ทีมข่าว นปช.
23 สิงหาคม 2555
วานนี้ (22 ส.ค. 55) เวลา 10.00 น. ศาลนัดไต่สวน ยศวริศ ชูกล่อม กรณีการถอดถอนการประกันตัว ณ ห้อง 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพ
ยศวริศ ชูกล่อม
ยศวริศให้การเป็นพยานปากที่ 1 ว่า การขึ้นปราศรัยของตนเองในวันที่ 7 มิ.ย. 55 เพราะเข้าใจว่า การวิจารณ์ของตนเองนั้นเป็นไปตาม รธน. อีกทั้งตุลาการ รธน. ไม่ใช่ศาลยุติธรรม เมื่อตุลาการ รธน. สามารถวิจารณ์การเมืองได้ ประชาชนก็ย่อมสามารถวิจารณ์ตุลาการ รธน. ได้เช่นกัน หากแม้การวิจารณ์นั้นอาจเกินเลยไปบ้างก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรนำไปเกี่ยวข้องกับคดีนี้
การปราศรัยของตนเองขณะนั้นเป็นเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มีผู้ฟังน้อย ต่อมาเวลา 19.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มีผู้ฟังมาก ตนเองได้ขึ้นเวที และกล่าวขอโทษ การกระทำของตนเองเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการ และตนเองได้ห้ามผู้ฟังโทรศัพท์ไปรบกวนตุลาการ รธน. แล้ว รวมทั้ง จตุพร พรหมพันธุ์ ก็ขึ้นพูดต่อจากตนเอง โดยขอให้ตำรวจไปอารักขาบ้านพักของตุลาการ รธน. ตนเองไม่เห็นผู้ใดจดบันทึกข้อมูลเหล่านี้ อีกทั้งไม่มีเหตุการณ์ร้ายใดๆเกิดขึ้นกับตุลาการ รธน. เบอร์โทรศัพท์ที่ตนเองเผยแพร่ก็ไม่ทราบว่า เป็นเบอร์โทรศัพท์ของตุลาการ รธน. จริงหรือไม่
ในวันต่อมา (8 มิ.ย. 55) สมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาล รธน. ก็ออกมาชี้แจงว่า ไม่มีผู้ใดโทรศัพท์ไปคุกคามตุลาการ รธน. รวมทั้งข่าวจาก ASTV ก็ระบุว่า ตุลาการ รธน. ไม่ติดใจ เพราะไม่เคยถูกผู้ใดคุกคาม แม้ว่าจะมีบางคนโทรศัพท์ไปหาตุลาการ รธน. บ้าง แต่ตนเองเชื่อว่า ไม่ใช่คนเสื้อแดง ตนเองต่างหากที่ถูกผู้อื่นคุกคาม เพราะมีคนโทรศัพท์เข้ามาต่อว่าตนเอง
การกระทำของตนเองไม่ได้เป็นการยุยงปลุกปั่น การตั้งเงื่อนไขของศาลเพื่อป้องกันไม่ให้ไปวุ่นวายรัฐบาล ปชป. ในขณะนั้น แต่ขณะนี้ พท. เป็นรัฐบาล และตนเองก็สังกัด พท. จึงไม่มีเหตุผลใดที่ตนเองจะไปยุยงรัฐบาล
ขณะนั้นรัฐสภากำลังพิจารณาแก้ไข รธน. แต่มีบางคนไปร้องต่อศาล รธน. โดยอ้างว่า การแก้ไข รธน. ในครั้งนี้เป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งต่อมาตุลาการ รธน. มีหนังสือถึงรัฐสภาให้ระงับการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. วาระ 3 ออกไปก่อนจนกว่าตุลาการ รธน. จะมีคำวินิจฉัย นปช. จึงจัดการชุมนุมระดมรายชื่อเพื่อขอถอดถอนตุลาการ รธน. โดยเข้าใจว่า ตุลาการ รธน. กระทำผิด รธน. เสียเอง และการที่ประธานตุลาการ รธน. วิจารณ์ร่าง รธน. ฉบับนี้ก่อนมีคำวินิจฉัยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปตาม รธน. โดยตั้งเวทีตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 55 ซึ่งตลอดการปราศรัยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ มีคนตำหนิการปราศรัยของตนเองในครั้งนั้นเยอะ ตนเองไม่มีเจตนาให้ผู้ฟังไปคุกคาม หรือบุกบ้านของตุลาการ รธน. นปช. จัดชุมนุมเพื่อระดมรายชื่อขอถอดถอนตุลาการ รธน. เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาก่อกวน ภายหลังการยื่นรายชื่อเพื่อขอถอดถอนตุลาการ รธน. 30,000 รายชื่อแล้วเสร็จก็สลายการชุมนุม ซึ่งตนเองก็ช่วยยังดูแลความสงบเรียบร้อยตลอดงาน
