บันทึก "98 ศพ" ความจริงเพื่อความยุติธรรม

ข่าวสด 28 สิงหาคม 2555 >>>


 



ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 หรือ ศปช. จัดทำหนังสือ ′ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53′

จุดประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์

(1) เหตุการณ์ความรุนแรงในจุดสำคัญระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 2553
(2) รายชื่อผู้เสียชีวิต ลักษณะและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต
(3) การจับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุม และปัญหากระบวนการยุติธรรม
(4) วิเคราะห์ขั้นตอน เป้าหมาย วิธีการใช้ความรุนแรงของรัฐเกินกว่าเหตุและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ และ
(5) รวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

บทที่ 1 กำเนิดและพลวัต′เสื้อแดง′

บทที่ 2 ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 2553

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือกใช้กำลังทหาร เข้าจัดการกับผู้ชุมนุมมากกว่าใช้กำลังตำรวจปราบจลาจล จนสถานการณ์นับแต่เดือน มี.ค. 2553 พัฒนาไปสู่ความรุนแรงในเดือน เม.ย. 2553 และ มีการประกาศยุทธการ ′ขอคืนพื้นที่′ จนนำมาสู่เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. โดยที่คำสั่งสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าไม่มีการแจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุม ทราบล่วงหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย ทั้งหมดเป็นเพศชาย เป็นทหาร 5 ราย พลเรือน 22 ราย โดยพลเรือน 22 ราย 1 ในนั้นคือ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพข่าวชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์
ทั้งนี้ 3 รายเสียชีวิตจากเหตุปะทะช่วงกลางวัน โดยถูกกระสุนจริง 1 ราย และเป็นผลจากแก๊สน้ำตา 2 ราย อีก 19 ราย เสียชีวิตจากการปะทะช่วงกลางคืน เกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากเหตุการณ์บริเวณถนนตะนาว-แยกคอกวัว บริเวณถนนดินสอ-หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีก 1 รายเสียชีวิตที่สวนสัตว์ดุสิต
พลเรือนที่เสียชีวิตจาก เหตุการณ์ช่วงกลางคืน รวมทั้งนายฮิโรยูกิ เป็นผลจากถูกยิงด้วยกระสุนจริง ส่วนทหาร 5 ราย เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาในเวลากลางคืน
ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง พลเรือน 19 ราย ผู้สื่อข่าว 1 ราย ถูกยิงที่ศีรษะ/ลำคอ 8 ราย บริเวณลำตัวเหนือหัวเข่าขึ้นมา 11 ราย และถูกยิงทั้งที่ศีรษะและขา 1 ราย
รายงานยังระบุชื่อและ สาเหตุที่เสียชีวิตของทั้ง 27 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกยิงและเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง บางรายถูกยิงด้วยอาวุธปืนสงคราม

บทที่ 3 ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง พฤษภา 53

เป็นการรายงานสถานการณ์หลังวันที่ 10 เม.ย. ตามจุดต่างๆ ที่มีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตอย่างละเอียด ที่ประมวลจากข่าวหนังสือพิมพ์ วิดีโอ และพยานบุคคล

  • ความตาย พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) และนายชาติชาย ซาเหลา คนขับรถแท็กซี่ ชาวสุรินทร์ ทั้งสองเสียชีวิตวันที่ 13 พ.ค. หลัง ศอฉ. ประกาศปิดล้อมสกัดกั้นพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อกดดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ มีการใช้รถหุ้มเกราะ พร้อมประกาศใช้กระสุนจริงหากจำเป็น
  • เหตุการณ์และความตาย ช่วงวันที่ 14-16 พ.ค. บริเวณสวนลุมพินี ถนนพระราม 4 และ บริเวณบ่อนไก่ ที่ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้ทั้งแก๊สน้ำตา อาวุธปืนจริงเข้าสลายการชุมนุมบนถนน โดยเฉพาะวันที่ 16 พ.ค. บริเวณบ่อนไก่ มีการใช้กระสุนจริงยิงกดดันประชาชน เป็นการยิงเฉพาะเจาะจงที่ตัวบุคคลกระสุนจึงเข้าเป้าที่ศีรษะหลายศพ
  • เหตุการณ์ คนเจ็บคนตายบริเวณถนนราชปรารภ สามเหลี่ยมดินแดง แยกมักกะสัน ระหว่างวันที่ 14 พ.ค.-19 พ.ค. การใช้มาตรการเด็ดขาดสลายการชุมนุมโดยปิดล้อมแยกราชประสงค์ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ-ล้มตายจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์บริเวณซอยรางน้ำ และกรณีผู้เสียชีวิตตั้งแต่เวลา 19.00 น. วันที่ 14 พ.ค. คือนายบุญทิ้ง ปานศิลา ผู้ตายเป็นอาสาสมัครหน่วยแพทย์กู้ภัยวชิรพยาบาล นายกิตติพันธ์ ขันทอง นายธันวา วงษ์ศิริ นายเหิน อ่อนสา และนายสรไกร ศรีเมืองปุน และการตายเมื่อกลางดึก 14 พ.ค. บริเวณแยกจตุรทิศ ของนายพัน คำกอง และเด็กชายคุณากร ศรสุวรรณ ยอดผู้เสียชีวิตรวมเป็น 20 ราย วันที่ 14 พ.ค. 11 ราย วันที่ 15 พ.ค. 6 ราย วันที่ 17-19 พ.ค. 4 ราย
  • เหตุการณ์ เช้าวันที่ 19 พ.ค. 2553 บริเวณแยกศาลาแดง-สวนลุมพินี-แยกสารสิน ยุทธการ ′กระชับวงล้อม′ พื้นที่ราชประสงค์ ทำให้เกิดการปะทะและมีผู้เสียชิวีต ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งรวมถึงนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี ที่ถูกยิงในสภาพสวมหมวกกันน็อกขณะเกิดการปะทะอย่างรุนแรง

