'ศาล-ตร.-เรือนจำ' ถกร่วมคุม 'ม็อบแดง'

คมชัดลึก 6 สิงหาคม 2555 >>>




'ศาล - ตำรวจ - เรือนจำ' วางแผนร่วม คุมเข้ม 'ม็อบแดง' วันสอบถามถอนประกันแกนนำ ยัน ยังไม่มีการชี้ชัดว่าจะมีการเพิกถอนประกันจำเลยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ส.ค. 55 นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายจุมพล ชูวงษ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ประชุมร่วมกับ พ.ต.อ.เจริญ ศรีศศลักษณ์ รอง ผบก.น.2 พ.ต.อ.อภิชาติ ศิริสิทธิ์ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ชาตรี กาญจนกัญติ ผกก.สน.พหลโยธิน และนายวิรัตน์ ปานศรี ผอ.ส่วนควบคุมผู้ต้องขังไปศาล เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันที่ 9 ส.ค. ที่ศาลนัดสอบถาม นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพวกแกนนำ นปช. จำเลยคดีร่วมกันก่อการร้าย รวม 24 คน ที่มีผู้ยื่นคำร้องให้พิจารณาเพิกถอนประกัน เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติการณ์จะทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว กรณีที่ไปปราศรัยหน้าอาคารสภา เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา กล่าวพาดพิงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมร่วมวันนี้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง
ภายหลังการหารือ นายจุมพล แถลงว่า จะตั้งกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยร่วม ระหว่างศาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในวันที่ 9 ส.ค. ที่ศาลนัดสอบถามแกนนำ นปช. จะใช้ห้องผู้อำนวยการศาลอาญา เป็นกองอำนวยการฯ ขณะที่การดูแลความเรียบร้อยจะแบ่งพื้นที่ 3 ส่วน คือ พื้นที่นอกรั้วศาลอาญา พื้นที่ด้านในรั้วศาลอาญา โดยจะมีการนำแผงเหล็กมากั้น ตั้งแต่ลานจอดหน้าธนาคารออมสิน เรื่อยมาจนกระทั่งสุดด้านหน้าศาลอาญา และพื้นที่ด้านในอาคารศาลอาญา ซึ่งเป็นพื้นที่ห้ามเข้าเด็ดขาด ห้ามเดินไปไหนมาไหนตามอำเภอใจ ผู้ที่มาติดต่อราชการศาลจะต้องแลกบัตร ผู้มาติดต่อคดีไม่ว่าคดีที่ศาลจะทำการสอบถามจำเลยคดีก่อการร้าย หรือมาติดต่อศาลปกติ ก็จะถูกจำแนกด้วยสีบัตร และสื่อมวลชนก็จะต้องจำแนกบัตรเช่นกัน สำหรับรถโมบายถ่ายทอดสดจะอยู่บริเวณลานจอดรถหน้าศาลอาญา เพราะต้องกันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงาน
นายจุมพล กล่าวอีกว่า ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ในวันที่ 9 ส.ค. ยังไม่มีการชี้ชัดว่า จะมีการเพิกถอนประกันจำเลยหรือไม่ เพราะทั้งนี้อยู่ที่ข้อเท็จจริงในการพิจารณาไต่สวน ตอนนี้จึงยังไม่มีการสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือสถานการณ์ในกรณีที่ศาลเพิกถอนประกันตัว ต้องขอดูข้อเท็จจริงในการไต่สวนซะก่อน ศาลยังไม่ได้คาดหมายว่าจะมีการถอนประกันหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ตอนนี้ที่ทำ มีเพียงหามาตรการรักษาความปลอดภัยไม่ให้เกิดความวุ่นวายเหมือนวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ศาลฯ สอบถาม นายจตุพร
ขณะที่ พ.ต.อ.ชาตรี ผกก.สน.พหลโยธิน กล่าวว่า กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเหตุการณ์เฉพาะหน้าจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สน.พหลโยธิน จำนวน 70 นาย โดยไม่ติดอาวุธ แต่ถ้าเหตุการณ์เฉพาะหน้าเปลี่ยนแปลงจะมีการประเมินปรับใช้กำลังเพิ่มขึ้นจากเบาไปหาหนัก โดยมีกำลังหนุนเตรียมพร้อมเต็มที่ 100% และจะประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อปรับกำลังให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่ปรากฏ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะมีผู้มาให้กำลังใจจำนวนเท่าใด แต่เบื้องต้นหน่วยเหนือได้ประสานแกนนำ นปช.แล้ว ให้ควบคุมผู้เดินทางมาให้กำลังใจให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย เพราะการที่มีมวลชนมาจำนวนมาก ต้องมีการประชาสัมพันธ์ขอร้องให้รักษาความสงบ
