มติ สภาทนายความ ส่ง "สัก กอแสงเรือง" เข้ารับสรรหาเป็น สมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่สอง มั่นใจ มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามข้อ ก.ม. แม้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะมีคำสั่งเพิกถอนออกจากตำแหน่ง ส.ว. มาก่อน
วันที่ 23 ส.ค. ที่สภาทนายความ นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่าย นโยบายและแผนงาน รักษาการประธานกรรมการสำนักวิจัยและพัฒนากฎหมายสภาทนายความ แถลงถึง กรณีสภาทนายความ มีมติเสนอชื่อ นายสัก กอแสงเรือง เข้ารับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ภาคองค์กรวิชาชีพอีกครั้ง ว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการไต่สวนกรณีมีผู้ร้องคัดค้านการสรรหา นายสัก กอแสงเรือง เป็น สมาชิกวุฒิสภาในปี พ.ศ. 2554
ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่งเพิกถอนการสรรหานายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภา ส่วนคำขอที่ให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ศาลมีคำสั่ง ให้ยกเสีย เนื่องจากนายสัก กอแสงเรือง มิได้กระทำการโดยไม่สุจริต โดยให้มีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาใหม่แทน นายสัก กอแสงเรือง ซึ่ง คณะกรรมการการ เลือกตั้งได้กำหนดให้มีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาแทน นายสัก กอแสงเรือง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2555 นั้น
ปรากฏว่า ในการประชุมคณะกรรมการสภาทนายความครั้งพิเศษที่ 4/2555 วันที่ 20 สิงหาคม 2555 มีมติ ให้ส่งนายสัก กอแสงเรือง เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในการสรรหาปี พ.ศ. 2555 อีกครั้งหนึ่ง
ด้วยความเคารพต่อคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง สภาทนายความเห็นว่า แม้คำสั่งของ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะเป็นคำสั่งอันถึงที่สุด แต่คำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยังมีความคลาดเคลื่อนอีกหลายประการ ซึ่งคงเป็นประเด็นศึกษาในวงวิชาการ นิติศาสตร์ เช่น
1. ประเด็นคำวินิจฉัยความหมายคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” ที่เป็น คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 115 (9) หมายความ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา ด้วย ซึ่งสภาทนายความเห็นว่า ทำให้เกิดผลตีความที่แปลกประหลาด กล่าวคือ
1.1 ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ไม่อาจเป็นสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องห้ามตามมาตรา 116 วรรคแรก
1.2 สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดคราวละหกปี และจะดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันเกินหนึ่งวาระมิได้ ซึ่งหมายความ ห้ามผู้ที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้วมาเป็นสมาชิกวุฒิสภามีกำหนด หกปีตามมาตรา 117 วรรคสอง แต่เมื่อตีความว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” หมายความรวมสมาชิก วุฒิสภาแล้ว จะทำให้ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ต้องห้ามเป็นสมาชิกวุฒิสภาเพียงห้าปีเท่านั้นตามมาตรา 115 (9)
2. ในการสรรหานายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการเลือกตั้ง ได้กลั่นกรอง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายสัก กอแสงเรือง พร้อมด้วยอดีตสมาชิกวุฒิสภาในสมัยเดียวกับ นายสัก กอแสงเรือง อีกหลายคน และส่งรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาดังกล่าวต่อคณะกรรมการสรรหา
โดยคณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในประเด็น ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นว่า นายสัก กอแสงเรือง พ้นสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกวุฒิสภาเกินกว่าห้าปีแล้ว จึงได้ทำการสรรหา นายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภา ปรากฏตามข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เมื่อ วันที่ 12 เมษายน 2555 ดังนั้น การวินิจฉัย ของคณะกรรมการสรรหาย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 130 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมไม่มีอำนาจหยิบยกมาวินิจฉัยได้อีก
3. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2543 มีผลผูกพัน ทุกองค์กรรวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งด้วย แต่เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสมัยเดียวกับนายสัก กอแสงเรือง เริ่มต้นนับอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งก่อนสมัย ที่มีการเลือกตั้งนายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภานั้น สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 เป็นคำที่ยกมาจากประเด็นที่วุฒิสภาตั้งไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดใดที่ปฏิบัติหน้าที่สมาชิก วุฒิสภา เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่ครบจำนวนตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมิได้มี คำวินิจฉัยที่ผูกพันศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งแต่ประการใด การอ้างคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงอาจจะยังคลาดเคลื่อน
ประเด็นข้างต้น นายสัก กอแสงเรือง ได้ยื่นคำคัดค้านเป็นประเด็นไว้แล้ว บางประเด็นศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งยังมิได้วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นย่อยที่ควรนำมาศึกษาอีกหลายประเด็น
อย่างไรก็ดี เมื่อมีบทบัญญัติให้คำสั่งของศาลฎีกาถึงที่สุด นายสัก กอแสงเรือง จำต้องน้อมรับ คำสั่งดังกล่าว และขอถือข้อสังเกตของสภาทนายความ เป็นการตั้งประเด็นเพื่อการศึกษาวิชา นิติศาสตร์ต่อไป และเมื่อมาตรา 116 (4) ที่บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาของนายสัก สิ้นสุดลงเพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 115 มาใช้บังคับกับกรณีของนายสัก กอแสงเรือง ตามผลของคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่มีคำสั่งเพิกถอนการสรรหา กรณีจึงถือได้ว่าการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาตามคำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งดังกล่าวไม่ชอบ และมีผลทำให้การสรรหาเป็นโมฆะ ดังนั้น นายสัก กอแสงเรือง จึงมิได้เป็นสมาชิกวุฒิสภามาตั้งแต่ต้น นายสัก กอแสงเรือง จึงนำเงินเดือนสมาชิกวุฒิสภา ทั้งหมดที่ได้รับมาส่งคืนแก่วุฒิสภาแล้ว
สภาทนายความเห็นว่า นายสัก กอแสงเรือง เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีความซื่อสัตย์ สุจริต ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยดีเสมอมา และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้อง ห้ามเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงเหมาะสมที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา นายเจษฎา กล่าว