สลักธรรม โตจิราการ: รู้จัก 'ธิดา ถาวรเศรษฐ' ในบทบาทแม่

ไทยรัฐ 12 สิงหาคม 2555 >>>




ถอดเรื่องการอคติสีเสื้อที่สู้กันอยู่ออกไป แล้วเปิดใจว่ากันด้วยความผูกพันด้วยกันอย่างแม่ลูก จับเข่าคุยกับ นพ.สลักธรรม โตจิราการ หรือชื่อเล่นว่า ‘หมอหวาย’ แพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจ จบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัย 26 ปี ชื่อเสียงอาจจะไม่คุ้นหู แต่ว่านามสกุลนั้นอาจจะเหมือนเคยได้ยิน แน่นอนย่อมเป็นใครไม่ได้นอกจากผู้เป็นพ่อที่ชื่อ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และหมอหวายเองยังมีแม่ที่ชื่อนางธิดา ถาวรเศรษฐ โดยดำรงตำแหน่งเป็นประธาน นปช. อีกด้วย
น้อยคนจะรู้ว่านางธิดาที่เห็นว่านอกจากจะสวมบทบาทเป็นประธานกลุ่มทางการเมืองแล้ว ยังเป็นฮีโร่ในแบบอย่างที่ดีที่หมอหวายได้ซึมซับมาตลอด โดยเรื่องนี้หมอหวายผู้เป็นลูกได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่มีความทรงจำเกี่ยวกับคุณแม่ของตนให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจว่า ความประทับใจของตนที่มีต่อคุณแม่ ก็คือเป็นโอกาสที่หาได้ยากที่ได้เกิดเป็นลูกของคุณแม่ มันอยู่ในช่วงเหตุการณ์ทางการเมือง หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นความประทับใจอย่างยิ่ง ตัวของตนกับคุณแม่สนิทกัน เหมือนกับแม่ลูกคู่อื่น กลับบ้านไปก็กินข้าวด้วยกัน ไม่ก็ไปเดินห้างกัน มีอะไรก็พูดคุยกันในเรื่องต่างๆทุกประเด็น
ส่วนการที่หลายคนบอกว่านางธิดาอายุมากแล้ว ทำไมยังต้องมาทำอะไรแบบนี้ หมอหวายตอบว่า ทำไมท่านต้องออกมาทำแบบนี้ หลายๆ คนอาจจะบอกว่าวัยของท่านจะต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานแบบสบายๆ เอาเงินที่พอมีพอกินมาใช้ชีวิตอยู่แล้ว แต่ที่คุณแม่ของตนเลือกที่จะทำงานทางการเมือง เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คงจะเห็นว่าประเทศไทยที่ลูกหลานของตัวเองและลูกหลานของคนอื่น ท่านก็มีความเมตตา รักและเอ็นดู จะต้องใช้ชีวิตอยู่ จะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในสภาพสังคมที่มันไม่มีความยุติธรรม ยังเป็นสองมาตรฐานอยู่ ก็เลยเข้าใจว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต่อสู้ ถึงแม้ว่าอายุท่านจะมากขึ้นทุกปีแล้วก็ตาม ไม่เลิก นี่คือเหตุผลที่สำคัญที่สุด
แน่นอนว่าประวัติของนางธิดานั้นผ่านร้อนผ่านหนาวเรื่องการเมืองมาเป็นเวลาที่สมควร และก็เช่นกันว่าในมุมแบบนี้ของหมอหวายก็ย่อมจะเห็นอะไรมาบ้างในช่วงชีวิต โดยหมอหวายบอกกับเราว่า แต่เดิมแม่ของตนทำธุรกิจแล้วก็พักเพราะอายุมากขึ้น แต่ท่านก็ตัดสินใจที่จะเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง จริงๆ ตนเห็นคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเยอะหน่อยก็จะเป็นคุณพ่อของตน จำได้ว่าก่อนหน้านี้ที่มีการออกความเห็นบ้างในช่วงหลังรัฐประหารช่วงปี 2549 พอหลังจากเหตุการณ์ปี 2553 ที่เกิดความรุนแรงหนัก แต่ในตอนนั้นนึกว่า นปช.เป็นองกรค์ที่ต่อสู้ของผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง
