ตีความให้เข็ด

ข่าวสด 3 สิงหาคม 2555 >>>




ระดับความมึนงงต่อคำวินิจฉัยศุกร์ 13 ของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ลดน้อยลง แม้ต่อมาจะมีการคลอดคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 8 ออกมาแล้วก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่เคยบอกว่าให้รออ่านคำวินิจฉัยกลาง
เพราะเชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยคลี่คลาย ขยายความลึกลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ อะไรคือสิ่งที่ทำได้ อะไรทำไม่ได้
ปรากฏว่าเก้อไปตามๆ กัน เนื่องจากเนื้อหาของ คำวินิจฉัยกลางไม่ได้มีอะไรพิเศษไปจากคำวินิจฉัย ศุกร์ 13 นั่นก็เรื่องหนึ่ง กระทั่งต่อมามีการเปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตนออกมาภายหลัง
นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกันเองเนื่องจากมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจน 4 คน อีก 4 คนไม่มีการวินิจฉัย
นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญแจกแจงคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 8 คนว่า แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 4 ต่อ 4
กลุ่มแรก ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นอำนาจของรัฐสภา จะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราก็ได้
ส่วนอีก 4 คนตามรายชื่อที่เหลือคือ นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอก อุรุ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ มีความเห็นว่า ไม่สามารถแก้ทั้งฉบับได้
   "หากถามว่าจะต้องฟังเสียงทางไหน ต้องไปดูตามคำวินิจฉัยกลาง"
ผลของความคลุมเครือ ที่ไม่น่าจะคลุมเครือแต่ก็คลุมเครือนี้เอง ทำให้รัฐบาลในฐานะผู้ปฏิบัติไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรต่อกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะขืนทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้ามีหวังจอดไม่ต้องแจว
นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคำวินิจฉัยตัวเองเสียให้เข็ด