"พวงทอง ภวัครพันธุ์" ศปช. เราไม่หวังว่าจะเกิดความยุติธรรมในชั่วเวลาข้ามวัน

มติชน 28 สิงหาคม 2555 >>>




   “ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญมากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชนชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน”
ความ ข้างต้นเป็นเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของคนกลุ่มหนึ่งที่จะค้นหา“ความจริง”จากการ ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.53เพื่อนำไปสู่การคืน ความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะที่การค้นหา “ความจริง” อีกด้านจากรัฐดูจะริบหรี่ลงเต็มที
“มติชนออนไลน์” ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ.ขวัญระวี วังอุดม จากศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้ง 2 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำงานภายใต้ “ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53” หรือ “ศปช.” อย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ศปช. เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ศปช. เป็นความร่วมมือของกลุ่มนักวิชาการ กับกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมซึ่งเป็นรุ่นน้องซึ่งรู้จักกันมา หลังจากการเกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเมื่อปี 53 ด้านหนึ่งเรารู้สึกว่าไม่ถูกต้องที่รัฐเอากำลังทหารและอาวุธหนักจำนวนมาปราบปรามประชาชน
ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้นเมื่อมองออกไปดูว่ามีสถาบัน องค์กรอะไรบ้างที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ค้นหาความจริง เรากลับไม่มีความมั่นใจ โดยขณะนั้นคุณอภิสิทธิ์ได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” หรือ “คอป.” ขึ้นโดยมี อ.คณิต ณ นคร เป็นประธาน เมื่อเราได้ฟังคำแถลงจากตัวแทน คอป. เรารู้สึกไม่แน่ใจว่ากำลังทำอะไรกันแน่เพราะ คอป. มักพูดถึงเรื่องการแสวงหาความจริงความปรองดอง ขณะเดียวกันกลับไม่ตัดสินว่าใครถูกใครผิด และพอมองไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เราก็ไม่มั่นใจเท่าไหร่เพราะไม่เคยออกมาวิจารณ์รัฐในกรณีที่มีการใช้ความ รุนแรงเกินกว่าเหตุในการปราบปรามประชาชนเราจึงมาคิดว่าน่าจะลองตั้งทีมเพื่อ รวบรวมข้อมูลขึ้นมาซึ่งในขณะนั้นมีกลุ่มเพื่อนนักวิชาการคือกลุ่มสันติประชา ธรรมซึ่งมาจากหลายสถาบันและกลุ่มน้องๆซึ่งเป็นนักกิจกรรมสังคม
เราเลยรวบรวมเงินบริจาคและเริ่มเก็บข้อมูล เนื่องจากในขณะนั้นมีข้อมูลอยู่เยอะ ทั้งการดาวน์โหลดรูปภาพ คลิป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละจุด รวมถึงพยานบุคคลที่ออกมา และเอกสารทางราชการที่มีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายทหาร จึงคิดว่าน่าจะรวบรวมขึ้นมาให้เป็นระบบก่อนที่ข้อมูลจะหายไปและยากต่อการค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้น

ในแง่ข้อจำกัดของ ศปช. ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง

ข้อจำกัดคือ การที่เราไม่ได้เป็นองค์กรของรัฐ ไม่ได้งบประมาณมาสนับสนุน จึงต้องหาเงินกันเอง เพื่อมาตั้งเป็นเงินเดือนให้ทีมงาน ศปช. ซึ่งมีอยู่ 4-5 คน บางช่วงเวลาเราจ้างแค่ 2-3 คน เรื่องเงินไม่ได้เป็นปัญหามาก แต่ปัญหาจะเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูล ส่วนที่เราเข้าถึงได้ จะเป็นข้อมูลในส่วนของชาวบ้านหรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์
ในช่วงแรกมีทีมงานไปสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลยังไม่ไว้ใจว่าเราเป็นใคร ยังมองว่าเป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งอาจมีอคติต่อคนเสื้อแดง หลังจากพูดคุย เข้าไปเจอบ่อย ๆ จึงมีความไว้วางใจมากขึ้นและยินดีให้ข้อมูล บางครั้งเราได้ข้อมูลจากคนที่ไม่รู้จักมาก่อน โดยมีภาพ มีคลิปเหตุการณ์ซึ่งอยากให้ ศปช. เก็บไว้ หรือแม่แต้เอกสารทางราชการก็มีคนส่งมาให้เรา