นายอาร์โนลด์ ดูบัส สื่อมวลชนอิสระชาวฝรั่งเศส ระบุว่า อย่างน้อย 80% เป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่สไนเปอร์
รวมถึงเหตุการณ์ 6 ศพในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พยานต่างระบุมีการยิงมาจากสถานีรถไฟฟ้า ผู้เสียชีวิต 1 ในนั้นคือ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา

บทที่ 4 เชิงอรรถความตายจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553

ข้อมูลของ ศปช. ล่าสุดเดือน ก.ค.2555 พบมีผู้เสียชีวิตรวม 94 ราย ในจำนวนนี้ ศปช. ไม่ทราบชื่อ 1 ราย ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ชาย 88 คน หญิง 6 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-39 ปี มีผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชนชาย 2 คน อายุ 14 ปี และ 17 ปี
ในจำนวน 94 รายนี้ เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ 91 ราย และเสียชีวิตจากการถูกยิงในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ที่ต่างจังหวัด 3 ราย คือ ขอนแก่น 1 ราย อุดรธานี 2 ราย

บทที่ 5 การจับกุมดำเนินคดีอันสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2553

การเก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2555 พบมีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ที่สืบเนื่องกับการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 1,857 คน ต่อมาถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,763 คน คิดเป็นจำนวนคดีทั้งสิ้น 1,381 คดี ในศาล 59 แห่ง ทั้งกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด
มีผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า18 ปี จำนวน 167 คน และมีชาวต่างชาติ ถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 26 คน เกือบทั้งหมด เป็นแรงงานข้ามชาติจำแนกคดีออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีอาญาอื่นๆ และคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกับคดีอาญาอื่นๆ
พบประชาชนที่ถูกจับกุมข้อหาทางอาญา ที่มีอัตราโทษสูงจนศาลไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จำนวนไม่น้อยต้องถูกควบคุมตัวเป็น เวลานาน แต่ที่สุดอัยการสั่งไม่ฟ้อง และได้รับการปล่อยตัว เช่น จ.อุดรธานี 29 คน ขอนแก่น 8 คน และกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 7 คน ส่วนในศาลเยาวชนและครอบครัว มีเด็กและเยาวชนถูก ตั้งข้อหาหนัก 19 คน

บทที่ 6 การใช้กำลังสลายการชุมนุมของรัฐบาลและ ศอฉ.

ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ วันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้น แม้ ศอฉ. จะประกาศมาตรการสลายการชุมนุม 7 ขั้นตอนตามกฎการใช้กำลังและหลักสากล โดยเริ่มจากเบาไปหาหนัก แต่จากข้อมูลทางปฏิบัติไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้ เคียงทราบล่วงหน้า มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมมือเปล่าปราศจากอาวุธหนักจนเสียชีวิตและ ได้รับบาดเจ็บ
มีการยกตัวอย่างผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตขณะ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ด้วยมือเปล่า ไม้ไผ่ และการสลายการชุมนุมช่วงกลางคืนทำให้มี ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ศอฉ. อธิบายว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตช่วงดังกล่าว เกิดจากฝีมือ ของชายชุดดำที่ขโมยอาวุธสงครามของทหารไป แต่จากการตรวจสอบจากคลิปวิดีโอ และ คำสัมภาษณ์พยานของ ศปช. การบาดเจ็บล้มตายของผู้ชุมนุม เกิดขึ้นก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏตัว

บทที่ 7 การใช้กฎหมายความมั่นคงในการจัดการการชุมนุมทางการเมืองกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ควบคู่กับการใช้ พ.ร.ก. ก่อการร้าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) เพื่อจัดการกับการชุมนุม ไม่เพียงตัวบทกฎหมายที่รัฐบาลนำมาบังคับใช้มีลักษณะที่ให้อำนาจรัฐเกินพอดี แต่กลไกและบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจตามกฎหมายยัง ล้มเหลวในการคงความเป็นอิสระ การขาดสมดุลระหว่างการใช้อำนาจรัฐและการปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน

บทที่ 8 ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลในช่วงของความขัดแย้ง

แบ่งการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลในช่วงความขัดแย้งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การโฆษณาชวนเชื่อ สื่อภาครัฐพยายามสร้างภาพผู้ชุมนุมให้เป็นเพียงนักรับจ้างชุมนุม การแถลงบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ และการแทรกแซงการทำงานของสื่อ เช่น การมีเอกสารจากหน่วยงานของกองทัพส่งถึง ผอ.สถานีโทรทัศน์ ขอความร่วมมือเผยแพร่ข้อความตัววิ่งต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้สาธารณชนสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุม

บทที่ 9 ′We Come in Peace′: สันติวิธีฉบับคนเสื้อแดง

จำแนกไว้ 3 ลักษณะ คือ สันติวิธีในการชุมนุมทั่วไป วิธีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธหนักครบมืออย่างสันติ และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์

สำหรับหนังสือ ′ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53′ ของ ศปช. เล่นนี้ จะเริ่มวางจำหน่ายช่วงเดือน ก.ย.