การที่ตนเองนำข้อมูลเหล่านั้นขึ้นปราศรัย เพราะมีบางคนนำข้อมูลเหล่านั้นมาให้ ซึ่งตนเองไม่ได้ตรวจสอบว่า เป็นข้อมูลจริงหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้เคยถูกเผยแพร่ก่อนหน้านี้ โดยสามารถหาได้ตามเว็ปไซด์ต่างๆ การกระทำของตนเองไม่มีจำเลยคนใดรู้เห็น
การกระทำของตนเองเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา อีกทั้งขณะนี้ตนเองเป็นเลขานุการของ ฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย ตนเองทำงานรับใช้ประเทศ และเป็นประโยชน์กับประชาชน รัฐบาลเคยส่งตนเองไปเจรจากับม็อบต่างๆหลายครั้ง ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จทุกครั้ง จึงขอความเมตตาต่อศาลให้แค่ตักเตือน ตนเองมีครอบครัว ลูกของตนเองกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หากตนเองต้องถูกจำคุกก็จะไม่มีใครส่งเสีย จึงขอให้ศาลชี้แนะเงื่อนไขเพื่อให้ตนเองปฏิบัติตาม
ฐานิสร์ เทียนทอง
รมช.มหาดไทย
ฐานิสร์ให้การเป็นพยานปากที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นเลขานุการของตนเองมากว่า 1 ปีแล้ว จำเลยเป็นคนที่มุ่งมั่นทำงาน มีความรับผิดชอบสูง ตนเองเคยมอบหมายให้จำเลยดูแลช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งจำเลยก็ทำงานอย่างเต็มที่
จำเลยเป็นคนสนุกสนาน ไม่ก้าวร้าว ไม่เป็นภัยสังคม การกระทำของจำเลยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถวิจารณ์ได้ตามกรอบของ รธน. การระดมรายชื่อเพื่อขอถอดถอนตุลาการ รธน. เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตาม รธน. ซึ่งในวันนั้นตนเองสามารถเข้ามาทำงานในรัฐสภาได้ตามปกติ และไม่มีความรุนแรงใดๆเกิดขึ้นหลังการระดมรายชื่อในครั้งนั้น
พ.ต.อ.ไกรเลิศ บัวแก้ว
รอง ผบก.น.1
พ.ต.อ.ไกรเลิศ ให้การเป็นพยานปากที่ 3 ว่า ตนเองทำหน้าที่เป็นทีมเจรจาต่อรองเพื่อควบคุมการชุมนุมของ นปช. ในช่วงดังกล่าวตั้งแต่ต้นจนจบ ตนเองเห็นว่า การชุมนุมในครั้งนั้นเป็นไปตาม กม. โดยเริ่มเวทีตั้งแต่ 12.00 น. ของวันที่ 7 มิ.ย. 55
ปกติการชุมนุมจะมีผู้ร่วมฟังจำนวนมากในช่วงเย็นถึงค่ำ แกนนำหลัก อาทิ จตุพร และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มักจะขึ้นปราศรัยในช่วงเย็นถึงค่ำซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ฟังมาก แต่ช่วงเวลาที่จำเลยขึ้นเวลาปราศรัยนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ฟังค่อนข้างน้อย จำเลยขึ้นพูดปราศรัยเพื่อ "เรียกแขก" เท่านั้น ซึ่งตอนนั้นตนเองก็อยู่ร่วมฟังด้วย
ก่อนการปราศรัยมีบางคนนำใบปลิวที่มีข้อมูลส่วนตัวของตุลาการ รธน. มาแจกจ่ายให้กับผู้ฟัง ตนเองเห็นว่า เป็นใบปลิวที่ไม่เหมาะสมจึงได้ห้ามไม่ให้แจกจ่าย แต่ก็มีบางส่วนที่เล็ดลอดเข้าไปหลังเวที ตนเองไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะมีการนำข้อมูลดังกล่าวขึ้นปราศรัยบนเวที ช่วงเวลาที่จำเลยขึ้นปราศรัยนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ฟังน้อย แต่ตอนที่จำเลยขึ้นเวทีกล่าวขอโทษเป็นช่วงเวลาที่มีคนมาก ซึ่งตนเองก็ได้อยู่ร่วมฟังด้วยเช่นกัน