สุดท้ายแล้วคาดหวังว่ารายงานฉบับนี้จะนำไปสู่อะไร

เบื้องต้นของการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เราต้องพยายามนำเสนอความจริงก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ความจริงเป็นขั้นแรกของการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ สิ่งที่ ศปช. ทำหลายอย่างไม่ใช่ข้อมูลลับ แต่กระจัดกระจายและไม่มีคนรวบรวมขึ้นมา เช่น เอกสารทางทางการแพทย์ ใบชันสูตรพลิกศพ เพื่อยืนยันว่าการตายส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะใด หรือเอกสารทางราชการที่กระจัดกระจาย เช่น การให้สัมภาษณ์ของผู้นำทหารว่าไม่มีการยิงประชาชน ไม่มีสไนเปอร์ หรือพลซุ่มยิงหรือมีแต่ปืนยิงนก ไม่มีคำสั่งให้การเคลื่อนกำลังทหาร หรือใช้กระสุนจริง ถ้าเรามีเอกสารพวกนี้พร้อมเราสามารถเอามายันได้ว่าสิ่งที่พูดมันไม่จริง
เราไม่หวังว่าจะเกิดความยุติธรรมในชั่วเวลาข้ามวัน จะต้องใช้เวลา แต่เวลาที่ผ่านไปถ้าไม่รวบรวมข้อมูล ข้อมูลเหล่านี้ก็อาจจะหาย ถ้าหากวันข้างหน้าสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้เราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในรูปคดีความต่าง ๆ
เป้าหมายสูงสุดของเราต้องการให้เกิดความยุติธรรม โดยเฉพาะกับคนที่ได้รับผลกระทบ กับครอบครัวคนที่สูญเสียคนที่เขารัก กับคนที่บาดเจ็บ พิการ และคิดว่าคนเหล่านั้นต้องการความยุติธรรม และเราอยากเห็นความยุติธรรม ส่วนประวัติศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่ง หนังสือเล่มนี้อาจให้บทเรียนกับคนที่มาอ่านว่ารัฐ ถ้าคุณไปยุยงให้เค้าใช้อำนาจ สนับสนุนให้รัฐใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การใช้กำลังเกินกว่าเหตุและความสูญเสียจะเกิดขึ้น

บทบาทขององค์กรอิสระควรเป็นอย่างไร หรือเราไม่ควรคาดหวังอะไรกับองค์กรเหล่านี้

ที่จริงเป็นหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ ใคร ๆ ก็รู้ว่าองค์กรเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ว่าถ้าดูจากจุดยืนของเขาในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดว่าไม่เคยออกมาปกป้องผู้บริสุทธิ์ที่ตายจากเหตุการณ์นี้
ข้อมูลที่ปรากฏบนโลกออนไลน์เยอะจนกระทั่งไม่สามารถเอาใบบัวมาปิดได้ผู้เสียชีวิต จำนวนมากตายในสภาพที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือน้องเฌอสมาพันธ์ศรีเทพ อายุ 17 ปี ตายในสภาพที่สวมกางเกงขาสั้น ไม่มีอาวุธอะไรอยู่ในมือ ไม่มีกระทั่งไม้อยู่ในมือ แต่ถูกยิงที่หัว คุณจะตอบคำถามเช่นนี้อย่างไรว่ารัฐมีอำนาจที่จะยิงใส่คนที่ไม่มีอาวุธอยู่ใน มือเพื่อป้องกันตนเองอย่างนั้นหรือ?ซึ่งฟังอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น
เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนต้องเข้าข้างเสื้อแดงหรือนิยมคนเสื้อแดงแต่สิ่งที่คณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนต้องยึดถือคือหลักสิทธิในการพิจารณาเรื่องต่างๆ หลักสิทธิอันนี้ไม่ใช่เอามาควบคุมกับปัจเจกชนอย่างเดียว แต่ความเป็นมาของหลักสิทธิมนุษยชนต้องใช้ควบคุมรัฐด้วย เพราะรัฐมีอำนาจมากทั้งในแง่กฎหมาย กำลังทหาร แต่อำนาจเหล่านี้ต้องถูกควบคุมโดยการเคารพในหลักสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตของ ประชาชน

