยิงร้อยละ 87 รองลงมาคือ ระเบิดร้อยละ 9

(รับชมรายการย้อนหลัง: สถานี นปช.)