พ.ต.อ.ชาตรี กล่าวอีกว่า ผู้ที่จะเข้ามาในอาคารศาลอาญา จะต้องผ่านเครื่องตรวจวัตถุระเบิดเพื่อความปลอดภัย เช่นเดียวกันกับรถยนต์ที่จะเข้ามาจอดในบริเวณศาลอาญาจะต้องมีการตรวจหาวัตถุระเบิดด้วย แต่หากวันดังกล่าวมีรถยนต์เป็นจำนวนมากจะไม่อนุญาตให้เข้ามาจอดในศาล โดยจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกให้จอดรถได้ตั้งแต่ ถ.รัชดาภิเษก ขาออก หน้า สน.พหลโยธิน จนถึงหน้าศาล ซึ่งหากรถยนต์มีจำนวนมาก อาจต้องมีการปิดถนน โดยในวันดังกล่าวจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นระยะผ่านทางสถานีวิทยุ จส.100 สวพ.91 และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ส่วนเรื่องการดูแล ห้ามไม่ให้กองเชียร์ฝ่าฝืนกฎและใช้เครื่องขยายเสียงนั้น เจ้าหน้าที่จะเริ่มมาตรการเจรจา และชี้นำว่าสิ่งใดไม่สามารถกระทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ตรวจพบวัตถุระเบิด ที่สถานีขนส่งหมอชิตนั้น มีการประเมินว่า จะมีการนำมาใช้ในวันที่ 9 ส.ค. หรือไม่ พ.ต.อ.ชาตรี กล่าวว่า คงจะไม่เกี่ยวโยงกัน และไม่มีสิ่งบอกเหตุ
ด้าน พ.ต.ท.สุวโรจน์ ลุนหวิทยานนท์ รอง ผกก.ปพ.บก.ป. กล่าวว่า ในส่วนกำลังเจ้าหน้าที่กองปราบพร้อมสแตนด์บายปฏิบัติงานสนับสนุนตลอดเวลา โดย นายวิรัตน์ ปานศรี ผอ.ส่วนควบคุมผู้ต้องขังไปศาล เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า ในส่วนของกำลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะใช้กำลังปกติจำนวน 20 นาย ที่จะพาผู้ต้องขังกลับเรือนจำอยู่แล้ว ไม่มีการจัดรถเที่ยวพิเศษสำหรับจำเลยในคดีก่อการร้ายที่ศาลนัดสอบถาม เพราะจริงๆ จำเลยกลุ่มนี้ก็เป็นผู้ที่เคยถูกคุมตัวที่เรือนจำอยู่แล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ด้านนางอรอุษา กฤษณะโลม จรัญรัตนศรี เลขานุการศาลอาญา กล่าวว่า คดีนี้อาจจะเห็นว่าศาลมีการเตรียมมาตรการต่างๆ เป็นอย่างมาก แต่ที่ศาลอาญาทำอย่างนี้ คงต้องขอชี้แจงว่า ในวันที่ 9 ส.ค. จะไม่อนุญาตให้กลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาในรั้วศาลอาญา สามารถอยู่ได้เพียงนอกรั้วศาลเท่านั้น เพราะศาลไม่ได้มีนัดคดีก่อการร้ายคดีเดียว จึงต้องมีมาตรรักษาความเรียบร้อย เพราะถ้าศาลไม่ทำ จะกระทบกับผู้มาติดต่อราชการศาลคดีอื่น ซึ่งในวันที่ 9 ส.ค. มีคดีอื่นที่ศาลต้องพิจารณาอีก 70 คดี มีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องเดินทางมาศาล อีกร่วม 100 คน ถ้าศาลไม่ทำอะไรเลย ก็จะกระทบกับการมาศาลของประชาชนในคดีอื่นอย่างยิ่ง จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้ทุกฝ่ายได้รับความสะดวก และขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ช่วยประชาสัมพันธ์ประชาชนด้วย
นางอรอุษา กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ ได้รับเสียงสะท้อนจากแกนนำไปในทางที่ดี ที่จะให้ความร่วมมือกับศาลอาญา บอกผ่านไปยังพี่น้องเสื้อแดงว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ครั้งนี้มีการประชาสัมพันธ์ข้อกำหนดรายละเอียดชัดเจน ทำให้ทางแกนนำเห็นว่า ต้องใช้ความร่วมมือที่จะประสานกับกลุ่มเสื้อแดงเอง และถ้าเป็นไปได้อยากประชาสัมพันธ์ว่า ควรรอฟังข่าวอยู่ที่บ้านก็ได้ เพราะหากเดินทางมาอาจได้รับความไม่สะดวก ทั้งเรื่องสภาพอากาศ การจราจร ห้องน้ำห้องท่า โดยศาลอาญาไม่ได้ปิดกั้น การพิจารณาคดีต้องเป็นไปโดยเปิดเผย แต่ทั้งนี้ถ้าเป็นไปด้วยความไม่สะดวก ก็จะเกิดความไม่คล่องตัวของคนเสื้อแดงเอง พื้นที่ศาลเองไม่ได้มีไว้รองรับผู้มาชุมนุมอยู่แล้ว เพราะบริเวณศาลเองคับแคบ การจราจรก็ติดขัด