กลัวบ้างไหม หากรายงานฉบับนี้ออกมาแล้วอาจถูกต่อต้านจากฝ่ายรัฐ

ไม่กลัวค่ะ คิดว่าถ้าใครมีข้อมูลที่แตกต่างก็เสนอออกมา คนก็จะได้เห็น จะได้ถกเถียงกันว่าความจริงมันคืออะไร และถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลที่เรานำเสนอตรงส่วนไหนที่เกิดจากการบิดเบือน เราก็ยินดีรับฟังและถกเถียงกัน เพียงแต่สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยอย่างมากคือการพูดในลักษณะเหมารวมว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธ ฉะนั้นคนเสื้อแดงต้องรับผิดชอบความรุนแรงที่เกิดขึ้น
สำหรับเราการตัดสินว่าใครต้องรับผิดชอบอะไรบ้างต้องลงไปดูเป็นกรณีๆ ไปว่าความรุนแรงและการตายที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีเกิดจากฝีมือใคร เกิดจากการยิงกระสุนที่มาจากทิศทางของทหาร ตัวกระสุนเป็นลักษณะเดียวกับที่ทหารใช้หรือไม่ ถ้ามีคนบอกว่าผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงบางส่วนมีอาวุธ ก็ให้แสดงหลักฐานออกมาว่าอาวุธที่ใช้นำมาสู่การบาดเจ็บและการตายในกรณีไหนบ้าง ซึ่งอันนี้คืองานที่ ศปช. ได้พยายามทำ คือเราจะลงไปดูในกรณีที่เราคิดว่ามีหลักฐานสมบูรณ์ เพื่อจะชี้ว่าการตายในกรณีนี้ไม่สมเหตุสมผลและใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ

ที่ผ่านมา ศปช. ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายอย่างไรบ้างกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการชุมนุม

บางกรณีเราช่วยหาทนายความให้โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดอย่างทนายอานนท์ เริ่มต้นจากความร่วมมือกับ ศปช. ภายหลังก็มีความเป็นอิสระในการทำงานมากยิ่งขึ้น บางครั้งเราพยายามเรี่ยไรเงิน เนื่องจากบางครั้งศาลมีคำสั่งปล่อย แต่หลายครอบครัวที่ถูกจับกุมกลับสูญเสียทางเศรษฐกิจเยอะ เช่น รถถูกยึด บ้านถูกยึด เพราะคนที่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวถูกจับ พออกจากคุกมาต้องมีเงินเริ่มต้นในการทำมาหากินบ้าง เราก็พยายามเรี่ยไรเงินจากคนที่รู้จักให้ครอบครัวละ 5 พันบาท แม้เงินจะไม่เยอะแต่อย่างน้อยก็มีค่าพอที่จะเอาไปตั้งต้นทำอะไรได้บ้าง

ได้กำลังใจอะไรบ้างจากการมาทำงานตรงนี้

น้อง ๆ ที่ทำงานจะได้สัมพันธ์กับคนที่ได้รับผลกระทบเยอะ คิดว่าคำขอบคุณจากคนที่ได้รับผลกระทบ จากคนที่มาเจอเราและรู้สึกว่ายังมีคนที่สนใจเรื่องแบบนี้อยู่ และเป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งโดยปกติแล้วเขามักจะรู้สึกว่าคนกรุงเทพฯ เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มผู้ชุมนุม คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจที่สำคัญ และเวลาที่เราลงไปเก็บรวบรวมข้อมูลเราเห็นผลกระทบที่เกิดกับเหยื่อเป็นอย่างมาก บางคนเสียบ้าน บางคนแม่กับลูกสาวต้องไปปลูกเพิงอยู่และต่อมาปรากฏว่าลูกสาวถูกข่มขืน เราต้องแปลความเจ็บปวดเหล่านี้ให้ออกมาเป็นงานที่เราคิดว่าอย่างน้อยจะช่วยเขาได้