ทุกเช้าคณะทำงานของตนเองจะมีการประชุมข่าว ภายหลังการขึ้นปราศรัยของจำเลยมีการส่งตำรวจไปอารักขาตุลาการ รธน. ซึ่งไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆเกิดขึ้น รวมทั้งหลังการประกันตัวแกนนำ นปช. ก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆเกิดขึ้น
จรินทร์ สวนแก้ว
ประธานมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช
จรินทร์ให้การเป็นพยานปากที่ 4 ว่า ตนเองเป็นประธานจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินีมา 36 ปีแล้ว และรู้จักกับจำเลยมา 20 ปีแล้ว
ก่อนหน้านี้จำเลยทำงานอยู่ในสมาคมตลก นิสัยของจำเลยเป็นคนสนุกสนาน ชอบช่วยเหลือสังคม ไม่เป็นภัยต่อสังคม ทุกครั้งที่จัดงานเฉลิมพระชนม์ฯ จำเลยจะให้ความร่วมมือด้วยการจัดคณะตลกมาแสดงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำเลยเป็นคนที่รู้วุฒิภาวะว่าอะไรควร-ไม่ควร ตนเองเห็นว่า หากคนเราทำสิ่งใดที่ไม่สมควรก็สามารถขอโทษได้ และสังคมก็ควรให้อภัย
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
ส.ส.ประชาธิปัตย์
นิพิฏฐ์ให้การในฐานะผู้ร้องที่ 1 ว่า วีซีดีที่ตนเองยื่นต่อศาลนั้นเป็นการปราศรัยของจำเลย ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้จำเลยยังเคยวิจารณ์องค์กรอิสระอื่น อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดังนั้นการปราศรัยของจำเลยจึงไม่ใช่การปราศรัยโดยสุจริต เพราะตนเองเห็นว่า การวิจารณ์กับการด่าต่างกัน จำเลยเป็นถึงเลขานุการรัฐมนตรีจึงต้องแยกให้ออกระหว่าง "การใช้สิทธิ" และ "การคุกคาม"
สถาบันกษัตริย์ และสถาบันศาลไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อถูกโจมตีจึงไม่สามารถออกมาตอบโต้ได้ ดังนั้นตนเองจึงเห็นว่า พวกเราควรออกมาปกป้องสถาบันเหล่านี้ แม้ว่าตนเองจะไม่เกี่ยวข้องกับคดี แต่ตนเองเชื่อว่า การกระทำของจำเลยน่าจะผิดเงื่อนไขการประกันตัว เป็นการใช้สิทธิที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย จึงจำต้องยื่นคำร้องนี้
ตนเองเป็นสมาชิก ปชป. แม้จะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคของจำเลย แต่การบริหารประเทศบางครั้งตนเองก็เห็นเหมือน บางครั้งก็เห็นต่าง การยื่นคำร้องขอถอดถอนการประกันตัวครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ตนเองเชื่อว่า ตนเองมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ แม้จะไม่มี กม. บัญญัติไว้ก็ตาม
การปราศรัยให้คนเสื้อแดงไปบ้านพักของตุลาการ รธน. เป็นการชี้นำให้ประชาชนล่วงละเมิด กม. ดังนั้นเมื่อตนเองเห็นว่า การกระทำดังกล่าวผิดเงื่อนไขการประกันตัวจึงต้องแจ้งต่อศาล เพราะศาลอาจไม่ทราบ
การที่ตุลาการ รธน. มีคำสั่งให้ระงับการพิจารณาร่าง รธน. นั้นเป็นการใช้อำนาจศาลเพื่อถ่วงดุล ไม่ใช่การแทรกแซงแต่อย่างใด
การใช้สิทธิถอดถอนตุลาการ รธน. ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิปราศรัยเพื่อคุกคาม การใช้สิทธิถอดถอนตุลาการ รธน. เป็นการใช้สิทธิตาม รธน.
การที่ตนเองไม่ได้ยื่นขอถอดถอนการประกันตัว พธม. นั้น เป็นเพราะตนเองไม่ทราบเงื่อนไขการประกันตัวของ พธม.