   “ท่านเลือกที่จะมาช่วยและทำงาน พยายามขับเคลื่อนองค์กร นปช. ต่อไปให้ได้ อันนี้ก็เป็นภาพของความประทับใจ เพราะท่านเห็นว่า เราคงจะหวังไว้ว่าอยากให้สังคมที่จะต้องทิ้งต่อไปให้กับลูกหลาน ที่อาศัยในอนาคตเป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน มีภาพประทับใจอีกครั้งหนึ่งกับเหตุการ นปก. เมื่อสักปี 2550  ประมานนี้ ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ไปหน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี แล้วก็สลาย คุณแม่ก็เป็นห่วงคุณพ่อก็เลยเดินไปกับผม ก็ขับรถกันไปดูที่พื้นที่ สุดท้ายก็พบว่ายังไม่มีอะไรที่ผิดปกติ แต่ว่าตอนหลังคุณพ่อก็โดนควบคุมตัวอยู่ในตอนนั้นกว่า 10 วัน แต่ว่าก็ยังเทียบไม่ได้เลยกับตอนปี 2553 ที่โดนคุมขังไว้เกือบ 9 เดือน ช่วงปี 2553 เป็นตอนที่เริ่มงานทำที่ จ.สระบุรี แล้ว ก็จะปลีกตัวยากและไปเยี่ยมกันน้อยหน่อย ก็จะมีการคุยกันอย่างดีก็แค่เดือนละ 1 ครั้ง เวลาทำงานเสร็จก็จะต้องนั่งรถตู้ลงมาที่ จ.กรุงเทพฯ จากนั้นก็ขับไปที่หัวหิน แล้วก็ไปกลับแบบนี้ เป็นอย่างนี้จนกระทั่งนำมาไว้ที่เรือนจำลาดยาว ทีนี้คือถ้าจะมาเยี่ยมก็ต้องลางานมาเลย สำหรับผมช่วงนั้นก็ไม่ได้ขมขื่นมากนัก เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดาของการต่อสู้ทางการเมือง ถ้าเกิดเราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงให้สังคมมันดีขึ้น หลายๆ คนต้องจ่ายราคาที่แพง หลายคนต้องสูญเสียพ่อ แม่ ลูก เพราะฉะนั้นแบบนี้คือเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทางการเมือง”
หมอหวายกล่าวอย่างสัจธรรมว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศไทยที่เขาต้องเจ็บปวดทรมาน แต่ถ้าไปดูการเมืองที่ประเทศอื่นมีการสูญเสียกว่านี้อีก
เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองแน่นอนว่าย่อมอันตราย รู้สึกเป็นห่วงคุณแม่มากแค่ไหน ตรงนี้หมอหวายก็ได้ตอบกับเราว่า “ถ้าถามว่าเป็นห่วงไหม แน่นอนผมย่อมเป็นห่วง เพราะท่านก็ทำงานหนัก ก็ได้ให้คำเตือนว่าให้ไปตรวจสุขภาพและพักผ่อนบ้าง จะได้แข็งแรง โดยผมกับคุณแม่ก็เป็นกัลยาณมิตรกัน ย่อมมีสิทธิที่จะเตือนผมเช่นกัน ซึ่งถ้าผมมีความเห็นอะไรก็ตามก็อาจจะเตือนคุณแม่ และให้คุณแม่ได้ลองพิจารณาในประเด็นต่างๆ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้มา ไม่ใช่ว่าเป็นพ่อเป็นแม่แล้วจะสั่งต้องทำตามทั้งหมด เราพูดกันอยู่ในหลักของเหตุและผล ไม่ใช่ว่าลูกมาสั่งพ่อแม่แล้วจะยอมกันทั้งหมด คิดว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน ผมก็ย่อมเข้าใจการที่จะต่อสู้กับคุณแม่ที่ผมพอจะแบ่งเบาภาระได้”
นอกจากเรื่องส่วนรวมที่นางธิดารับหัวโขนกำกับอยู่นั้น กับครอบครัว เรื่องการได้ใช้เวลาร่วมกันที่ถือว่าน้อยมาก และตัวหมอหวายเองที่ทำงานแทบจะไม่มีเวลาพอกัน โดยหมอหวายก็บอกกับเราว่า ส่วนตัวก็ไม่ได้ไปเที่ยวด้วยกันนานแล้ว เพราะการเมืองค่อนข้างดุเดือด ครั้งที่ไปเที่ยวด้วยกันทั้งครอบครัวคือปราสาทหินพนมรุ้ง สักประมาณปี 51 เพราะว่าตอนนั้นจำได้ว่าคุยกันจะเที่ยวดีไหม และคุณแม่ก็บอกไว้ว่าสงสัยต่อจากนี้เหตุการณ์ทางการเมืองจะยิ่งรุนแรง แล้วจะทำให้ไม่มีเวลาไปไหนกัน หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ อย่างคราวก่อนที่ไปพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นฟุตบอลนัดกระชับมิตร ถ้าเจอกันส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่บ้าน เพราะช่วงนี้งานมันไม่ไหวเพราะต้องอยู่เวร ประมาน 13 เวรต่อเดือน แล้ววันที่หมดเวรก็อาจจะได้พัก คุณแม่ก็เข้าใจ แต่ตอนแรกคุณแม่ก็ตกใจเหมือนกันว่าหมอในปัจจุบันจะหนักกว่าในอดีต
   “ในโอกาสวันแม่ ผมคิดว่าคุณแม่ของผมได้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว โดยตนก็ภาคภูมิใจ ท่านไม่ได้คิดว่าจะให้ลูกหลานตัวเองได้อยู่อย่างไรแล้วมีความสุข แต่คิดว่าลูกหลานของสังคมไทยจะอยู่อย่างไรให้มีความสุข ท่านก็เลยเลือกที่จะต่อสู้”