อ.ขวัญระวี วังอุดม
ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


การทำงานของ ศปช. มีกระบวนการทำงานอย่างไร

เราจะแบ่งทีมซึ่งเรามีคอนแทคกับญาติบางกลุ่ม โดยเริ่มจากการสัมภาษณ์ก่อน จากนั้นจึงไปตามที่ชุมนุมเมื่อเจอคนเสื้อแดงและได้พูดคุยกับเขา และพบว่าเขาทราบเหตุการณ์บางช่วง ตรงไหนที่คิดว่าสำคัญและมีน้ำหนักก็จะขอสัมภาษณ์เป็นพิเศษ
ส่วนข้อมูลจากรัฐ เรามีการทำจดหมายไปขอ เช่น ข้อมูลการจับกุมก็เขียนไปขอทางศาล ได้รับความร่วมมือบ้างแต่บางครั้งก็ไม่ได้ มีบ้างเวลาลงพื้นที่สำคัญผู้ถูกสัมภาษณ์จะไม่ไว้ใจ แต่บางคนถ้าหากเคยเห็นหน้าเราทางสื่อ พอจะรู้ที่มาที่ไปก็กล้าให้ข้อมูล เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการพูดคุยไปเรื่อย ๆ อย่างเจ้าหน้าที่ของ ศปช. บางคนเคยไปชุมนุม เมื่อสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ได้ก็จะค่อย ๆ เปิดเผยข้อมูล
พอเราเก็บข้อมูลได้เป็นระบบเพียงพอ ก็ทำเป็นกราฟฟิคออกมาว่าจุดนี้มีการวางกำลังทหารแบบไหน มีอยู่บนตึกสูงตรงไหนบ้างและมีผู้เสียชิวิตบริเวณไหน จึงพอร์ตออกมาให้เห็นภาพรวมมากขึ้น

มีหน่วยงานรัฐเข้ามาขอข้อมูลจาก ศปช. บ้างไหม

มีค่ะ ทาง คอป. เข้ามาขอข้อมูลจากเราประมาณ 3 ครั้ง ทั้งที่จริง ๆ คอป. มีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลอยู่แล้ว และข้อมูลของเราบางเรื่องผู้ที่ให้สัมภาษณ์ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ เพราะฉะนั้นเราจึงทำแถลงข่าว ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราแถลงข่าวหลายครั้ง คือ ข้อมูลที่เปิดเผยแล้วก็ให้ คอป. หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นำไปใช้ได้
ข้อมูลการจับกุมเราพูดได้ว่าเราค่อนข้างมีสมบูรณ์มากที่สุด เนื่องจากเรามีทีมอยู่ต่างจังหวัดซึ่งลงไปตามเรือนจำ ไปพูดคุยกับญาติ ไปเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ

ที่ผ่านมา ศปช. มีปัญหาในการดำเนินงานอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมาเรื่องงบประมาณเราไม่ได้มีเยอะแต่ไม่ได้เป็นปัญหามาก แต่หลัก ๆ จะเป็นเรื่องกำลังคน หลังจากเราเปิดตัว งานทุกอย่างทั้งงานข้อมูล งานคนเจ็บ คนเสียชีวิต ผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีวิ่งเข้ามาหาเราหมด เจ้าหน้าที่จึงมัวเก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องพยายามประสาน ขอความช่วยเหลือเรื่องเงินประกัน
ต่อจากนี้ ถ้ามีข้อมูลส่วนที่เป็นประโยชน์ เราจะนำเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพราะตอนนี้กระบวนการไต่สวนเริ่มต้นแล้ว ข้อมูลหลาย ๆ อย่างที่สำคัญก็หลุดออกมา
ทั้งนี้ รายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53” กำหนดวางแผงทั่วไปวันที่ 1 ก.ย. นี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ศปช. www.pic2010.org